กระแส ESG แนวคิดการดำเนินธุรกิจภายใต้กรอบแนวคิดที่ให้ความสำคัญกับ สังคม, สิ่งแวดล้อม และหลักธรรมาภิบาล ควบคู่กับการเติบโตอย่างยั่งยืนทางธุรกิจ อย่างไรก็ตาม การดำเนินธุรกิจโดยคำนึงเรื่องราวทางสังคม คำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสีย เป็นเรื่องที่ท้าทายหลายๆ องค์กรที่สร้างสมดุลระหว่างการทำงานเพื่อแสวงหาผลกำไร ไปพร้อมกับๆ หาช่องทางรักษารักษาผลกระทบรอบข้าง
Brand Buffet คำนึงถึงเทรนด์การสร้างธุรกิจให้ยั่งยืน ขอเป็นส่วนหนึ่งของการกระตุ้นให้องค์กรธุรกิจของประเทศไทยเกิดแรงบันดาลใจ เริ่มต้นจัดการจากเรื่องใกล้ตัว ภายในองค์กร ตามความเชี่ยวชาญของตนเอง และนี่คือ 10 กรณีศึกษาที่น่าสนใจ หลากหลายในแง่มุมธุรกิจ และเรื่องราว
“ศุภาลัย” ครบเครื่อง ESG ตั้งแต่การออกแบบ และใช้วัสดุ
การพัฒนาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ให้มีความยั่งยืน ตามแนวคิด ESG โดยมีส่วนร่วมใส่ใจดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม เป็นสิ่งที่บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) เน้นย้ำมาโดยตลอดระยะเวลา 35 ปี โดยมีการตั้งเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 40% ภายในปี 2573 จาก BAU (Business As Usual) พร้อมตระหนักถึงการคิดค้น หาวิธีการและนวัตกรรมที่จะมาช่วยชดเชยปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆ ที่เกิดจากกิจกรรมของธุรกิจอสังหาฯ
เริ่มด้วยการคัดสรรวัสดุก่อสร้างจากพันธมิตรธุรกิจ ที่เน้นประหยัดพลังงาน ลดความร้อน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดการใช้น้ำ รวมถึงการบริหารจัดการขยะและวัสดุเหลือใช้ในงานก่อสร้าง (Waste Management) ให้เหลือน้อยที่สุดหรือเป็นศูนย์ ซึ่งสามารถนำเศษวัสดุก่อสร้างมาต่อยอดให้เกิดมูลค่าและประโยชน์สูงสุด เพื่อยกระดับมาตรฐานสินค้า ที่อยู่อาศัยของศุภาลัยในทุกประเภทเป็น “บ้านรักษ์โลก” ตอบโจทย์ความต้องการและสอดคล้องกับไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของคนรุ่นใหม่ผ่าน 5 แกนหลักของลูกค้า ดังนี้
1.นวัตกรรมเพื่อการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม บริษัทฯ ได้ออกแคมเปญ “Supalai Self-Proved เชิญชวนพิสูจน์ผลลัพธ์ของนวัตกรรมการก่อสร้างอย่างรักษ์โลก ผ่าน Supalai Waste Meter มาตรวัดปริมาณขยะจากการก่อสร้างโดยให้น้อยกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด และนวัตกรรมด้านต่างๆ อาทิ การออกแบบบ้าน/อาคารที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การออกแบบเพื่อลดเศษวัสดุเหลือใช้ การออกแบบเพื่อลดมลพิษทางอากาศ โดยคิดค้นและพัฒนาร่วมกับคู่ค้าทางธุรกิจ เช่น SCG, TOA, DOS, CPAC เป็นต้น เพื่อผลิตวัสดุที่ตอบโจทย์ลูกค้าของบริษัทฯ และยังสามารถนำไปจัดจำหน่ายให้กับคนทั่วไปได้อีกด้วย
2.การเป็นบ้านประหยัดพลังงาน มีการออกแบบวางผังตัวบ้าน/ตัวอาคารให้อยู่ในแนวเหนือใต้เพื่อหลบแดดและรับลม เน้นการออกแบบช่องเปิดประตูหน้าต่างหลายทิศทางเพื่อการระบายอากาศที่ดี และมีการเลือกใช้วัสดุที่ช่วยระบายความร้อน จนได้รางวัลการันตีด้านการออกแบบประหยัดพลังงาน อีกทั้งเลือกใช้เครื่องปรับอากาศและอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ได้รับฉลากประหยัดพลังงานเบอร์ 5
3.การออกแบบเพื่อคนทุกวัย (Universal Design) โดยบริษัทฯ คำนึงถึงการออกแบบฟังก์ชันภายในบ้าน และการใช้งานต่างๆ เพื่อรองรับทุกเพศ ทุกวัยให้ได้รับความสะดวกสบาย ความปลอดภัยอย่างเท่าเทียมกัน โดยเฉพาะฟังก์ชันเพื่อตอบโจทย์ผู้สูงอายุ และผู้พิการ ออกแบบห้องนอนในชั้นล่าง พร้อมใช้วัสดุปูพื้นที่ช่วยลดการลื่นและการกระแทก ออกแบบบานประตูเลื่อน ไม่มีธรณีประตู ลดความต่างระดับ สำหรับกรณีการใช้รถเข็นได้สะดวกยิ่งขึ้น
4.การปฏิวัติใช้พลังงานสะอาด นอกจากการติดตั้งโซลาร์เซลล์ และจุดติดตั้ง EV Charger ให้กับลูกบ้านศุภาลัย
กว่า 15,000 หลังทั่วประเทศแล้ว พร้อมทั้งเป้าหมายติดตั้ง “โซลาร์เซลล์” 15,000 หลัง ภายในปี 2571 โดยปัจจุบันได้อยู่ระหว่างการพัฒนาโครงการที่จะดำเนินการติดตั้งไปแล้วกว่า 30 % ครอบคลุมกว่า 29 จังหวัด ซึ่งเป้าหมายดังกล่าวสามารถคำนวณยอดผลิตกระแสไฟฟ้ารวมได้ 82,300 เมกะวัตต์ ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 49,300 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า เสมือนการปลูกต้นไม้ทดแทน 3.2 ล้านต้น และลูกบ้านศุภาลัย สามารถประหยัดค่าไฟฟ้าได้ถึง 20,000-30,000 บาทต่อปี
5.กิจกรรมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก นอกจากการสร้างโครงการที่อยู่อาศัยเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า บริษัทฯ พร้อมสนับสนุนนโยบายระดับประเทศด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยการให้ความสำคัญและส่งเสริมงานด้านความยั่งยืนในมิติการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมในทุกภาคส่วนขององค์กร อาทิ การปลูกต้นไม้บนที่ดินของบริษัทฯเพื่อช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์, เปลี่ยนการใช้ปุ๋ยเคมี สู่ปุ๋ยอินทรีย์, กิจกรรมร่วมแบ่งปันเสื้อผ้า และสิ่งของส่งต่อให้คนงานก่อสร้าง, สนับสนุนสินเชื่อ Green Loan
ปัจจุบันมีหลากหลายนวัตกรรมที่ถูกพัฒนาต่อยอดจนเป็นโปรดักส์ใหม่ที่มีคุณภาพและได้มาตรฐานระดับสากล ถูกนำมาใช้ภายในโครงการที่อยู่อาศัยของศุภาลัย พร้อมการันตีคุณภาพการก่อสร้าง สร้างความเชื่อมั่น และส่งต่อแนวความคิดด้านสิ่งแวดล้อม สร้างการเรียนรู้ให้กับลูกบ้านศุภาลัยทุกคนได้เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อน การอยู่อาศัยแบบรักษ์โลก เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมร่วมแบ่งปันนวัตกรรมที่ร่วมสร้างสรรค์กับพันธมิตรธุรกิจส่งต่อสู่สาธารณะ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนพันธกิจ Zero Waste ระดับประเทศ
AIS กับเส้นทางสู่ความยั่งยืน 3 มิติ ” เศรษฐกิจ-สังคม-สิ่งแวดล้อม”
นโยบายการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนของ AIS อยู่ภายใต้แนวคิด 3 ด้าน ได้แก่ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยในแง่ของเศรษฐกิจ พบว่า มีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาเป็นหัวจักรขับเคลื่อนทั้งโครงข่าย 5G และเน็ตบ้าน รวมถึงการพัฒนา 5G Platform เพื่อภาคอุตสาหกรรม และการทำงานร่วมกันกับพาร์ทเนอร์เพื่อสร้างการเติบโตให้กับเศรษฐกิจแบบยั่งยืน หรือ ECOSYSTEM ECONOMY อีกทั้งยังมีการต่อยอดไปถึงการพัฒนาระบบการป้องกันภัยไซเบอร์ และการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้าให้มีมาตรฐานที่เชื่อถือได้ร่วมด้วย
ขณะที่ในมุมของสังคม พบว่า AIS มีการสร้างการเข้าถึงดิจิทัลเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีอย่างสร้างสรรค์และปลอดภัย ผ่าน ภารกิจ AIS อุ่นใจ CYBER เช่น การสร้างองค์ความรู้ในการพัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้ออนไลน์ที่ได้การรับรองจากกระทรวงศึกษาธิการ และกำลังถูกส่งต่อไปยังโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ สพฐ., กทม. และหน่วยงานอื่นๆ อีกมากมาย รวมถึงมีการเปิดตัวดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัลของคนไทย หรือ Thailand Cyber Wellness Index (TCWI) เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาอย่างตรงจุดมากขึ้น
มิติสุดท้ายคือด้านสิ่งแวดล้อม (Act On Climate) โดย AIS มีการวิเคราะห์ข้อมูลด้วยฐานข้อมููลขนาดใหญ่ (Big Data Analysis) เพื่่อศึกษารูปแบบการใช้งานของลูกค้า และนำไปช่วยบริหารจัดการช่องสัญญาณให้สอดคล้องกัน ทำให้บริษัทสามารถบริหารจัดการการใช้พลังงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ AIS ยังเริ่มใช้พลังงานทดแทนจากการติดตั้งโซลาร์เซลล์ และกังหันลมบริเวณสถานีฐาน ซึ่งพบว่าช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้เช่นกัน
AIS ยังมีการสร้างจิตสำนึกด้านขยะอิเล็กทรอนิกส์ ผ่านการรณรงค์ให้คนไทยรู้จักคัดแยก และนำขยะเหล่านั้นเข้าสู่กระบวนการจัดการ Zero E-Waste to Landfill ตามมาตรฐานสากล โดยปัจจุบันสามารถนำขยะอิเล็กทรอนิกส์อาทิ โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต สายชาร์จ อะแดปเตอร์ หูฟัง แบตเตอรี่มือถือ หรือแม้แต่ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ มาฝากทิ้งได้ที่ AIS Shop และจุดรับทิ้งกับพาร์ทเนอร์กว่า 2,500 จุด ทั่วประเทศ ส่วนข้อมูลจะถูกเก็บไว้บนแอปพลิเคชัน E-Waste+ (ใช้เทคโนโลยี Blockchain) ที่จะทำให้เรารู้สถานะการทิ้งตั้งแต่ต้นทางจนเข้าสู่การรีไซเคิลเลยทีเดียว
แนวทางการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนของ AIS ภายใต้กรอบ 3 มิติ คือ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม จึงสะท้อนได้ดีถึงถึงความมุ่งมั่นขององค์กรในการสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นให้กับประเทศ และยังเป็นการสร้างรากฐานที่มั่นคงสำหรับการเติบโตของคนรุ่นหลังได้อีกด้วย
“เซ็นทรัลพัฒนา” กับวิสัยทัศน์ “Imagining better futures for all” ยกระดับความเป็นอยู่ที่ดีให้กับสังคม
บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ CPN ในฐานะพี่ใหญ่วงการอสังหาริมทรัพย์ของไทย คืออีกหนึ่งองค์กรที่มุ่งมั่นขับเคลื่อนการเติบโตของธุรกิจที่ควบคู่กันในทุกมิติ กับบทบาท Place Maker ผู้พัฒนา “พื้นที่” เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คน ชุมชน และ ‘สิ่งแวดล้อม’ พร้อมดำเนินกลยุทธ์ The Ecosystem for All ระบบที่แข็งแกร่งและยั่งยืน เพื่อให้ทุกภาคส่วนเติบโตไปด้วยกัน เชื่อมโยงทั้ง Place-People-Planet การันตีความสำเร็จด้วยรางวัล DJSI World 2023 ด้านความยั่งยืนระดับโลก
พันธกิจต่อไปยังคงขับเคลื่อนองค์กรเดินหน้าสู่เป้าหมายองค์กร NET Zero 2050 โดยได้วางกลยุทธ์ด้วยการ Synergy ธุรกิจหลัก ได้แก่ Retail หรือ ศูนย์การค้าที่เป็นหัวใจหลักในการสร้างความแข็งแกร่งของระบบทั้งหมด เชื่อมโยงกับธุรกิจที่อยู่อาศัย อาคารสำนักงาน และโรงแรม พร้อมตอบโจทย์การใช้ชีวิตของทุกคนทั้ง Online & Offline ครบทั้ง 360 องศา และขยายไปสู่ธุรกิจ New Assets อื่นๆ ที่จะสร้างอนาคตแห่งการใช้ชีวิต สร้าง Urbanization ที่อำนวยความสะดวก สร้างการจ้างงานสู่ชุมชน เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนระดับมหภาค ทุกเมือง ทั่วประเทศ ควบคู่ไปกับการสร้างความเป็นอยู่ที่ดี และสุขภาพที่แข็งแรง (Good Health & Well-Being) สู่สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ยังมีการต่อยอดงานกรีนเอ็กซ์โปแห่งปี Better Futures Project ที่จัดต่อเนื่องตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา
นอกจากนี้ยังได้ดำเนินโครงการ Green Initiative ต่างๆ อย่างต่อเนื่อง อาทิ โครงการ Green Partnership รวมพลังพันธมิตรลดโลกร้อน มีแบรนด์คู่ค้าชั้นนำกว่า 50 แบรนด์ รวม 1,000 สาขาทั่วประเทศเข้าร่วม และร่วมกันประหยัดพลังงานไฟฟ้าได้มากถึง 719,171 กิโลวัตต์-ชั่วโมง เทียบเท่าการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปได้ 360 ตัน รวมถึงการเข้าร่วมกับกรุงเทพมหานคร ในโครงการ ‘ห้างนี้…ไม่เทรวม’ อีกด้วย”
OR เปิดตัว ‘อุทยานอเมซอน’ พัฒนาระบบนิเวศธุรกิจ Cafe Amazon สู่พื้นที่ปลูกกาแฟยั่งยืน
ร้าน Cafe Amazon เป็นหนึ่งธุรกิจ Lifestyle ของ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ที่เติบโตมาต่อเนื่อง ปัจจุบัน Cafe Amazon เป็นเชนร้านกาแฟ ที่มีสาขามากเป็นอันดับ 1 ในประเทศไทยและอันดับ 6 ของโลก นอกจากประเทศไทย ยังมีสาขาอยู่ใน ญี่ปุ่น, โอมาน, เมียนมา, มาเลเซีย และซาอุดีอาระเบีย รวม 4,221 สาขา ในปี 2566 Cafe Amazon มียอดขายรวม 371 ล้านแก้ว
ปัจจุบันประเทศไทยมีความต้องการบริโภคเมล็ดกาแฟ 80,000 ตันต่อปี แต่มีกำลังผลิตเมล็ดกาแฟ 20,000 ตันต่อปี Cafe Amazon ถือเป็นผู้ใช้เมล็ดกาแฟรายใหญ่ มีความต้องการมากถึง 6,000 ตันต่อปี
ดังนั้นหนึ่งในแผนการขับเคลื่อนธุรกิจตามแนวทาง SDG in Action ของ OR เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนให้ธุรกิจ รวมทั้งการดูแลพันธมิตรภายในห่วงโซ่ธุรกิจให้สามารถเติบโตไปพร้อมกัน จึงสามารถสร้าง Positive Impact ตลอดห่วงโซ่ธุรกิจ Cafe Amazon ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ผ่านโครงการพัฒนาการปลูกกาแฟอย่างยั่งยืน
โปรเจกต์ล่าสุดที่เปิดตัวเมื่อต้นปี 2567 คือการพัฒนาพื้นที่ 615 ไร่ ในจังหวัดลำปาง ให้กลายเป็นศูนย์เรียนรู้ธุรกิจกาแฟครบวงจรแห่งแรกของประเทศ หรือ อุทยานอเมซอน (Amazon Park) ที่จะเข้ามาช่วยเติมเต็มระบบนิเวศในธุรกิจกาแฟของ Cafe Amazon ให้มีความสมบูรณ์
โดยเฉพาะในส่วนของ “ต้นน้ำ” ให้แข็งแรงและยั่งยืนมากขึ้น เช่นเดียวกับ “ปลายน้ำ” ที่มีร้าน Cafe Amazon แล้วกว่า 4,000 สาขาทั่วประเทศ รวมทั้ง “กลางน้ำ” ที่มีการพัฒนาโรงคั่ว และระบบแวร์เฮ้าส์อัจฉริยะ สำหรับการคั่วเมล็ดกาแฟ และการจัดการระบบขนส่ง รวมทั้งมีโรงเบเกอรี่ สำหรับนำส่งไปให้กับสาขาต่างๆ ตั้งอยู่ที่ วังน้อย อยุธยาฯ
การเลือกจังหวัดลำปางเป็นที่ตั้ง “อุทยานอเมซอน” เพราะ OR มีคลังน้ำมันตั้งอยู่ในพื้นที่ จึงเป็นหนึ่งในพันธกิจดูแลชุมชนที่อยู่โดยรอบ รวมทั้งภาคเหนือมีเกษตรกรไร่กาแฟอยู่ในพื้นที่จำนวนมาก
สำหรับศูนย์เรียนรู้ “อุทยานอเมซอน” จะแสดงให้เห็นการทำงานอย่างครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำในธุรกิจกาแฟของ OR เริ่มที่การวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ร่วมกับทางพันธมิตรที่มีองค์ความรู้ การเพาะชำต้นกล้าเพื่อนำไปแจกจ่ายให้เกษตรกรในเครือข่ายไปปลูก และรับซื้อผลผลิตโดยตรงจากเกษตรกรโดยไม่ผ่านคนกลาง เพื่อนำมาเป็นวัตถุดิบในธุรกิจ Cafe Amazon
นอกจากนี้ยังช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟ รวมทั้งเพิ่มการจ้างในท้องถิ่น ทั้งการมาทำงานภายในไร่กาแฟ การมีรายได้ต่อเนื่องจากการเติบโตของการท่องเที่ยวในลำปาง จากแลนด์มาร์กใหม่ Amazon Park
“เซเว่นอีเลฟเว่น” ให้โอกาสช่องทางขาย หนุนสร้าง SMEs หน้าใหม่
ร้าน “เซเว่น อีเลฟเว่น” ธุรกิจของ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL เป็นเชนร้านสะดวกซื้อเบอร์หนึ่งในประเทศไทย ปัจจุบันมีจำนวนกว่า 14,000 สาขา ถือเป็นช่องทางขายสินค้าที่ทรงอิทธิพลเข้าถึงผู้บริโภคลงลึกระดับอำเภอ
ปัจจุบัน เซเว่น อีเลฟเว่น มีเครือขายคู่ค้ามากกว่า 1,500 ราย ทั้งขนาดใหญ่ กลาง และรายย่อย โดย SMEs ถือเป็นหัวใจสำคัญ เพื่อให้ธุรกิจร้านสะดวกซื้อมีสินค้าจำหน่ายหลากหลาย
ส่วนหนึ่งในการดำเนินธุรกิจของ เซเว่น อีเลฟเว่น จึงมุ่งสร้างโอกาสให้กับท้องถิ่น ผู้ประกอบการรายย่อย เกษตรกร รวมถึงชุมชน ตามกลยุทธ์ “3ให้” ได้แก่ 1.ให้ช่องทางการขาย 2.ให้ความรู้การพัฒนา 3.ให้การเชื่อมโยงเครือข่าย
แนวทางการสนับสนุนและส่งเสริม SMEs ได้จัดตั้ง “ศูนย์ 7-Eleven สนับสนุน SMEs” เพื่อให้ความรู้ ทักษะสู่การเป็นโมเดิร์นเทรด และโอกาสในการวางขายสินค้าในร้านเซเว่นฯ ช่องทางออนไลน์ และบริการเดลิเวอรี่ ส่งผลให้ยอดขายสินค้ากลุ่ม SMEs เติบโตกว่า 10% ต่อปี สร้างชื่อเสียงให้ SMEs จนกลายเป็นแบรนด์ที่รู้จักระดับประเทศ
ปี 2566 การสนับสนุน SMEs สามารถสร้างผู้ประกอบการหน้าใหม่ที่มีศักยภาพได้ 197 ราย เพิ่มจากปี 2565 ที่สร้างได้ 163 ราย ส่งผลให้เซเว่น อีเลฟเว่น มีผู้ประกอบการ SMEs ที่เป็นคู่ค้ารวมอยู่ที่ 1,216 ราย มีจำนวนสินค้า SMEs รวมทั้งสิ้น 9,763 รายการ เพิ่มขึ้น 13% จากปีก่อนหน้า สามารถช่วยกระจายรายได้กลับสู่ชุมชนและท้องถิ่น ผ่านการมีส่วนร่วมในรูปแบบต่างๆ เช่น เกษตรกรผู้ปลูกสินค้าเกษตร เพื่อส่งให้ผู้ประกอบการนำไปแปรรูปเป็นสินค้าเพื่อจำหน่าย หรือในส่วนของชุมชน/วิสาหกิจชุมชนก็เข้ามามีส่วนร่วมในการที่ช่วยผลิตสินค้า เป็นการสร้างอาชีพและรายได้ให้กับชุมชน โดยคิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจรวมกว่า 20,000 ล้านบาท
แผนการดำเนินงานปี 2567 เซเว่น อีเลฟเว่น ยังคงเดินหน้าสนับสนุนและส่งเสริมผู้ประกอบการผ่าน “กลยุทธ์ 3 ให้” ภายใต้ธีม “SMEs โตไกลไปด้วยกัน” อย่างต่อเนื่อง พร้อมตั้งเป้าพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ SMEs ปีละไม่ต่ำกว่า 1,000 ราย
กสิกรไทย กับภารกิจสร้างสินเชื่อสีเขียวหนุนซัพพลายเชน
การดำเนินงานด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนของธนาคารกสิกรไทยเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่น่าจับตามอง โดยในปีที่ผ่านมา พบว่าธนาคารมีการพัฒนาอย่างยั่งยืนครอบคลุมทั้ง 3 ด้าน (สิ่งแวดล้อม-สังคม-เศรษฐกิจ) เช่น ให้ความรู้และส่งเสริมวินัยทางการเงินแก่ผู้ด้อยโอกาส จำนวน 53,886 คน, การให้ความรู้ด้านไซเบอร์แก่ประชาชน จำนวน 28.2 ล้านคน และการให้ความรู้ทางการเงินแก่เยาวชน จำนวน 11,581 คน ตลอดจนมีการสนับสนุนด้านการเงินและการลงทุนเพื่อความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อม ในปี 2566 จำนวน 46,986 ล้านบาท และทำให้ยอดสะสมการสนับสนุนด้านการเงินและการลงทุนเพื่อความยั่งยืน ระหว่างปี 2565-2566 มีจำนวนถึง 73,397 ล้านบาท
ขณะที่ปี 2566 ธนาคารกสิกรไทยสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 12.74% เมื่อเทียบจากปี 2563 (ปีฐาน) และในปี 2567 ธนาคารยังได้จัดงาน EARTH JUMP 2024 : The Edge of Action ต่อเนื่องเป็นปีที่สอง ซึ่งภายในงานมีวิทยากรจำนวนมากมาให้ความรู้เกี่ยวกับกติกาด้านการเงินและการลงทุน สินเชื่อสีเขียว เพื่อให้ธุรกิจด้านซัพพลายเชนมีโอกาสปรับตัว และสามารถส่งออกสินค้าได้ดีขึ้น ซึ่งงานดังกล่าวคาดการณ์ว่ามีผู้เข้าร่วมมากถึง 2,000 รายเลยทีเดียว
“อายิโนะโมะโต๊ะ” หยิบจุดแข็งสร้างสังคม-สิ่งแวดล้อมเติบโตยั่งยืนตลอดการผลิต
“บริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ (ประเทศไทย) จำกัด” (Ajinomoto) เป็นแบรนด์ที่อยู่คู่คนไทยมากว่า 63 ปี ที่ผ่านมา นอกจากการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพผ่านการใช้ศาสตร์แห่งกรดอะมิโนแล้ว ยังให้ความสำคัญกับการสร้างคุณค่าร่วมกับสังคม และสิ่งแวดล้อม (Ajinomoto Creating Share Value : ASV) อย่างต่อเนื่อง เพราะตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม อีกทั้งบริษัทก็เป็นหนึ่งในธุรกิจที่มีความเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม เนื่องจากมีการนำผลผลิตทางการเกษตร เช่น มันสำปะหลัง และอ้อย มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ จึงต้องการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้ได้มากที่สุดเช่นกัน ในปี 2563 บริษัทจึงวางจุดยืนใหม่สู่การเป็นบริษัทที่สร้างความอยู่ดีมีสุขให้สังคมไทย และตั้งเป้าลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมลง 50% ในปี 2573
โดยอายิโนะโมะโต๊ะได้วางแผนและลงมือทำอย่างจริงจัง ผ่านการดำเนินงานใน 3 ด้าน คือ การสร้างสังคมสุขภาพดี การใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และการสร้างความยั่งยืนของโลก โดยการสร้างสังคมสุขภาพดีจะนำจุดแข็งเรื่อง “กรดอะมิโน” มาพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อแก้ปัญหาด้านโภชนาการและเสริมสร้างสุขภาพดีให้กับผู้คน ส่วน การส่งเสริมการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน ได้นำหลัก 3Rs (Reduce, Reuse, Recycle) มาเป็นหลักในการจัดการโรงงานตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงกระบวนการผลิตให้ใช้ไฟฟ้าลดลง โดยใช้พลังงานทางเลือกในการผลิตแทนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล และติดตั้ง Solar Rooftop บนอาคารโรงงาน ทำให้โรงงานลดการใช้เชื้อเพลิงจากน้ำมันเตาลง 40% จากเดิมที่ซื้อไฟฟ้าใช้ 100% และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นสาเหตุของสภาวะโลกร้อนได้ 380,000 ตันต่อปี หรือ เท่ากับต้นไม้ 30 ล้านต้น
ขณะเดียวกันยังจัดการกับของเหลือที่เกิดจากกระบวนการผลิตผงชูรสให้เป็นผลิตภัณฑ์ร่วมที่เป็นประโยชน์ทางการเกษตร นั่นคือ ปุ๋ยอินทรีย์เคมี ซึ่งช่วยให้ไม่เกิดผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้เกษตรกรลดการใช้ปุ๋ยเคมีในการเพาะปลูก แถมได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นด้วย ตลอดจนลดการใช้ทรัพยากรน้ำ ด้วยหลักการ 3Rs โดยนำน้ำที่ใช้แล้วมาผ่านกระบวนการบำบัดให้มีคุณภาพและนำกลับมาใช้ใหม่ และจัดการกับขยะพลาสติก โดยยกเลิกถุงพลาสติกที่ใช้ห่อบรรจุภัณฑ์ผงชูรส และปรับขนาดซองให้พอดีกับผลิตภัณฑ์ ทำให้ลดปริมาณการใช้พลาสติกลดลง 365 ตัน
Air-X ผนึก Art Story และ Molly Ally ส่งต่อ “โอกาส” สร้างความยั่งยืนให้ศิลปินออทิสติกไทย
เมื่อพูดถึงกิจกรรมเพื่อสังคม คนส่วนใหญ่มักนึกไปถึงการบริจาคเป็นอันดับแรก แต่ความจริงแล้ว รูปแบบกิจกรรมเพื่อสังคมสามารถทำได้หลายมิติ และองค์กรสามารถหยิบความเชี่ยวชาญของตัวเองมาลงมือทำ เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับคนในสังคมและธุรกิจเติบโตร่วมกันได้ ดังเช่น “บริษัท อาร์เอ็กซ์ จำกัด” ผู้ผลิตยาแก้ท้องอืดแบรนด์ Air-X เป็นองค์กรที่ให้ความสำคัญกับการทำกิจกรรมเพื่อสังคมมาอย่างต่อเนื่อง เพราะเชื่อในการสร้างโอกาสกับคนทุกกลุ่มในสังคม รวมไปถึงเด็กๆ ในกลุ่มออทิสติก
แต่วิธีที่ Air-X ทำ ไม่ใช่แค่การบริจาคสิ่งของแบบเดิมๆ เท่านั้น แต่เป็นการจับมือกับองค์กรและแบรนด์ต่างๆ เพื่อนำจุดแข็งของแต่ละแบรนด์มาต่อยอดสร้างโอกาสให้กับคนทุกกลุ่มในสังคมได้อย่างต่อเนื่อง เช่น การจับมือกับ Art Story โดยมูลนิธิออทิสติกไทย ออกคอลเลคชั่นพิเศษ ซึ่งเป็นสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็น แก้วน้ำเก็บความเย็น หมวก และกระเป๋า ที่มีลวดลายไม่เหมือนใคร จากฝีมือน้องออทิสติกที่ถ่ายทอดเอกลักษณ์ของ Air-X ผ่านจินตนาการจนออกมาเป็น Mascot Belly (น้องเบลลี่) สุดคิวท์ โดยสินค้าทั้งหมดจะนำมาวางจำหน่ายในร้านค้า Air-X บน Lazada
ขณะเดียวกัน Air-X ยัง Collaboration กับแบรนด์ไอศกรีมเจลาโต้ชื่อดังอย่าง “Molly Ally” นำรสชาติของยาแก้ท้องอืด Air-X มาครีเอทกลายเป็นไอศกรีม 4 รสชาติสุดพิเศษคือ Coco Kale Passionfruit, Orange Lime Sorbet, Mint Choc Chunk และ Lemon Honeycomb เพื่อวางจำหน่ายในร้าน Molly Ally อีกทั้งน้องๆ จาก Art Story ยังสร้างสรรค์คาแรคเตอร์ลายการ์ตูนรูปกระเพาะสุดน่ารักบนฝาไอศกรีมด้วย โดยรายได้จากการจำหน่ายส่วนหนึ่งจะมอบให้มูลนิธิออทิสติกไทย ซึ่งถือเป็นการเปิดโอกาสให้กับเด็กออทิสติกไทยทุกคนได้แสดงศักยภาพของตนเองอย่างทัดเทียม และสามารถนำไปประกอบอาชีพ สร้างรายได้ และเติบโตในสังคมอย่างยั่งยืนต่อไป
เซ็นทรัล รีเทลฯ เร่งเครื่อง Green & Sustainable Retail and Wholesale
อีกหนึ่งยักษ์ใหญ่ในเครือเซ็นทรัลอย่าง บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ CRC หนึ่งในองค์กรค้าปลีก-ค้าส่งที่เดินหน้าพัฒนาองค์กรสู่ Green & Sustainable Retail and Wholesale ที่รับผิดชอบด้านสิ่งแวดล้อม ความเป็นอยู่ของสังคม ด้วยการมุ่งเน้นกรอบแห่งความยั่งยืน 4 ส่วนสำคัญ ได้แก่ 1.People ความเป็นอยู่ที่ดีของผู้คน 2.Prosperity การเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน 3.Planet คุณภาพสิ่งแวดล้อม 4.Peace & Partnerships ความสงบสุข ศิลปวัฒนธรรม และความร่วมมือ
ควบคู่กับการดำเนินธุรกิจภายใต้ปรัชญาในการดำเนินธุรกิจ CRC Care ทั้ง 7 มิติ เพื่อทำให้ เซ็นทรัล รีเทล เป็น Central to Life ศูนย์กลางชีวิตของทุกคน ได้แก่
-Care for the Economy ขยายธุรกิจและพัฒนาโมเดลใหม่อย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความเจริญทั่วไทย และกระตุ้นเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ
-Care for the Customer เซ็นทรัล รีเทล ยึดลูกค้าเป็นหัวใจหลักในการดำเนินธุรกิจมา โดยเดินหน้าพัฒนา Next-Gen Omnichannel platform ที่ครบวงจร เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้ทุกที่ทุกเวลา
-Care for the Partner สร้างช่องทางการขายที่หลากหลายให้กับคู่ค้า พร้อมทั้งยังช่วยสนับสนุนแบรนด์ไทยให้นำสินค้ามาจำหน่ายที่ร้านค้าในเครือของเซ็นทรัล รีเทล ในประเทศเวียดนาม และอิตาลี
-Care for the People สร้างที่ทำงานให้เป็น “A Great Place to Work” เพื่อให้พนักงานกว่า 80,000 คน สามารถทำงานอย่างมีความสุขและภาคภูมิใจสู่การเป็น “Winning Team”
-Care for the Community ยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย และลดความเหลื่อมล้ำในสังคม โดยเดินหน้าสร้างอาชีพ และรายได้ที่ยั่งยืนให้ชุมชน ผ่านโครงการต่างๆ
-Care for the Sustainability ตอกย้ำเจตนารมณ์ของเซ็นทรัล รีเทล ที่มุ่งสู่การเป็น Green & Sustainable Retail องค์กรค้าปลีกต้นแบบด้านความยั่งยืนแห่งเอเชีย ด้วยกลยุทธ์ “ReNEW”
-Care for the Governance เซ็นทรัล รีเทล บริหารงานและดำเนินธุรกิจอย่างโปร่งใส มีธรรมาภิบาล ตามหลัก GRC (Governance, Risk, Compliance) บนจรรยาบรรณ 5 เรื่อง คือ ความซื่อสัตย์ ความสุจริต มีจริยธรรม โปร่งใส และมีความรับผิดชอบต่อสังคม
โดยตั้งเป้าการใช้พลังงานหมุนเวียนและพลังงานสะอาด 50% ในปี 2573 และตั้งเป้า Net Zero หรือลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ภายในปี 2593 อีกทั้งยังส่งเสริมสินค้าและบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยการขยายร้านค้าสีเขียวจำหน่ายสินค้ารักษ์โลก จำนวนกว่า 60 แห่ง เช่น ร้าน Healthiful และTops Green โดยตั้งเป้าเปิดเพิ่มเป็น 200 แห่งในอนาคต
Sabina อวนประมงไม่ใช้แล้ว สู่ ‘ชุดชั้นใน’
Sabina สร้างแรงบันดาลใจด้านสิ่งแวดล้อม ด้วยผลิตภัณฑ์ของตัวเอง โดยเข้าร่วมเฉลิมฉลองวันคุ้มครองโลก (Earth Day) ด้วยการร่วมโครงการ “Nets Up” โมเดลการสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อทะเลยั่งยืน เปลี่ยนอวนประมงที่ไม่ใช้แล้ว ให้กลายเป็นวัตถุดิบจากท้องทะเล (Marine Materials) นำมาผลิตสินค้าคอลเลคชั่นใหม่ “From Marine to Fashion จากท้องทะเล… สู่แฟชั่นรักษ์โลก” ด้วยความตระหนักถึงปัญหาขยะทะเลที่เกิดจากการทิ้งอวนประมงที่ไม่ใช้แล้ว ที่มีมากถึงประมาณ 64,000 ตันต่อปี ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม นำมาสู่คอลเลคชั่นที่ช่วยลดปริมาณขยะอวนประมงใช้แล้วได้ทั้งหมดประมาณ 620 กิโลกรัม และช่วยชดเชยปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 4 ตัน กลายเป็นส่วนหนึ่งของการส่งให้ผลิตภัณฑ์ของตัวเอง มีส่วนในการกระตุ้นให้ผู้บริโภคเข้าใจเรื่อง “ทะเลที่ยั่งยืน”
ทั้งหมดนี้คือ 10 องค์กรที่ให้ความใส่ใจเรื่อง ESG และส่งผ่านความตั้งใจด้วยเรื่องใกล้ตัว ตั้งแต่วิธีคิดของผู้คนในองค์กร จนกลายเป็นสินค้า-บริการที่ให้ความสำคัญกับสังคมรอบตัว ตามความถนัดของตัวเอง