HomeCSRผ่าแนวคิดการช่วยเหลือสังคมแบบ “I.C.C.” จากที่แล้งสู่ดินสมบูรณ์ สร้างงาน สร้างรายได้ พัฒนาชุมชนสู่การเติบโตยั่งยืน

ผ่าแนวคิดการช่วยเหลือสังคมแบบ “I.C.C.” จากที่แล้งสู่ดินสมบูรณ์ สร้างงาน สร้างรายได้ พัฒนาชุมชนสู่การเติบโตยั่งยืน

แชร์ :

เมื่อพูดถึง “การช่วยเหลือสังคม” มิติแรกที่คนส่วนใหญ่จะนึกถึงคือ กิจกรรมการกุศล ส่งผลให้ภาพของการช่วยสังคมถูกมองเป็นเรื่อง “การบริจาค” ซึ่งที่ผ่านมามักจะเกิดขึ้นแค่ช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง ทำให้การสร้างประโยชน์ต่อสังคมอาจจะไม่ต่อเนื่องและเห็นผลลัพธ์มากนัก แต่ความจริงแล้วการช่วยสังคมยังทำได้หลายรูปแบบ และสามารถทำให้ธุรกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมเติบโตร่วมกันได้อย่างยั่งยืน

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

หลายคนอาจยังเห็นภาพไม่ชัดว่าการช่วยเหลือสังคมจะขับเคลื่อนธุรกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมให้เติบโตร่วมกันได้อย่างไร? Brand Buffet จึงพามาเจาะลึกแนวคิดการช่วยสังคมของ “บริษัท ไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน)” หรือ “I.C.C.” ในเครือสหพัฒน์ ผ่านโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ ตามแนวพระราชดำริ ชุมชนเพชรน้ำหนึ่ง เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น ซึ่งเพียง 7 ปี สามารถทำให้ชุมชนเพชรน้ำหนึ่งมีน้ำสำรองไว้ทำการเกษตรได้ตลอดปี ทั้งยังสร้างอาชีพ และรายได้ที่มั่นคง ทำให้สมาชิกกว่า 238 ครอบครัว พึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน

พัฒนาระบบน้ำ เปลี่ยนดินแล้งเป็นดินสมบูรณ์

โครงการพัฒนาแหล่งน้ำ ตามแนวพระราชดำริ ชุมชนเพชรน้ำหนึ่ง เป็นโครงการที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2560 โดยแรงบันดาลใจแรกเริ่ม คุณสมพล ชัยสิริโรจน์ กรรมการบริษัท บริษัท ไอ.ซี.ซี.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) บอกว่า เริ่มจากบริษัทต้องการทำโครงการที่จะระลึกถึงในหลวง ร.9 ซึ่งวิธีที่จะทำได้คือ การนำสิ่งที่ในหลวง ร.9 ได้สร้างไว้มาสานต่อ จึงทำให้ “คุณบุญเกียรติ โชควัฒนา” เกิดแนวคิดในการนำความเชี่ยวชาญในแบบที่ ICC เป็น นั่นคือ “แฟชั่น” เข้าไปสร้างคุณค่าร่วมให้สังคม กระทั่งเกิดเป็นงานกาล่าดินเนอร์การกุศล พร้อมแสดงแฟชั่นโชว์คอลเลคชัน W B G (White Black  Gold) ขึ้น เพื่อนำรายได้จากการจัดงานมาสนับสนุนการการทำงานของมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบมราชูปถัมป์ เพื่อใช้ในกิจการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำชุมชน

คุณสมพล ชัยสิริโรจน์ กรรมการบริษัท บริษัท ไอ.ซี.ซี.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน)

จากนั้น ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานกรรมการมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ก็ชวนลงพื้นที่ชุมชนในจังหวัดต่างๆ เพื่อให้เห็นการทำงานของมูลนิธิอุทกพัฒน์ ซึ่งจากการลงพื้นที่ จึงเห็นปัญหาใหญ่ของพื้นที่ในแต่ละชุมชนคือ ไม่มีน้ำเพียงพอ ทำให้เพาะปลูกไม่ได้ผล หลังจากตระเวนลงพื้นที่ต่างๆ บริษัทจึงตัดสินใจนำรายได้มาพัฒนาพื้นที่ชุมชนเพชรน้ำหนึ่ง จังหวัดเพชรบุรี เพราะมองว่าไม่ไกลจากกรุงเทพฯ เดินทางสะดวก หากวันหนึ่งพนักงานจะเดินทางมาทำกิจกรรมร่วมกับชุมชน

จากวันนั้น I.C.C. ก็ลงสนามทำจริง และเพียง 7 ปี นอกจากจะฟื้นฟูพื้นที่ทำกินของเกษตรกรให้มีความสมบูรณ์ ยังพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนชุมชน ให้มีรายได้มั่นคง และสามารถพึ่งพาตนเองแบบเศรษฐกิจพอเพียงได้อย่างยั่งยืน

จากไม่มีรายได้ สู่การสร้างงาน-รายได้ พึ่งพาตนเองได้  

คุณอภิชัย ชาติเอกชัย ประธานวิสาหกิจชุมชนสหพันธ์เกษตรกรเพชรน้ำหนึ่ง เล่าว่า ตนและชาวบ้านกว่า 10 คนเข้ามาอยู่ในพื้นที่นี้ตั้งแต่ปี 2552 ซึ่งเดิมเป็นที่ดินสนามกอลฟ์ร้าง ที่รัฐบาลซื้อจากภาคเอกชนมาจัดสรรให้ราษฎรใช้เป็นที่ทำกิน แต่ปัญหาของที่นี่คือ สภาพดินเป็นดินปนกรวดผสมลูกรัง ทำให้ไม่สามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ประโยชน์ในพื้นที่ได้ ทั้งยังไม่มีระบบการจัดการน้ำเพื่อการเกษตร จึงทำให้เพาะปลูกอะไรก็ไม่ได้ ในช่วงแรกชาวบ้านจึงปลูกข้าวไว้กินกันในชุมชนอย่างเดียว

กระทั่งปี 2560 มูลนิธิอุทกพัฒน์ และ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ องค์การมหาชน (สสน.) จึงเริ่มเข้ามาช่วยเหลือและให้ความรู้ในการบริหารจัดการน้ำตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง ร.9 อีก 1 ปีถัดมา ICC จึงได้สนับสนุนงบประมาณ 2 ล้านบาท เพื่อปรับปรุงและพัฒนาโครงสร้างเชื่อมโยงระบบน้ำในพื้นที่ พร้อมระบบกระจายน้ำในแปลงเกษตรผสมผสานตามแนวทฤษฎีใหม่ จากนั้นในปี 2563-2565 ได้สร้างอาคารบรรจุและเก็บรักษาผลผลิต รวมถึงสร้างหอเก็บน้ำเพื่อนำน้ำจากสระขนาดใหญ่ 23 ไร่กระจายทั่วพื้นที่เพาะปลูก เพื่อให้เกษตรกรมีน้ำเพียงในการทำการเกษตรตลอดปี ขณะเดียวกันยังช่วยหาตลาดเพื่อนำผลผลิตไปจำหน่าย และในปี 2566 ได้ติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์สำหรับอาคารบรรจุและเก็บรักษาผลผลิต

ส่งผลให้ผลผลิตมีความสดใหม่ รวมทั้งช่วยลดต้นทุนค่าไฟฟ้า คุณอภิชัยบอกว่า จากเดิมค่าไฟฟ้าอยู่ที่ 8,000-9,000 บาทต่อเดือน ปัจจุบันเหลือเพียง 1,200 บาทต่อเดือน อีกทั้งชาวบ้านสามารถขยายมาปลูกพืชได้หลากหลาย จากเดิมที่แค่ปลูกข้าวไว้กินกันในชุมชน และยังสามารถส่งพืชผักไปจำหน่ายในร้าน Golden Place ทั้งในจังหวัดเพชรบุรี และ 10 สาขาในกรุงเทพฯ จนตอนนี้ผลิตสินค้าส่งไม่ทัน สร้างรายได้ให้กับชาวบ้านในชุมชนเพิ่มขึ้น จนปัจจุบันไม่มีหนี้

“สัปดาห์หนึ่งเราผลิต 3 รอบ โดยรอบหนึ่งจะแพ็กสินค้าได้ประมาณ 2,000 แพ็ก ซึ่งรายได้จะขึ้นอยู่กับการปลูกของแต่ละคน บางคนก็ได้รายได้ 5,000- 6000 บาทต่อเดือน บางคนมีรายได้กว่า 10,000 บาทต่อเดือน จากเมื่อก่อนไม่มีรายได้เลย” คุณอภิชัย บอกถึงการทำงานกับมูลนิธิอุทกพัฒน์ และ I.C.C. ตลอด 7 ปีที่ผ่านมา และยังขยายการปลูกพืชผักใหม่ๆ รวมถึงพัฒนาการสูบน้ำจากสระมาใช้ในแปลงเกษตรให้ครบทุกแปลง เพื่อเพิ่มผลผลิตให้ได้มากขึ้น

5 ปัจจัยสร้างชุมชนเข้มข้น เติบโตยั่งยืน

แม้วันนี้ชุมชนเพชรน้ำหนึ่งจะมีแหล่งน้ำเพียงพอในการทำเกษตร และมีรายได้มั่นคง แต่กว่าจะมาถึงวันนี้ได้ ต้องบอกว่า ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องอาศัยความร่วมมือและปัจจัยหลายอย่าง ซึ่ง ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานกรรมการมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ บอกว่า มาจาก 5 ปัจจัยด้วยกัน 1.ชุมชนร่วมมือร่วมใจ เจ้าของพื้นที่ หรือชุมชนต้องมีใจ และลงมือทำอย่างจริงจัง 2.มีผู้นำ หรือหัวหน้าที่ดี ผู้นำในที่นี่ไม่จำเป็นต้องเป็นคนที่มีตำแหน่ง แต่ต้องเป็นผู้นำทางธรรมชาติ ซึ่งจะเกิดขึ้นเอง อย่างคุณซอ ดำรัสสิริ ที่ทิ้งชีวิตในกรุงเทพฯ เพื่อมาอยู่ที่นี่ และทำตรงนี้ด้วยความสุข

ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานกรรมการมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์

3.มีพี่เลี้ยงที่ดี ผู้เชี่ยวชาญคอยให้คำแนะนำ โดยมีข้อมูลวิชาการ มี GPS มีภาพถ่ายทางดาวเทียมเพื่อใช้ในพื้นที่ ไม่ใช่นึกอยากจะขุดสระก็ขุด พอขุดเสร็จแล้วบอกไม่มีน้ำเพราะไปขุดในที่ที่น้ำไม่ลง 4.มีทุนจากผู้สนับสนุนจากองค์กรที่ต้องการคืนกำไรสู่สังคม เพื่อนำเงินไปใช้ในจุดที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม และ 5.มีภาคี รู้-รัก-สามัคคี และมีความเข้าใจ เข้าถึง พัฒนา โดยต้องเข้าใจปัญหา รู้จักเรียนรู้และแก้ปัญหา เพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

จึงถือเป็นกรณีศึกษาการช่วยสังคมที่มีวิธีคิดน่าสนใจ แม้จุดเริ่มต้นโครงการจะมาจากกิจกรรมการกุศล แต่การทำด้วยความเข้าใจ บวกกับการลงมือทำอย่างต่อเนื่อง ทำให้บริษัทสามารถสร้างคุณค่าให้สังคมและสิ่งแวดล้อมได้ต่อเนื่องและไม่รู้จบ ซึ่งในปีนี้ I.C.C. ยังได้นำอาสาสมัครกว่า 100 ชีวิต ลงพื้นที่ชุมชนเพชรน้ำหนึ่งเป็นครั้งแรก เพื่อปลูกหญ้าแฝก พร้อมต้นไม้ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นตะแบก ประดู ไม้แดง พยูง สังทอง และมะม่วง บริเวณพื้นที่รอบสระระยะทาง 700 เมตร เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว และป้องกันการพังทลายของหน้าดิน เพื่อช่วยโลกและคนในสังคมให้อยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืนต่อเนื่อง เพราะ I.C.C เชื่อว่า การเป็นบริษัทที่ดีในยุคนี้ ไม่ใช่แค่สร้างการเติบโตให้ธุรกิจเท่านั้น แต่จะต้องสร้างโลก และชุมชนให้เติบโตไปพร้อมกันด้วย

ติดตามพวกเราได้ที่ LINE


แชร์ :

You may also like