HomeBrand Move !!10 ปีทีวีดิจิทัล ‘ขาดทุนอ่วม’ หันลดต้นทุน-เลิกจ้าง เม็ดเงินโฆษณายัง ‘ขาลง’ ต่อเนื่อง

10 ปีทีวีดิจิทัล ‘ขาดทุนอ่วม’ หันลดต้นทุน-เลิกจ้าง เม็ดเงินโฆษณายัง ‘ขาลง’ ต่อเนื่อง

แชร์ :

media spending tv

Photo Credit : NUMBER 24 – Authorized Shutterstock Partner in Thailand

“ธุรกิจทีวี” ยังเป็นกิจการสื่อที่อยู่ในภาวะ “ขาลง” ต่อเนื่อง ดูได้จากเม็ดเงินโฆษณาถดถอยลงทุกปี จากตัวเลข “นีลเส็น” ที่สรุปมูลค่าโฆษณาทีวี 80,000 ล้านบาท ในปี 2557 ซึ่งเป็นปีเริ่มต้นทีวีดิจิทัล คาดการณ์ปี 2567 อยู่ที่ 57,000 ล้านบาท มีสัดส่วนลดลงต่ำกว่า 50% ของอุตสาหกรรมโฆษณาเป็นครั้งแรก

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

แนวโน้มหลังจากนี้ “โฆษณาทีวี” ก็ยังเป็น “ขาลง” ต่อไป จากพฤติกรรมการเสพสื่อออนไลน์มากขึ้น ทำให้เม็ดเงินโฆษณาเทไปยังสื่อออนไลน์ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา

10ปี ทีวีดิจิทัล “ขาดทุน-คืนใบอนุญาต”

นับตั้งแต่ กสทช. เปิดประมูลใบอนุญาต “ทีวีดิจิทัล” 24 ช่อง ในช่วงปลายเดือนธันวาคม 2556 ได้เม็ดเงินจากการประมูลไปถึง 50,862 ล้านบาท จากนั้นกำหนดให้ทีวีดิจิทัล เริ่มต้นออกอากาศในวันที่ 25 เมษายน 2557 ถือครองใบอนุญาต 15 ปี จบในวันที่ 24 เมษายน 2572

แต่หากดูเม็ดเงินโฆษณาทีวีกลับลดลงอย่างต่อเนื่อง สวนทางจำนวนช่องฟรีทีวีที่เพิ่มขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลส่วนใหญ่ โดยเฉพาะหน้าใหม่เจอกับปัญหา “ขาดทุน” จนต้องขอคืนใบอนุญาตก่อนครบอายุ

หลังจบปีแรกของทีวีดิจิทัล ในปี 2558 ช่องไทยทีวีและโลก้า ของคุณพันธุ์ทิพา ศกุณต์ไชย (ติ๋ม ทีวีพูล) เป็นรายแรกที่ขอ “เลิกกิจการ” คืนใบอนุญาตทีวีดิจิทัลทั้ง 2 ช่อง และมีคดีฟ้องร้องที่ศาลปกครองว่า กสทช. เปลี่ยนผ่านทีวีดิจิทัลไม่เป็นไปตามสัญญา ทำให้ผู้ประกอบการได้รับความเสียหาย (คดีนี้ใช้เวลามาถึงปี 2564 สรุป “ติ๋ม ทีวีพูล” ชนะคดีศาลสั่งให้คืนเงินค่าประมูลทีวีดิจิทัล ที่จ่ายเกินจากระยะเวลาที่ไม่ได้ออกอากาศ และคืนหนังสือค้ำประกันของธนาคาร ที่วางไว้เพื่อค้ำประกันจ่ายเงินค่าใบอนุญาตรายปีทั้งหมด)

สถานการณ์ทีวีดิจิทัล นับตั้งแต่เริ่มออกอากาศในปี 2557 ผู้ประกอบการ “ส่วนใหญ่” ยังไปไม่รอด จึงมีมาตรการช่วยเหลือตามคำสั่ง คสช. มาตรา 44 ออกมาปลดล็อก เปิดทางให้ทีวีดิจิทัล “คืนใบอนุญาต” โดยได้รับเงินชดเชย

ในวันที่ 10 พฤษาภาคม 2562 กสทช.กำหนดให้ทีวีดิจิทัล ส่งหนังสือแจ้งคืนใบอนุญาต สรุปมีผู้ประกอบการขอคืน 7 ช่อง ประกอบด้วย 1.สปริงส์นิว 2.วอยซ์ทีวี 3.สปริง 26 (NOW 26) 4. MCOT Family (อสมท) 5. ไบรท์ทีวี 6. ช่อง 3 SD (ช่อง 28) และ 7. ช่อง 3 Family (ช่อง13) ทั้งหมดยุติออกอากาศในวันที่ 1 ตุลาคม 2562 โดยทั้ง 7 ช่อง ที่คืนใบอนุญาตจะได้รับเงินชดเชยรวม 3,000 ล้านบาท

ตลอดระยะเวลาทีวีดิจิทัลออกอากาศ ในปี 2557 มาถึงการคืนใบอนุญาตในปี 2562 ปิดฉาก 9 ช่อง (คืนใบอนุญาต 7 ช่อง และเลิกกิจการ 2 ช่องของ ติ๋ม ทีวีพูล) ธุรกิจทีวีดิจิทัลเจอปัญหาขาดทุนสะสมมาต่อเนื่องหลัก “หมื่นล้านบาท” ทั้งช่องที่คืนใบอนุญาตและช่องที่ยังดำเนินธุรกิจอยู่ รวมทั้งการเลิกจ้างคนทำงานตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมาของทีวีดิจิทัลรวม 2,000 คน

“พีพีทีวี” ลดคนทีวี-โฟกัสออนไลน์

ปัจจุบันยังมีทีวีดิจิทัล ดำเนินธุรกิจอยู่อีก 15 ช่อง แต่หลายช่องยังเจอกับปัญหา “ขาดทุน” จากอุตสาหกรรมโฆษณาเปลี่ยน เม็ดเงินสื่อทีวีถดถอย สื่อออนไลน์และโซเชียลมีเดียมีบทบาทดึงเวลาผู้ชมและเม็ดเงินโฆษณามากขึ้น จึงเห็นการปรับตัวลดต้นทุนสื่อทีวีและการประกาศเลิกจ้างคนทำงานออกมาอย่างต่อเนื่อง แม้จะเหลือระยะเวลาใบอนุญาตทีวีดิจิทัลอีกเพียง 5 ปีเท่านั้น

สัญญาณการลดต้นทุนทีวีดิจิทัลรอบล่าสุดในเดือนมิถุนายน 2567 คือช่องพีพีทีวี ได้ประกาศลดพนักงาน 90-100 คน ในฝั่งทีมข่าวและกลุ่มจ้างผลิต รวมทั้งยุติรายการ “รอบโลกเดลี่” ของผู้ดำเนินรายการ คุณกรุณา บัวคำศรี ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2567

ช่องพีพีทีวี มีกลุ่มทุนใหญ่ “ตระกูลปราสาททองโอสถ” เป็นเจ้าของ โดยเข้าสู่ธุรกิจทีวีดิจิทัล ด้วยการจัดตั้ง บริษัท บางกอก มีเดีย แอนด์ บรอดคาสติ้ง จำกัด ในปี 2556 ทุนจดทะเบียน 3,000 ล้านบาท โดยมีนพ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ เป็นหนึ่งในกรรมการบริษัท และได้เข้าร่วมประมูลใบอนุญาตทีวีดิจิทัล ช่อง HD มาด้วยราคา 3,460 ล้านบาท

ช่วงปีแรกๆ ของการออกอากาศ “พีพีทีวี” ลงทุนคอนเทนต์สร้างจุดขายด้วยคอนเซปต์ PPTV World Class TV คอนเทนต์กีฬาและบันเทิง โดยซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดฟุตบอลพรีเมียร์ลีกฤดูกาลปี 2016-2019 จำนวน 30 แมตช์ต่อฤดูกาล มาถ่ายทอดสดทางฟรีทีวี นอกจากนี้ยังการถ่ายทอดสดฟุตบอลบุนเดสลีกาและกีฬาอื่นๆ เช่น โมโตจีพี

รวมทั้งลงทุนซื้อลิขสิทธิ์รายการดัง อย่าง The Voice Thailand มาผลิตและออกอากาศอีกด้วย ทำให้มีต้นทุนคอนเทนต์สูงหลัก “พันล้านบาท” ต่อปี ขณะที่รายได้โฆษณาทีวีของ พีพีทีวี ทำได้หลัก “ร้อยล้าน” ต่อปี จากภาวะการแข่งขันสูงของช่องฟรีทีวีเดิมและทีวีดิจิทัลช่องใหม่

ย้อนดูรายได้ “พีพีทีวี” ตลอด 10 ปี “ขาดทุน” ต่อเนื่อง

  • ปี 2557 รายได้ 55 ล้านบาท ขาดทุน 1,102 ล้านบาท
  • ปี 2558 รายได้ 195 ล้านบาท ขาดทุน 1,799 ล้านบาท
  • ปี 2559 รายได้ 232 ล้านบาท ขาดทุน 1,996 ล้านบาท
  • ปี 2560 รายได้ 317 ล้านบาท ขาดทุน 2,028 ล้านบาท
  • ปี 2561 รายได้ 495 ล้านบาท ขาดทุน 1,837 ล้านบาท
  • ปี 2562 รายได้ 769 ล้านบาท ขาดทุน 2,040 ล้านบาท
  • ปี 2563 รายได้ 468 ล้านบาท ขาดทุน 1,380 ล้านบาท
  • ปี 2564 รายได้ 581 ล้านบาท ขาดทุน 1,243 ล้านบาท
  • ปี 2565 รายได้ 506 ล้านบาท ขาดทุน 968 ล้านบาท
  • ปี 2566 รายได้ 547 ล้านบาท ขาดทุน 723 ล้านบาท

การลดพนักงานในฝั่งทีวี เพื่อลดต้นทุนทีวีดิจิทัล ที่ยังคงมีตัวเลขขาดทุน และใบอนุญาตประกอบกิจการเหลือเวลาอีก 5 ปีเท่านั้น โดยหันไปโฟกัสสื่อออนไลน์มากขึ้น “พีพีทีวี” ได้วางรากฐานสื่อออนไลน์มาตั้งแต่ปี 2558 และเห็นการเติบโตมาเป็นลำดับ

ทีวีดิจิทัลลดต้นทุน

“โมโน 29” ภายใต้ บมจ.โมโน เน็กซ์ หรือ MONO เป็นอีกช่องทีวีดิจิทัล ที่ประกาศเลิกจ้างพนักงานทุกส่วนงานของ “โมโน กรุ๊ป” จำนวน 80-90 คน ตั้งแต่ต้นปี 2567 เนื่องจากทิศทางโฆษณาซึ่งเป็นแหล่งรายได้หลักของทีวีอยู่ในภาวะถดถอยมาต่อเนื่อง

โดย MONO สรุปรายได้ไตรมาสแรก ปี 2567 อยู่ที่ 488 ล้านบาท ลดลง 20% จากไตรมาสก่อนหน้า “ขาดทุน” 105 ล้านบาท เป็นอัตราขาดทุนลดลง 10% จากไตรมาสก่อนหน้าที่ขาดทุน 263 ล้านบาท

สาเหตุ “ขาดทุน” มาจากรายได้โฆษณาลดลง เป็นไปตามทิศทางเดียวกับเม็ดเงินโฆษณาสื่อทีวีลดลง จากภาวะเศรษฐกิจ ดอกเบี้ยสูงและกำลังซื้อชะลอตัว โดยสื่อโฆษณาทีวียังคงฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป

ปี 2567 MONO เน้นบริหารต้นทุนและค่าใช้จ่าย โดยไตรมาสแรกได้ปรับโครงสร้างองค์กร โดยลดจำนวนพนักงานในทุกส่วนงาน ปรับลดขนาดธุรกิจที่ไม่ทำกำไร ลดหน่วยงานซ้ำซ้อน และใช้วิธีจ้างบุคคลภายนอก (Outsource) แทน ทำให้ปี 2567 ค่าใช้จ่ายพนักงานลดลง 17 ล้านบาทต่อเดือน หรือลดลง 50% เทียบกับก่อนปรับโครงสร้าง โดยลดค่าใช้จ่ายพนักงานได้ปีละ 200 ล้านบาท

ธุรกิจทีวีดิจิทัล “โมโน 29” ได้พัฒนากระบวนการทำงานใหม่หลังปรับลดพนักงาน ด้วยการใช้เทคโนโลยีอจัฉริยะ (AI) มานำเสนอข่าวสั้น (ต้นฉบับเสียงมาจากผู้ประกาศข่าวโมโน 29) ปีนี้วางเป้าหมายรายได้ทีวีดิจิทัล โมโน 29 อยู่ที่ 1,200 ล้านบาท

ทีวีช่องใหญ่กำไรลด

สถานการณ์ทีวีดิจิทัลของ “ช่องใหญ่” เจ้าของธุรกิจฟรีทีวีในอดีต ทั้งช่อง 3 และ ช่อง 7 ที่เคยทำกำไรสูงในยุคฟรีทีวี มาในยุคทีวีดิจิทัลกำไรก็ลดลงเช่นกัน

“ช่อง 3” ภายใต้ บมจ.บีอีซี เวิลด์ ของตระกูลมาลีนนท์ เจอผลกระทบโควิด ช่วงปี 2563 ต้องลดขนาดองค์กร เลิกจ้างพนักงานทุกส่วน เพื่อลดต้นทุนและค่าใช้จ่าย

ย้อนไปในปี 2556 ก่อนยุคทีวีดิจิทัล ช่อง 3 เคยทำรายได้สูงสุดที่ 15,127 ล้านบาท กำไร 5,589 ล้านบาท

มาในยุคทีวีดิจิทัล ปี 2561 ช่อง 3 ขาดทุนครั้งแรก โดยมีรายได้ 10,486 ล้านบาท ขาดทุน 330 ล้านบาท จากนั้นขาดทุนมาต่อเนื่องทั้งจากธุรกิจทีวีขาลงและผลกระทบโควิด โดยเริ่มปี 2564 กลับมาทำกำไรอีกครั้ง ด้วยตัวเลข 761 ล้านบาท ปี 2565 กำไร 607 ล้านบาท และปี 2566 กำไร 210 ล้านบาท

เช่นเดียวกับ “ช่อง 7” ภายใต้ บริษัท กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด ยุคฟรีทีวี ปี 2556 รายได้ 10,312 ล้านบาท กำไร 5,231 ล้านบาท เมื่อเข้าสู่ยุคทีวีดิจิทัล ปี 2557 ช่อง 7 ยังสามารถทำรายได้ 10,428 ล้านบาท กำไร 5,510 ล้านบาท

นับตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา ช่อง 7 รายได้เริ่มลดลง อยู่ที่ 7,189 ล้านบาท กำไร 2,724 ล้านบาท ปี 2559 รายได้ 5,825 ล้านบาท กำไร 1,517 ล้านบาท ปี 2560 รายได้ 5,723 ล้านบาท กำไร 1,517 ล้านบาท ปี 2561 รายได้ 5,750 ล้านบาท กำไร 1,633 ล้านบาท

ช่วง 5 ปีย้อนหลัง ช่อง 7 รายได้และกำไรลดลง จากสื่อทีวีขาลงและผลกระทบโควิด

  • ปี 2562 รายได้ 4,832 ล้านบาท กำไร 1,400 ล้านบาท
  • ปี 2563 รายได้ 4,168 ล้านบาท กำไร 972 ล้านบาท
  • ปี 2564 รายได้ 5,016 ล้านบาท กำไร 1,964 ล้านบาท
  • ปี 2565 รายได้ 4,017 ล้านบาท กำไร 1,250 ล้านบาท
  • ปี 2566 รายได้ 3,284 ล้านบาท กำไร 732 ล้านบาท

แม้ทีวีดิจิทัลทุกช่อง จะขยายตัวเข้าสู่สื่อออนไลน์และแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียตามพฤติกรรมการเสพคอนเทนต์ของผู้บริโภคยุคนี้ แต่รายได้จากสื่อออนไลน์ยังเป็นสัดส่วนไม่มาก ขณะที่รายได้หลักจากเม็ดเงินโฆษณาทีวีก็ยังเป็น “ขาลง” ของอุตสาหกรรมโฆษณาต่อไป

ติดตามพวกเราได้ที่ LINE


แชร์ :

You may also like