HomeBrand Move !!กางแผน EZY AIRLINES สู่เส้นทางใหม่ สุราษฎร์-หัวหิน ส่งเครื่องบินเล็ก “บินสั้น ทันใจ” รับผู้โดยสาร..เชื่อมเศรษฐกิจแดนใต้ วางเป้า 5 ปีขยายเที่ยวบินเล็ก 4 ภาคทั่วไทย

กางแผน EZY AIRLINES สู่เส้นทางใหม่ สุราษฎร์-หัวหิน ส่งเครื่องบินเล็ก “บินสั้น ทันใจ” รับผู้โดยสาร..เชื่อมเศรษฐกิจแดนใต้ วางเป้า 5 ปีขยายเที่ยวบินเล็ก 4 ภาคทั่วไทย

แชร์ :

ช่วงปีที่ผ่านมาชื่อของ “EZY AIRLINES”  สายการบินน้องใหม่ที่ให้บริการเที่ยวบินสั้นขนาดเล็ก ออกมาประกาศแผนท้าพื้นที่ชิงน่านฟ้าในไทย โดยเน้นรูปแบบการให้บริการทั้งเที่ยวบินแบบประจำ (Scheduled Flights) และแบบเช่าเหมาลำ (Charter Flights) รองรับผู้โดยสารได้ 12 ที่นั่ง สร้างแรงกระเพื่อมให้ธุรกิจการบินขนาดเล็กของไทยได้ไม่น้อย

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ล่าสุด “EZY AIRLINES”  ดำเนินงานภายใต้ บริษัท เอ็ม-แลนดาร์ช จำกัด ผู้ประกอบธุรกิจด้านอากาศยานและเทคโนโลยีสายการบินมากว่า 19 ปี  ได้การประกาศความเคลื่อนไหวครั้งสำคัญ กับการเปิดตัวเครื่องบินใหม่ พร้อมวางเป้าหมายเป็นสายการบินขนาดเล็ก โดยสารผู้โดยสารในการเชื่อมต่อเมืองหลักและเมืองรองในประเทศ

พล.อ.ศุภกร สงวนชาติศรไกร ประธานที่ปรึกษา สายการบิน อีซี่ แอร์ไลน์ กล่าวว่า วิสัยทัศน์คือการเป็น “เครื่องบินระยะสั้น 60 นาที”  ซึ่งเป็นเครื่องบินขนาดเล็กนั่งได้ 12 คน มีจุดเด่นคือบินระยะสั้น ตอบโจทย์การเดินทางของคนในพื้นที่ ที่ต้องการความสะดวกสบายในการเดินการ อีกทั้งลดระยะเวลาการเดินทางได้เป็นอย่างดี

อีกทั้งยังรองรับการเดินทางในพื้นที่ภาคใต้ ต้องเดินทางโดยรถยนต์และรถไฟผ่านระยะทางรวมกว่า 1,300 กิโลเมตร ซึ่งเป็นเส้นตรงยาวและคดเคี้ยวตลอดจนสภาพภูมิอากาศที่ฝนตกตลอดปี ทำให้การเดินทางต้องใช้ระยะเวลานานเรามองเห็นโอกาสที่จะเข้ามาตอบโจทย์การเดินทางของคนในพื้นที่ นักท่องเที่ยว และนักธุรกิจที่ต้องการลดเวลาเดินทางข้ามจังหวัดให้ใช้เวลาไม่เกิน 60 นาที เพิ่มความสะดวกสบายและความรวดเร็วให้กับการเดินทางสำหรับทุกคน  ถือเป็นโอกาสในตลาดน่านน้ำใหม่ Blue Ocean ที่สร้างมูลค่าให้ทั้งบริษัทนักธุรกิจ ตลอดจนคนในพื้นที่ และสามารถต่อยอดสู่โอกาสธุรกิจใหม่ๆตามมา” พลเอก ศุภกร กล่าว

 

กางแผน 5 ปี ขยายฝูงบิน 9 ลำ เชื่อมสายการบินขนาดเล็กทั่วไทย

แผนงานของ EZY AIRLINES ถูกวางไว้ภายใต้ ยุทธศาสตร์ 5 ปี (2567-2571) กับการขยายฝูงบินทั้งสิ้น 9 ลำ หรือมูลค่าราว 1,500 ล้านบาท โดยปัจจุบันมีแล้ว 1 ลำที่อากาศยานหัวหิน ซึ่งจะเริ่มให้บริการเที่ยวบินเช่าเหมาลำก่อนได้ในเดือน ต.ค. 2567  ลำที่ 2 จะมีกำหนดรับมอบในเดือน เม.ย. 2568 พร้อมเปิดให้บริการเที่ยวบินประจำได้ในวันที่ 1 ก.ค. 2568 ใช้ท่าอากาศยานนานาชาติหาดใหญ่ จ.สงขลา เป็นฮับการบิน ขณะที่ลำที่ 3-5 จะรับมอบในช่วงไตรมาส 1/2569 และลำที่ 6-9 จะรับมอบในช่วงไตรมาส 1/2571 จะรับมอบลำที่ 6-9

เบื้องต้นภายในปี 2567 บริษัทจะฝึกนักบินและกัปตัน ด้วยเครื่องบิน Cessna C208 B “GRAND CARAVAN” ให้พร้อมสำหรับการบริการแก่ผู้สนใจและนักลงทุน ที่ต้องการเปิดบริการทั้งแบบเที่ยวบินระยะสั้นและแบบเช่าเหมาลำใน 4 เส้นทาง ได้แก่ หาดใหญ่ – สุราษฎร์ธานี หาดใหญ่ – นครศรีธรรมราช หาดใหญ่ – เบตง และหาดใหญ่ – นราธิวาส

 

โดย Flight แรกจะเปิดบริการอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 กรกฎาคม 2568 ซึ่งหากได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการค้าขายในการเดินอากาศ (AOL) และใบอนุญาตประกอบการบิน (AOC) และจะสามารถเปิดบินแบบเช่าเหมาลำได้ก่อนในช่วงเดือนตุลาคม 2567 นี้ โดยใช้ท่าอากาศยานนานาชาติหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เป็นศูนย์กลางการบิน (ฮับ) ซึ่งจะเริ่มทำการบินใน 4 เส้นทาง ได้แก่ 1.หาดใหญ่ – สุราษฎร์ธานี  2.หาดใหญ่ –นครศรีธรรมราช  3.หาดใหญ่ – เบตง  4.หาดใหญ่– นราธิวาส โดยมีโครงสร้างเริ่มต้น 1,900 บาทต่อที่นั่ง (ทั้งหมด 12 ที่นั่ง) 1 ชั่วโมง ขั้นต่ำ 2,000 บาทต่อที่นั่ง  อาทิ อาทิ เส้นทาง หาดใหญ่ – เบตง 1,900-2,500 บาทต่อที่นั่ง  ภูเก็ต ราคา 2,900-3,900 บาทต่อที่นั่ง (แพงที่สุด)

การเปิดเส้นทางการบินเพื่อรองรับความต้องการและดีมานด์ด้านการท่องเที่ยว การแพทย์ ฯลฯ ที่ประชาชนต้องการเดินทางรวดเร็ว และมีความต้องการบินระยะสั้นมากขึ้น อย่าง นราธิวาสมีสายการบินเพียง 1 ไฟลต์ต่อวัน การสร้างความสะดวกคือสิ่งที่ดี โดยตัวเลขจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา คาดการณ์ว่าจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางในพื้นที่ภาคใต้กว่า 23 ล้านคน โดยที่ผ่านมามีจำนวนผู้โดยสารที่เดินทางโดยสายการบินประมาณ 300,000 คนต่อปี แต่มีจำนวนเที่ยวบินที่ให้บริการเพียงแค่ 30,000 เที่ยวบิน หรือคิดเป็น 1% เท่านั้น

“ลูกค้าคือกลุ่มประชาชนทั่วไป ที่ต้องการใช้บริการด้านต่างๆ ตั้งแต่การมาหาหมอ เป็นกลุ่มแรก ส่วนต่อมา คือนักธุรกิจ และส่วนที่สามคือกลุ่มคนที่ทำงานในพื้นที่นั้น ๆ เช่น ภูเก็ตพนักงานในพื้นที่ส่วนใหญ่ไม่ใช่คนในท้องถิ่น ทำให้มีการบินไปมาสูง แต่ต้องการความสะดวกรวดเร็ว นอกจากนี้ยังแก้ปัญหาการจราจร และปัญหารถติดและระยะเวลาการเดินทางจากหัวหินไปสุวรรณภูมิที่นานจนเกินไป”

ทั้งนี้พาร์ตเนอร์กลุ่มแรกคือโรงพยาบาล ขณะที่กลุ่มต่อไปคือโรงแรม และกลุ่มที่สามคือกลุ่มทุนตต่างๆ ที่ต้องการจะลงทุนในแต่ละพื้นที่เช่นโรงแรมต่างๆ ที่ต้องการลงทุนร่วมกันเพื่อขยายกิจการ โดยจะสามารถคืนทุนได้ใน 4-5 ปี

 

 

“ธุรกิจสายการบินทุกวันนี้ยังเป็น Blue Ocean ที่คนยังมองไม่เห็น มีกำลังซื้อโดยเฉพาะในภาคใต้ที่เขาจะไม่ถามว่าตั๋วราคาเท่าไร แต่จะถามว่าเช่าเหมาลำเท่าไร..นั่นคือโอกาสของเราและหากยิ่งมีเงินมากขึ้นในอนาคต ก็ยิ่งขยายได้ไว อาจจะน้อยกว่า 5 ปี ”พล.อ.ศุภกร สงวนชาติศรไกร กล่าว

 

อย่างไรก็ตามหากแบ่งแผนงานของ EZY AIRLINES ประกอบไปด้วย 4 เฟสหลัก ตลอดระยะเวลา 5 ปีได้แก่

เฟส 1 เปิดเที่ยวบินภาคใต้ HUB แรกภาคใต้ พร้อมเปิดให้บริการในช่วงเดือนกรกฎาคม ปี 2568 โดยใช้ท่าอากาศยานนานาชาติหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เป็นฮับศูนย์กลางการบิน เชื่อมต่อไปยังเบตง นราธิวาส สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ภูเก็ต และกระบี่ ทั้งนี้ มีเป้าเจาะกลุ่มลูกค้าภาครัฐ 30% ภาคองค์กรธุรกิจ 30% ลูกค้านักท่องเที่ยวและนักธุรกิจ 40%

เฟส 2  ปี ‘หัวหิน’ เชื่อมเที่ยวบินจากหัวหินสู่เมืองต่างๆ ในภาคใต้ (หาดใหญ่-หัวหิน หัวหิน-สุวรรณภูมิ หัวหิน-สุราษฎร์ธานี และหัวหิน-ภูเก็ต) ระยะที่ 3 เพิ่มเส้นทางเชื่อมต่อจากหัวหินไปยังภาคกลางและภาคอีสานตอนใต้ (หัวหิน-สุวรรณภูมิ สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา อู่ตะเภา-นครราชสีมา และอู่ตะเภา-ดอนเมือง) ในช่วงไตรมาสแรกปี 2571 เป็นต้นไป  และมีแผนเชื่อมไปยังประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ มาเลเซีย (ท่าอากาศยานลังกาวี ปีนัง และอีโปห์) และอินโดนีเซีย

“การขยายมาหัวหินนับเป็นเฟส 2 ของการดำเนินงาน (ปี 2568 เข้าเฟส 2 อย่างเป็นทางการ) ที่สามารถเป็นจุดเชื่อมต่อภาคใต้ตอนล่างกับตอนบนไปยังภาคกลาง โดยมีสุวรรณภูมิเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่จะดึงลูกค้าและนักท่องเที่ยวมาใช้บริการ”

-เฟส 3  สามารถเชื่อมจุดบินจากหัวหินไปยังท่าอากาศยานต่างๆได้ ไม่ว่าจะเป็น โครราช อู่ตะเภา ดอนเมือง สุวรรณภูมิ  โดยมี HUB 2 แห่งที่ 2 คือสนามบินอู่ตะเภา

เฟส 4 จะเป็นการเชื่อมจุดบินไปยังท่าอากาศยานไปยังภาคเหนือและภาคอีสานตอนใต้ ช่วงไตรมาส 1/2028

“เครื่องหมายการค้าของเราไม่ใช่สายการบินราคาประหยัด แต่คือการมองโพซิชั่นที่ชัดเจน โดยเราคือสายการบินขนาดเล็ก ที่อำนวยความสะดวก ถ้าให้เปรียบ ผมคือ “รถตู้ติดปีก” ความสำคัญของเราคือลูกค้าที่ต้องการความเร็ว มีความจำเป็นต้องเดินทาง รองรับ Pain Point ที่ไม่ใช่แค่รถยนต์ แต่คือการอำนวยความสะดวกในการเดินทางถ้าฝนตกหรือติดขัด ก็สามารถเดินทางได้ โดยเฉพาะในเขตภาคใต้ที่มีการเดินทางค่อนข้างนาน ไม่ว่าจะเป็น เส้นทางหาดใหญ่ – เบตง ที่ใช้เวลาเดินทาง (รถยนต์) 5-6 ชั่วโมง ระนอง – ภูเก็ต (รถยนต์)  5 ชั่วโมง ”

 

เพิ่มทุนจดทะเบียน 200 ล้านบาท ต่อยอด บริษัท อีซี่ จำกัด รุกธุรกิจสายการบินเต็มตัว

นอกจากยุทธศาสตร์ทั้ง 4 เฟสแล้ว ยังมีแผนต่อยอดธุรกิจด้วยการรุกธุรกิจสายการบินอย่างจริงจัง โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการจดทะเบียนบริษัทใหม่เป็นชื่อ บริษัท อีซี่ แอร์ไลน์ จำกัด และเตรียมเพิ่มทุนเป็น 200 ล้านบาทในช่วงปลายปีนี้  เพื่อขยายธุรกิจให้มีขนาดใหญ่ขึ้นใน 3 ปี โดยมีเป้าหมายเข้าตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai)  ซึ่งในช่วงปีที่ 3-4 ของการทำธุรกิจ กำไรที่มากกว่า 150 ล้านบาทต่อปี

เป้าหมายของการเพิ่มทุนคือต้องการสร้างการรับรู้ไปยังกลุ่มเป้าหมาย ให้รู้จัก Ezy Airlines มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างความเชื่อมั่นเรื่องมาตรฐานความปลอดภัย ให้ลูกค้าในการใช้บริการเครื่องบินลำเล็กมากยิ่งขึ้น โดยในต่างประเทศการใช้งานเครื่องบินประเภทเดียวกันกว่า 3,000 ลำแล้ว

การสร้างรายได้ เครื่องบิน 1 ลำ ต้องมีกำไร 20% หรือคิดเป็น 1 ลำมีรายได้ 120-150 ล้านบาทต่อลำต่อปี  โดยหลังการเพิ่มเครื่องบินครบตามแผนธุรกิจห้าปีแล้ว Ezy Airlines จะรองรับผู้โดยสารประมาณ 300,000 คนต่อปี ซึ่งคิดเป็น 30,000 เที่ยวบินต่อปี สำหรับการกำหนดราคายังเป็นไปตาม Seasoning

 

ติดตามพวกเราได้ที่ LINE


แชร์ :

You may also like