HomeBrand Move !!ศึกไก่ทอดยังไม่จบ KFC จ่อผุดโมเดลใหม่ “KFC Quick and Easy” เจาะทำเลรถไฟฟ้า-ใต้ดิน เพิ่มโอกาสทางการขาย

ศึกไก่ทอดยังไม่จบ KFC จ่อผุดโมเดลใหม่ “KFC Quick and Easy” เจาะทำเลรถไฟฟ้า-ใต้ดิน เพิ่มโอกาสทางการขาย

แชร์ :

“ไก่ทอด” หนึ่งในธุรกิจอาหารบริการด่วน หรือ QSR ที่มีมูลค่าและการแข่งขันที่รุนแรงมากที่สุดในธุรกิจเชนร้านอาหารเมืองไทย  โดย  KFC คือเจ้าตลาดไก่ทอดที่หลายคนรู้จักและคุ้นเคยเป็นอย่างดี เข้ามาทำตลาดครั้งแรกเมื่อ 40 ปีที่ผ่านมา โดยเปิดให้บริการที่สาขา “เซ็นทรัล ลาดพร้าว” เป็นแห่งแรก

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

โดยมี บริษัท เซ็นทรัล เรสเตอรองส์ กรุ๊ป (CRG) เป็นหนึ่งในผู้ถือสิทธิ์หลักของ KFC จนสามารถสร้างการเติบโตและกลายเป็นแบรนด์เรือธงให้กับทางเครือฯ ซึ่งการเติบโตส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความนิยมในตลาดไก่ทอดและความสะดวกสบายในการรับประทานของลูกค้า

ปีที่ผ่านมาตลาดร้านอาหารบริการด่วน หรือ QSR เมืองไทย มีมูลค่า 45,000 ล้านบาท แบ่งออกเป็นเฉพาะตลาดไก่ทอดมีมูลค่า  27,000  ล้านบาท โดย KFC ครองส่วนแบ่งอยู่ที่  21,000 ล้านบาท และแบ่งเป็นรายได้ที่มาจาก KFC ในมือ CRG คือ 7,070 ล้านบาท หรือคิดเป็น  1 ใน 3 ของ KFC ไทย จากผู้ถือสิทธิ์ที่มีอยู่ 3 ราย

ทั้งนี้เพื่อสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่องปีนี้ CRG จึงได้เดินหน้ายุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน ในการบริหารจัดการอย่างรอบด้านทั้งเรื่องการบริหารจัดการต้นทุน ไปจนถึงการขยายสาขา โดยปีนี้วางเป้าหมายขยายสาขาทั้งสิ้น 23 สาขา ภายใต้งบลงทุนกว่า 15-20 ล้านบาทต่อสาขา จากปัจจุบันมีจำนวนสาขา 338 สาขา (ข้อมูล ณ 31 พ.ค. 2567)  เพื่อสร้างแบรนด์ให้เข้าถึงลูกค้ามากยิ่งขึ้น รวมไปถึงการขยายสาขาร่วมกันกับบริษัทในกลุ่มเซ็นทรัล อาทิ CPN และ CRC อย่างศูนย์การค้าเซ็นทรัล และโรบินสันไลฟ์สไตล์ ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั้งในเมืองหลักและเมืองรอง

 

 

หนึ่งในความน่าสนใจคือการพัฒนาโมเดลใหม่ ๆ อีกหลากหลายโมเดล เพื่อการเข้าถึงลูกค้าที่ง่ายขึ้น อาทิ เร็ว ๆ นี้จะมีการเปิดตัว แกร็บ แอนด์ โก โมเดล (Grab & Go Model) ร้านขนาดเล็กที่จะเน้นการจัดจำหน่ายในช่องทาง Takeaway เป็นหลัก และสามารถเปิดโอกาสให้ KFC สามารถขยายตัวเข้าไปอยู่ในที่ ๆ ไม่เคยเข้าไปได้ เช่น ในสถานีรถไฟฟ้า BTS  MRT เป็นต้น 

อีกโมเดลที่ในปีนี้จะโฟกัสเป็นพิเศษ คือ  “ KFC Quick and Easy” โมเดลใหม่บนพื้นที่ 50-60 ตร.ม. ซึ่งจะใช้เงินลงทุนน้อยลง 20% จากปกติที่ KFC ใช้งบลงทุน 10-15 ล้านบาทต่อสาขา ที่จะเน้นการเปลี่ยนประสบการณ์ของลูกค้าจากที่ต้องสั่งอาหารที่หน้าเคาน์เตอร์ให้เป็นการสั่งผ่านตู้คีออสแทน ทำให้ลูกค้าสามารถเลือกสินค้าได้อย่างอิสระมากขึ้น โดยจะได้เห็น 1 สาขา ในครึ่งปีหลัง (หรือราวไตรมาส 3) บริเวณ MRT หรือ BTS  หลังเคยทดลองทำตลาดไปแล้วที่หมอชิต 3 โดยเมนูที่เสิร์ฟภายในจะน้อยกว่าซึ่งยังอยู่ระหว่างการศึกษา รูปแบบเมนูที่เหมาะสม แน่นอนจะต้องมีไก่ทอดอยู่ในนั้นด้วย ทั้งนี้คาดการณ์ว่าโมเดล KFC Quick and Easy จะสามารถทำรายได้ราว 1.5 ล้านบาทต่อสาขาต่อเดือน

คุณปิยะพงศ์ จิตต์จำนงค์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส QSR & Western Cuisine  ผู้บริหารแบรนด์ เคเอฟซี ภายใต้การบริหารโดย บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า “โมเดลนี้ไม่ใช่โมเดลใหม่ แต่มีแล้วในหลายประเทศ เช่น สิงคโปร์ ฮ่องกงมาแล้ว  โดยเป็นโมเดลที่โฟกัสในแหล่งทคมนาคม ขนส่งต่างๆ  แน่นอนการเปิดบนรถไฟฟ้าเป็นโอกาสทางธุรกิจที่ยังไม่ถูกมองมากนัก โดยอีก 2 แฟรนไชส์ซีก็กำลังทำงานร่วมกันอยู่เพื่อศึกษาโมเดลดังกล่าวให้เติบโตได้มากที่สุด”

พร้อมกันนี้ยังพัฒนาตัวแบรนด์ด้วยกลยุทธ์การทำให้แบรนด์ทันสมัยขึ้น (Brand Modernization) พร้อมมุ่งสู่การเป็น Smart Restaurant อย่างเต็มรูปแบบ ด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้บริหารจัดการร้านอาหารมากขึ้น เพื่อนำเสนอประสบการณ์ที่เหนือชั้น อาทิ การติดตั้งตู้คีออส (Kiosk) ลงไปในหลายสาขาเพิ่มเป็น 35 ตู้ จากปัจจุบันที่มีอยู่ 14 ตู้  รวมถึงบอร์ดเมนูดิจิทัล (Digital Menu Board) เป็น 70 สาขาจากปัจจุบันที่มี Digital Menu Board อยู่ 19 สาขา ซึ่งจะเป็นการเสริมภาพลักษณ์ของแบรนด์ให้ดูทันสมัยมากขึ้น

 

คุณปิยะพงศ์ จิตต์จำนงค์

คุณปิยะพงศ์ จิตต์จำนงค์

ฉลอง 40 ปี KFC ในประเทศไทย ปรับโฉมใหม่สาขา “ลาดพร้าว” สู่สไตล์ Retro 

นอกจากนี้ CRG ยังได้ปรับโฉม KFC สาขา เซ็นทรัล ลาดพร้าว เพื่อเป็นการฉลองครบรอบ 40 ปี ซึ่งเป็นร้าน KFC สาขาแรกในประเทศไทย สู่โฉมใหม่คอนเซปต์ “Colonel’s Legacy” ให้กลิ่นอาย Retro ที่มาในสไตล์ Retro ซึ่งเป็นที่นิยมในการแต่งร้านช่วงนั้น เป็นธีมหลักในการเล่าเรื่อง เช่น กระเบื้องสีขาวสลับสีแดง / แถบริ้วลายขาว-แดง  หรือแม้แต่สายห้อยโทรศัพท์บ้านก็กลายมาเป็นกิมมิคเล็ก ๆ ของไฟห้อยตกแต่งร้านได้เช่นกัน 

นอกจากนี้ยังนำบรรยากาศร้าน KFC  สาขาแรกของไทย ณ ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล ลาดพร้าว ในช่วงสมัยนั้นกลับมาให้ได้หวนคิดถึง เพราะหลาย ๆ คนเติบโตมากับชื่อ “เคนตั๊กกี้ฟรายด์ชิคเก้น” หรือโปสเตอร์โฆษณาที่ทุกอย่างเป็นภาษาไทยเข้าใจง่ายสื่อสารตรงไปตรงมา รวมถึงยังเป็นยุคทองของการสะสมของเล่นผู้พันที่มีหลากหลายคอลเล็กชันมาให้คนยุคใหม่ได้หวนระลึกถึง

“สาขาลาดพร้าว ถือเป็นสาขาแรกของเราและ KFC ในไทย เราจึงให้ความสำคัญ โดยจะมีการรีโนเวตทุกๆ 10 ปี เพื่อสร้างความแปลกใหม่ อีกทั้งยังรองรับความต้องการในย่านที่มีอยู่มาก”

อย่างไรก็ตามแผนงานดังกล่าวเพื่อสร้างการเติบโตให้แก่ KFC โดยวางเป้าหมายการเติบโตไว้ที่ 8% ซึ่งเป็นการปรับลดเป้าจากเดิมที่วางไว้ 12% เนื่องมาจากสถานการณ์กำลังซื้อหดตัวของภาคประชาชน

ติดตามพวกเราได้ที่ LINE

 


แชร์ :

You may also like