ไมโครซอฟท์ (Microsoft) เจาะพฤติกรรมพนักงานไทย ผ่านรายงาน Work Trend Index 2024 พบเทรนด์ Bring Your Own AI (BYOAI) โดยมีพนักงานมากถึง 81% เลือกนำเครื่องมือ AI ของตนเองมาใช้งาน โดยพนักงานคนไทย 92% นำนวัตกรรม AI มาใช้ในการทำงานไม่รอองค์กรลงทุน ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยโลกที่ 75% และเมื่อมองผ่านช่วงอายุ ยังพบว่ากลุ่ม BabyBoomer มีการใช้งาน AI สูงอย่างมีนัยสำคัญ (73%) ไม่ต่างจาก Gen X (76%) Millennial (78%) และ Gen Z (85%) แต่อย่างใด
คุณธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย เผยถึงเทรนด์การใช้งาน AI ในหมู่คนทำงานไทยที่พบจาก Work Trend Index 2024 ว่า มีข้อมูลเชิงลึกที่น่าสนใจใน 3 ประเด็น และจะส่งผลกระทบต่อการทำงานและตลาดแรงงานไทยตลอดปีนี้ นั่นคือ
พนักงานต้องการนำ AI มาช่วยในการทำงาน โดยไม่รอให้บริษัทมีความพร้อม
ผลสำรวจ Work Trend Index เผยว่าพนักงานคนไทยกว่า 92% นำนวัตกรรม AI มาใช้ในการทำงานแล้ว ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 75% โดยในกลุ่มผู้ใช้งาน AI ยังพบอีกว่า 81% เลือกนำเครื่องมือ AI ของตนเองมาใช้งาน จนเกิดเป็นกระแสที่เรียกได้ว่า Bring Your Own AI (BYOAI) ซึ่งอาจทำให้บริษัทได้รับประโยชน์จากการใช้งาน AI อย่างไม่เต็มที่ เนื่องจากยังขาดทิศทางและกลยุทธ์ในระดับองค์กร และยังเสี่ยงต่อการรั่วไหลของข้อมูล
แนวโน้มการนำ AI มาใช้ในที่ทำงานนี้ อาจเป็นผลมาจากภาระงานที่พนักงานแต่ละคนต้องแบกรับ โดย 68% ของพนักงานทั่วโลกระบุว่าพวกเขาต้องเจอกับปัญหาในการทำงานจำนวนมากให้เสร็จทันเวลา ดังนั้น AI จึงเป็นตัวช่วยประหยัดเวลา ช่วยเพิ่มความคิดสร้างสรรค์ รวมทั้งทำให้มีเวลาจดจ่อกับเนื้องานในส่วนที่สำคัญที่สุดได้มากขึ้น
ขณะที่ในมุมผู้บริหาร พบว่า 91% ของผู้บริหารในประเทศไทยเชื่อว่าบริษัทของตนจำเป็นต้องนำนวัตกรรม AI มาใช้เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันกับตลาด ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 79%
แต่ยังมีผู้บริหารในประเทศไทยกว่า 64% ที่มีความกังวลว่าองค์กรของตนยังขาดแผนงานและวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนในด้านการนำ AI มาใช้ ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกเล็กน้อยที่ 60% นอกจากนี้ ผู้บริหารจำนวนไม่น้อยยังพบกับอุปสรรคในการประเมินผลลัพธ์ที่ได้รับจากการใช้ AI ออกมาเป็นตัวเลขหรือตัวเงิน ซึ่งเป็นหนึ่งในโจทย์ที่ผู้บริหารและองค์กรยังต้องก้าวผ่านไปให้ได้ด้วย
ผู้ใช้งาน AI ในระดับ Power Users มีเพิ่มมากขึ้น
ผลสำรวจได้เผยให้เห็นถึงความแตกต่างในพฤติกรรม AI ของกลุ่มพนักงานที่เป็น AI Power Users หรือผู้ใช้งาน AI ระดับสูง มักจะนำเครื่องมือและบริการ AI ต่างๆ มาปรับเปลี่ยนแนวทางการทำงานในแต่ละวัน และสามารถลดเวลาที่ใช้ทำงานที่มีอยู่เดิมลงได้วันละ 30 นาที หรือเฉลี่ยออกมาเป็น 10 ชั่วโมงต่อเดือน
ในประเทศไทย กว่า 86% ของพนักงานกลุ่มนี้เลือกที่จะเริ่มและจบวันทำงานด้วย AI สอดคล้องกับค่าเฉลี่ยของ AI Power Users ทั่วโลกที่ 85% แต่ในทางกลับกัน ผู้ใช้ AI ระดับสูงในประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะทดลองใช้ AI ในรูปแบบหรือวิธีการใหม่ๆ เพียง 45% ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในระดับโลกที่ 68%
นอกจากนี้ โครงสร้างในการสนับสนุนการใช้งาน AI ในองค์กรไทยมีความแตกต่างอย่างชัดเจนเมื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลจากทั่วโลก โดยกลุ่ม AI Power Users ในไทย มีเพียง 28% เท่านั้นที่มีโอกาสได้ฟังเนื้อหาสาระหรือความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับบทบาทของ AI ในการทำงานจากแผนกหรือฝ่ายที่ตนเองทำงานอยู่ ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 40% ขณะที่ด้านการเรียนรู้และฝึกอบรมทักษะเพิ่มเติม พบว่ามีผู้ใช้งาน AI ระดับสูงในประเทศไทยเพียง 22% เท่านั้นที่ได้รับโอกาสจากองค์กรให้ฝึกฝนทักษะด้าน AI เพิ่มเติม เทียบกับค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 42%
*หมายเหตุ ผู้ใช้งาน AI ระดับ Power User คือมีการใช้งาน AI สัปดาห์ละหลายครั้ง
AI กลายเป็นมาตรฐานใหม่ด้านทักษะ
ทักษะการใช้งาน AI ได้กลายเป็นปัจจัยสำคัญในตลาดแรงงานทั้งในประเทศไทยและในระดับโลก โดยผู้บริหารในไทยกว่า 74% ไม่ต้องการจ้างพนักงานที่ไม่มีทักษะทางด้าน AI ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 66%
นอกจากนี้ หากต้องเลือกระหว่างทักษะ AI กับประสบการณ์การทำงาน ผู้บริหารไทยกว่า 90% ก็เลือกที่จะจ้างพนักงานที่มีประสบการณ์น้อย แต่มีทักษะด้านการใช้ AI แทนที่จะเลือกพนักงานที่มีประสบการณ์สูงกว่า แต่ขาดทักษะในด้านนี้ ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 71% เช่นกัน
ในด้านแนวโน้มการจ้างงาน ผลสำรวจระบุว่าผู้บริหารทั่วโลกราว 55% มีความกังวลว่าจะเผชิญสภาวะการขาดแคลนแรงงานที่มีความสามารถในปีนี้ โดยเฉพาะในสาขาความปลอดภัยทางไซเบอร์ วิศวกรรม และการออกแบบเชิงสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นสาขาที่กังวลว่าจะขาดแคลนมากที่สุด
ทักษะ AI ติด Top5 ที่มืออาชีพต้องรู้
นอกจากรายงาน Work Trend Index 2024 จะเผยพฤติกรรมการทำงานที่ใช้ AI แล้ว ข้อมูลจากผู้ใช้ LinkedIn ทั้งในระดับองค์กรและคนทำงาน ยังพบด้วยว่า
- จำนวนของสมาชิก LinkedIn ทั่วโลกที่ใส่ข้อมูลเกี่ยวกับทักษะการใช้งาน AI อย่าง ChatGPT และ Copilot ในโพรไฟล์ของตนเอง มีมากขึ้นถึง 142 เท่าตัว
- ในช่วง 2 ที่ผ่านมา ตำแหน่งงานที่เปิดรับสมัครทาง LinkedIn หากมีการระบุถึงทักษะการทำงานที่เกี่ยวกับ AI ด้วย จะมีผู้สมัครเพิ่มขึ้นถึง 17%
- ในกลุ่ม 10 ตำแหน่งงานที่เพิ่มข้อมูลเกี่ยวกับทักษะด้าน AI มากที่สุดนั้น พบว่าเป็นตำแหน่งในสายงานด้านเทคโนโลยีโดยตรงเพียง 2 ตำแหน่ง (นักพัฒนา ระบบ Front-End และนักพัฒนาเว็บ) ขณะที่ 3 อันดับแรกเป็นตำแหน่งงานด้านการเขียนคอนเทนต์ กราฟิกดีไซน์ และการตลาด
จากเทรนด์ดังกล่าว คุณธนวัฒน์ กล่าวเสริมว่า “องค์กรควรตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนในการนำ AI มาใช้ช่วยแก้ปัญหาและปลดล็อคอุปสรรคต่าง ๆ ในการทำงานของพนักงาน ในขณะเดียวกัน ผู้บริหารจะต้องคิดว่าควรทำอย่างไรที่จะช่วยเพิ่มทักษะด้าน AI ให้กับบุคลากร และเตรียมความพร้อมในการจัดหาเครื่องมือ AI ที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัยในการใช้งาน รวมถึงให้ผู้บริหารและพนักงานทุกระดับทำงานร่วมกันในการกำหนดนโยบายหรือทิศทางการใช้งาน AI ในองค์กรเพื่อให้เกิดความชัดเจนและเห็นผลสำเร็จได้จริงในทุกตำแหน่งและสายงานด้วย”
ส่วนองค์กรที่ยังไม่มีนโยบายด้าน AI หรือนโยบายด้าน Data ที่ชัดเจน คุณธนวัฒน์มองว่าไม่ควรอนุญาตให้พนักงานนำ AI ส่วนตัวเข้ามาใช้ เนื่องจากเสี่ยงที่จะทำให้ข้อมูลองค์กรรั่วไหลได้ พร้อมยกตัวอย่างกรณีของบริษัทซัมซุงที่เคยทำข้อมูลสินค้ารั่วไหลสู่สาธารณะเมื่อไม่นานมานี้
ทั้งนี้ คุณธนวัฒน์กล่าวปิดท้ายด้วยว่า “ปัจจุบัน Generative AI เป็นเครื่องมือที่ได้รับการยอมรับและนำไปใช้งานอย่างแพร่หลายในที่ทำงาน จะเห็นได้ว่าพนักงานส่วนใหญ่เลือกนำ AI มาช่วยสะสางภาระงานในแต่ละวัน โดยที่ไม่ได้รอดูว่าองค์กรจะมีเครื่องมือ บริการ วิสัยทัศน์หรือแนวทางการใช้งานอย่างไร ดังนั้น จึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้บริหารจะต้องเร่งตอบสนองต่อปรากฎการณ์นี้ เพื่อให้องค์กรและพนักงานได้รับประโยชน์สูงสุดจากการใช้งาน AI ทั้งในเชิงประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้น และการพัฒนาขีดความสามารถใหม่ๆ ควบคู่ไปกับความปลอดภัยที่เพิ่มสูงขึ้นจากแนวทางและนโยบายด้านการใช้ AI ที่ชัดเจน”
สำหรับการสำรวจครั้งนี้ครอบคลุมประเทศและเขตปกครองพิเศษต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ได้แก่ ออสเตรเลีย จีน ฮ่องกง อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย นิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ไต้หวัน ไทย และเวียดนาม โดยสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมของรายงานได้ที่ AI at Work Is Here. Now Comes the Hard Part (microsoft.com)