HomeBrand Move !!ส่องเบื้องหลังการปั้นโมเดลเกษตรยั่งยืนของ “เป๊ปซี่โค” รับมือโลกรวน หนุนเกษตรกรไทยเพิ่มผลผลิต สร้างรายได้โต 15% ในปี 2573

ส่องเบื้องหลังการปั้นโมเดลเกษตรยั่งยืนของ “เป๊ปซี่โค” รับมือโลกรวน หนุนเกษตรกรไทยเพิ่มผลผลิต สร้างรายได้โต 15% ในปี 2573

แชร์ :

เพราะ “มันฝรั่ง” เป็นหัวใจสำคัญของการผลิตมันฝรั่งแผ่นทอดกรอบของเลย์ ที่ผ่านมา “บริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด” หรือ “เป๊ปซี่โค ประเทศไทย” (Pepsico) จึงให้ความสำคัญกับการส่งเสริมเกษตรกรผู้ปลูกมันฝรั่งอย่างเข้มข้นทุกด้าน เพราะเชื่อว่าหากเกษตรกรซึ่งเป็นต้นน้ำของธุรกิจมีความรู้ความเข้าใจในการปลูกมันฝรั่งอย่างถูกต้อง จะสร้างผลผลิตที่มีคุณภาพ และทำให้บริษัทสามารถนำมาผลิตมันฝรั่งทอดกรอบให้มีรสชาติอร่อยและโดนใจผู้บริโภค

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

แต่ทว่าหลายปีมานี้ การปลูกมันฝรั่งต้องเจอกับความท้าทายหลายด้าน ทั้งสภาพอากาศที่มีความผันผวนรุนแรง และความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม ทำให้ “เป๊ปซี่โค” ต้องปรับกลยุทธ์และกระบวนการผลิตให้สอดรับกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ด้วยการนำความยั่งยืนมาใช้เป็นหลักในการขับเคลื่อนธุรกิจ จนสามารถผลักดันเกษตรกรสร้างผลผลิตได้กว่า 1 แสนตันต่อปี ทั้งยังช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้โลกไปพร้อมกัน “เป๊ปซี่โค” มีวิธีการอย่างไร? Brand Buffet พามาเจาะวิธีคิด พร้อมแผนการขับเคลื่อนเกษตรยั่งยืนนับจากนี้ที่ตั้งเป้าหนุนรายได้เกษตรกรไทยโตเพิ่มอย่างน้อย 15% ภายในปี 2573

“เกษตรกร” หัวใจขับเคลื่อนธุรกิจมันฝรั่งทอดกรอบเลย์

พอพูดถึง “เป๊ปซี่โค” ผลิตภัณฑ์แรกที่คนส่วนใหญ่นึกถึงคือ เครื่องดื่มน้ำอัดลมเป๊ปซี่ ทว่านอกจากธุรกิจเครื่องดื่มแล้ว เป๊ปซี่โคยังดำเนินธุรกิจอาหารและขนมขบเคี้ยวด้วย โดยหนึ่งในแบรนด์เรือธงคือ เลย์ ทั้งยังมีแบรนด์ตะวัน ซันไบร์ท และอีกหลายแบรนด์ ธุรกิจอาหารและขนมขบเคี้ยวจึงมีความสำคัญไม่แพ้ธุรกิจเครื่องดื่ม จึงทำให้เป๊ปซี่โคไม่เพียงเข้ามาดำเนินธุรกิจในไทย แต่ยังสนับสนุนเกษตรกรผู้ปลูกมันฝรั่งมาอย่างต่อเนื่อง

คุณสุดิปโต โมซุมดา กรรมการผู้จัดการกลุ่มธุรกิจอาหารอินโดจีน เป๊ปซี่โค ประเทศไทย

“เรามองว่าวัตถุดิบหลักในการผลิตคือ มันฝรั่ง ซึ่งไม่ใช่พืชประจำถิ่นของไทย สิ่งสำคัญที่จะสร้างความสำเร็จในระยะยาว จึงต้องส่งเสริมเกษตรกรผู้ปลูกมันฝรั่งอย่างเต็มที่” คุณสุดิปโต โมซุมดา กรรมการผู้จัดการกลุ่มธุรกิจอาหารอินโดจีน เป๊ปซี่โค ประเทศไทย ย้ำถึงความสำคัญของเกษตรกร

ตั้งแต่ปี 2538 ที่เข้ามาบุกตลาดมันฝรั่งทอดกรอบ เป๊ปซี่โคจึงเริ่มส่งเสริมการปลูกมันฝรั่งในประเทศเพื่อสร้างรายได้เพิ่มให้กับเกษตรกรไทย แต่ด้วยความที่มันฝรั่งเป็นพืชที่มีความละเอียดอ่อน อุณหภูมิระหว่างกลางคืนและกลางวันต่างกันมาก โดยอุณหภูมิที่เหมาะสมในกลางวันอยู่ที่ 24-26 องศาเซลเซียส ส่วนกลางคืนอยู่ที่ 14-18 องศาเซลเซียส พื้นที่ที่มีคุณสมบัติเหมาะกับการเพาะปลูกจึงน้อย ส่งผลให้เกษตรกรปลูกมันฝรั่งในไทยช่วงแรกมีจำนวนไม่มาก ผลผลิตจึงมีไม่กี่ร้อยตันต่อปีเท่านั้น จากนั้นก็ขยายเกษตรกรและพื้นที่ปลูกมากขึ้น จนปีที่ผ่านมาสร้างผลผลิตได้ 90,000 ตัน และปีนี้ผลผลิตอยู่ที่ 94,000 ตัน ครอบคลุมพื้นที่ 10 จังหวัด ทั้งในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ทำให้ปัจจุบันสามารถใช้มันฝรั่งในประเทศได้มากกว่า 70% จากเดิมที่ต้องนำเข้ามาทั้งหมด

เสริมศักยภาพเกษตรกรผู้ปลูกมันฝรั่ง

ถึงแม้จะส่งเสริมเกษตรกรให้ปลูกมันฝรั่งได้มากขึ้น แต่หนึ่งในโจทย์ใหญ่ที่เป๊ปซี่โคต้องเจอคือ สภาพอากาศที่แปรปรวน ส่งผลต่อการปลูกมันฝรั่งอย่างมาก ทำให้แป้งในมันฝรั่งลดลง และระยะเวลาเก็บเกี่ยวก็สั้นลงเรื่อยๆ ทำให้บริษัทต้องปรับวิธีการผลิตใหม่ให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ทั้งยังนำแนวคิดเกษตรกรรมยั่งยืน (Sustainable Farming Program) มาใช้ตลอดกระบวนการ ตั้งแต่ต้นนำจนถึงปลายน้ำ จนเกิดเป็นแคมเปญ PepsiCo Positive หรือ  pep+

“pep+ ซึ่งไม่ใช่แค่แคมเปญที่ทำแค่ชั่วครั้งชั่วคราว แต่เป็นแนวคิดที่เราจะปลูกฝังทุกยูนิตของเป๊ปซี่โคต้องทำ เพื่อเอาชนะความท้าทายและสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจ และโลกใบนี้ในระยะยาว ผ่านกลยุทธ์การดำเนินงานใน 3 ด้าน”  

เริ่มจาก Positive Agriculture เป็นแนวทางการสร้างความยั่งยืนให้เกษตรกร ด้วยการลงพื้นที่ศึกษาปัญหา พร้อมกับถ่ายทอดความรู้ผ่านฟาร์มสาธิต ตั้งแต่การจัดหาหัวพันธุ์คุณภาพ การปรับปรุงคุณภาพดินด้วยการส่งเสริมการปลูกพืชหมุนเวียน ทั้งกลุ่มตระกูลถั่วงา ธัญพืช ผักผลไม้ที่สามารถปลูกเพื่อฟื้นฟูสภาพดิน รวมถึงนำเทคโนโลยีมาใช้ในการเพราะปลูก เพื่อให้เกษตรกรเพิ่มผลผลิตต่อไร่ได้สูงขึ้น ทั้งยังรับซื้อมันฝรั่งจากเกษตรกร โดยปัจจุบันมีฟาร์มสาธิตทั้งหมด 19 ฟาร์มใน 5 จังหวัดภาคเหนือ ทั้งยังมีผู้รวบรวม 30 ราย ซึ่งเป็นร้านขายปุ๋ยและยาในพื้นที่ที่ได้รับการอบรมจากบริษัทคอยให้คำแนะนำการปลูก

“เรานำโดรนมาใช้ในเก็บข้อมูล โดยบินเหนือฟาร์มแล้วถ่ายรูปเพื่อตรวจว่าใบมันฝรั่งตรงไหนผิดปกติ เพื่อให้เกษตรกรสามารถเข้าไปแก้ไขได้ทันท่วงที ทั้งยังใช้อินฟราเรดเพื่อตรวจสุขภาพของดิน เพราะดินแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน จึงต้องมีการปรับสภาพดินให้เหมาะสมก่อนปลูก ซึ่งไม่เพียงจะช่วยให้ผลผลิตมีคุณภาพ ยังช่วยเพิ่มผลผลิตให้เกษตรกรมากขึ้นด้วย ปัจจุบันผลผลิตโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 3.2 ตันต่อไร่ จากเดิมอยู่ที่ 2.7 ตันต่อไร่ ขณะที่บางคนสามารถผลิตได้ถึง 6 ตันต่อไร่”

ลดใช้น้ำ แปรรูปบรรจุภัณฑ์เป็นโต๊ะ พาเลทไม้เทียม สร้างสิ่งแวดล้อมยั่งยืน

ไม่เพียงสร้างความยั่งยืนให้เกษตรกรไทย เป๊ปซี่โคยังให้ความสำคัญกับการ ส่งเสริมคุณค่าทางอาหารในผลิตภัณฑ์ (Positive Choice) ผ่านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่าทางโภชนาการ ด้วยส่วนผสมที่มีประโยชน์ เช่น ถั่ว โปรตีนจากพืช รวมถึงลดน้ำตาล และโซเดียม มาตอบโจทย์ผู้บริโภคที่ใส่ใจในสุขภาพ โดยปัจจุบันกว่า 70% ของผลิตภัณฑ์ในกลุ่มอาหารสำเร้จรูปสามารถลดระดับโซเดียมได้ในระดับหนึ่ง และตั้งเป้าในปี 2573 จะสามารถลดน้ำตาล และโซเดียม ตามที่ WHO กำหนด

รวมไปถึงสร้างความยั่งยืนตลอดห่วงโซ่ธุรกิจ (Positive Value Chain) โดยมุ่งนำบรรจุภัณฑ์กลับมาใช้ใหม่ และลดการใช้ทรัพยากรน้ำ และใช้พลังงานงานทดแทน โดยในปี 2566 สามารถดึงกลับมาใช้ใหม่ได้ 10% ลดการใช้น้ำไปได้ 15% และลดการปล่อยก๊าซเรียนกระจกได้ 8% โดยภายในปี 2568 ตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนการดึงกลับมาใข้ใหม่ให้ได้ 30% และตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่า 40% ในปี 2573

“ปี 2566 เป็นปีแรกที่เราเริ่มนำบรรจุภัณฑ์กลับมาใช้ใหม่ โดยนำมาทำเป็นโต๊ะนักเรียนและเก้าอี้ให้กับโรงเรียนในชุมชนรอบๆ โรงงานของเรา รวมถึงผลิตเป็นฐานพาเลทไม้เทียมสำหรับใช้ในโรงงาน ซึ่งเราคาดว่าในปีนี้จะสามาถนำบรรจุภัณฑ์กลับมาใช้ใหม่ได้เพิ่มขึ้น” คุณสุดิปโต กล่าวถึงความสำเร็จในปีที่ผ่านมา

สำหรับทิศทางจากนี้ เป๊ปซี่โคยังคงขับเคลื่อนเกษตรกรรมยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งเป้าในปี 2573 เกษตรกรในพันธสัญญา 35% จาก 5,800 รายต้องมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 15% จากปัจจุบันรายได้รวมปีละ 1,500 ล้านบาท ซึ่งวิธีที่จะทำให้บริษัทก้าวถึงเป้าหมายได้ คือ การปรับตัวและเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา พร้อมกับนำวิธีการปลูกใหม่ๆ เข้าไปสอนเกษตรกรผู้ปลูกมันฝรั่งให้สามารถรับมือกับการเปลี่ยนไปให้ได้มากขึ้น

ติดตามพวกเราได้ที่ LINE


แชร์ :

You may also like