HomeBrand Move !!เจาะใจ “อาร์เซลิก ฮิตาชิ” ไทยยังน่าลงทุนต่อไหม รับมืออย่างไรในวันที่สินค้าจีนล้นทะลัก

เจาะใจ “อาร์เซลิก ฮิตาชิ” ไทยยังน่าลงทุนต่อไหม รับมืออย่างไรในวันที่สินค้าจีนล้นทะลัก

แชร์ :

หากเอ่ยชื่อ “อาร์เซลิก ฮิตาชิ โฮม แอพพลายแอนซ์” หลายคนอาจพอทราบว่า เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง อาร์เซลิก (Arcelik A.S.) และฮิตาชิ โกลบอล ไลฟ์ โซลูชันส์ ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อ 3 ปีก่อน (1 กรกฎาคม 2564) เพื่อผลิต จัดจำหน่าย เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านภายใต้แบรนด์ “ฮิตาชิ” ทั่วโลก (ไม่นับรวมตลาดญี่ปุ่น) โดยอาร์เซลิกถือหุ้น 60% ของบริษัทใหม่ และฮิตาชิ โกลบอล ไลฟ์ โซลูชันส์ ถือหุ้น 40%

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

สำหรับประเทศไทย นอกจาก “ฮิตาชิ” จะเป็นแบรนด์ที่คนไทยคุ้นเคยกันดีแล้ว ประเทศไทยยังเป็น 1 ใน 7 ประเทศที่อาร์เซลิก ฮิตาชิ โฮม แอพพลายแอนซ์ เลือกตั้งโรงงานขนาดใหญ่อยู่ที่กบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี เพื่อผลิตสินค้าประเภทเครื่องซักผ้า ตู้เย็น ปั๊มน้ำ เครื่องดูดฝุ่น และส่งออกไปจำหน่ายใน 65 ประเทศทั่วโลกด้วย (ส่วนประเทศอื่น ๆ ได้แก่ ตุรกี โรมาเนีย รัสเซีย จีน และแอฟริกาใต้)

นอกจากนั้น บริษัทยังมีการลงทุนตั้งศูนย์ R&D ในไทย และมีการจ้างงานพนักงานแล้วเกือบ 6,000 คน

ส่วนคำถามที่ว่า Arçelik A.Ş. เป็นใครนั้น Arçelik A.Ş. ถือเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านสัญชาติตุรกี  โดยที่ผ่านมา มีการควบรวมกิจการมาหลายครั้ง เช่น การควบรวมกับ Grundig ในปี 2007, Defy ปี 2011, Singer ปี 2019 รวมถึงมีการตั้งบริษัทร่วมทุน เพื่อบุกตลาดต่างภูมิภาค เช่น Tata Group ในอินเดีย, ฮิตาชิ เพื่อทำตลาดในเอเชียแปซิฟิก และล่าสุดคือ Whirlpool Corporation เมื่อปี 2022

ทั้งนี้ต้องบอกว่า รายได้ของ Arçelik A.Ş. ก็ไม่น้อยหน้าใคร โดยในปี 2023 บริษัททำรายได้ไปถึง 10,000 ล้านเหรียญยูโร หรือประมาณ 391,462 ล้านบาทเลยทีเดียว

มองอนาคตไทย แนะสร้างประเทศให้พร้อมเติบโต

สำหรับประเทศไทยในสถานการณ์ปัจจุบัน อาร์เซลิก ฮิตาชิ โฮม แอพพลายแอนซ์ พบว่าตลาดมีความท้าทายมากขึ้น โดยคุณซาแฟร์ อัสทูเนอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร อาร์เซลิก ฮิตาชิ โฮม แอพพลายแอนซ์ ให้ข้อมูลว่า ความท้าทายนั้นมาจากประเด็นต่าง ๆ เช่น

  • พฤติกรรมของผู้ซื้อรุ่นใหม่ที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ต้องการสินค้าที่มีความทนทานมากขึ้น และลดการสิ้นเปลืองพลังงาน ใช้วัตถุดิบในการผลิตน้อยลง
  • ปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์
  • ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม และ Climate Change
  • ปัญหาด้านกำลังซื้อถดถอย
  • ปัญหาการเติบโตของ GDP ที่ต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้าน
  • การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ

“เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างอินโดนีเซียและเวียดนาม การที่ GDP ไทยไม่เติบโตอย่างที่ควรจะเป็นเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญ เรามองว่า ต้องทำให้ประเทศไทยพร้อมสำหรับการเติบโตในอนาคต ต้องสร้างงานใหม่ ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีให้มากขึ้น”  คุณซาแฟร์กล่าว

คนไทยยังเน้นแบรนด์-รักษ์โลก

ทั้งนี้เมื่อเอ่ยถึงพฤติกรรมการซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าของคนไทย ผู้บริหารอาร์เซลิก ฮิตาชิ โฮม แอพพลายแอนซ์ เผยว่า คนไทยยังคงให้ความสำคัญกับแบรนด์ และความน่าเชื่อถือของแบรนด์ (เมื่อเทียบกับอินโดนีเซีย หรือเวียดนาม) แต่ตลาดไทยถือว่ามีการแข่งขันสูง และมีสินค้าต่าง ๆ ให้เลือกซื้อมากกว่า

นอกจากนั้น ยังพบว่า คนรุ่นใหม่ของไทยให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม และความยั่งยืนมากขึ้นด้วย และเพื่อทำการสื่อสารให้เข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ดังกล่าว คุณซาแฟร์เผยว่า บริษัทได้เลือกวิธีการต่าง ๆ เช่น ใช้สื่อโซเชียลมีเดียในการสื่อสาร การใช้พรีเซนเตอร์เป็นคนรุ่นใหม่ และการสร้างความตระหนักด้านการรักษาสิ่งแวดล้อม

รับมืออย่างไรในวันที่สินค้าจีนล้นทะลัก

ส่วนประเด็นเรื่องสินค้าจีนล้นทะลักเข้ามาในประเทศไทยผ่านช่องทางต่าง ๆ รวมถึงแพลตฟอร์มมาร์เก็ตเพลส ซึ่งกำลังทำให้สภาพการแข่งขันเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วนั้น คุณซาแฟร์ให้ความเห็นในจุดนี้ว่า มาจากการกีดกันทางการค้าของประเทศสหรัฐอเมริกา และเป็นสิ่งที่ธุรกิจต้องปรับตัว

“การที่ประเทศสหรัฐอเมริกามีการกีดกันสินค้าจากจีน ทำให้ผู้ผลิตจากจีนเบนเข็มการส่งออกสินค้ามายังประเทศอื่น ๆ รวมถึงไทย คือความท้าทายอย่างหนึ่งที่ธุรกิจต้องปรับตัว แต่จุดแข็งของแบรนด์ฮิตาชิคือการมีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้บริโภคในไทยนอกจากนั้น การลงทุนต่าง ๆ ของบริษัทในประเทศไทยยังส่งผลในเชิงบวก ด้วยเหตุนี้ แม้จะมีความท้าทายทางการตลาด แต่ก็เชื่อมั่นว่าจะมีการลงทุนอย่างต่อเนื่องในไทย” คุณซาแฟร์กล่าวปิดท้าย

 

 


แชร์ :

You may also like