HomeBrand Move !!เปิดตำนานขนมข้าวอบกรอบ “ชินมัย” ส่องศักยภาพ “นำเชา” ยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตจากไต้หวัน กับแผนปรับตัวรับเทรนด์สุขภาพ

เปิดตำนานขนมข้าวอบกรอบ “ชินมัย” ส่องศักยภาพ “นำเชา” ยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตจากไต้หวัน กับแผนปรับตัวรับเทรนด์สุขภาพ

แชร์ :

ตลาดขนมขบเคี้ยวประเภทข้าวอบกรอบ (Rice Snack) หนึ่งในตลาดที่มีการคาดการณ์ว่าจะมีแนวโน้มการเติบโตที่ดี ซึ่งเป็นผลพวงมาจากกระแสรักสุขภาพของคนรุ่นใหม่ที่หันมาบริโภคอาหารและเครื่องที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

และหากพูดถึงแบรนด์ขนมข้าวอบกรอบในไทยปัจจุบัน ประกอบด้วยผู้เล่นน้อยใหญ่มากมายทั้งแบรนด์ไทยและจากต่างประเทศ มักจะมีชื่อของ “ชินมัย” ชวนให้นึกถึงอยู่เสมอ เพราะด้วยความที่เป็นแบรนด์ขนมข้าวอบรายแรกๆ ที่บุกเบิกเข้ามาทำตลาดในไทย ภายใต้การดำเนินงานของ บริษัท นำเชา ประเทศไทย ซึ่งเป็นยักษ์ใหญ่จากไต้หวัน ที่เข้ามาทำตลาดในเมืองไทยเมื่อกว่า 33 ปีที่ผ่านมา 

โดยเริ่มต้นทำตลาดกับผลิตภัณฑ์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบรนด์ “หมี่จัง” ก่อนจะเปิดตัวแบรนด์อื่นๆ ตามมามากมาย โดยมีแบรนด์ที่คุ้นหูกันดีอย่าง ชินมัย บินบิน บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป “ลิตเติ้ลกุ๊ก”  และแบรนด์อื่นๆที่เปิดตัวในภายหลัง

 

ทำให้ปัจจุบันภายใต้บริษัท นำเชา ประเทศไทย มีกลุ่มผลิตภัณฑ์จากข้าวที่หลากหลายตอบโจทย์ทุกกลุ่มบริโภค ประกอบด้วย

  • ขนมขบเคี้ยวที่ทำจากข้าว (Rice Snack and Rice Cracker)  : ภายใต้แบรนด์ ชินมัย (Shinmai) และ บินบิน (Bin Bin)
  • ขนมขบเคี้ยวสำหรับเด็กที่ทำจากข้าว (Baby Rice Cracker and Snack)  : ภายใต้แบรนด์ แฮปปี้ ไบท์ (Happy Bites)
  • ข้าวพร้อมทาน (Cook Rice)  : ภายใต้แบรนด์ นำเชา (Namchow)
  • โจ๊กกึ่งสำเร็จรูป (Instant Rice Porridge) : ภายใต้แบรนด์ ซุปเปอร์ไบท์ (Super Bites)
  • ผลิตภัณฑ์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป (Instant Noodle) :  ภายใต้แบรนด์ ลิตเติ้ลกุ๊ก (Little Cook) และ ลิตเติ้ลกุ๊ก เชฟ (Little Cook Chef)
  • ขนมขบเคี้ยวที่ทำจากขนมปังฝรั่งเศส : ภายใต้แบรนด์ ปากุแปง (Pakupang)

 

ผลิตภัณฑ์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ภายใต้แบรนด์ ลิตเติ้ลกุ๊ก (Little Cook)

 

ปัจจุบันธุรกิจ “ขนมขบเคี้ยว” ของนำเชาฯ จัดอยู่ในตลาดขนมขบเคี้ยวที่ทำจากข้าว (Rice Cracker) มีส่วนแบ่งการตลาดที่ 12% หรือมีมูลค่าประมาณ 1,000 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์​ “บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป” ภายใต้แบรนด์ ลิตเติ้ลกุ๊ก และ ลิตเติ้ลกุ๊ก เชฟ  ที่อยู่ในตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบบชาม ปัจจุบันมีมูลค่าตลาดประมาณ 500 ล้านบาท ส่วนแบ่งการตลาดที่ 30% โดยเติบโตขึ้นจากปี 2566 ที่ผ่านมามากกว่า 10% โดยในช่วงไตรมาสแรกของปี 2567 ที่ผ่านมายังคงรักษาเป้าหมายทางธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง

 

กางแผนทะยานตลาด Rice Snack  สู่เป้ายอดขาย 4,000 ล้านบาทในสิ้นปี 2567

คุณเฮนรี่ เจี๋ย ผู้จัดการทั่วไป บริษัท นำเชา ประเทศไทย กล่าวว่า หลังจากดำเนินธุรกิจในประเทศไทยมายาวนานกว่า 33 ปี บริษัท นำเชา ประเทศไทย ได้สร้างความสำเร็จอย่างต่อเนื่องและเติบโตอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นผลมาจากการสืบทอดโมเดลทางธุรกิจที่สำคัญของกลุ่มอย่างเคร่งครัด โดยเล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาสินค้าเพื่อการตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่หลากหลายจากทั่วทุกมุมโลก และไม่หยุดนิ่งที่จะสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ ออกสู่ตลาด รวมถึงการนำเสนอสินค้าที่ปลอดภัยและมีคุณภาพ การรักษาความสัมพันธ์อันดีกับคู่ค้าอย่างยาวนาน และการเพิ่มประสิทธิภาพของต้นทุนสินค้าที่ยั่งยืน

 

คุณเฮนรี่ เจี๋ย

คุณเฮนรี่ เจี๋ย

 

ทั้งนี้ บริษัท นำเชา ประเทศไทย ก่อตั้งโรงงานแห่งแรกขึ้นในประเทศไทยในปี 1991 (บ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี) โดยเป็นบริษัทแรกที่ทางกลุ่ม บริษัท นำเชา ประเทศไต้หวัน ได้เล็งเห็นโอกาสการทำธุรกิจและเข้ามาลงทุน โดยเริ่มจากการผลิตกลุ่มสินค้าขนมขบเคี้ยวจากข้าวอบกรอบ ข้าวพร้อมทาน และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เพื่อจำหน่ายในประเทศไทย และเป็นศูนย์กลางกระจายสินค้าไปสู่ตลาดกลุ่มประเทศออสเตรเลีย ยุโรป สหรัฐอเมริกา และประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก กว่า 70 ประเทศทั่วโลกผ่านสินค้ามากกว่า 1,300 รายการ โดยคิดเป็นสัดส่วนส่งออก 80% และจำหน่ายในประเทศ 20% 

ภายใต้แผนงานระยะยาวปี 2020-2025 จึงได้มีขยายโรงงานและคลังสินค้าพร้อมเพิ่มการลงทุนด้วยงบประมาณกว่า 5,000 ล้านบาท ในการขยายโรงงานเพิ่มอีก 1 เฟส ในโรงงานที่ จ.ราชบุรี ส่งผลให้บริษัทมีโรงงานทั้งสิ้น 3 เฟส ซึ่งจะทำให้มีศักยภาพในการผลิตเพิ่มมากขึ้น โดยวางเป้าหมายในสิ้นปีนี้กับการปิดรายได้ที่ 4,000 ล้านบาท

เปิดตัว “ซูเปอร์ไบทส์ สมาร์ทสแน็ค”  รุกตลาดไตรมาส 3/67 

สำหรับบทใหม่ของ “บริษัท นำเชา ประเทศไทย” จะเดินตามเกมแผนการตลาดและกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจ ที่จะพลิกบริษัทนำเชาให้แข็งแกร่งในทุกมิติ โดยเป็นการผสานจุดแข็งที่มีเข้ากับการปรับตัวให้เข้ากับเทรนด์ผู้บริโภคในอนาคต ผ่านกลยุทธ์การสร้างแบรนด์ในระยะยาว เพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งในทุกเซ็กเมนต์ 

ทั้งนี้จะเน้นไปที่การออกผลิตภัณฑ์เชิงนวัตกรรม การตามเทรนด์การตลาดเพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค อาทิ ผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคที่รักสุขภาพ และยังตั้งเป้าที่จะขยายผลิตภัณฑ์ใหม่ในช่องทางที่เหมาะสม อาทิ ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านค้าเพื่อสุขภาพ และช่องทางออนไลน์ รวมทั้งได้วางแผนในการขยายเข้าสู่ช่องทางที่กว้างมากขึ้น อาทิ ร้านสะดวกซื้อ ร้านค้าในต่างจังหวัด และร้านขายของชำ เป็นต้น รวมทั้งการวางกลยุทธ์ในการกระจายสินค้าใหม่เข้าสู่ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก โดยใช้ฐานลูกค้าขนาดใหญ่ที่มีอยู่ครอบคลุมทุกทวีปเอเชีย ยุโรป อเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ และออสเตรเลีย

 

ขอนมอบกรอบ “ซูเปอร์ไบทส์ สมาร์ทสแน็ค” ที่เตรียมวางจำหน่ายในช่วงไตรมาส 3/67

 

โดยในไตรมาส 3 ของปี 2567 นี้ บริษัท นำเชา ประเทศไทย ยังเตรียมเปิดตัว “ซูเปอร์ไบทส์ สมาร์ทสแน็ค” (Super Bites Smart Snack) ที่มาพร้อมสโลแกน “สมาร์ทสแน็ค…สมาร์ทช้อยท์”  ซึ่งเป็นขนมข้าวหอมมะลิกรุบกรอบ ที่ชูจุดเด่นทั้งความอร่อยและมีคุณค่าทางโภชนาการ  2 รสชาติ ได้แก่ รสสปาเก็ตตี้นโปลิตัน และรสครีมทรัฟเฟิล โดยจะเน้นจับกลุ่มเป้าหมายคนรุ่นใหม่ ชอบลองสิ่งใหม่ ๆ ที่แตกต่าง เน้นความอร่อยแต่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ซึ่วจะเริ่มวางจำหน่ายที่ซูเปอร์มาร์เก็ต พร้อม ๆ ไปกับสร้างการรับรู้แบรนด์และข้อมูลสินค้า ด้วยการโปรโมทช่องทางโซเชียลมีเดีย และ KOL ที่ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย รวมถึงสร้างการทดลองชิมสินค้า ณ จุดขาย

“ถ้าดูจากแนวโน้มตลาดขนมขบเคี้ยวทั้งในไทยและต่างประเทศ ผู้บริโภคจะหันมาสนใจขนมขบเคี้ยวที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพมากยิ่งขึ้น แต่ยังคงต้องการขนมขบเคี้ยวที่มีรสชาติอร่อย ทานแล้วไม่รู้สึกเบื่อ ทานได้เรื่อย ๆ ในชีวิตประจำวันที่เร่งรีบ ซึ่งผู้บริโภคจะมองหาผลิตภัณฑ์ที่ให้ความสะดวกสบายและทานง่ายได้ทุกที่” คุณเฮนรี่ กล่าวทิ้งท้าย

ติดตามพวกเราได้ที่ LINE


แชร์ :

You may also like