เดินหน้าปักหมุดในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง สำหรับร้านกาแฟ “คาเฟ่อเมซอน” ที่ล่าสุดขยายสาไปแล้วกว่า 10 ประเทศ โดย 7 ประเทศ ตั้งอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และที่เหลืออีก 3 ประเทศ คือ จีน ญี่ปุ่น และโอมาน นับเป็นแบรนด์ร้านกาแฟที่มีจำนวนสาขามากที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และยังเป็นเครือข่ายร้านกาแฟที่ใหญ่เป็นอันดับ 6 ของโลก
ด้วยงบลงทุนระยะ 5 ปี (ปี 2567-2571) สำหรับกลุ่มธุรกิจ Global ไว้ที่ 8,007 ล้านบาท หรือคิดเป็น 12% ของงบลงทุนทั้งหมด โดยส่วนหนึ่งจะถูกแบ่งการลงทุนไปที่ สปป.ลาว ทั้งสถานีบริการน้ำมัน พีทีที สเตชั่น, คลังเก็บผลิตภัณฑ์ ธุรกิจหล่อลื่น พีทีที ลูบริแคนทส์ (PTT Lubricants), และศูนย์บริการยานยนต์ ฟิต ออโต้ (FIT Auto), ฟิต เอ็กซ์เพรส (FIT Express) รวมถึงการรุกตลาดธุรกิจพลังงานสะอาดด้วยสถานีชาร์จไฟฟ้า อีวี สเตชั่น พลัส (EV station PluZ) และกลุ่มธุรกิจ Lifestyle มีการดำเนินธุรกิจอย่างหลากหลาย ได้แก่ ร้าน Café Amazon ร้านสะดวกซื้อ และร้านอาหารข้าวเปียกปู เป็นต้น
จากงบลงทุนทั้งหมด OR แบ่งการลงทุนออกเป็นงบสำหรับขยายร้านคาเฟ่ อเมซอน ผ่านงบประมาณ 18 ล้านบาท ในช่วง 5 ปีนับจากนี้ โดยวางเป้าหมายขยายสาขาเพิ่มเป็น 110 สาขาในสิ้นปี 2567 และเพิ่มเป็น 150 สาขาในปี 2573 หลังประสบความสำเร็จอย่างท่วมท้น นับตั้งแต่เข้ามาทำตลาดครั้งแรกเมื่อ 12 ปีที่ผ่านมา หรือตั้งแต่ปี 2555 โดยปัจจุบันมีร้านคาเฟ่อเมซอนแล้วทั้งสิ้น 94 สาขา ขึ้นแท่นร้านแฟรนไชส์อันดับ 1 ในสปป.ลาว
คุณดิษทัต ปันยารชุน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR กล่าวว่า “กลยุทธ์หลักของ OR ยังคงเน้นการขยายเครือข่ายสถานีบริการ พีทีที สเตชั่น (PTT Station) และคาเฟ่ อเมซอน (Café Amazon) รวมทั้งการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานในประเทศที่มีศักยภาพ โดยมี สปป.ลาว เป็นอีกหนึ่งประเทศที่ OR ให้ความสำคัญ โดยได้จัดสรรงบลงทุนระยะยาว 5 ปี (ปี 2567-2571) เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนในตลาดสากล”
“คาเฟ่ อเมซอน สาขา โฮงกายยะสิน” Concept Store แห่งแรกที่ครบทั้งอาหารเครื่องดื่ม กับเมนูไฮไลท์ของท้องถิ่น
เริ่มกันที่ “ร้านคาเฟ่ อเมซอน คอนเซ็ป สโตร์” (Café Amazon Concept Store) แห่งแรก ที่สาขาโรงกายะสิน ณ เมืองจันทะบูลี นครหลวงเวียงจันทน์ ที่มาพร้อมแนวคิด “ประตูสู่วัฒนธรรมท้องถิ่น” (The door to the local culture) ถูกสร้างภายใต้แนวคิด Landmark Concept ที่ต้องการให้ร้านคาเฟ่ อเมซอน ที่ตั้งอยู่ในท้องถิ่นตามจังหวัดต่างๆ สามารถเป็นตัวแทนบอกเล่าเรื่องราว โดยได้นำไอเดียและความน่ารักของท้องถิ่นที่ตั้งของร้านมาผสานกับการดำเนินธุรกิจเพื่อถ่ายทอดเอกลักษณ์ต่างๆผ่านร้านคาเฟ่ อเมซอน
ความพิเศษของที่นี่ นอกจากเมนู ขนมเครื่องดื่มทั่วไปแล้ว ยังมี Light Meal อย่าง AMZ เบอร์เกอร์เนื้อวากิว ที่เป็นเมนูซิกเนเจอร์ เเละ มินิแร็พหมูอบชีส รวมไปถึงเบเกอรี ที่มีซิกเนเจอร์ อย่างเมนู มัทฉะชีสเค้กหน้าไหม้ และเบเกอรีอบร้อน อาทิเช่น ครัวซองต์มัทฉะมูส และครัวซองต์ดาร์คชอคโกแลต ให้บริการทั้งวัน นอกจากนี้ยังมีเมนูซิกเนเจอร์เฉพาะถิ่นอีก 3 เมนูได้แก่
- “ตำบักหุ่ง” (Tum Mak Hoong) ที่ได้แรงบันดาลใจจากส้มตำลาว ด้วยการใช้ชาขาว 400 ปี ซึ่งเป็นสินค้าหลักของบ้านกอแมน แขวงพงสาลี ทางตอนเหนือสุดของลาวเป็นเบสของเครื่องดื่ม ผสมไซรัปแตงกวา ให้รสชาติเปรี้ยวอมหวาน
- “เบียร์ลาวกระเจี๊ยบ” (Roselle Beer Laos) สร้างสรรค์จากเบียร์ลาว ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่เลื่องชื่อของ สปป. ลาว ผสมกับไซรัปกระเจี๊ยบหอมชื่นใจ
- “กายะสิน แฟลบเป้” (Kayasin Frappe) เป็นการนำกาแฟมาปั่นกับนมมะพร้าว ให้รสชาติที่มีเอกลักษณ์ลงตัวสมบูรณ์แบบ และยังมีบาร์ที่เสิร์ฟเครื่องดื่มแบบพิเศษที่เรียกว่า ‘Concept bar’ ซึ่งมีเฉพาะที่ร้านรูปแบบ Concept Store เท่านั้น
“คาเฟ่ อเมซอน สาขาหลวงพระบาง” ณ แหล่งมรดกโลก การผสานแรงบันดาลใจเอกลักษณ์ท้องถิ่นไว้อย่างลงตัว
ต่อกันที่ “ร้านคาเฟ่ อเมซอน สาขาหลวงพระบาง” ณ แหล่งมรดกโลก คืออีกหนึ่งแฟล็กชิปสำคัญของทาง OR ที่ใช้ในการรองรับความต้องการของลูกค้าทั้งชาวสปป.ลาว และนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ผ่านเอกลักษณ์ของสถาปัตยกรรมอาคารภายนอกที่อนุรักษ์ไว้ซึ่งความดั้งเดิมของเมืองทั้งวัตถุ สถานที่ รวมถึงวัฒนธรรมประเพณีของลาวแล้ว ภายในร้านนั้นยังได้มีการตกแต่งที่สวยงาม พิถีพิถัน
โดยผสานแรงบันดาลใจจากเอกลักษณ์วัตนธรรมประเพณีท้องถิ่น และสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญในหลวงพระบาง เข้ากับความเป็นแบรนด์ Café Amazon ได้อย่างลงตัว ผ่านแนวคิดหลัก Taste of Nature เพื่อให้ลูกค้าได้นั่งพักผ่อนในบรรยากาศที่ผ่อนคลาย สดชื่นร่มรื่น ภายใต้การอนุมัติขององค์การ UNESCO
ทุ่ม 30 ล้าน เตรียมส่ง เซเว่น-อีเลฟเว่น ปูพรมตลาดลาว แทนจิฟฟี่ในอนาคต
นอกจากนี้ OR มีแผนขยายสถานีบริการน้ำมัน PTT station จากปัจจุบันอยู่ที่ 56 แห่งเพิ่มเป็น 63 แห่งภายในสิ้นปีนี้ และจะเพิ่มเป็น 71 แห่งภายในปี 2573
พร้อมกันนี้ยังจะมีการลงทุนร้านสะดวกซื้อ เซเว่น-อีเลฟเว่น จำนวน 4 สาขา เงินลงทุน ด้วยงบประมาณการลงทุน 30 ล้านบาท ซึ่งจะเข้ามาทดแทน “ร้านจิฟฟี่” ในอนาคต จากปัจจุบันที่ธุรกิจรีเทลของ OR ยังเป็น ร้านจิฟฟี่ กว่า 35 สาขาในสปป.ลาว โดยร้าน เซเว่น-อีเลฟเว่น สาขาแรกจะเปิดให้บริการในวันที่ 7 เดือนสิงหาคม 2567 นี้ ที่สถานีบริการน้ำมันแขวงสะหวันนะเขต
และธุรกิจร้านอาหารข้าวเปียกปู ที่ PTTLAO พัฒนาขึ้นเป็นแบรนด์ใหม่ เพื่อรองรับลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการในสถานีบริการ PTT Station โดจจะให้ความสำคัญกับการสร้างการเติบโต ใน 3 มิติ อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมาย OR 2030 อีกทั้ง ยังเป็นไปตามกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจตามแนวคิด OR SDG ในทุกมิติ ทั้งในด้าน “S” หรือ “SMALL” เสริมสร้างโอกาสเพื่อคนตัวเล็ก “D” หรือ “DIVERSIFIED” การโอกาสเพื่อการเติบโตทุกรูปแบบ
อีกทั้ง ยังตอบโจทย์การใช้ชีวิตทุกรูปแบบของผู้บริโภคที่ใช้พลังงานไฟฟ้า ด้วยการติดตั้งและเปิดให้บริการสถานีชาร์จ EV Station PluZ จำนวน 6 แห่ง ในสถานีบริการ PTT Station เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีกลุ่มธุรกิจ Mobility PTTLAO มีเครือข่ายคลังเก็บผลิตภัณฑ์ 7 แห่ง รองรับการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงด้วยความจุโดยรวมกว่า 7 ล้านลิตร รวมทั้งยังมีสถานีบริการ PTT Station รวม 56 แห่ง ครอบคลุมตลอดเส้นทางการเดินทางในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ
ติดตามพวกเราได้ที่ LINE