HomeFinancialสรุป ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ เติมเงิน 10,000 บาท ลงทะเบียน 1 ส.ค.-15 ก.ย. 67 เริ่มใช้จ่ายไตรมาส 4 ปีนี้ มี 6 กลุ่มร้านค้าร่วมโครงการ

สรุป ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ เติมเงิน 10,000 บาท ลงทะเบียน 1 ส.ค.-15 ก.ย. 67 เริ่มใช้จ่ายไตรมาส 4 ปีนี้ มี 6 กลุ่มร้านค้าร่วมโครงการ

แชร์ :

วันที่ 24 กรกฎาคม 2567 คุณจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง แถลงความคืบหน้าโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet  ครอบคุลมประชาชนที่ได้รับสิทธิ 50 ล้านคน คาดมีผู้มาใช้สิทธิ 45 ล้านคน ใช้งบประมาณ 450,000 ล้านบาท สรุปรายละเอียดโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ดังนี้

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

คุณสมบัติประชาชนที่จะได้รับสิทธิดิจิทัลวอลเล็ต

– ประชากรที่มีที่อยู่ในทะเบียนบ้าน /สัญชาติไทย /มีอายุตั้งแต่ 16 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ณ วันที่ปิดรับลงทะเบียน (15 กันยายน 2567)

– ไม่เป็นผู้มีรายได้เกิน 840,000 บาท สำหรับปีภาษี 2566

– ไม่เป็นผู้ที่มีเงินฝากกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจรวมกันเกิน 500,000 บาท (ตรวจสอบข้อมูลเงินฝาก 6 ประเภท ได้แก่ 1. เงินฝากกระแสรายวัน 2.เงินฝากออมทรัพย์ 3. เงินฝากประจำ 4. บัตรเงินฝาก 5. ใบรับเงินฝาก และ 6.ผลิตภัณฑ์เงินฝากในชื่อเรียกอื่นใดที่มีลักษณะเดียวกับข้อ 1-5  โดยเงินฝากดังกล่าวให้หมายความถึงเฉพาะเงินฝากที่อยู่ในรูปสกุลเงินบาทเท่านั้น และไม่รวมถึงเงินฝากในบัญชีร่วม กำหนดวันตรวจสอบเงินฝาก วันที่ 31 มีนาคม 2567)

– ไม่เป็นผู้ที่อยู่ระหว่างต้องโทษจำคุกในเรือนจำ

– ไม่เป็นผู้ที่ถูกระงับสิทธิหรือถูกเรียกเงินคืนในมาตรการโครงการอื่น ๆ ของรัฐ

– ไม่เป็นผู้ฝ่าฝืนเงื่อนไขของมาตรการ/โครงการอื่น ๆ ของรัฐ

กำหนดการเข้าร่วมโครงการฯ

– การลงทะเบียนประชาชนทั่วไป  (ผ่านสมาร์ตโฟน) ระหว่างวันที่ 1 สิงหาคม – 15 กันยายน 2567 ผ่านแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” บนสมาร์ตโฟน โดยไม่มีการจำกัดจำนวนประชาชนที่จะเข้าร่าร่วมใช้สิทธิในโครงการฯ ประชาชนทุกคนที่มาลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการและมีคุณสมบัติครบถ้วน ก็สามารถเข้าร่วมโครงการได้ ซึ่งรัฐบาลได้ประมาณการไว้จำนวน 45 – 50 ล้านคน

– การลงทะเบียนประชาชนกลุ่มที่ไม่มีสมาร์ตโฟน ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมการให้เข้าร่วมโครงการฯ ได้ในระยะต่อไป โดยจะให้ลงทะเบียนและยืนยันตัวตนผ่านช่องทางที่กำหนด (ระหว่างวันที่ 16 กันยายน – 15 ตุลาคม 2567) ซึ่งจะต้องตรวจสอบคุณสมบัติ สถานะบุคคล และที่อยู่ตามทะเบียนบ้าน เช่นเดียวกับกลุ่มผู้มีสมาร์ตโฟน

– การใช้จ่ายของกลุ่มที่ไม่มีสมาร์ตโฟน อยู่ระหว่างการพิจารณาให้ใช้สิทธิ “ผ่านบัตรประจำตัวประชาชน” แต่การใช้สิทธิซื้อสินค้าจากร้านค้าจะทำได้ในวงแคบกว่าการใช้สิทธิของประชาชนกลุ่มที่มีสมาร์ตโฟน คือ 1. ต้องใช้กับร้านค้าที่เปิดบริการของสมาร์ตโฟนในขณะที่มีการแลกเปลี่ยน (ซื้อสินค้า) เท่านั้น  เพราะต้องยืนยันสถานที่ และยืนยันแบบ face to face  และ 2. ทุกครั้งที่มีการซื้อขาย จะต้องบันทึกภาพของผู้ที่นำบัตรประชาชนมาใช้จ่าย เพื่อตรวจสอบว่าเป็นเจ้าของบัตรจริง

ดังนั้นการลงทะเบียนผ่านสมาร์ตโฟนจะสามารถใช้งานได้สะดวกกว่า จึงแนะนำให้ลงทะเบียนผ่านทางสมาร์ตโฟนก่อนเป็นอันดับแรก

การลงทะเบียนร้านค้า เริ่ม 1 ต.ค.67

– การลงทะเบียนร้านค้าเบื้องต้นกำหนดไว้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป โดยจะชี้แจงเกี่ยวกับคุณสมบัติของร้านค้า ช่องทางและวิธีการสมัครเข้าร่วมโครงการฯ และเงื่อนไขอื่น ๆ อีกครั้ง  คาดว่าจะมีร้านค้าเข้าร่วมโครงการ 2 ล้านร้านค้า ดังนี้

1. นิติบุคคลที่ขึ้นทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้ากระทรวงพาณิชย์ จำนวน  910,000 ร้านค้า

2. ร้านธงฟ้า ร้านอาหารธงฟ้า ขึ้นทะเบียนกับกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ 198,000 ร้านค้า

3. ร้านโชห่วย หาบเร่ แผงลอย ร้านอาหาร ตลาดนัด ที่ขึ้นทะเบียนกับองค์กรปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย คาดเข้าร่วมโครงการอีก 400,000 ร้านค้า

4. กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน  สหกรณ์ ขึ้นทะเบียนกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จำนวน 93,000 ร้านค้า

5. ห้างค้าส่ง ค้าปลีก ร้านสะดวกซื้อ ที่ขึ้นทะเบียนกับสมาคมค้าปลีกไทย จำนวน 50,000 ร้านค้า

6. กลุ่มผู้ผลิต ห้าง ร้านค้าในเครือข่าย ร้านค้าในห้างสรรพสินค้า ที่ขึ้นทะเบียนกับสมาคมค้าปลีกไทย อีก 500,000 ร้านค้า

ถือเป็นโครงการแรกของรัฐที่สามารถดึงร้านค้าเข้าร่วมโครงการได้จำนวนมากกว่า 2 ล้านร้านค้า

การใช้จ่ายในโครงการฯ 

– เริ่มใช้จ่ายได้ภายในไตรมาส 4 ของปี 2567

– เงื่อนไขการใช้จ่าย

1. การใช้จ่ายระหว่างประชาชนกับร้านค้า

– ประชาชนจะสามารถใช้จ่ายได้กับร้านค้าขนาดเล็ก รวมถึงร้านสะดวกซื้อขนาดเล็ก โดยไม่รวมห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีก-ค้าส่งสินค้าขนาดใหญ่ระดับประเทศและระดับท้องถิ่น และในการซื้อสินค้า หากประชาชนมีที่อยู่ตามทะเบียนบ้านในอำเภอใด ก็ต้องซื้อสินค้าจากร้านค้าในอำเภอเดียวกันเท่านั้น และต้องซื้อขายแบบพบหน้า (Face to Face) ซึ่งคำว่าซื้อขายแบบพบหน้านี้ จะมีการตรวจสอบ 1.ที่อยู่ของร้านค้าตามที่ลงทะเบียนโครงการฯ 2.ที่อยู่ของประชาชนตามทะเบียนบ้านในขณะที่ลงทะเบียนโครงการฯ และ 3. พิกัดที่อยู่ของประชาชนในขณะที่ใช้จ่ายกับร้านค้าต้องอยู่ในเขตอำเภอเดียวกันการชำระเงินจึงจะสมบูรณ์

2. การใช้จ่ายระหว่างร้านค้ากับร้านค้า  

– ร้านค้าทุกประเภทสามารถซื้อขายสินค้าระหว่างกันได้ และไม่มีการกำหนดเงื่อนไขว่าต้องเป็นการซื้อขายแบบพบหน้า (Face to Face) จึงซื้อขายสินค้าระหว่างกันได้

3. ประเภทสินค้า 

สินค้าทุกประเภทสามารถเข้าร่วมโครงการฯ ได้ ยกเว้นสินค้า Negative List ได้แก่ สลากกินแบ่งรัฐบาล เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผลิตภัณฑ์ยาสูบ กัญชา กระท่อม พืชกระท่อม ผลิตลิตภัณฑ์กัญชาและกระท่อม บัตรกำนัล บัตรเงินสด ทองคำ เพชร พลอย อัญมณี น้ำมันเชื้อเพลิง ก๊าซธรรมชาติ เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องมือสื่อสาร

อย่างไรก็ดี กระทรวงพาณิชย์อาจพิจารณาแก้ไขปรับปรุงรายการสินค้า Negative List เพิ่มเติมได้ ทั้งนี้ การใช้จ่ายภายใต้โครงการฯ จะไม่รวมถึงบริการต่าง ๆ

– ขั้นตอนการลงทะเบียนและยืนยันตัวตนผ่านแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” แบ่งเป็น 2 รูปแบบ ดังนี้

รูปแบบที่ 1 การยืนยันตัวตนและลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ ผ่านแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ”ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม – 15 กันยายน 2567

รูปแบบที่ 2 การยืนยันตัวตนผ่านแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” มาก่อนวันที่ 1 สิงหาคม 2567 แล้วจึงค่อยมาลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ ผ่านแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม – 15 กันยายน 2567 ซึ่งจะทำให้คงเหลือขั้นตอนลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม เป็นต้นไป ที่ง่ายและรวดเร็วกว่า

ประชาชนเตรียมการดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” และทำการยืนยันตัวตนล่วงหน้าตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป โดยสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” ได้โดยตรงจากแอปพลิเคชัน “App Store” สำหรับระบบบปฏิบัติการไอโอเอส (iOS) และแอปพลิเคชัน “Goode Play” สำหรับระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ (Android) บนสมาร์ตโฟน

ติดตามพวกเราได้ที่ LINE

อ่านเพิ่มเติม


แชร์ :

You may also like