HomeDigitalอีคอมเมิร์ซไทย ไร้การเหลียวแล SME พบ 2 ปัญหาใหญ่ “แพลตฟอร์มขึ้นค่าธรรมเนียม-ปิดกั้นข้อมูลลูกค้า”

อีคอมเมิร์ซไทย ไร้การเหลียวแล SME พบ 2 ปัญหาใหญ่ “แพลตฟอร์มขึ้นค่าธรรมเนียม-ปิดกั้นข้อมูลลูกค้า”

ป้อม-ภาวุธ แนะ อย่ายึดติดแพลตฟอร์มต่างชาติ

แชร์ :

คุณป้อม – ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เพย์ โซลูชัน จำกัด

“ป้อม-ภาวุธ” ฉายภาพ SME ไทย เผชิญมรสุมหลายด้าน ทั้งจากแพลตฟอร์มมาร์เก็ตเพลสยักษ์ใหญ่ที่ขึ้นค่าธรรมเนียมอย่างรวดเร็ว แถมยังปิดกั้นไม่ให้เข้าถึงข้อมูลลูกค้าทำให้ SME ไม่สามารถนำข้อมูลลูกค้าของตนเองมาทำการตลาดดิจิทัลเพื่อต่อยอดได้ แนะพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ไทยเร่งเพิ่มทางเลือกให้ตัวเอง อย่ายึดติดแพลตฟอร์มต่างชาติ และต้องพร้อมปรับตัว – เพิ่มประสิทธิภาพด้วยเครื่องมือดิจิทัลเพื่อให้ยังสามารถแข่งขันได้

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

อีคอมเมิร์ซไทยในวันที่ไม่มี “แพลตฟอร์มของตัวเอง”

แม้จะมีตัวเลขจากสถาบันวิจัยต่าง ๆ เช่น Krungthai Compass ที่คาดการณ์ว่า ธุรกิจอีคอมเมิร์ซไทย มีมูลค่าแตะ 6.94 แสนล้านบาทในปีนี้ หรืองานวิจัย e-Conomy SEA 2023 ของ Google ร่วมกับ Bain Company ที่ระบุว่า อีคอมเมิร์ซไทยจะมีมูลค่าแตะ 50,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี พ.ศ. 2568

แต่สิ่งที่ต้องยอมรับก็คือ ปัจจัยขับเคลื่อนหลักของอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซไทย ยังมาจากแพลตฟอร์มมาร์เก็ตเพลสต่างชาติ เช่น Lazada, Shopee และน้องใหม่มาแรงอย่าง TikTok Shop โดยคุณป้อม – ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เพย์ โซลูชัน จำกัด ได้สะท้อนภาพจากการทำงานร่วมกับ SME ไทยจำนวนกว่า 20,000 ราย และมีการอ้างอิงข้อมูลจาก Priceza Insight ว่า ในช่วง  1 – 2 ปีที่ผ่านมา มาร์เก็ตเพลสต่างชาติเหล่านี้ได้ปรับขึ้นราคาค่าธรรมเนียมในการขายสินค้าถึง 300% เช่น กรณีของ Lazada  ที่พบว่า

  • ปี 2555  เริ่มเปิดให้บริการ ไม่คิดค่าธรรมเนียม
  • 1 พ.ค. 2565 คิดค่าบริการ 1%
  • 1 ต.ค. 2565 คิดค่าบริการ 2%
  • 1 เม.ย. 2566 คิดค่าบริการ 3%
  • 23 ต.ค. 2566 คิดค่าบริการ 4%

ขณะที่แพลตฟอร์ม Shopee ก็ได้ปรับขึ้นค่าธรรมเนียมในเวลาใกล้เคียงกัน โดยค่าธรรมเนียมล่าสุดของ Shopee อยู่ที่ 4.28 – 5.35% และ Lazada อยู่ที่ 3.21 – 5.35% ส่วน LINE MyShop และ TikTok Shop นั้น พบว่า ปัจจุบันคิดค่าบริการอยู่ที่ 3.21% และ 4% ตามลำดับ

ทั้งนี้ ค่าบริการดังกล่าวยังไม่รวมการใช้งานฟีเจอร์อื่น ๆ ของแพลตฟอร์มมาร์เก็ตเพลส เช่น ค่าธรรมเนียมในการชำระเงิน โปรแกรมการส่งฟรี โปรแกรมคืนเงิน ฯลฯ ซึ่งหากแบรนด์เข้าร่วมก็จะทำให้ค่าบริการในส่วนนี้เพิ่มสูงขึ้นอีกหลายเปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ SME ไทยต้องแบกรับ

SME ไทย มองไม่เห็นข้อมูลลูกค้าตัวเอง

อีกหนึ่ง Pain Point ของการใช้งานแพลตฟอร์มต่างชาติคือการถูกปิดกั้นการมองเห็นข้อมูลลูกค้า ทำให้ไม่สามารถใช้เครื่องมือการตลาดดิจิทัลอื่น ๆ เพื่อเพิ่มยอดขายจากลูกค้ากลุ่มนี้ได้ โดยคุณภาวุธระบุว่า การปิดกั้นการมองเห็นข้อมูลลูกค้าในไทยนี้เริ่มมาแล้วประมาณ 1 ปี

แนะ SME ไทยพึ่งพาตนเอง ใช้เทคโนโลยีเป็นอาวุธ

สำหรับทางออกของความท้าทายนี้ คุณภาวุธมองว่า เจ้าของธุรกิจยุคใหม่ต้องเร่งปรับตัว และใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของบริษัท พร้อมยกตัวอย่าง การสร้างเว็บไซต์ร้านค้า – ระบบแชทเพื่อพูดคุยกับลูกค้า ระบบสต็อกสินค้า ระบบขนส่ง ระบบบัญชี ระบบการชำระเงิน ระบบบริหารงานบุคคล เมื่อทุกขั้นตอนสามารถเชื่อมต่ออัตโนมัติ การทำธุรกิจของ SME ไทยจะสะดวกขึ้น และมีเวลาไปพัฒนาธุรกิจในด้านอื่น ๆ ต่อได้

เปิดตัวเครื่องสแกน QR Code ตอบโจทย์พ่อค้ารายย่อย

พร้อมกันนี้ คุณภาวุธได้แนะนำเครื่องมือรับชำระเงินตัวใหม่ที่บริษัทพัฒนาขึ้น สำหรับพ่อค้าแม่ค้ารายย่อยที่ต้องการรับชำระเงินผ่าน QR Code โดยระบุว่า ก่อนหน้านี้ พ่อค้าแม่ค้ากลุ่มดังกล่าวเคยพบกับการฉ้อโกงของผู้ซื้อ เช่น ทำท่าสแกน QR Code แล้วโชว์สลิปปลอม แต่ไม่โอนเงินจริง ๆ ทำให้บางร้านปฏิเสธที่จะรับเงินจาก QR Code ไปเลย

สำหรับการทำงานของเครื่องสแกน QR Code ตัวนี้ พ่อค้าจะเป็นผู้กดราคาที่ลูกค้าต้องจ่ายจากแป้นพิมพ์ และสร้างออกมาเป็น QR Code บนหน้าจอ เมื่อลูกค้าสแกน และดำเนินการชำระเงินเสร็จสิ้น จะมีเสียงแจ้งเตือนออกมาดัง ๆ ทำให้พ่อค้าทราบว่า ได้รับเงินเข้าระบบแล้ว

ส่วนราคาของเครื่องดังกล่าว คุณภาวุธระบุว่า กำหนดราคาเริ่มต้นไว้ที่ 4,900 บาท แต่ถ้าหากร้านค้ามียอดใช้จ่ายเกิน 1,000 บาทต่อวัน ทางบริษัทจะไม่คิดค่าใช้จ่ายใด ๆ พร้อมเชื่อว่า ความง่ายในการใช้งาน ตลอดจนการมีเสียงแจ้งให้พ่อค้าทราบว่าเงินเข้าระบบแล้ว จะทำให้อุปกรณ์ดิจิทัลชิ้นนี้ตอบโจทย์พ่อค้าแม่ค้ารายย่อยของไทยได้มากขึ้น

ปัจจุบัน เพย์ โซลูชัน เป็นผู้ให้บริการระบบชำระเงินสัญชาติไทยรายเดียวในตลาด โดยให้บริการลูกค้าประมาณ 20,000 ราย มียอดการใช้งานอันดับ 3 ของประเทศ และพบว่า ในปีที่ผ่านมา มียอดการใช้งานเติบโตขึ้น 36.84% ส่วนช่องทางการชำระเงินที่ได้รับความนิยมสูงสุดคือ พร้อมเพย์ และบัตรเครดิต และพบว่ามีการรับชำระเงินจากต่างประเทศเข้าไทยได้ถึง 465 ล้านบาท

เปิดแผน 2567 ดึง SME ไทยไปขายต่างประเทศ

สำหรับแผนงานอนาคตของ เพย์ โซลูชัน ในปี 2568 คุณภาวุธเผยว่า จะพา SME ไทยไปขายสินค้าต่างแดนในรูปแบบ Cross-Border มากขึ้น โดยมองว่ามี SME ไทยบางส่วนที่มีความพร้อม เช่น กลุ่มผู้ผลิตอาหาร กลุ่มผู้ผลิตครีม – เครื่องสำอาง เป็นต้น

 

 


แชร์ :

You may also like