การมาของอินเทอร์เน็ต และความก้าวล้ำของเทคโนโลยีดิจิทัล ไม่เพียงจะทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไป แทบจะอยู่ติดจอมือถือตั้งแต่ตื่นนอนจนถึงหลับ ทั้งทำงาน เสพสื่อ และจับจ่ายใช้สอย ทว่ายังทำให้เกิด “Digital Agency” มากมาย ซึ่ง “The Secret Farm” เป็นหนึ่งในเอเจนซี่ ที่ขับเคลื่อนด้วยคนและดาต้า จากเอเจนซี่เล็กๆ ที่มีพนักงาน 3 คนในปี 2558 ผ่านมา 9 ปี ขึ้นสู่ปีที่ 10 วันนี้ The Secret Farm เติบโตขึ้นจนมีพนักงาน 40 คน ทั้งยังสร้างสีสันและมิติใหม่ให้กับวงการเอเจนซี่มากมาย
The Secret Farm แตกต่างจากเอเจนซี่อื่นอย่างไร? และมีวิธีในการพัฒนาไอเดียอย่างไรให้ออกมากลมกล่อม ถูกใจแบรนด์และผู้บริโภครุ่นใหม่ จนเติบโตมาอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางสมรภูมิการแข่งขันของดิจิตอลเอเจนซี่ที่รุนแรง Brand Buffet พามาคุยกับคุณโอ๊ค – ฐิติพันธ์ กัมพลาศิริ Managing Director และผู้ก่อตั้ง The Secret Farm เพื่อให้เห็นตัวตน วิธีคิด พร้อมการขับเคลื่อนธุรกิจให้แข็งแรงนับจากนี้
เทรนด์-ความถนัด นำพาสู่การสร้าง “ฟาร์ม”
ย้อนกลับไป 9 ปีที่แล้ว ดิจิทัลเป็นเทรนด์มาแรงมาก ไม่เพียงวงการเอเจนซี่ที่พร้อมพุ่งชน แต่ทุกอุตสาหกรรมก็อยากเข้ามาเล่นในสนามนี้เช่นกัน เพราะหอมหวานและเติบโตขึ้นเรื่อยๆ พี่โอ๊ค ก็เป็นคนหนึ่งที่มองเห็นเทรนด์นี้เช่นกัน บวกกับในช่วงนั้นงานประจำที่ทำอยู่เริ่มนิ่ง ไม่มีอะไรแปลกใหม่ จึงเกิดความคิดที่จะหยิบความถนัดมาเปิดบริษัทของตัวเอง เพราะน่าจะตื่นเต้นและสนุกมากขึ้น ซึ่งความถนัดที่เขาพูดถึงนี้คือ งาน Creative และ Production รวมถึง Digital เพราะก่อนหน้านี้พี่โอ๊คเคยทำงานในแวดวงเอเจนซี่ก่อนจะย้ายมาทำหนังสือ และเก็บเกี่ยวประสบการณ์เพิ่มที่ บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน)
แม้จะมีประสบการณ์ในแวดวง Creative และ Production มา แต่เมื่อคิดจะเริ่มต้นธุรกิจของตัวเอง ก็ลังเลและตัดสินใจอยู่นาน กระทั่งมองว่าถ้าจะเข้ามาเป็น New Player ในตลาดนี้ และสร้างธุรกิจให้เติบโตแบบออร์แกนิค ต้องใช้เวลา ในปี 2558 จึงตัดสินใจออกมาตั้งเอเจนซี่ในชื่อ The Secret Farm ซึ่งระหว่างนั้นได้มีโอกาสคุยไอเดียกับ “พี่จีน่า” (คุณจินา โอสถศิลป์) ซึ่งเป็นหัวเรือใหญ่ของ GTH ในขณะนั้น ด้วยมุมมองและความเชื่อในสิ่งใหม่ๆและอยากเดินไปข้างหน้าก่อนคนอื่นๆเหมือนกัน เราเลยตกลงทำงานร่วมกันซึ่งเป็นประสบการณ์การเริ่มต้นที่ท้าทายแต่ก็อบอุ่นมากๆ
โดยนิยามของ The Secret Farm หมายถึง สถานที่สร้างผลผลิตที่ดี ซึ่งมาจากหนังเรื่อง The Secret Life of Walter Mitty ที่เล่าถึงเรื่องราวชีวิตที่แสนจำเจของมนุษย์ออฟฟิศคนหนึ่ง จนวันหนึ่งต้องเจอเหตุการณ์ไม่คาดคิด แต่ก็กล้าเดินไปข้างหน้า แม้ไม่รู้ว่าต้องเจออะไร บวกกับเนื้อหาของเพลงประกอบที่โดนใจ จึงหยิบคำว่า The Secret มาตั้งชื่อบริษัท และเติมคำว่า Farm ซึ่งหมายถึงสถานที่สร้างผลผลิตเข้ามา เพื่อสื่อถึงความกล้าในการคิดนอกกรอบ เพื่อสร้างผลผลิตที่ดี
“เราคือ Farm ไม่ใช่ Factory ที่ผลิตอะไรออกมาก็ได้ เพราะการเป็น Farm สิ่งที่เราผลิตหรือคิดออกมาต้องมีคุณภาพดี ซึ่งการจะได้ผลผลิตที่ดีที่สุด เราต้องมีดิน และปุ๋ยเหมาะสม รวมถึงคนปลูกที่มีความเชี่ยวชาญ ผลิตผลจึงอร่อยโดนใจผู้บริโภค” พี่โอ๊คอธิบายความหมายของชื่อบริษัท
Agency ตัวเล็ก แต่สนุก ครบทุกรส
สำหรับการทำงานในช่วงแรก The Secret Farm เริ่มต้นจากการเป็นเอเจนซี่เล็กๆ ที่มีพนักงานเพียงแค่ 3 คน ทว่าแต่ละคนก็มีความถนัดและความสนุกต่างกันแบบที่ไม่น่าจะทำงานด้วยกันได้ แต่เพราะความหลากหลายนี่เองที่ช่วยเพิ่มสีสันให้เอเจนซี่แห่งนี้ครบทุกรส และกลายเป็นจุดแข็งที่ทำให้ The Secret Farm แตกต่างจากเอเจนซี่ในตลาด โดยมีวิธีทำงานในแบบตัวเอง ด้วยการมองลูกค้าเป็นเหมือนเพื่อน พร้อมกับ Base on Consumer ผ่านการลงพื้นที่พูดคุยกับผู้บริโภคเพื่อให้เข้าใจพฤติกรรมอยู่เสมอ เพื่อนำปัญหาของลูกค้าและความต้องการของผู้บริโภคมาเป็นไอเดียในการครีเอทงานในรูปแบบใหม่ๆ ที่ตรงกับความสนใจของผู้บริโภค และได้ “ผลลัพธ์” แบบที่หาจากที่อื่นไม่ได้
“เราเจอวิธีเดิมๆ วัฒนธรรมเดิมๆ ในการทำงาน จนรู้สึกว่าเบื่อและอยากสร้างอะไรใหม่ๆ ถึงขนาดเคยตั้งคำถามกับตัวเองว่า ทำไมต้องคิดแบบเดิม คิดแบบใหม่ได้ไหม ซึ่งอาจไม่ใช่วิธีใหม่ แต่ต้องไม่ใช่สูตรเดิมที่ทุกคนทำกัน เพราะวิธีเดิม แม้งานจะได้รางวัล แต่ลูกค้าได้ Value อะไรจากสิ่งที่ทำ” ส่งผลให้สไตล์การทำงานของ The Secret Farm จึงมีความยึดหยุ่น ไม่ได้มองแค่โจทย์ลูกค้า หรือดาต้าอย่างเดียว แม้จะเป็นเอเจนซี่ แต่ยังให้ความสำคัญกับคนทำงานอย่างมาก ผ่านการนำ “Data” มาผสานกับ “Experience” คนทำงาน ในขณะเดียวกันยังสร้างสภาพแวดล้อมในออฟฟิศที่มีความ “Relax” และดูแลพนักงานอย่างเต็มที่ โดยมีสวัสดิการทั้งอาหารกลางวัน และพื้นที่สำหรับทำขนม เพื่อให้พนักงานได้มีความสุขในการทำงาน เพราะเชื่อว่า หากคนทำงานมีความสุขในการทำงาน จะสนุกกับการคิดและใส่ไอเดียเต็มที่ ซึ่งจะทำให้งานออกมาแตกต่างและมีคุณภาพที่ดี
“เราก็ให้ความสำคัญกับการทำงานแบบคน พอๆ กับเครื่องมือ เพราะต่อให้เรามีเครื่องมือและอ่านค่าได้มากแค่ไหน แต่ตัวเลขไม่ได้ตอบทุกอย่าง โดยเฉพาะความชอบ ไม่ชอบของคน เราจึงไม่ได้เอาข้อมูลมาดูแล้วจบ แต่ต้องนำประสบการณ์ของคนมาวิเคราะห์ในแต่ละงาน และลงพื้นที่ ซึ่งจะทำให้เห็น Voice จริง
จากวิธีคิดและสไตล์การทำงานที่แตกต่างนี่เอง ทำให้ The Secret Farm ค่อยๆ เติบโต จากปีแรกๆ ที่เน้นดูแลงาน Promote ในส่วนออนไลน์ให้กับหนัง GTH ต่อยอดมาสู่การทำงานร่วมกับ Partner ในอุตสาหกรรมด้าน Entertainment หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น Netflix ( Delete, Gyeongseong Creature, สาธุ ), oneD ( บางกอกคณิกา ), หรือ GDH (หลานม่า) จนถึงปัจจุบัน โดย The Secret Farm มีส่วนร่วมในการทำแคมเปญ KOL และ Media นอกจากนี้ยังได้รับความไว้วางใจจากลูกค้าอื่นๆ ในหลากหลายอุตสาหกรรม ครอบคลุมการทำงานแบบครบวงจร
“แคมป์ศิลปินอินเทิร์น” กับการเชื่อมแบรนด์และคนรุ่นใหม่ ด้วยงานศิลปะภาพประกอบในแบบ illustration
เพื่อให้เห็นภาพกระบวนการทำงานชัดขึ้น พี่โอ๊ค ได้ยกตัวอย่าง The Way Artist Intern Camp หรือ แคมป์ศิลปินอินเทิร์น ซึ่งเป็นโปรเจคการประกวดวงดนตรีศิลปินของพี่นิค-วิเชียร ฤกษ์ไพศาล อดีตผู้บริหารค่าย จีนี่ เรคคอร์ด ที่ The Secret Farm เข้าไปช่วยคิดไอเดียจนสร้างความสำเร็จ โดยโจทย์ในครั้งนี้ พี่นิกต้องการสร้างแบรนด์ THE WAY ให้เป็นรู้จักในกลุ่มเด็กวัยมัธยม โดยให้ทีมคิดตั้งแต่ชื่อ คอนเซปต์งาน และวิธีสื่อสารทั้งหมด
แต่เนื่องจากการแข่งขันวงดนตรีในไทยมีจำนวนมาก ความยากของโจทย์นี้จึงอยู่ที่การทำให้ The Way เป็นที่รู้จักและจดจำในใจของเด็กมัธยม ทีมจึงเริ่มต้นจากการสร้างความแตกต่างจากสิ่งที่ทุกคนคุ้นเคย โดยให้คนที่มาร่วมกิจกรรมได้ Value จริงๆ จึงเกิดไอเดียสร้างเป็นพื้นที่ฝึกงานขึ้น
เพราะมองว่าคนที่เข้ามาประกวดเป็นศิลปินเด็ก แต่ยังไม่มีพื้นที่ฝึกงาน จนเกิดเป็น “แคมป์ศิลปินอินเทิร์น” และใช้ NFTs มาเป็นตัวเชื่อมเด็กๆ ให้เห็นภาพนวัตกรรมทางดนตรีของแคมป์ โดยลงไปทำงานกับ NFTs Artist เพื่อออกแบบ Key Visual ที่อธิบายคอนเซปต์ทั้งหมด จากนั้นก็ผลิตเป็นชิ้นงานรูปแบบต่างๆ สื่อสารทั้งออนไลน์ และออฟไลน์ รวมถึงดีไซน์หลักสูตรการเรียนการสอนในแคมป์ และทำโชว์ให้กับเด็กๆ ที่เข้าแคมป์กลางสยาม
พลิกกระบวนท่าใหม่ สร้างการเติบโตบนสนามที่ไม่หอมหวาน
ท่ามกลางการแข่งขันที่ดุเดือด นอกจากกระบวนการคิดงานที่ฉีกจากท่าเดิมๆ แล้ว พี่โอ๊ค บอกว่า จุดแข็งสำคัญที่ทำให้ The Secret Farm สามารถฟันฝ่าการแข่งขันและเติบโตมาถึงทุกวันนี้ ยังมาจากการทำงานกับลูกค้าอย่างเพื่อน ทำให้เข้าใจปัญหาของลูกค้าและนำมาคิดโซลูชันเพื่อแก้ปัญหาให้แบรนด์ได้ตรงจุด บวกกับการทำงานของคนอย่างเข้าใจ และมีความสุข จึงทำให้ผลผลิตโดนใจผู้บริโภค
“ที่ผ่านมาเราเติบโตตามแผนที่วางไว้ แต่ในแง่ขนาดบริษัท อาจขยายจากวันแรก โดยปัจจุบันสมาชิกขยับไปอยู่ที่ 40 คน 3 Gen เราไม่คิดเรื่องตำแหน่งและอายุ แต่เน้นทำงานด้วยความเชื่อใจกัน ใช้เหตุและผล รวมทั้งรับฟังความคิดเห็นของทุกคน ซึ่งหลายครั้งไอเดียของเด็กสดใหม่ และหากเจ๋ง ตรงประเด็น เราก็เลือกไอเดียของเด็ก ถึงทำให้เราก้าวมาถึงวันนี้ได้”
พี่โอ๊ค บอกถึงปัจจัยสร้างการเติบโตตลอด 9 ปีที่ผ่านมา และยอมรับว่า ปัจจุบันวงการดิจิตอลเอเจนซี่เปลี่ยนแปลงไปจาก 9 ปีที่แล้วมาก ตอนนี้ตลาดอยู่ในช่วง “ขาลง” ขณะเดียวกัน การคอมมูนิเคชันไม่มีเส้นแบ่งระหว่างออนไลน์ และออฟไลน์ อีกทั้งไวรัลล้วนเกิดจากนักการตลาดนิรนามทั้งนั้น ขณะที่แบรนด์ก็ใช้เงินน้อยลง แต่ต้องการประสิทธิภาพมากขึ้น จึงทำให้เอเจนซี่ต้อง “ปรับตัว” ถ้าคิดและทำแบบเดิม “ไม่รอด” โดยนอกจากการเรียนรู้เครื่องมือใหม่ๆ แล้ว ต้องลงมาสัมผัสกับความเป็นจริงมากขึ้น ทั้งยังต้องทำตัวคู่ขนานไปกับแบรนด์ หรือเป็นคนหนึ่งที่เข้าไปนั่งอยู่ในแบรนด์
ทำให้ The Secret Farm ต้องปรับตัวเองอยู่เสมอเช่นกัน โดย พี่โอ๊ค บอกว่า ทุกวันนี้ทุกคนยังต้องเรียนหนังสือเติมของกันเรื่อยๆ ทั้ง Data, MarTech และ AI เพื่อนำมาสร้างโซลูชันใหม่ๆ ให้สอดรับกับความต้องการของแบรนด์และผู้บริโภค ทั้งยังมีพื้นที่ให้ทุกคนได้สร้างงานในแบบที่อยากทำโดยไม่ต้องกดดัน เพราะเชื่อว่าการมีเวทีให้คนได้ลองคิดและทำในสิ่งที่ชอบ จะช่วยให้พนักงานได้ฝึกทักษะและสนุกกับการทำงานมากขึ้น ซึ่งหลายๆ ชิ้นงาน ลูกค้าก็กลับมาซื้อไอเดียจนกลายเป็นคอมเมอร์เชียล และหลายโปรเจค The Secret Farm ก็นำมาต่อยอดจนเป็นบริษัทใหม่ โดยบริษัทจะเข้าไปร่วมลงทุนด้วย
อย่างล่าสุดบริษัทได้ต่อยอดมาสู่การทำอีกหนึ่งบริษัทนั่นคือ THE EGGSPLORE ซึ่งเป็นบริษัทที่ดูแลในส่วน KOL และ Influencer โดยตรง ดังนั้น หากมองในมุมธุรกิจ วิธีนี้สามารถจะเสริมการทำงานขององค์กรให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทำให้ตอบความต้องการของแบรนด์ที่หลากหลายได้ทุกรูปแบบ และช่วยธุรกิจมีความแข็งแรงและเติบโตยั่งยืน
ดังนั้น ทิศทางจากนี้ของ The Secret Farm ยังคงรักษาความเป็นเอเจนซี่ที่มีการทำงานแบบยืดหยุ่นและไร้กรอบไว้เหมือนเดิม แต่สิ่งที่จะเพิ่มเติมมากขึ้นคือ งานในท่าใหม่ๆ เพื่อสร้าง Value ให้กับแบรนด์มากขึ้น พร้อมทั้งสนับสนุนคนทำงานได้ลองทำตาม Passion หากงานใดสามารถพัฒนาเป็นธุรกิจได้ ก็จะแตกเป็นบริษัทใหม่มาเสริมทัพ เพื่อให้ฟาร์มแห่งนี้สร้างผลผลิตที่ดีและรับกับทุกสถานการณ์
จึงเป็นอีกกรณีศึกษาของเอเจนซี่ที่ไม่เคยหยุดนิ่งในการปรับตัวเอง และพร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เพื่อพลิกกระบวนท่าให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ทำให้เอเจนซี่ตัวเล็กแห่งนี้สามารถครองใจแบรนด์และเติบโตได้อย่างยั่งยืนนั่นเอง