ภัยไซเบอร์ยังคงเป็นความท้าทายใหญ่ของทุกภาคส่วนในประเทศไทย หลังมีการเปิดเผยข้อมูลโดยกองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 1 ว่า ประเทศไทยตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมทางการเงินสูงติดอันดับ 6 ของโลก รองจากอินเดีย ไนจีเรีย ซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย โดยมีมูลค่าความเสียหายรวมมากกว่า 69,000 ล้านบาท หรือเฉลี่ยมูลค่าความเสียหายที่ 78 ล้านบาทต่อวัน (ข้อมูลระหว่างวันที่ 1 มีนาคม 2565 – 31 กรกฎาคม 2567)
สำหรับอาชญากรรมออนไลน์ที่คนไทยตกเป็นเหยื่อมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่
- หลอกซื้อขายสินค้าหรือบริการ 44.08%
- หลอกให้โอนเงินเพื่อทำงาน 13.46%
- หลอกให้กู้เงิน 10.47%
- หลอกให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ 7.5%
- ข่มขู่ทางโทรศัพท์ (Call Center) 6.95%
“ทุกวันนี้ ความเสียหายจากอาชญากรรมไซเบอร์กำลังจะแซงหน้าปัญหายาเสพติด เราจึงต้องให้ความสำคัญ ยกเป็นวาระแห่งชาติ ที่สำคัญ การปราบปรามคือต้องปราบที่ต้นเหตุ ต้องฉีดวัคซีน ให้ความรู้กับสังคมไทย” – พลตำรวจตรี ชัชปัณฑกาณฑ์ คล้ายคลึง ผู้บังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 1
AIS เปิดผลดัชนี ระดับสุขภาวะดิจิทัลไทย
ตัวเลขความเสียหายดังกล่าวยังสอดคล้องกับผลดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัลของคนไทย หรือ Thailand Cyber Wellness Index 2024 ซึ่งจัดทำโดย AIS เป็นปีที่ 2 ที่พบว่า คนไทยเกินครึ่งยังขาดความรู้ความเข้าใจโลกออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นการรับมือกับ Ransomware หรือมัลแวร์เรียกค่าไถ่ การใช้ Wi-Fi สาธารณะในการทำธุรกรรมทางการเงิน การนำวันเดือนปีเกิดมาตั้งพาสเวิร์ด ฯลฯ และที่สำคัญที่สุดคือการไม่ทราบว่า URL ของเว็บไซต์ที่ปลอดภัย ต้องเป็น Https ไม่ใช่ Http เป็นต้น
สำหรับ Thailand Cyber Wellness Index 2024 เป็นการร่วมมือกันของเอไอเอส มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และผู้เชี่ยวชาญด้านเครือข่ายความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ ประกอบด้วย ด้านเทคโนโลยี ด้านสุขภาพ ด้านสื่อสารมวลชน ด้านการศึกษา และด้านการวัดและประเมินผล ทำการศึกษาจากกลุ่มตัวอย่าง 50,965 คนใน 7 ภูมิภาค 77 จังหวัด จนออกมาเป็นดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัลของคนไทยในที่สุด โดยระดับสุขภาวะดิจิทัลของไทยในปี 2567 พบว่า 46% ของกลุ่มตัวอย่างอยู่ที่ระดับ “พื้นฐาน” หรือก็คือมีความรู้และสามารถใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างถูกต้องเหมาะสม และ 35.5% มีความรู้ความเข้าใจดิจิทัลในระดับสูง
อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาให้ลึกลงไปจะพบว่า มีคนไทย 18.47% อยู่ในระดับที่ต้องพัฒนา ซึ่งแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยจำเป็นต้องสร้างความรู้ความเข้าใจในการใช้ดิจิทัลให้กับประชาชนเพิ่มขึ้น เนื่องจากระดับต้องพัฒนา เป็นกลุ่มที่เสี่ยงต่อการใช้งานดิจิทัลได้สูงมากนั่นเอง
“การใช้ชีวิตบนโลกไซเบอร์อย่างมีสุขภาวะเป็นเรื่องที่กระทรวงดิจิทัลฯ ให้ความสำคัญ ที่ผ่านมา เราได้ทำงานร่วมกับ AIS เพื่อนำสถิติ – รวมถึงดัชนีชี้วัดต่าง ๆ มาทำงานร่วมกัน และส่งเสริมให้เกิดการตัดสินใจได้อย่างถูกต้องเหมาะสม” – ศาสตราจารย์พิเศษ วิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
ประกาศวาระสำคัญ “ยกระดับทักษะดิจิทัลไทย”
คุณสายชล ทรัพย์มากอุดม หัวหน้าหน่วยธุรกิจประชาสัมพันธ์และงานธุรกิจสัมพันธ์ AIS ได้วิเคราะห์เพิ่มเติมถึงผลดัชนีดังกล่าวด้วยว่า มี 3 กลุ่มอายุที่ต้องพัฒนาทักษะดิจิทัลให้เข้มข้นขึ้น ซึ่งประกอบด้วย กลุ่มเด็กอายุ 10 – 12 ปี เยาวชนอายุ 13 – 15 ปี และวัยเกษียณ อายุ 60 ปีขึ้นไป เนื่องจากพบว่า ทั้ง 3 กลุ่มนี้ยังไม่สามารถรับมือกับความกดดันที่เจอบนโลกดิจิทัลได้ดีพอนั่นเอง
“จากตัวเลขของดัชนีสุขภาวะดิจิทัลปีที่แล้วเทียบกับปีนี้ AIS ขอประกาศว่า ถึงเวลาแล้วที่เราจะยกระดับการสร้างทักษะดิจิทัลให้คนไทย โดยเฉพาะในแกนความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ เพราะมูลค่าความเสียหายนั้นสูงมาก จำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องมาพูดเรื่องนี้อย่างจริงจัง และสร้างทักษะ สร้างวัคซีนเพื่อให้คนไทยได้อยู่กันอย่างปลอดภัย”
เปิดตัว Digital Health Check สำหรับคนไทย
เพื่อเพิ่มความรู้ความเข้าใจการใช้งานออนไลน์ให้กับคนไทย และลดมูลค่าความเสียหายด้านอาชญากรรมดิจิทัลให้กับสังคมไทยอย่างเป็นรูปธรรม ผู้บริหาร AIS จึงได้ประกาศเปิดตัว เครื่องมือเช็คภูมิคุ้มกันไซเบอร์ หรือ Digital Health Check เป็นครั้งแรก โดยคนไทยทุกคนสามารถเข้ามาประเมินระดับความสามารถของตนเองได้โดยตรง นอกจากนั้นยังมีหลักสูตร “อุ่นใจไซเบอร์” สำหรับช่วยผู้ที่ต้องการยกระดับความสามารถด้านดิจิทัลของตนเองได้ศึกษาต่ออีกด้วย โดยผู้ที่สนใจตรวจเช็กสุขภาวะทางดิจิทัลของตัวเอง ได้ที่ https://digitalhealthcheck.ais.th
และสามารถอ่านรายละเอียดผลการศึกษาดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัล Thailand Cyber Wellness Index 2024 ของคนไทย เพิ่มเติมที่ https://sustainability.ais.co.th/th/sustainability-projects/thailands-cyber-wellness-index
ทั้งนี้ คุณสายชลกล่าวว่า จะผลักดันเครื่องมือ Digital Health Check เข้าสู่มือประชาชนมากขึ้นในหลายแกน ทั้งการทำงานร่วมกับ สพฐ. กทม. เข้าไปถึงเด็ก ๆ ในโรงเรียน ส่วนในฝั่งผู้ใหญ่ จะมีการขับเคลื่อนผ่านช่องทางต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนรู้ว่า มีเครื่องมือตรวจเช็คสุขภาวะดิจิทัลให้ใช้งานแล้ว เพื่อที่ผู้บริโภคจะได้เข้ามาเช็คว่า ตนเองอ่อนแอตรงไหน และระบบจะแนะนำต่อได้เลยว่า แต่ละคน ต้องเติมอะไรลงไปจึงจะแข็งแรงขึ้น
“เรื่องที่น่าเป็นห่วงคือการถูกหลอกลวงออนไลน์ ซึ่งเราได้ร่วมมือกับ AIS และพันธมิตรทุกภาคส่วน ทำการบล็อกเว็บ ซึ่งช่วยลดการดูดเงินจากแอปจากที่เคยมีวันละ 20 ราย เหลือวันละ 1 ราย และเป็น 1 รายที่ไม่ต้องสูญเงินตั้งแต่แรกอีกด้วย” พล.อ.ต.อมร ชมเชย เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ
เปิดผลงาน Secure Net บล็อกเว็บอันตราย
ไม่เฉพาะในภาคสังคมที่ AIS เดินหน้าขับเคลื่อนสร้างความรู้ความเข้าใจ แต่ในมุมของการให้บริการ AIS ก็มีการเตรียมความพร้อมเอาไว้เช่นกัน โดยคุณศรัณย์ ผโลประการ หัวหน้าฝ่ายงานผลิตภัณฑ์โทรศัพท์เคลื่อนที่กลุ่มลูกค้าทั่วไป AIS ได้เปิดสถิติของการแจ้งเบาะแสผ่านสายด่วน 1185 AIS Spam Report Center ที่พบว่า มีการรับเรื่องร้องเรียนเบอร์มิจฉาชีพมากถึง 2 ล้านสาย (ตัวเลขเดือนเมษายน 2565 – พฤษภาคม 2567) ขณะที่บริการ Secure Net ของ AIS พบว่า ในปี 2566 สามารถตรวจจับและปิดกั้นเว็บไซต์อันตรายได้ถึง 16.57 ล้านเว็บ ปิดกั้นเว็บไซต์ปลอม 940,267 เว็บ และปิดกั้นไวรัสได้ถึง 252 ตัว
“ในปี 2568 เน็ตเวิร์กของ AIS จะอัจฉริยะมากขึ้น โดยจะสามารถบล็อก Link บล็อกสายเรียกเข้าได้รวดเร็วกว่าเดิม การแจ้งเบาะแสก็จะง่ายและเร็วขึ้นด้วยเช่นกัน นอกจากนั้น เรายังได้ร่วมมือกับตำรวจสืบสวนสอบสวนกลางฯ พัฒนาขั้นตอนในการบล็อก Link ให้รวดเร็วขึ้น จากเดิมที่ต้องใช้เวลา 2 – 3 วัน เป็นความเร็วในระดับชั่วโมง” คุณศรัณย์กล่าว
ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่า การขับเคลื่อนของ AIS ให้คนไทยมีทักษะด้านดิจิทัล และรับมือกับภัยไซเบอร์ได้มากขึ้นกำลังเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม และการขับเคลื่อนนี้เผยให้เห็นถึงความร่วมมือร่วมใจของทุกภาคส่วนในประเทศไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งเชื่อว่า วัคซีนสำคัญเข็มนี้ จะทำให้ประเทศไทย เติบโตไปพร้อม ๆ กับ Digital Economy ได้อย่างแข็งแรงในอนาคตอย่างแน่นอน
#TCWI2024 #DigitalHealthCheck #AISอุ่นใจCYBER