HomeDigitalจริงไหม “Cross-Border E-Commerce” คือตัวช่วย SME ไทยในยุคเศรษฐกิจซบเซา

จริงไหม “Cross-Border E-Commerce” คือตัวช่วย SME ไทยในยุคเศรษฐกิจซบเซา

แชร์ :

shutterstock_ecommerce social commerce online shopping

หากตลาดในประเทศกำลังซบเซาและขาดกำลังซื้อ บางทีการมองตลาดต่างประเทศก็อาจเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยทั้งรายใหญ่และรายย่อย โดย Amazon Global Selling (AGS) มีการเปิดเผยผลสำรวจของ Access Partnership ในชื่อ The E-commerce Export Opportunity for Thailand พบว่า ผู้ประกอบการไทยมีโอกาสโตจากการค้าข้ามพรมแดนผ่านอีคอมเมิร์ซไม่น้อย หากสามารถขจัด 4 อุปสรรคใหญ่ได้สำเร็จ

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

หนึ่งในปัจจัยหลักที่สนับสนุนการเติบโตดังกล่าวก็คือ ตัวเลขคาดการณ์การเติบโตของการส่งออกสินค้าผ่านอีคอมเมิร์ซแบบ B2C ที่คาดว่าจะมีมูลค่าแตะ 313,800 ล้านบาทในปี 2028 หรือเติบโตขึ้น 1.5 เท่าจากปี 2023 โดยธุรกิจ Micro SME (MSME) จะมีส่วนแบ่งในการส่งออกดังกล่าวถึง 55% จากเดิมในปี 2023 มีส่วนแบ่งแค่ 38%

สำหรับประเทศเป้าหมายที่ธุรกิจ MSME ไทยนิยมส่งสินค้าไปขายมากที่สุด ประกอบด้วย จีน สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อังกฤษ และสหภาพยุโรป และในอีก 4 ปีข้างหน้า (2028) พบว่า การส่งสินค้าไปขายยังประเทศเหล่านี้ก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นด้วย

4 ความท้าทายผู้ประกอบการไทย

อย่างไรก็ดี ผลการสำรวจ The E-commerce Export Opportunity for Thailand ชี้ว่า การส่งออกสินค้าไปต่างประเทศของผู้ประกอบการไทยระดับ MSME นั้นมีอุปสรรคใหญ่ ๆ อยู่ 4 ประการ นั่นคือ

  • ค่าใช้จ่ายด้าน Logistic ที่สูงมาก (89%) โดยเป็นค่าใช้จ่ายด้านศุลกากร ค่าใช้จ่ายในการขนส่งทั้ง First-Mile และ Middle-Mile
  • การขาดความรู้ความเข้าใจในการค้าแบบไร้พรมแดน และข้อกฎหมายต่าง ๆ (88%)
  • ขาดผู้เชี่ยวชาญที่จะช่วยสนับสนุนในการทำ Cross-border e-commerce เช่น ด้าน Digital Marketing ด้านซัพพลายเชน ฯลฯ  (91%)
  • การขาดความรู้ความเข้าใจในข้อกำหนด – กฎเกณฑ์ของการส่งสินค้าเข้าไปยังประเทศยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกา จีน และสหภาพยุโรป (93%)

คุณอนันต์ ปาลิต หัวหน้า อเมซอน โกลบอล เซลลิ่ง ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

ของจริงเท่านั้น ตอบโจทย์อเมริกันชน

คุณอนันต์ ปาลิต หัวหน้า อเมซอน โกลบอล เซลลิ่ง ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวถึงความท้าทายดังกล่าวว่า การทำความเข้าใจตลาดต่าง ๆ เป็นสิ่งจำเป็นในการค้าแบบไร้พรมแดนผ่านอีคอมเมิร์ซ พร้อมยกตัวอย่างเอกลักษณ์ของสินค้าไทยที่ทำให้ขายดีในตลาดสหรัฐอเมริกาว่า ต้องเป็นสินค้าที่สร้างความมั่นใจได้

“สิ่งที่คนอเมริกันต้องการจากสินค้าไทยคือ การเป็นของจริง ไม่ปลอม มีความเป็นไทย มีความ Pride ในตัวเอง และการมีฟังก์ชันการใช้งานที่สะดวกสบาย” พร้อมกันนั้น คุณอนันต์ได้ยกตัวอย่างแบรนด์ที่ประสบความสำเร็จในการขาย เช่น กางเกงมวยแบรนด์ Tufff ขนมเพื่อสุขภาพ Wel-B กระเทียมยี่ห้อ B-Garlic เป็นต้น

คุณอนันต์ยังกล่าวด้วยว่า สำหรับธุรกิจ MSME ที่ต้องการเริ่มต้นทำ Cross-border e-commerce การเริ่มจากสหรัฐอเมริกาเป็นสิ่งที่ดี เพราะตลาดมีขนาดใหญ่ มีกำลังซื้อสูง

ส่วนในแง่ความท้าทายที่ธุรกิจ MSME ไทยเผชิญจากผลสำรวจข้างต้นนั้น คุณอนันต์มองว่า Amazon Global Selling มีบริการอย่าง Fulfillment by Amazon (FBA) รองรับเช่นกัน โดยข้อมูลของ Amazon ระบุว่า บริการ FBA สามารถช่วยจัดส่งสินค้าให้ถึงมือผู้รับในประเทศปลายทางได้ภายใน 2 วัน และมีค่าใช้จ่ายในการจัดส่งสินค้าต่ำกว่าการจัดส่งแบบปกติ 30% ส่วนยอดขายพบว่า ร้านค้าที่ใช้บริการดังกล่าวมียอดขายเพิ่มขึ้น 20 – 25% ด้วย โดยปัจจุบัน บริการดังกล่าวช่วยให้สินค้ากว่า 5 พันล้านชิ้นสามารถจัดส่งแบบ Same Day Delivery หรือ Next Day Delivery ได้ทั่วโลก (มีการคิดค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม)

จับมือ DITP หนุน MSME

นอกจากฟีเจอร์ด้านโลจิสติกส์อย่าง FBA แล้ว Amazon Global Selling ยังได้จับมือกับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) ทำ MoU เพื่อช่วยธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทยให้เข้าถึงโอกาสในการส่งออกสินค้าผ่านช่องทางอีคอมเมิร์ซในสหรัฐอเมริกา โดย MoU ดังกล่าว ระบุว่า

  • อเมซอน โกลบอล เซลลิ่งจะเข้าร่วมงานโรดโชว์ของ DITP ในประเทศไทย เพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงโอกาสในการส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐอเมริกาผ่านช่องทางอีคอมเมิร์ซ วิธีการจำหน่ายสินค้าบนเว็บไซต์อเมซอนในสหรัฐอเมริกา รวมถึงแนวโน้มและความนิยมของผู้บริโภคในสหรัฐอเมริกา ในช่วง 12 เดือนสิ้นสุดวันที่ 31 มิถุนายน 2567
  • ฝึกอบรมเกี่ยวกับการเริ่มต้นใช้งาน เพื่อช่วยให้แบรนด์และธุรกิจในประเทศไทยให้สามารถเปิดตัวบน Amazon.com ได้ การฝึกอบรมจะครอบคลุมหัวข้อต่างๆ เช่น การเปิดบัญชี การสร้างรายการสินค้า การจัดส่งสินค้าระหว่างประเทศ การโฆษณาออนไลน์ เป็นต้น
  • เปิดตัวสินค้าไทยบนเว็บไซต์ Amazon.com ภายใต้โครงการ TOPTHAI โดย DITP จะคัดเลือกแบรนด์ที่เข้าร่วมโครงการ TOPTHAI และแนะนำให้กับอเมซอน โกลบอล เซลลิ่ง เพื่อเปิดตัวจำหน่ายสินค้าบน Amazon.com นอกจากนี้ DITP จะจัดให้มีบูธพิเศษ TOPTHAI Pavilion ที่ไทม์สแควร์ นครนิวยอร์ก ในวันที่ 3 กันยายน เพื่อจัดแสดงและประชาสัมพันธ์แบรนด์สินค้าไทยที่ได้รับการสนับสนุนจากโครงการ TOPTHAI ซึ่งกำลังจำหน่ายสินค้าอยู่บนอเมซอน

ทั้งนี้ หมวดหมู่สินค้า 5 อันดับแรกที่ผู้ขายในไทยจำหน่ายบนเว็บไซต์อเมซอนในสหรัฐอเมริกา ได้แก่ ของใช้ในบ้าน เสื้อผ้า อาหารและเครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพและความงาม และสินค้ากีฬา

ข้อมูลจาก Statista ในปี 2566 พบด้วยว่า สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่มีรายได้รวมจากอีคอมเมิร์ซสูงเป็นอันดับที่สองของโลก มีมูลค่าถึง 1.1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ และจากผลสำรวจของอเมซอนที่จัดทำโดย Access Partnership ในปีเดียวกัน พบว่ามากกว่า 65% ของธุรกิจขนาดกลาง ขนาดย่อย และขนาดเล็ก (Micro, Small and Medium-Sized Enterprises: MSME) ของไทย มองว่าสหรัฐอเมริกาเป็นตลาดอีคอมเมิร์ซที่มีความสำคัญในช่วงห้าปีข้างหน้านี้

 


แชร์ :

You may also like