HomeBrand Move !!แฟนคลับ ‘สายเปย์’ ดันมิวสิคเฟสติวัล-คอนเสิร์ต พุ่ง 600 งาน GMM Show ส่ง 4 ทีมโชว์บิซ โกยรายได้ ‘พันล้าน’

แฟนคลับ ‘สายเปย์’ ดันมิวสิคเฟสติวัล-คอนเสิร์ต พุ่ง 600 งาน GMM Show ส่ง 4 ทีมโชว์บิซ โกยรายได้ ‘พันล้าน’

แชร์ :

ธุรกิจโชว์บิซ-มิวสิค เฟสติวัล ในประเทศไทยกลับมาฟื้นตัวหลังโควิด เข้าสู่จุดพีคตั้งแต่ปีที่ผ่านมา ที่มีจำนวนรวม 600 งาน ทั้งไทยและต่างประเทศ ในปี 2567 ตลาดนี้ยังพีคได้อีก โดยเฉพาะศิลปิน-ไอดอลเกาหลี ที่มีงานคอนเสิร์ต แฟนมีต แฟนคอน ต่อเนื่องแทบทุกสัปดาห์

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

หากดูสถิติปี 2566 คนไทยซื้อบัตรดูมิวสิค อิเวนต์ เฉลี่ย 3 ครั้งต่อปีต่อคน การใช้จ่ายเงินแต่ละกลุ่มแตกต่างกัน อย่าง มิวสิค เฟสติวัล (เอาท์ดอร์) ค่าบัตรเฉลี่ย 1,000 บาท หากเป็นคอนเสิร์ต ศิลปินเกาหลี ราคาบัตรสูงสุด 6,500 บาท ถือเป็นเรื่องปกติ (หากเป็น VIP ที่มีเบเนฟิตด้วยราคาก็จะสูงกว่านั้น)

สรุปปี 2566 ธุรกิจมิวสิค อิเวนต์ มีมูลค่า 9,000 ล้านบาท แบ่งเป็น มิวสิค เฟสติวัล  2,000 ล้านบาท คอนเสิร์ต 7,000 ล้านบาท และโชว์บิซ อื่นๆ 1,000 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นศิลปินต่างชาติกว่า 50%

ปีนี้แนวโน้มมิวสิค อิเวนต์ทุกประเภทเพิ่มจำนวนมากกว่าปีก่อน ที่เห็นได้ชัด “มูลค่า” สูงขึ้น จากราคาบัตรแพงขึ้น ปัจจัยหลักมาจากการแข่งขันประมูลจัดงานคอนเสิร์ต แฟนมีต แฟนคอน ของไอดอลเกาหลี มีต้นทุนเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 10% ทำให้ราคาตั๋วต้องปรับขึ้นไปด้วย เห็นได้ว่า ตั๋ว VIP ศิลปินเกาหลีและฝั่งตะวันตก ใบละ 10,000 บาท เป็นเรื่องปกติ นอกจากนี้ยังมีการจ้างกดบัตรและรีเซลบัตร ในคอนเสิร์ตของศิลปินเบอร์ใหญ่ๆ เพราะมีผู้ชมจากต่างประเทศมาดูด้วย ทำให้มีดีมานด์สูง  ปีนี้ยังเห็นการจัดงานสเกลใหญ่ ระดับสเตเดี้ยม ที่มีผู้ชม 10,000 คนขึ้นไปมากขึ้นด้วย

แฟนด้อมสายเปย์ 

ป๋าเต็ด ยุทธนา บุญอ้อม Senior Executive Vice President – Showbiz GMM SHOW บริษัท จีเอ็มเอ็ม มิวสิค จำกัด (มหาชน) ให้มุมมองว่าธุรกิจโชว์ยังเป็นตลาดที่เติบโตได้ต่อเนื่อง เพราะไม่ว่าสถานการณ์เศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร “งบประมาณ” สำหรับความบันเทิง โดยเฉพาะการดูคอนเสิร์ตจะถูกกันไว้ต่างหาก เป็นสิ่งที่ทุกกลุ่มมองเป็นของจำเป็นต้องจ่าย เพราะเสน่ห์ของโชว์บิซ ไม่สามารถแทนที่ด้วยอย่างอื่น

“อย่างเราอยากกินร้านอร่อย ไม่กินร้านนี้ก็มีร้านอื่น  ไม่เที่ยวที่นี่ ก็เที่ยวที่อื่นได้ แต่ไม่ได้ดูคอนเสิร์ตสดศิลปินที่ชอบ ไม่มีอะไรมาแทนได้ ดูออนไลน์ก็ไม่ได้ฟีลเหมือนดูสด ทำให้โชว์บิซเป็นธุรกิจที่ไม่ถูกเปลี่ยนแปลงหรือได้รับผลกระทบในโลกดิจิทัล เพราะแทนที่ด้วยอย่างอื่นไม่ได้” 

พฤติกรรมของแฟนด้อมศิลปิน เรียกว่าเป็น “สายเปย์ทุกกลุ่ม” ไม่ว่าจะเป็นไอดอลเกาหลี ที-ป็อป ลูกทุ่ง  การเปย์ คือ การแสดงออกถึงความรักต่อศิลปิน นอกจากซื้อบัตรคอนเสิร์ต ที่ตั๋ว VIP แพงสุดหมดก่อนเสมอ ยังซื้อเมอร์เชนไดซ์ ทำป้ายโปรโมต ส่งฟู้ดซัพพอร์ตอีกด้วย

ที่เป็นเช่นนั้นเพราะยุคนี้ Physical Product ของศิลปินน้อยลง การสนับสนุนในยุคก่อนคือการซื้อเทป ซีดี เมื่อเปลี่ยนปกใหม่ก็ซื้อใหม่ แต่ยุคนี้เป็นการซื้อตั๋วคอนเสิร์ต พอศิลปินทำเมอร์เชนไดซ์ก็สนับสนุนซื้อทุกอย่าง ศิลปินมีงานก็ส่งฟู้ดซัพพอร์ต เลี้ยงทีมงาน เป็นการดูแลทางใจ เป็นการแสดงออกถึงความรักอีกรูปแบบ พฤติกรรมสายเปย์เกิดขึ้นกับศิลปินทุกกลุ่ม เพราะมีฐานแฟนของตัวเอง

“มิวสิค อิเวนต์” ถือเป็นความบันเทิงที่คนทุกวัยชื่นชอบ ทั้งคอนเสิร์ตและมิวสิค เฟสติวัลจึงมีกลุ่มเป้าหมายทุกวัย ขึ้นอยู่กับศิลปินและธีมการจัดงาน และทุกกลุ่มมีกำลังซื้อ เพราะมองว่าเป็นการใช้จ่ายเพื่อความบันเทิงของแต่ละวัย

กลุ่มวัยรุ่น ชื่นชอบงานเฟสติวัล เอาท์ดอร์ แต่เป็นกลุ่มที่หากจัดงานต้องบอกล่วงหน้าอย่างน้อย 1-2 เดือน เพื่อมีเวลาเก็บเงิน และเป็นกลุ่มที่ใช้บริการแบ่งจ่ายค่าบัตร ซึ่ง GMM Show มีแพลตฟอร์มระบบผ่อนค่าบัตร 3 เดือน ไว้ให้บริการด้วย ส่วนใหญ่กลุ่มวัยรุ่นจะเลือกใช้บริการนี้

 

GMM Show ส่ง 4 ทีมโชว์บิซชิงเม็ดเงินพันล้าน 

สำหรับธุรกิจโชว์บิซของ GMM SHOW อยู่ภายใต้ 4 ทีม 

1. GayRay (เกเร) บริหารโดย คุณป่านแก้ว สัตยาวุฒิพงศ์  Vice President Showbiz Promoter  ดูแลงาน Big Mountain เป็นแบรนด์มิวสิค เฟสติวัล ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีผู้ชมปีละ 80,000 คน ปีนี้จัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 14  นอกจากนี้ยังจัดงาน The Gentlemen Live, Grammy RS Concert รวมทั้งศิลปินเดี่ยวและกลุ่ม

2. Idea Fact บริหารโดย คุณศักดิ์สกุล แก้วมาตย์  Vice President Showbiz Promoter รูปแบบงานแนวไลฟ์สไตล์และเฟสทีจ ดูแลแบรนด์ นั่งเล่น มิวสิค เฟสติวัล, นั่งเล บีช ปาร์ตี้ แอนด์ มิวสิค เฟสติวัล, Water War เชียงใหม่, Scream Fest, Grammy RS Concert, ตัน Fight ตัน, รวมทั้งศิลปินเดี่ยวและกลุ่ม  ปีนี้มี “ปาล์มมี่ มิตร ยูนิเวิร์ส คอนเสิร์ต”  นอกจากนี้ยังจัดคอนเสิร์ต แฟนมีต และแฟนคอน ไอดอลจากเกาหลี

3. Gfest บริหารโดย คุณฝากฝัน ศรีสันติสุข Director Showbiz Promoter รูปแบบงานเน้นสร้างประสบการณ์ให้กับคนฟังดนตรีหลากหลาย ดูแลแบรนด์มิวสิค เฟสติวัล อย่าง Marathon Concert, Rock Mountain, Rock on the Beach, Monster Music Festival

4. All Area บริหารโดย คุณพนมกร พันธุ์ชนะ Director Showbiz Promoter รูปแบบงานเป็นเทศกาลดนตรีใหญ่ที่สุดในระดับภูมิภาค ดูแลแบรนด์เฟสติวัล อย่าง เชียงใหญ่เฟส, เฉียงเหนือเฟส, พุ่งใต้เฟส เป็นเทศกาลดนตรีที่สนับสนุนการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจในแต่ละภูมิภาค

ในยุคเริ่มต้นการทำคอนเสิร์ตและเฟสติวัล เชื่อว่าทุกอย่างต้องอยู่ในกรุงเทพฯ เพราะคนดูหลักๆ ยังเป็นกรุงเทพฯ และปริมณฑล แต่เมื่อเริ่มวิเคราะห์ข้อมูลฐานแฟนเฟสติวัลและคอนเสิร์ต ก็พบว่ามีศักยภาพในการจัดงานนอกกรุงเทพฯ งานแรกคือ เชียงใหญ่เฟส จังหวัดเชียงใหม่ โดยเริ่มจากการทำวิจัยการตลาดว่าผู้ชมต้องการอะไร พฤติกรรมเป็นอย่างไร จากนั้นดีไซน์ให้ตอบโจทย์ และประสบความสำเร็จ จากนั้นจึงขยายเทศกาลดนตรีไปทุกพื้นที่ ปัจจุบันมี 12 เฟสติวัลทั่วประเทศ

ปัจจุบันทั้ง 4 ทีม GMM Show จัดงานมิวสิค เฟสติวัล ทุกรูปแบบปีละ 20 งาน  แบ่งเป็นเฟสติวัล เอาท์ดอร์ 10 งาน  คอนเสิร์ตและโชว์บิซ อินดอร์ 10 งาน เพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนโควิด “เท่าตัว” ปีที่ผ่านมามีผู้เข้าชมมิวสิค เฟสติวัลของ GMM Show รวม 400,000 คน  โดยเป็นผู้นำในงานเฟสติวัล เน้นงานสเกลใหญ่ระดับ 20,000 คนขึ้นไป ปีนี้วางเป้าหมายยอดขายบัตรไว้ที่ 1,000 ล้านบาท  

“เป้าหมายของ GMM Show ต้องการสร้างแบรนด์มิวสิค เฟสติวัล ทุกงานให้เป็น Top of Mind ของผู้ชม เพื่อให้เป็นตัวเลือกแรกๆ ของผู้บริโภคเลือกจ่ายเงินซื้อความบันเทิง การมี 4 ทีมจัดงานทำให้สามารถสร้างสรรค์งานมิวสิค อิเวนต์ได้ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย ทั้งวัยและรสนิยม รวมทั้งพื้นที่ ทุกทีมมีลายมือที่แตกต่างกัน” 

ธุรกิจโชว์บิซ “การสร้างแบรนด์” เป็นเรื่องสำคัญ เพื่อยืนระยะได้ต่อเนื่อง ไม่ต้องเหนื่อยสร้างงานใหม่ทุกปี  เมื่อผู้ชมเชื่อมั่นในแบรนด์  การจัดงานแต่ละปีแม้ยังไม่บอกไลน์อัพศิลปิน แค่ประกาศวันจัดงานแฟนคลับก็พร้อมซื้อบัตรทันที เหมือนกับเทศกาลดนตรีระดับโลกหลายๆ งาน  เช่น Tomorrowland ที่ผู้บริโภคพร้อมจ่ายเงินเพื่อไปงาน

“วันนี้ทั้ง 4 ทีมของ GMM Show สามารถสร้างแบรนด์คอนเสิร์ตและเฟสติวัลได้ใกล้เคียงกับเป้าหมายที่วางไว้ เรากำลังเดินไปจุดที่ผู้ชมเชื่อมั่นในแบรนด์มากขึ้น”  

ติดตามพวกเราได้ที่ LINE

อ่านเพิ่มเติม


แชร์ :

You may also like