HomeDigitalหัวเว่ยจับมือซีพี ใช้คลาวด์-AI-IoT ช่วยวัดความสุก “ทุเรียน” แม่นยำขึ้น 91%

หัวเว่ยจับมือซีพี ใช้คลาวด์-AI-IoT ช่วยวัดความสุก “ทุเรียน” แม่นยำขึ้น 91%

แชร์ :

หัวเว่ยคลาวด์ โชว์ความสามารถผ่าน 4 ผลงานที่ประยุกต์ใช้จริง ทั้งจับมือซีพี นำ AI วัดความสุกของทุเรียนแม่นยำถึง 91% โดยไม่ทำให้เนื้อทุเรียนเสียหาย – สอนโมเดล Pangu คาดการณ์สภาพอากาศล่วงหน้า ลดเสี่ยงชาวประมงในมาดากัสการ์กว่า 600,000 ชีวิต – ติดตั้งเซนเซอร์เสียงในป่ารัฐซาราวัก ประเทศมาเลเซีย ช่วยรักษาชีวิตนกเงือก – แจ้งเตือนตัดไม้ผิดกฎหมาย

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ความสามารถของหัวเว่ยคลาวด์ที่กล่าวข้างต้นถูกนำมาบอกเล่าผ่านงาน Huawei Cloud Summit Thailand 2024 โดยคุณอาคา ได (Aka Dai) ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด หัวเว่ย คลาวด์ (Huawei Cloud) ระบุว่า “ประเทศไทยเป็นที่รู้จักในเรื่องผลไม้ โดยเฉพาะทุเรียน ในอดีตชาวสวนมักใช้ประสบการณ์ของตนในการตรวจสอบความสุกของทุเรียนโดยใช้วิธีการเคาะ ฟัง และดมกลิ่น แต่วิธีเหล่านี้ไม่ใช่วิธีที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด และทำให้เกิดความร่วมมือกันระหว่าง กลุ่มเจริญโภคภัณฑ์ในประเทศไทย หัวเว่ย คลาวด์ และอีกหลายบริษัท นำเทคโนโลยี NIR (Near Infrared) และความสามารถ AI ของหัวเว่ย คลาวด์ ร่วมกับอุปกรณ์ IoT อัจฉริยะ เพื่อเพิ่มความแม่นยำในการทำนายความสุกของทุเรียนจาก 50% เป็น 91% ได้ โดยไม่ทำลายเนื้อทุเรียน และทำให้การคัดแยกมีประสิทธิภาพมากขึ้นและคุณภาพสูงขึ้น”

Aka dai

คุณอาคา ได

คาดการณ์สภาพอากาศล่วงหน้า 10 วัน

อีกหนึ่งการใช้งาน AI ร่วมกับคลาวด์คือการพัฒนาโมเดลพยากรณ์อากาศ Pangu ให้สามารถทำนายเส้นทางพายุไต้ฝุ่นทั่วโลกในอีก 10 วันข้างหน้าได้ และในช่วงฤดูน้ำท่วมปี 2023 โมเดลพยากรณ์อากาศ Pangu ได้ทำนายเส้นทางของพายุไต้ฝุ่นขนาดใหญ่ เช่น ไต้ฝุ่นซาโอลามาแล้วเช่นกัน

การใช้งานโมเดล Pangu ยังถูกส่งต่อไปถึงองค์กร NGO ในมาดากัสการ์ชื่อว่า Mitao Forecast โดยสามารถช่วยชาวประมงท้องถิ่นกว่า 600,000 คนให้ทราบข้อมูลล่วงหน้า จึงปลอดภัยต่อการออกเรือมากขึ้น รวมถึงมีการติดตั้งเซนเซอร์ด้านเสียง และทำงานร่วมกับคลาวด์และ AI ในป่าฝนเขตร้อนของรัฐซาราวัก ประเทศมาเลเซีย ซึ่งพบว่า เซนเซอร์สามารถแจ้งเตือนได้ถึง 34 ครั้งเกี่ยวกับการตัดไม้อย่างผิดกฎหมายที่เกิดขึ้นภายในป่าด้วย

อีกหนึ่งกรณีคือการนำโมเดลการแพทย์ Pangu ซึ่งถูกฝึกฝนด้วยข้อมูลคุณภาพสูงจากวารสารวิชาการกว่า 16 ล้านเล่มและมีกราฟความรู้มากกว่า 1 ล้านกราฟ ทำงานเป็นผู้ช่วยแพทย์ในการตรวจสุขภาพ วินิจฉัย และการจัดการสุขภาพส่วนบุคคล โดยโมเดลการแพทย์ Pangu สามารถระบุผู้ป่วย 11 รายที่เป็นโรคหายากชื่อว่า ภาวะต่อมหมวกไตทำงานน้อยกว่าปกติ จากผู้ป่วยทั้งหมด 4,268 รายในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในจีนได้ภายในระยะเวลาเพียงสามเดือน

ทั้งนี้คาดว่า จะมีการนำโมเดลดังกล่าวนำไปใช้ในโรงพยาบาล 4,000 แห่งของจีนด้วย ขณะที่ในประเทศไทย พบว่าหัวเว่ยมีการฝึกอบรมผู้คนไปแล้วมากกว่า 96,200 คน และจัดให้มีชั่วโมงฝึกอบรมมากกว่า 3,000 ชั่วโมงในด้านคลาวด์ 5G และ AI รวมถึงการปฏิบัติทางดิจิทัลและการแข่งขันสำหรับนักพัฒนา

 


แชร์ :

You may also like