หากดูเครื่องมือสำคัญของนักการตลาดและสื่อสารการตลาดในยุคนี้ ต้องยกให้ Influencer Marketing มาแรง เพราะเป็นยุคที่ Influencer มีหน้าที่หลักในส่วนของ Lower Funnel เพื่อกระตุ้นให้บริโภคเกิดแอคชั่นต่อแบรนด์สินค้าและบริการ เพื่อเพิ่มยอดขายท่ามกลางภาวะกำลังซื้อยังคงซบเซา
คุณภวัต เรืองเดชวรชัย ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มีเดียอินเทลลิเจนซ์กรุ๊ป จำกัด หรือ MI Group กล่าวว่า Influencer Marketing ถูกใช้เป็นเครื่องมือหลักทางการตลาดในปัจจุบันที่แบรนด์ต่างๆ ต้องการเห็นยอดขายในทันทีจากการทำแคมเปญสื่อสารการตลาด
พบว่างบประมาณโฆษณาในแต่ละแคมเปญ จะใช้ผ่าน Influencer Marketing สัดส่วนถึง 30% และมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง หากเปรียบเทียบกับปีก่อนหน้าสัดส่วนอยู่ที่ 15% เห็นได้ว่าเติบโต “เท่าตัว”
การเติบโตของงบประมาณด้าน Influencer Marketing นี้ ยังไม่นับรวม Affiliate Marketing (การตลาดแบบช่วยขายและแบ่งกำไร) ที่เป็นปัจจัยผลักดันจำนวน Influencers และ KOLs ในไทยพุ่งแตะ 2 ล้านราย โดยเฉพาะกลุ่ม Nano Influencer และ Micro Influencer เพิ่มขึ้นจำนวนมาก
พบว่ากลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เป็น Digital natives ในกลุ่ม Gen Y ,Gen Z, Gen Alpha ผันตัวเองเป็น KOLs/ Influencers มือสมัครเล่น และทำเป็นอาชีพมากขึ้น
สรุป 5 กลุ่ม KOLs/ Influencers
1. Mega – Celeb : มากกว่า 1,000,000 followers
2. Macro : 500,000-1,000,000 followers
3. Mid tier : 100,000-500,000 followers
4. Micro : 10,000-100,000 followers
5. Nano : 1,000-10,000 followers
โดยจำนวนผู้ติดตาม (followers) เป็นหนึ่งในหลักการพิจารณาประเภทของ KOLs/ Influencers โดยจะพิจารณาร่วมกับด้านอื่นๆ ด้วย เช่น โปรไฟล์ของ followers และค่าเฉลี่ย engagement rate ของ post ต่างๆ ของ Influencer แต่ละราย เป็นต้น
โดย MI ประเมินมูลค่าเม็ดเงินโฆษณาใน KOLs/ Influencers Economy ปีนี้น่าจะไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท
เม็ดเงินโฆษณา 4 เดือนสุดท้ายส่อติดลบ
สำหรับภาพรวมอุตสาหกรรมโฆษณาในช่วง 4 เดือนสุดท้ายปีนี้ ยังคงได้รับปัจจัยลบจากการเมือง ที่ต้องโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีและจัดตั้งรัฐบาลใหม่ หลังจากคุณเศรษฐา ทวีสิน พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ด้วยคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ ทำให้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ โดยเฉพาะ “ดิจิทัล วอลเล็ต” อาจล่าช้าออกไปจากเดิมที่จะเริ่มใช้จ่ายในไตรมาส 4 ปีนี้
โดย MI คาดการณ์ภาพรวมเม็ดเงินโฆษณา ปี 2567 จำนวน 84,688 ล้านบาท ลดลง 0.2% โดยสื่อโฆษณาที่ยังเติบโตได้ คือ สื่อดิจิทัล (ออนไลน์) มูลค่า 31,558 ล้านบาท เติบโต 8% สื่อโฆษณานอกบ้าน (Out of Home) มูลค่า 12,900 ล้านบาท เติบโต 1%
ขณะที่สื่อส่วนใหญ่อยู่ในภาวะ “ลดลง” ต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น สื่อทีวี มูลค่า 33,250 ล้านบาท ลดลง 6% สื่อในโรงภาพยนตร์ มูลค่า 2,100 ล้านบาท ลดลง 11% สื่อนิตยสาร มูลค่า 480 ล้านบาท ลดลง 14% สื่อหนังสือพิมพ์ มูลค่า 1,400 ล้านบาท ลดลง 10%
สำหรับช่วงการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2024 ที่ผ่านมา สามารถช่วยกระตุ้นความคึกคักตลาดโฆษณาได้บ้าง เนื่องจากมีการถ่ายทอดสดการแข่งขันกีฬาที่นักกีฬาได้เข้าชิงเหรียญรางวัล ทำให้มีเรตติ้งผู้ชมสูง นอกจากโฆษณาของสปอนเซอร์หลักแล้ว ยังมีการซื้อสปอตโฆษณารายย่อยของแบรนด์ต่างๆ เข้ามาด้วย ทำให้การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกปีนี้ มีเม็ดเงินโฆษณาสะพัดราว 500 ล้านบาท
ขณะที่ภาพรวมการจับจ่ายของผู้บริโภคยังคงซึมยาว จากปัจจัยค่าครองชีพพุ่งสูง ส่วนรายได้ลดลง ทำให้อุตสาหกรรมโฆษณาปีนี้จึงมีแนวโน้มติดลบ
ติดตามพวกเราได้ที่ LINE
อ่านเพิ่มเติม