เชื่อว่าไม่ได้มีเฉพาะเด็ก ๆ ที่ชอบเล่น LEGO แต่ผู้ใหญ่หลาย ๆ คนก็ติดใจในความสุขที่ได้รับจากเจ้าตัวต่อสี่เหลี่ยมหลากสีนี้เช่นกัน แต่จะดีมากขึ้นไปอีก เพราะเส้นทางของตัวต่อชิ้นเล็กนี้ กำลังจะเปลี่ยนไปสู่การเป็นสินค้ารักษ์โลกมากขึ้นเรื่อย ๆ
ข้อมูลของ LEGO เปิดเผยว่า ในครึ่งแรกของปี 2024 บริษัทได้ซื้อเรซินรีไซเคิลมาใช้ในการผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 30% จากวัตถุดิบทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากปี 2023 ที่มีแค่ 18% เท่านั้น และคาดว่าภายในปี 2032 บริษัทจะสามารถเปลี่ยนไปใช้วัสดุที่มาจากการรีไซเคิลได้ทั้งหมด
สำหรับแผนการเปลี่ยนแปลงวัสดุของ LEGO นี้ บริษัทเผยว่า มีการทดสอบวัสดุทางเลือกมากกว่า 600 ชนิดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และพบว่า เรซิ่นที่ผลิตจากน้ำมันปรุงอาหารและของเสีย (ไขมัน) จากอุตสาหกรรมอาหารสามารถรีไซเคิลเป็นวัสดุทดแทนได้
อย่างไรก็ดี การเปลี่ยนวัสดุครั้งนี้พบว่าทำให้การผลิต LEGO มีต้นทุนพุ่งขึ้นถึง 70% และนั่นนำไปสู่ข่าวดีที่สอง นั่นคือ นีลส์ คริสเตียนเซ่น (Niels Christiansen) ซีอีโอของ LEGO ที่ออกมาบอกว่า บริษัทมีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งพอ จึงไม่ต้องผลักภาระด้านต้นทุนนี้ให้กับลูกค้า
นอกจากนี้ LEGO ยังทุ่มงบประมาณราว 1.4 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อลดการปล่อยคาร์บอนให้ได้ถึง 37% ภายในปี 2032 โดยหวังว่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้ผลิตของเล่นรายอื่น ๆ หันมาใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อโลกมากขึ้น ซึ่งอาจทำให้ในอนาคต ธุรกิจของเล่นจะมีต้นทุนที่ถูกลงด้วยก็เป็นได้
ทั้งนี หากมองไปยังคู่แข่ง จะพบว่าไม่ใช่แค่ LEGO ที่เริ่มพัฒนาตัวเองไปสู่วัสดุรีไซเคิล เพราะคู่แข่งอย่าง Mattel ก็มีแผนจะเปลี่ยนมาใช้พลาสติกรีไซเคิล และพลาสติกชีวภาพในผลิตภัณฑ์ทั้งหมดภายในปี 2030 เช่นกัน ส่วน Hasbro ก็เริ่มคิดค้นวัสดุทดแทนจากพืช และนำเข้ามาใช้ในการผลิตของเล่นบางประเภทแล้วด้วย