ไทม์ไลน์ “ทีวีดิจิทัล” ในประเทศไทย ถูกประมูลใบอนุญาต 24 ช่อง ในช่วงปลายปี 2556 จากมูลค่าคลื่นความถี่ฯ ที่ จุฬาฯ ประเมินไว้ 13,000 ล้านบาท แต่ผู้ประกอบการแข่งกันประมูลไปจบที่มูลค่า 56,000 ล้านบาท เพราะต่างมองโอกาสเข้ามาแบ่งเม็ดเงินโฆษณาทีวี จากฟรีทีวีรายเดิม ช่อง 3 ช่อง 7
ทีวีดิจิทัล 24 ช่องใหม่ เริ่มออกอากาศในเดือนเมษายน 2557 เป็นการนับหนึ่งใบอนุญาต 15 ปี แต่ผ่านไปเพียง 5 ปี ในปี 2562 รัฐบาลและ กสทช. ต้องปลดล็อก ให้ผู้ประกอบการที่ไปต่อไม่ไหว “คืนใบอนุญาต” โดยมี 7 ช่องคืนใบอนุญาต เหลือ ทีวีดิจิทัล (เชิงพาณิชย์) 15 ช่อง
การเปลี่ยนผ่านสู่ทีวีดิจิทัลและการไปต่อไม่ไหวของผู้ประกอบการที่ร่วมประมูล มาจากหลายปัจจัย ทั้งการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว การเติบโตของแพลตฟอร์มออนไลน์ พฤติกรรมการเสพสื่อผู้บริโภคเปลี่ยนไป รวมทั้งนโยบายกระจายกล่องรับสัญญาณ (Set Top Box) ของ กสทช. ให้ครอบคลุมครัวเรือนทั่วประเทศ ไม่เป็นไปตามแผน
นั่นจึงเป็นที่มาของการเปิดให้คืนใบอนุญาตและมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลทั้งหมด ผ่านการสนับสนุนโครงข่าย Must Carry การจ่ายค่าเช่าโครงข่าย Mux คูปองทีวีดิจิทัล (Set Top Box) การสนับสนุนทำ TV Rating รวมทั้งการยกเว้นเงินประมูล และการชดเชยคืนใบอนุญาต 7 ช่อง รวมทั้งหมดเป็นมูลค่า 44,671 ล้านบาท
ปัจจุบันเหลือเวลาอีก 4 ปีกว่า ใบอนุญาต “ทีวีดิจิทัล” จะหมดอายุในเดือนเมษายน 2572 ที่ครบอายุ 15 ปี แต่สถานการณ์หลังสิ้นสุดใบอนุญาต ยังต้องจับตาว่า ทิศทางและอนาคตทีวีดิจิทัล จะเป็นอย่างไร่
ชง กสทช. เลิกประมูลใบอนุญาต
ในวาระครบ 10 ปี “ทีวีดิจิทัล” สมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย) และช่องทีวีสาธารณะ จัดงาน “1 ทศวรรษทีวีดิจิทัล” Beyond the Next Step เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของบุคคลต่างๆ ในแวดวงวงการโทรทัศน์และผลิตคอนเทนต์ กับมุมมองอนาคตทีวีดิจิทัล ในฐานะโทรทัศน์แห่งชาติ หลังสิ้นสุดในอนุญาต ในปี 2572
คุณสุภาพ คลี่ขจาย นายกสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย) กล่าวว่าปัจจุบันมีทีวีดิจิทัล ประเภทบริการสาธารณะ 6 ช่อง และทีวีดิจิทัลเชิงพาณิชย์ 15 ช่อง หลังทีวีดิจิทัล ออกอากาศมาครบรอบ 1 ทศวรรษ จึงมีคำถามว่า ช่วงเวลาที่เหลืออยู่ของใบอนุญาต อีก 4 ปีกว่า เส้นทางทีวีดิจิทัล จะไปในทิศทางไหน
“ระยะเวลาที่เหลืออีก 4 ปีกว่า นับว่าเป็นปัญหาเฉพาะหน้า เพราะหากหน่วยงานกำกับดูแลอย่าง กสทช. ยังไม่ชัดเจนว่าจะไปทางไหน ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ก็ไปต่อไม่ได้”
นับตั้งแต่ประมูลทีวีดิจิทัลและเริ่มออกอากาศในปี 2557 เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากในอุตสาหกรรมสื่อ กระทั่งมีผู้ประกอบการขอคืนใบอนุญาต 7 ช่อง เพราะไปต่อไม่ไหว
จากการหารือในกลุ่มผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล และระยะเวลาใบอนุญาตที่เหลืออีก 4 ปีกว่า ได้คำตอบที่ตรงกันว่า “ไม่น่าจะมีการประมูลทีวีดิจิทัล” อีกแล้ว เพราะระบบการเปลี่ยนผ่านจากทีวีอนาล็อกเป็นทีวีดิจิทัลในต่างประเทศในเกือบทุกประเทศทั่วโลก ไม่ใช่วิธีประมูล แต่ใช้วิธีคัดเลือกโดยเปรียบเทียบคุณสมบัติ (beauty contest) ผู้ที่มีศักยภาพ
ดังนั้นหากไม่ใช้วิธีประมูลใบอนุญาต สิ่งที่ต้องทำคือ การแก้กฎหมาย พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ปี 2553 เพราะกฎหมายดังกล่าวกำหนดให้มีประมูลคลื่นวิทยุโทรทัศน์ ดังนั้นระยะเวลาไม่ถึง 5 ปี ที่เหลืออยู่ของใบอนุญาต จึงต้องหาข้อสรุปร่วมกันของภาครัฐ กสทช. และผู้ประกอบการเพื่อเร่งแก้กฎหมาย เพราะเป็นเรื่องที่ใช้เวลา
สมาคมฯ และผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ได้หารือกับภาควิชาการว่า หากไม่มีการประมูลทีวีดิจิทัล ก็ต้องกำหนดหลักเกณฑ์การต่อใบอนุญาตและอัตราค่าตอบแทนให้ภาครัฐ เพื่อสร้างความเป็นธรรมกับทุกภาคส่วน ทั้ง กสทช. ประชาชน และผู้ประกอบการ
นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า กสทช. ให้ความสำคัญในการเตรียมความพร้อมใบอนุญาตทีวีดิจิทัล ที่จะหมดอายุในปี 2572 เพื่อให้การอนุญาตและกำกับดูแลกิจการโทรทัศน์มีความชัดเจน ก้าวข้ามอุปสรรคต่างๆ โดยต้องหารือและทำงานร่วมกันทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นโมเดล การต่อใบอนุญาต แบบ beauty contest การกำหนดแนวทางแบ่งรายได้จากการใช้ใบอนุญาต โดยเฉพาะการแก้กฎหมาย เพราะเป็นเรื่องที่ต้องเสนอรัฐบาลให้เห็นชอบด้วย
ปัจจุบัน “ทีวี” ยังมีความสำคัญและต้องคงอยู่ต่อไป โดยเฉพาะทีวีสาธารณะ เพราะเป็นบริการข้อมูลข่าวสารของภาคประชาชน เป็นสิ่งที่ต้องรักษาไว้
ดร.พิรงรอง รามสูตร กรรมการ กสทช. กล่าวถึงทิศทางโทรทัศน์ดิจิทัลหลังสิ้นสุดใบอนุญาต ปี 2572 ว่ามี 3 ฉากทัศน์ของอนาคตทีวีไทย
1. ทีวีไทยล่มสลาย : เนื่องจากรัฐไม่แทรกแซง ไม่มีมาตรการใดๆ โดยกิจการทีวีเดิมและ OTT กำกับดูแลแตกต่างกัน สิ่งที่จะเกิดขึ้น คือ แพลตฟอร์มระดับโลกจะเข้ามายึดตลาด ผู้บริโภคดูทีวีผ่าน OTT แทน ขณะที่ผู้ประกอบการทีวีเดิม สูญเสียรายได้โฆษณาและปิดตัวลง หากเป็นเช่นนั้น ผู้มีรายได้น้อยและคนสูงวัย เสียสิทธิเข้าถึงบริการสาธารณะ
2. ทีวีไทยพอแข่งขันได้ (ระยะหนึ่ง) : โดยมีกฎหมายกำกับดูแลแพลตฟอร์ม OTT มีมาตรการสนับสนุนให้ทีวีดั้งเดิมเข้าสู่แพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง และปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด ไม่มีการแทรกแซง กรณีนี้จะเกิดเป็นตลาดที่ผสมผสานระหว่างผู้ประกอบการไทยและผู้ประกอบการรายใหญ่ จากสหรัฐฯ และเอเชีย แย่งกันเพื่อครอบครองกิจการไทย (ปลาใหญ่กินปลาเล็ก)
3. ทีวีไทยสู่แพลตฟอร์มระดับโลก : เป็นการปฏิรูปองค์กรที่เกี่ยวข้องทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ จัดตั้งหน่วยงานเฉพาะ คือ 1. องค์กรขับเคลื่อนเชิงนโยบาย การกำกับดูแล และแนวทางการส่งเสริมสนับสนุน 2. องค์กรขับเคลื่อนเชิงปฏิบัติ นำนโยบายต่างๆ มาพัฒนาต่อในภาคอุตสาหกรรม และสนับสนุนให้ความช่วยเหลือต่างๆ ซึ่งจะทำให้ อุตสาหกรรมทีวีไทยพัฒนาสู่ระดับสากล เช่นเดียวกับ ฝรั่งเศส และเกาหลี คอนเทนต์ Thai Wave เติบโตเป็นที่ต้องการในตลาดโลก
คุณถกลเกียรติ วีรวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บมจ. เดอะวันเอ็นเตอร์ไพรส์ ผู้บริหารทีวีดิจิทัล ช่อง ONE31 และ GMM 25 กล่าวว่า แม้ปัจจุบัน คนดูทีวี (จากจอทีวี) น้อยลง แต่คนยังดูคอนเทนต์ทั้งบันเทิง ข่าวสาร จากแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ ที่ผ่านมา ทีวีดิจิทัล ได้สร้างแพลตฟอร์มออนไลน์ของตัวเอง เพื่อเข้าถึงผู้ชมเพิ่มขึ้น
มองว่า “ทีวี” ยังมีความสำคัญ เพราะเป็นสื่อที่เข้าถึงครัวเรือนไทยทั่วประเทศได้ดีที่สุด และ “ทีวี” เป็นสื่อที่สร้างกระแสในวงกว้าง และส่งต่อความสนใจไปยังแพลตฟอร์มอื่นๆ ที่สามารถต่อยอดสร้างรายได้ ในมุมของผู้ประกอบการทีวี จึงยังต้องการมีสื่อทีวีดิจิทัลอยู่ต่อไป แต่รูปแบบการขอใบอนุญาต ไม่ควรประมูลแข่งขันราคาเหมือนที่ผ่านมา
คนไทยดูคอนเทนต์ทีวีผ่าน OTT มากกว่าจอทีวี
คุณฉัตรชัย ตะวันธรงค์ อุปนายกสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย) กล่าวว่าข้อเท็จจริงวันนี้โลกเปลี่ยนไปมาก ทั้งเทคโนโลยีและพฤติกรรมการเสพสื่อของผู้บริโภค และอนาคตของอุตสาหกรรมสื่อทีวี อยู่ที่ OTT Platform ที่จะเป็นทิศทางต่อไปและช่วยต่อลมหายใจของสื่อทีวี
หลังผ่านไป 10 ปี ของใบอนุญาตทีวีดิจิทัล เหลือทีวีดิจิทัล (เชิงพาณิชย์) 15 ช่อง สภาพวันนี้ของทีวี คือ มีรายการรีรันและขายสินค้าจำนวนมาก มาจากการเอาตัวรอดหารายได้ของผู้ประกอบการ ทดแทนรายได้จากเม็ดเงินโฆษณาลดลง
ปัจจุบันนอกจากมี ทีวีดิจิทัล 15 ช่อง และทีวีสาธารณะ 6 ช่อง ยังมี “คอนเทนต์ทางเลือก” อีกจำนวนมากในแพลตฟอร์มออนไลน์ อย่าง ยูทูบ แชนแนล ที่มีช่องทีวีดิจิทัลอยู่แล้ว ยังมีช่องทีวีไทยอีกกว่า 200 ช่อง นอกจากนี้ยังมียูทูบเบอร์และอินฟลูเอนเซอร์ กว่า 2 ล้านคน ที่ทำช่องรายการเช่นกัน ทั้งหมดเป็นตัวเลือกคอนเทนต์ให้ผู้ชมเลือกดูผ่านมือถือ ที่เข้ามาแย่งเวลาไปจากจอทีวีทั้งสิ้น
วันนี้สภาพแวดล้อม (Ecosystem) และภูมิทัศน์สื่อ (Media Landscape) เปลี่ยนไป หากดูพฤติกรรมการเสพสื่อ (Media Consumption) ของคนไทย ตั้งแต่ปี 2558-2567 พบว่าการดูคอนเทนต์ทีวีดิจิทัลผ่าน OTT Platform (ดูผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ต) เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จาก 7.7% ในปี 2558 มาอยู่ที่ 18.7% (สูงกว่าดูผ่านจอทีวี) ขณะที่การดูทีวีดิจิทัล (จอทีวี) จากจุดสูงสุด 40.6% ในปี 2560 มาในปี 2567 ลดลงเหลือ 15.6% (ต่ำกว่า OTT Platform)
ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา การใช้จ่ายเม็ดเงินโฆษณาผ่านสื่อทีวี “ลดลง” อย่างต่อเนื่อง ขณะที่เม็ดเงินโฆษณาผ่านสื่อออนไลน์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ปัจจุบันกลายเป็นสื่ออันดับหนึ่ง ครองงบโฆษณาสูงสุดไปแล้ว ขณะที่ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ก็ได้ปรับเปลี่ยนตัวเองไปเป็นคอนเทนต์ โปรวายเดอร์ เพื่อสร้างรายได้จากคอนเทนต์ให้แพลตฟอร์มต่างๆ และขายลิขสิทธิ์คอนเทนต์ให้ต่างประเทศ
หากดูทิศทางทีวีดิจิทัล หลังสิ้นสุดใบอนุญาตในปี 2572 “ทีวีแห่งชาติ” ยังถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ ที่ต้องอยู่ต่อไป แต่ OTT Platform จะเข้ามามีบทบาทสำคัญของสื่อทีวีไทย ดังนั้นแนวทางการร่วมกันทำแพลตฟอร์ม OTT แห่งชาติ จึงมีความสำคัญ ขณะเดียวกัน กสทช. เองต้องมีบทบาท “ส่งเสริม” มากกว่าการกำกับดูแลสื่อทีวี
ติดตามพวกเราได้ที่ LINE
อ่านเพิ่มเติม