“การบินไทย” ไตรมาส 2 รายได้-กำไรลดลง ขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยน – โลว์ซีซัน เดินหน้าปรับโครงสร้างทุนตามแผนฟื้นฟูกิจการภายในสิ้นปีนี้ ตั้งเป้าออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ หุ้นกลับมาซื้อขายในตลาดไตรมาส 2 ปี 2568
บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI สรุปผลการดำเนินงานไตรมาส 2 ปี 2567 บริษัทและบริษัทย่อยมีรายได้รวม (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) ทั้งสิ้น 43,981 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งมีรายได้รวม 37,381 ล้านบาท แต่ลดลง 4.3% จากไตรมาสแรกของปี 2567 ซึ่งเป็นไปตามปกติของธุรกิจที่ไตรมาส 2 เป็นช่วงโลว์ซีซัน
โดยมีผู้โดยสารรวมในไตรมาส 2 จำนวน 3.81 ล้านคน และมีอัตราการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ย 73.2%
ส่วนค่าใช้จ่าย (ที่ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) อยู่ที่ 38,056 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 32.1% ส่วนใหญ่เกิดจากค่าใช้จ่ายที่ผันแปรตามปริมาณการผลิตและการขนส่งที่เพิ่มขึ้น
ขณะที่กำไรจากการดำเนินงานก่อนต้นทุนทางการเงิน (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) อยู่ที่ 5,925 ล้านบาท เทียบกับไตรมาส 2 ปี 2566 มีกำไร 8,576 ล้านบาท เนื่องจากมีต้นทุนทางการเงินซึ่งเป็นการรับรู้ตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 9 (TFRS 9) จำนวน 4,796 ล้านบาท และมีรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียวที่ส่วนใหญ่มาจากผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ จากค่าเงินบาทอ่อนต่อเนื่อง ปี 2566 อยู่ที่ 34.5 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ ไตรมาส 2 ปี 2567 อยู่ที่ 37 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ การบินไทยต้องจ่ายค่าเช่าเครื่องบินเป็นเงินตราต่างประเทศ จึงทำให้ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังขาดทุนจากการด้อยค่าของสินทรัพย์เป็นค่าใช้จ่ายรวม 809 ล้านบาท ส่งผลให้ไตรมาส 2 ปี 2567 มีกำไรสุทธิ 314 ล้านบาท ขณะที่ปีก่อนมีกำไรสุทธิ 2,273 ล้านบาท ลดลง 86.2% โดยมี EBITDA หลังหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามเงื่อนไขสัญญาเช่าเครื่องบิน 4,401 ล้านบาท ลดลง 52.7% จากปีก่อน
ครึ่งปีแรกกำไร 2,738 ล้าน ลดลง 81.5%
สำหรับงวด 6 เดือนแรกของปี 2567 บริษัทและบริษัทย่อยมีรายได้รวม (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) ทั้งสิ้น 89,936 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน 14% มีค่าใช้จ่ายที่ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว 72,935 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 27.3% มีกำไรจากการดำเนินงานก่อนต้นทุนทางการเงินไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว 17,001 ล้านบาท ต่ำกว่างวดเดียวกันของปีก่อน 21.3%
โดยมีต้นทุนทางการเงินซึ่งเป็นการรับรู้ตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 9 (TFRS 9) จำนวน 9,403 ล้านบาท และมีรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียวที่ส่วนใหญ่มาจากผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนและการด้อยค่าสินทรัพย์เป็นค่าใช้จ่ายรวม 4,847 ล้านบาท
ส่งผลงวด 6 เดือนมีกำไรสุทธิ 2,738 ล้านบาท ลดลง 81.5% จากปีก่อน เป็นผลมาจากการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน ขณะที่ช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนมีกำไร 14,795 ล้านบาท และมี EBITDA หลังหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามเงื่อนไขสัญญาเช่าเครื่องบิน 18,402 ล้านบาท ลดลง 21.2%
กระแสเงินสด 81,748 ล้าน
ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2567 บริษัทมีเครื่องบินที่ใช้ทำการบินทั้งสิ้น 77 ลำ มีอัตราการใช้เครื่องบินในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2567 เฉลี่ย 13 ชั่วโมงต่อวัน มีปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (ASK) เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 15.6% ปริมาณการขนส่งผู้โดยสาร (RPK) เพิ่มขึ้น 10.9% อัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ย 78.1% ต่ำกว่าปีก่อนซึ่งเฉลี่ยที่ 81.4% และมีจำนวนผู้โดยสารที่ทำการขนส่งรวม 7.68 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 0.81 ล้านคน หรือคิดเป็น 11.8%
บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีสินทรัพย์รวมจำนวน 270,526 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 จำนวน 31,535 ล้านบาท หนี้สินรวมจำนวน 310,956 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 จำนวน 28,823 ล้านบาท ส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทและบริษัทย่อยติดลบจำนวน 40,430 ล้านบาท ติดลบลดลงจาก ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 จำนวน 2,712 ล้านบาท
โดยมีเงินสด รายการเทียบเท่าเงินสด และสินทรัพย์ทางการเงินหมุนเวียนอื่น ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2567 จำนวน 81,748 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14,618 ล้านบาท จาก ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566
เตรียมออกแผนฟื้นฟูไตรมาส 2 ปี 68
ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2567 การบินไทยได้ชำระหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการไปแล้วรวมทั้งสิ้น 4,644 ล้านบาท จากหนี้ที่ครบกำหนดชำระทั้งปีจำนวน 13,022 ล้านบาท
คุณปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าเพื่อให้เป็นไปตามแผนฟื้นฟูกิจการ การบินไทยอยู่ระหว่างการเตรียมแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวน (Filing) เพื่อเข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างทุนตามแผนฟื้นฟูกิจการ ดังนี้
1. การแปลงหนี้ในสัดส่วน 100% เป็นทุน (ในราคาหุ้นละ 2.5452 บาท) ของเจ้าหนี้กลุ่ม 4 ซึ่งรวมถึงเจ้าหนี้เงินกู้ยืมจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน ได้แก่
– กระทรวงการคลัง การแปลงหนี้ในสัดส่วน 24.50% ของมูลหนี้เป็นทุน
– เจ้าหนี้กลุ่ม 5 (สถาบันการเงินที่มีสิทธิตามสัญญาโอนสิทธิในการรับเงินจากการขายเครื่องบิน)
– เจ้าหนี้กลุ่ม 6 (สถาบันการเงินไม่มีประกัน)
– เจ้าหนี้กลุ่มที่ 18-31 (เจ้าหนี้ผู้ถือหุ้นกู้)
– สิทธิแปลงหนี้เป็นทุนเพิ่มเติมจาก 24.50% ที่ระบุไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการในส่วนของเจ้าหนี้กลุ่ม 4 5 6 และ 18-31 ข้างต้น
2. การเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุน (ราคาไม่ต่ำกว่า 2.5452 บาทต่อหุ้น) ประมาณ 9,822 ล้านหุ้น ให้แก่ผู้ถือหุ้นก่อนการปรับโครงสร้างทุน พนักงานบริษัทฯ และนักลงทุนแบบเฉพาะเจาะจง ในกลุ่มนี้สนใจกลุ่มที่ให้ราคาสูงและเพิ่มมูลค่าธุรกิจให้การบินไทย
ทั้ง 2 กลุ่มรวมจำนวนหุ้นการปรับโครงสร้างทุนไม่เกิน 31,500 ล้านหุ้น
โดยคาดว่าการบินไทยจะสามารถยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวน (Filing) สำหรับการปรับโครงสร้างทุนต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ภายในเดือนกันยายน 2567
หลังจากนั้นกระบวนการใช้สิทธิและแจ้งเจตนาแปลงหนี้เป็นทุนเพิ่มเติมของเจ้าหนี้แต่ละกลุ่มคาดว่าจะเกิดขึ้นภายในเดือนพฤศจิกายน 2567 และกระบวนการเสนอขายและจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนสำหรับผู้ถือหุ้นก่อนการปรับโครงสร้างทุน พนักงานบริษัท และนักลงทุนแบบเฉพาะเจาะจงคาดว่าจะเกิดขึ้นภายในเดือนธันวาคม 2567
การบินไทยคาดว่าจะสามารถดำเนินการปรับโครงสร้างทุนให้แล้วเสร็จได้ภายในสิ้นปี 2567 ตามที่กำหนดในแผนฟื้นฟูกิจการ คือ งบการเงินประจำปี 2567 ต้องมีส่วนของผู้ถือหุ้นเป็นบวก ซึ่งเป็นหนึ่งในเงื่อนไขความสำเร็จของการฟื้นฟูกิจการ
โดยคาดว่าจะสามารถยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลางเพื่อยกเลิกการฟื้นฟูกิจการและหุ้นของการบินไทยกลับเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ในช่วงไตรมาส 2 ของปี 2568
ติดตามพวกเราได้ที่ LINE
อ่านเพิ่มเติม