HomeCSRเผยวิสัยทัศน์ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” กับบทบาทขับเคลื่อน “การพัฒนาที่ยั่งยืน” ในเครือสหพัฒน์ฯ

เผยวิสัยทัศน์ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” กับบทบาทขับเคลื่อน “การพัฒนาที่ยั่งยืน” ในเครือสหพัฒน์ฯ

แชร์ :

คุ้นหน้าคุ้นตาเป็นอย่างดีในวงการการเมืองไทย สำหรับ อดีตนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ในตอนนี้ขอพักเรื่องการบ้านการเมือง มาให้ความสำคัญกับบทบาท รองประธานกรรมการบอร์ดบริหารเครือสหพัฒนพิบูล จำกัด(มหาชน) โดยดูแลรับผิดชอบเรื่องเกี่ยวกับความยั่งยืน ในฐานะ ประธานกรรมการธรรมาภิบาลและการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

จากที่ปรึกษา มาสู่คนลงมือทำ

คุณอภิสิทธิ์ เริ่มต้นพูดถึงความยั่งยืน โดยอิงกับแนวคิดของผู้ก่อตั้ง “ดร.เทียม โชควัฒนา” ที่ได้รับการยกย่องเป็นอย่างมากว่าเป็นต้นแบบในการทำธุรกิจ

“ปัจจุบันโจทย์เรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืนเป็นเรื่องสำคัญของทุกภาคส่วนในสังคมอยู่แล้ว ก็ต้องพยายามให้ประเทศเรา และสังคมของเราบรรลุเป้าหมาย โดยเป้าหมายใหญ่ๆ มีอยู่ 3 เรื่อง ก็คือ สิ่งแวดล้อม ความรับชอบต่อสังคม และธรรมาธิบาล ความจริงในหลายๆ เรื่อง ทางบริษัทก็ให้ความสำคัญมาโดยตลอด ถ้าเราย้อนกลับไปดูแนวคิดของ ดร.เทียม ก็จะพบว่าท่านพูดถึงเรื่องการธุรกิจที่ไม่ใช่แค่ต้องทำสินค้าให้ดี แต่ต้องสังคมดีด้วยมาตลอด” คุณอภิสิทธิ์อธิบาย

ดังนั้นจากที่ก่อนหน้านี้ ที่เคยมาช่วยให้คำปรึกษาอยู่แล้ว ก็นำมาสู่ความเชื่อในเรื่องการสร้างสังคมดี จนทำให้คุณอภิสิทธิ์ขยับเข้ามาร่วมทำงานโดยตรง โดยมีเป้าหมาย ช่วยกำหนดแผนให้เป็นรูปธรรมสามารถผลักดันการลดคาร์บอนให้มีความก้าวหน้า และสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจในภาพกว้าง นอกเหนือจากกิจกรรมเพื่อสังคมต่างๆ มากมายที่ทางเครือสหพัฒน์ฯ จัดทำมาตลอดอยู่แล้ว

ความท้าทายเรื่อง ESG กับธุรกิจปัจจุบัน

สำหรับความท้าทายขององค์กรเอกชนกับการทำธุรกิจอย่างยั่งยืน คุณอภิสิทธิ์มองว่ามีความท้าทายอย่างมาก โดยเขายกตัวอย่าง ว่า แม้แต่ในช่วง Covid-19 ที่ผ่านมา เรื่องของ ESG ในประเทศพัฒนาแล้วก็สะดุดเช่นกัน เงินเฟ้อขยับตัวสูงขึ้น ผู้บริโภคไม่สามารถแบกรับภาระค่าใช้จ่ายได้ ดังนั้นในช่วงเริ่มต้น รัฐอาจจะต้องเข้ามามีส่วนร่วม พร้อมๆ กับเอกชน เพื่อไม่ให้เกิดการผลักภาระไปที่ผู้บริโภค รวมทั้งรัฐต้องมีทิศทางที่ชัดเจนให้เอกชนปฏิบัติภายใต้กฎเดียวกันเพื่อลดความได้เปรียบ-เสียเปรียบทางการแข่งขัน

“ปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกธุรกิจอยู่ภายใต้แรงกดดันของการแข่งขัน การบรรลุเป้าหมายด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนหลายเรื่อง มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องลงทุน แล้วก็อาจจะนำไปสู่การเพิ่มต้นทุนในระยะเริ่มต้น ขณะที่ความคุ้มค่าก็อาจจะไม่ได้เกิดขึ้นในตอนนี้ ดังนั้นก็จะขึ้นอยู่กับทัศนคติทางสังคมควบคู่กันด้วย ประการที่ 2 ก็คือ แต่ละองค์กรก็มีวัฒนธรรมองค์กรที่อาจจะต้องปรับเพื่อให้สอดรับกับภาวะใหม่ๆ”

หรือในโลกปัจจุบันนี้ การฟอกเขียวถูกจับตามองมากขึ้น การใช้เงินแก้ปัญหาอย่างเช่น เอาเงินไปซื้อคาร์บอน เครดิต ก็อาจจะไม่ได้รับการยอมรับอีกต่อไป รวมทั้งเมื่อพูดถึงความยั่งยืนอาจจะต้องเกี่ยวพันกับหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นพันธมิตรธุรกิจ การจัดเก็บสินค้าซึ่งบางครั้งไม่ได้อยู่ในความรับผิดชอบโดยตรงของบริษัท ก็ต้องมีหลักเกณฑ์ที่เหมาะสม ครอบคลุม

ขณะเดียวกันโลกปัจจุบันนี้ ก็มีระบบ Digital Transformation ที่สามารถหยิบมาใช้ในให้เกิดประโยชน์กับเรื่องของสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนได้เช่นกัน

“ถ้าเราพูดถึงหลักธรรมาภิบาลของไทย ก็จะมีอยู่ 6 หลัก ประกอบไปด้วย  คุณธรรม นิติธรรม ความโปร่งใส การมีส่วนร่วม ความรับผิดชอบ และคุ้มค่า สิ่งที่เทคโนโลยีมาช่วยได้ก็คือ ความโปร่งใส เพราะว่าเทคโนโลยี จะทำให้การรวบรวม จัดเก็บ สอบทานข้อมูลมีความรวดเร็ว แม่นยำมากขึ้น แล้วก็นำมาสู่การเปิดเผยข้อมูล รวมทั้งความคุ้มค่า เพราะเมื่อเราเอาเทคโนโลยีมาใช้ จะช่วยลดต้นทุน ลดขั้นตอนและความผิดพลาดได้ แล้วมันก็จะโยงไปที่หลักความรับผิดชอบ”

สหพัฒน์ ทำอะไรไปแล้วบ้าง

จากแนวคิดทั้งหมดนำมาสู่กิจกรรมที่ดำเนินการมานานหลายสิบปี เช่น “สหพัฒน์ มอบทุน ดร.เทียม โชควัฒนา” แก่บุตร-ธิดาพนักงานที่กำลังศึกษาเล่าเรียนแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ มุ่งเน้นที่ภายในบริษัทของตัวเองก่อน โครงการนี้ดำเนินการต่อเนื่องมายาวนานกว่า 10 ปี ปี 2566 ที่ผ่านมาก็มอบทุนให้กับบุตรธิดาของพนักงานตั้งแต่ระดับอนุบาล ระดับประถมศึกษา ระดับมัธยมศึกษา ไปจนถึงระดับอุดมศึกษา จำนวน 284 ทุน

เช่น กิจกรรม “สหพัฒน์แอดมิชชั่น” หรือที่ใครๆ ก็มักจะคิดถึงการที่ มาม่า จัดกิจกรรมนำพี่ๆ ติวเตอร์ชื่อดังมาติวเข้ม เพื่อติดอาวุธเด็กไทย เป็นโครงการเตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัยด้วยการจัดติวฟรี ที่ได้ดำเนินการมานานถึง 27 ปี เน้นเนื้อหาเข้มข้น เพื่อเปิดโอกาสทางการศึกษาให้เด็กไทย โดยเฉพาะกลุ่มเด็กที่อยู่ในที่ห่างไกล สามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ตามที่ตั้งใจไว้ การที่จะพัฒนาปรับตัวไปตามยุคสมัย ไปสู่การถ่ายทอดทางออนไลน์ด้วยในกว่า 77 จังหวัด มากกว่า 1,000 โรงเรียน

ส่วนโครงการภายใต้บริษทเรื่องของสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้รับความสนใจในลำดับต่อมา ตามภาวะปัญหาทางสังคม ทางสหพัฒน์ก็มีการจัดทำแคมเปญ “SPC Zero #GoGrowGreen” ที่อยู่ภายใต้โครงการ “Green PLEASE by SPC” กิจกรรมปลูกป่าเพื่อสร้างพื้นที่สีเขียว มุ่งเน้นฟื้นฟู และอนุรักษ์พื้นที่ป่าชายเลน และป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง พร้อมทั้งมุ่งเน้นให้พนักงานในองค์กรมีจิตสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อม และพร้อมขับเคลื่อนการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรมตามหลักการ ESG

รวมทั้งภายในองค์กรเอง ก็รณรงค์ลดการใช้พลาสติก การจัดงานอิเวนต์และการประชุมภายในองค์กร จนสามารถช่วยลดขวดพลาสติกขนาด 330 มล. ได้ประมาณเดือนละ 2,000 ขวด หรือคิดเป็นการลด carbon footprint  106.16 kgCO2e. เทียบเท่าการปลูกต้นไม้ 12 ต้น / เดือน

หรือ โครงการ Care the Whale ขยะล่องหน ทางบริษัทเข้าไปสนับสนุนสินค้าอุปโภคบริโภค ให้กับโครงการ Care the Whale สถานีขยะล่องหน @คุ้งบางกระเจ้า เพื่อช่วยกระตุ้นให้คนในชุมชนและหน่วยงานนำขยะมาแลกเป็นสินค้า พร้อมทั้งช่วยลดค่าครองชีพให้กับคนในชุมชน นับว่าเป็นผลงานที่ทำให้เกิดจิตสำนึกภายในชุมชนขึ้น

ส่วนเป้าหมายต่อไปก็คือการรวบรวมข้อมูลสำรวจร่องรอบ Carbon ทั้งหมดภายในองค์กร เพื่อนำไปสู่การตั้งเป้าหมายร่วมกันทุกภาคส่วน ก่อนที่จะวางแผนในแนวทางปฏิบัติต่อไป ว่าเครือสหพัฒน์ฯ จะร่วมแรงร่วมใจกันลดคาร์บอนให้ได้ เพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคมโดยรวม


แชร์ :

You may also like