เปิดภารกิจ “อภิรักษ์ โกษะโยธิน” เส้นทางความสำเร็จ 1 ทศวรรษแบรนด์ “วีฟาร์ม” กับแผนงานใหม่ปั้นนมน้ำข้าวโพด “วีฟาร์ม” เจาะตลาด Plant-based Milk รับเทรนด์การดูแลสุขภาพมาแรงทั่วโลก
จากจุดเริ่มต้นของธุรกิจหลังจากที่หันหลังให้เส้นทางการเมืองอย่างเป็นทางการ วันนี้แบรนด์ “วี ฟาร์ม” ของ “อภิรักษ์ โกษะโยธิน” ภายใต้ บริษัท วี ฟู้ดส์ (ประเทศไทย) จำกัด ก็เดินหน้ามาจนครบ 10 ปีบริบูรณ์ มีสินค้ามาก 4 แคธิกอรี่หลัก ได้แก่ ข้าวโพดหวานพร้อมทาน 65% น้ำนมข้าวโพด 20% และที่เหลือคือ แสน็ก อย่างกล้วยหอมทองอบเนย อบกรอบ กล้วยตากประมาณ 14-15%
ขณะที่เทรนด์ตลาดนมตลาดนมจากพืช (Plant-based Milk) มูลค่า 20,000 ล้านบาท ที่มีการโตแรงราว 8-9% สูงกว่าตลาดนมวัวที่เติบโตเพียง 6% ทำให้กลุ่มผลิตภัณฑ์ “นมข้าวโพด” ของวี ฟาร์ม กลายมาเป็นโปรดักต์เรือธงใหม่ของทางค่ายในการสร้างรายได้ โดยคาดการณ์ว่าในสิ้นปี 2568 ผลิตภัณฑ์นมข้าวโพดจะมีสัดส่วนรายได้มากกว่า 25%
รุกตลาดครั้งใหญ่ รับเทรนด์นมพืชโตแรงทั่วโลก
คุณอภิรักษ์ บอกว่า แม้ตลาดนมตลาดนมจากพืช (Plant-based Milk) จะมีการโตแรงตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่กลุ่มนมข้าวโพดยังไม่ติด Top 3 นมทางเลือก (จากพืช) ที่ลูกค้านิยมดื่มมากนัก เนื่องจากมองว่ายังเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับผู้สูงวัย หรือคนมีอายุ ทำให้ไม่ได้รับความนิยมในหมู่คนรุ่นใหม่นัก บริษัทจึงเริ่มมีแนวคิดในการพัฒนาสินค้า (นมข้าวโพด)ใหม่ๆป้อนตลาด
ปัจจุบันนมข้าวโพด “วีฟาร์ม” สามารถขึ้นแท่นเจ้าตลาดน้ำนมข้าวโพดในช่องทางร้านค้าสะดวกซื้อ ด้วยส่วนแบ่งทางการตลาดถึง 64% ใน 12 เดือนที่ผ่านมา แต่เส้นทางการทำตลาดของแบรนด์ยังต้องฝ่ามรสุมในสนามการค้าอีกมาก โดย “คุณอภิรักษ์” บอกว่า ยังมีภารกิจอีกหลายอย่างในการพัฒนาและต่อยอดแบรนด์มากขึ้น เพื่อให้ลูกค้าเลือกนมข้าวโพดเป็นลำดับแรกๆในการดื่ม
“ Top3 ในตลาดนมทางเลือกที่ผู้บริโภคชาวไทยนิยม อันดับหนึ่ง คือ นมถั่วเหลือง ตามมาด้วยนมถั่ว อาทิ พิสตาชิโอ อัลมอนด์ และนมธัญพืชตามลำดับ ส่วนนมข้าวโพดนั้นแทบจะอยู่อันดับท้ายๆ ทำให้เราต้องการพัฒนาตลาดนมข้าวโพดให้ได้รับความนิยมมากขึ้น ด้วยการปรับโฉมพร้อมปรับภาพลักษณ์ให้ทันสมัย สดใหม่มากขึ้น”
ขณะที่งานวิจัยในต่างประเทศ ระบุว่า ตลาดผลิตภัณฑ์นมทางเลือกทั่วโลกจะเติบโตที่ 13% CAGR จนถึงปี 2030 โดยได้รับแรงผลักดันจากเทรนด์การบริโภคที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ตลอดจนแนวโน้มการบริโภควีแกน – แพลนต์เบส และภาวะการแพ้แลคโตสจากนมวัวที่เพิ่มขึ้น สำหรับการเติบโตที่เกิดขึ้นนี้ ตัวแปรที่สำคัญคือผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรซึ่งจะเป็นตัวขับเคลื่อนตลาด และเป็นกลไกต่อการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นของหลายแบรนด์สินค้า
ส่วนเทรนด์การเติบโตในตลาด บริษัทมองว่า “นมข้าวโพด” ยังมีโอกาสเติบโตอีกมาก เพราะตลอด 1 ปีที่ผ่านมาหลังวี ฟาร์มเปิดตัวนมข้าวโพดก็สามารถสร้างการเติบโตได้สูงถึง 3 เท่าตัว หรือมียอดขายเฉลี่ยอยู่ที่ 8,000-9,000 ขวดต่อวัน โดยมีการเติบโตของส่วนแบ่งการตลาดในช่องทางร้านสะดวกซื้อเพิ่มขึ้นเกือบ 15 จุด นั่นทำให้ทางบริษัทเดินหน้าปรับแผนงาน ทั้งจับมือพาร์ทเนอร์ สลัดภาพลักษณ์เดิมเพื่อขยายฐานลูกค้าคนรุ่นใหม่ หรือ Gen Z มากขึ้น
ผนึก “ไร่สุวรรณ” เปิดตัวนมข้าวโพด เจาะคนรุ่นใหม่ดันรายได้โต 20%
ล่าสุดกับการจับมือกับ “ไร่สุวรรณ” หรือ ศูนย์วิจัยข้าวโพด และข้าวฟ่างแห่งชาติ คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตามแนวทางขับเคลื่อนองค์กรด้วยนวัตกรรม (IDE : Innovation Driven Enterprise) เปิดตัวน้ำนมข้าวโพด “วี ฟาร์ม x ไร่สุวรรณ” เปิดตัวผลิตภัณฑ์เพื่อขยายฐานผู้บริโภคในทุกเจเนอเรชันพร้อมเพิ่มโอกาสการเข้าถึงสินค้า พร้อมช่วยเพิ่ม และแชร์ฐานผู้บริโภคเดิมของทั้ง 2 แบรนด์ให้เข้าถึงสินค้าได้มากขึ้น
โดยวี ฟาร์มจะรับข้าวโพดจากไร่สุวรรณวันละประมาณ 5 ตัน มาผลิตน้ำนมข้าวโพดสูตรใหม่นี้ที่โรงงานของวี ฟาร์ม และทางแบรนด์วี ฟาร์ม จะเป็นผู้ทำการตลาด และจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย โดยจะจำหน่ายผ่านร้าน 7-อีเลฟเว่น กว่า 14,000 สาขาทั่วไทย และยังสามารถสั่งผ่านแอป 7-อีเลฟเว่น Delivery ส่งถึงบ้าน ทั้งนี้ คาดว่าความร่วมมือในครั้งนี้ จะช่วยเพิ่มสัดส่วนทางการตลาดได้อีกกว่า 10% พร้อมสร้างการเติบโตโดยรวมที่ 20% หรือรายได้กว่า 250 ล้านบาท
“ตลาดนมข้าวโพดจะมีการเติบโตสูงในช่วงเทศกาลกินเจราว 30% นั่นทำให้เรามองว่าเป็นช่วงสำคัญของการทำตลาด ซึ่งหากมีการสร้างแบรนด์และพัฒนาสินค้าใหม่ๆ ออกมาในช่วงที่มีคยวามต้องการสูง เราก็จะสามารถสร้างตลาดนมข้าวโพดให้เติบโตได้ตามเป้าหมาย”
เจาะ Food Service/ต่างประเทศ สร้างการเติบโตระยะยาว
นอกจากยุทธศาสตร์หลักในการผลักดันนมข้าวโพดออกสู่ตลาดแล้ว หนึ่งในแผนงานสำคัญที่ “คุณอภิรักษ์” วางไว้คือการพัฒนาแบรนด์เพื่อขยายเข้าไปในตลาด Food Service ในรูปแบบการขายวัตถุดิบไปยังร้านอาหาร หรือร้านขนมต่างๆ โดยคาดการณ์ว่าจะสามารถทำตลาดได้ในช่วงปลายปี 2567 นี้ นอกจากนี้ยังเตรียมขยายช่องทางจำหน่ายไปยังซูเปอร์มาร์เก็ต ด้วยการพัฒนานมข้าวโพดแบบการฆ่าเชื้อในอาหารด้วยความดันสูง (High Pressure Processing; HPP) ซึ่งสามารถเก็บได้นาน 15-21 วัน จากเดิมที่อยู่ได้เพียง 14 วัน เพื่อรองรับความต้องการและสร้างการเข้าถึงมากขึ้น
หลังจากนั้นจะเป็นการขยายไปยังตลาดต่างประเทศ โดยจะเริ่มต้นในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน และ CLMV+3 ไม่ว่าจะเป็น สปป.ลาว กัมพูชา มาเลเซีย เวียดนาม ตลอดจน เกาหลี จีน และญี่ปุ่น ซึ่งรูปแบบการทำตลาดเบื้องต้นจะเป็นการเข้าไปวางจำหน่ายในร้านค้าปลีก ซูเปอร์มาร์เก็ต โดยในสเต็ปแรกจะเป็นการนำเข้าจากประเทศไทย ก่อนที่ในอนาคตจะเป็นการร่วมกับพาร์ทเนอร์ มองหาวัตถุดิบและผลิตสินค้าแบบ OEM ในประเทศนั้นๆ เพื่อให้ง่ายต่อการทำตลาด
ติดตามพวกเราได้ที่ LINE