HomeInsightเปิดอินไซต์โลกอีคอมเมิร์ซ แอปใดครองใจนักช้อปไทยสูงสุด

เปิดอินไซต์โลกอีคอมเมิร์ซ แอปใดครองใจนักช้อปไทยสูงสุด

แชร์ :

ในยุคที่การช้อปปิ้งออนไลน์กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน สะท้อนได้จากผลการสำรวจของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA ที่พบว่า E-Commerce ในกลุ่ม B2C (Business to Customer) ครองแชมป์สัดส่วนมูลค่าอีคอมเมิร์ซมากที่สุดของไทย โดยช่องทางการขายที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือ e-Marketplace ที่ประเทศไทยมีผู้เล่นมากมายให้ผู้บริโภคได้เลือกซื้อตามชอบใจ ไม่ว่าจะเป็น Shopee, Lazada, Temu ฯลฯ นั้น

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

เมื่อเจาะลึกลงไปในตลาด e-Marketplace ดังกล่าว ก็พบว่า มีข้อมูลที่น่าสนใจอีกมากมายรออยู่ โดยรายงานจากบริษัท ดาต้าเซ็ต จำกัด ซึ่งใช้เครื่องมือ DXT360 ในการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลจากความคิดเห็นของนักช้อปชาวไทยในช่วงวันที่ 1 สิงหาคม – 10 กันยายน 2567 ได้เผยให้เห็นถึงแนวโน้มการเลือกใช้แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซของผู้บริโภคชาวไทยเอาไว้ถึง 5 ประเด็น ดังนี้

“Shopee-Lazada” ได้รับการพูดถึงสูงสุด

จากข้อมูลโซเชียลมีเดียที่ดาต้าเซ็ทรวบรวมมา พบว่า Shopee (ช้อปปี้) และ Lazada (ลาซาด้า) เป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซยอดนิยมที่ได้รับการพูดถึงสูงสุด โดย Shopee ได้รับการพูดถึงมากในสัดส่วน 36% Lazada 27% Temu (เทมู) 23% TikTok Shop (ติ๊กต๊อกช้อป) 13% และ อื่น ๆ 1% สะท้อนให้เห็นถึงความนิยมและการรับรู้ของผู้บริโภคต่อแพลตฟอร์มต่าง ๆ ในตลาดอีคอมเมิร์ซไทยปัจจุบัน

ดาต้าเซ็ทระบุด้วยว่า Shopee และ Lazada ถือเป็นผู้นำในตลาดอีคอมเมิร์ซไทย โดยทั้งสองแพลตฟอร์มมีกลยุทธ์ที่โดดเด่นในการดึงดูดผู้ใช้ที่แตกต่างกัน นั่นคือ Shopee เน้นการสร้างประสบการณ์ผู้ใช้ ด้วยการออกแบบ UI (User Interface) ที่ใช้งานง่าย และนำเสนอฟีเจอร์นวัตกรรมใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ Shopee ยังให้ความสำคัญกับการสร้างปฏิสัมพันธ์หรือการมีส่วนร่วมระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย เพื่อให้ได้รับประสบการณ์ที่ดีผ่านแพลตฟอร์ม

ในขณะที่ Lazada มุ่งเน้นการพัฒนาแพลตฟอร์มตามแนวคิด Shoppertainment โดยเฉพาะผ่านฟีเจอร์ LazLive ซึ่งเป็นการไลฟ์สตรีมที่ช่วยสร้างการมีส่วนร่วมและเชื่อมโยงอารมณ์ความรู้สึกระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย ส่งผลให้ผู้ใช้งานใช้เวลาบนแพลตฟอร์มนานขึ้นและมีแนวโน้มที่จะกลับมาใช้บริการซ้ำ

Shopee เด่นเรื่อง UI ลาซาด้าเด่นเรื่องบริการหลังการขาย

จากการเก็บข้อมูลความคิดเห็นของผู้บริโภคบนโลกออนไลน์ถึงประสบการณ์การใช้งาน Shopee และ Lazada ผ่านเครื่องมือ DXT360 ยังพบจุดเด่นของทั้ง 2 แพลตฟอร์มด้วย ผู้บริโภคส่วนใหญ่เห็นว่า Shopee มีจุดเด่นในเรื่องการออกแบบหน้าจอผู้ใช้ (UI) ซึ่งทำให้ใช้งานง่ายทั้งการค้นหาสินค้าและการเก็บโค้ดโปรโมชั่นที่สะดวก

ในขณะที่ Lazada ผู้บริโภคมองว่า มีจุดเด่นในเรื่องราคาสินค้า โดยเฉพาะประเภทสินค้าที่มีราคาสูง หรือสินค้าที่ขายผ่าน Official Store ของแบรนด์ต่าง ๆ มักจะมีราคาสุทธิที่ถูกกว่า นอกจากนี้ Lazada ยังโดดเด่นในด้านบริการหลังการขาย ทั้งการเคลมสินค้าและการติดต่อเจ้าหน้าที่ ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภคส่วนใหญ่

Temu ไม่ปังอย่างที่คิด

สำหรับผู้เล่นหน้าใหม่อย่าง Temu ซึ่งมีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการในไทยเมื่อช่วงปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมานั้น พบว่า มีเสียงวิจารณ์ในแง่ลบค่อนข้างมาก โดยประเด็นที่ถูกหยิบยกมาพูดถึงเกี่ยวกับ Temu แบ่งออกเป็นหัวข้อดังนี้

  • ยังไม่จดทะเบียนการค้าในไทย ทำให้ไม่เข้าข่ายเสียภาษีในไทย
  • ผลกระทบต่อผู้ประกอบการรายย่อย เนื่องจากโมเดลการทำธุรกิจของ Temu เป็นการซื้อขายโดยตรงกับโรงงานผู้ผลิตสินค้า ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบในการทำราคาได้ถูกกว่าคู่แข่ง
  • คุณภาพสินค้าและราคา  เนื่องจาก Temu เพิ่งเริ่มดำเนินการในไทย จึงอัดโปรโมชันส่งฟรีทุกออเดอร์ นโยบายคืนสินค้าในทุก ๆ ออเดอร์ฟรีภายใน 90 วัน หรือสามารถเลือกรับเป็นการคืนเงินส่วนหนึ่ง โดยไม่ต้องส่งสินค้ากลับคืนได้
  • ความเชื่อมั่นในการติดตั้งแอปพลิเคชัน  ผู้ใช้หลายรายยังมีความกังวลเรื่องการเก็บข้อมูลผู้ใช้ผ่านแอปฯ และความกังวลด้านความปลอดภัย

คนกลับไปใช้ Shopee – Lazada ตามเดิม

ดาต้าเซ็ทระบุด้วยว่า จากเสียงตอบรับ Temu ที่ไม่ค่อยดีนัก ทำให้ผู้ใช้ส่วนใหญ่ตัดสินใจกลับไปใช้ Shopee และ Lazada เช่นเดิม

ตัวอย่างที่ชัดเจนคือในแคมเปญ 9.9 ที่ผ่านมา Shopee ประเทศไทย สามารถทำยอดขายได้ถึง 1 พันล้านบาทภายในเวลาเพียง 18 นาที ผ่านช่องทางต่าง ๆ ของแพลตฟอร์ม เช่น Shopee Live, Shopee Video และ Shopee Affiliate Program แสดงให้เห็นว่า Shopee ยังคงเป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซอันดับ 1 ที่ได้รับความนิยมสูงสุดในหมู่นักช้อปชาวไทย

TikTok Shop เติบโตรวดเร็ว

นอกจาก e-Marketplace จะได้รับความนิยมสูงแล้ว ในส่วนของ Social Commerce ก็เติบโตเร็วไม่แพ้กัน โดยเฉพาะ TikTok Shop ที่ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว ซึ่งข้อได้เปรียบของ TikTok Shop คือการที่ตัวแอปเป็นโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มที่เป็นที่นิยมอันดับต้น ๆ หากมีการทำคอนเทนต์รีวิวสินค้า หรือการไลฟ์สตรีมขายสินค้า สามารถทำได้จบในแอปเดียวโดยไม่ต้องข้ามไปแพลตฟอร์มอื่น

สำหรับความเห็นของผู้บริโภคส่วนใหญ่ที่ชื่นชอบพบว่า การช้อปปิ้งผ่าน TikTok Shop ได้ส่วนลดสูงกว่าแพลตฟอร์มอื่น ๆ โดยเฉพาะการซื้อสินค้าผ่านการไลฟ์สตรีมที่จะได้รับโค้ดส่วนลดพิเศษ โดยไม่ต้องซื้อสินค้าขั้นต่ำตามที่กำหนด ทำให้ประหยัดได้มากกว่าปกติ จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ TikTok Shop ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคอย่างรวดเร็ว

ทั้งหมดนี้จะเห็นได้ว่า แต่ละแพลตฟอร์มที่เติบโตได้ดี ล้วนมีจุดแข็งของตัวเอง เช่น กรณีของ Shopee ที่โดดเด่นด้าน UI และการมีส่วนร่วมกับผู้ใช้งาน หรือ Lazada ที่มุ่งเน้นบริการหลังการขายและ Shoppertainment ส่วน TikTok Shop ก็เน้นเติบโตผ่าน Social Commerce และการให้ส่วนลดที่ถูกใจผู้บริโภคไทย

อย่างไรก็ดี ท่ามกลางพฤติกรรมการช้อปปิ้งของผู้บริโภคไทยที่พร้อมจะเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา จุดแข็งเหล่านี้จะยังมีประสิทธิภาพมากพอสำหรับอนาคตหรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดเช่นกัน


แชร์ :

You may also like