HomeFeaturedจุดพลิกชีวิต ‘กรุณา บัวคำศรี’ บทบาทใหม่เจ้าของแบรนด์ TARA และคนข่าวที่ไม่มีคำว่าเกษียณ 

จุดพลิกชีวิต ‘กรุณา บัวคำศรี’ บทบาทใหม่เจ้าของแบรนด์ TARA และคนข่าวที่ไม่มีคำว่าเกษียณ 

แชร์ :

“กรุณา บัวคำศรี” หนึ่งในหญิงเก่งที่เพิ่งได้รับรางวัล “Her Awards, UNFPA Thailand 2024 ประชากรหญิงผู้สร้างแรงบันดาลใจ” จาก UNFPA เป็นอีกรางวัลการันตีความสามารถของ “คนข่าว” ที่เริ่มต้นชีวิตการทำงานในฐานะ “สื่อมวลชน” มาตั้งแต่จบการศึกษาถึงปัจจุบัน

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

แม้การเดินทางทั่วโลกตลอดเวลา 7 ปี เพื่อทำสารคดีข่าวกว่า 200 ตอน ให้กับรายการ “รอบโลก by กรุณา คำบัวศรี” และรายการ “รอบโลก DAILY” ต้องลาจอ PPTV ไปตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2567

แต่การทำงานของ “กรุณา บัวคำศรี” ในวัย 53 ปี ที่ไม่เคยคิดเกษียณจากคำว่า “นักข่าว” 

Brand Buffet พาไปติดตามจุดพลิกผันในชีวิตคนข่าวของ “กรุณา บัวคำศรี” ตั้งแต่เริ่มงานวงการสื่อกับหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ถึงปัจจุบันการทำรายการบนยูทูบแชนแนล  “รอบโลก by กรุณา คำบัวศรี” แพลตฟอร์มของตัวเอง และจุดเริ่มต้นสร้างแบรนด์ TARA (ธารา) สินค้าที่มีแนวคิดรบกวนธรรมชาติให้น้อยที่สุด

ชีวิตวัยเด็กที่อรัญฯ  

แม้อรัญประเทศ เป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดสระแก้ว ซึ่งเป็นจังหวัดที่ตั้งขึ้นใหม่ในปี 2536  แต่คุณกรุณา บัวคำศรี หรือพี่ณา ชอบที่จะบอกว่าตัวเองเป็นคนอรัญประเทศ จังหวัดปราจีนบุรี มากกว่าเพราะเห็นภาพในวัยเด็กได้ชัดเจน

แม้คนทั่วไปจดจำพี่ณา ว่าเป็นคนข่าวที่สนใจข่าวและทำสารคดีข่าวต่างประเทศ แต่ในวัยเด็ก เธอไม่รู้ว่าข่าวต่างประเทศคืออะไรด้วยซ้ำ รู้แค่ว่าประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งของโลก ถ้าเป็นข่าวต่างประเทศก็จะได้ยินจากวิทยุกระจายเสียงในหมู่บ้านช่วงเช้าและเป็นช่วงสั้นๆ เท่านั้น เพราะ 80-90% เป็นข่าวในประเทศ

หากย้อนไปในช่วงที่ยังไม่มีอินเทอร์เน็ตในประเทศไทย 40-50 ปีก่อน  สื่อที่คนเสพก็จะเป็นโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์  วิทยุ  ข่าวทีวีหลักๆ ก็เป็นภาครัฐ เริ่มตั้งแต่ภารกิจนายกรัฐมนตรี ผบ.ทบ. รัฐมนตรี เป็นเรื่องของนักการเมืองเป็นส่วนใหญ่

พื้นที่นำเสนอข่าวต่างประเทศในยุคก่อนมีไม่มากและเป็นเรื่องทั่วไปที่บอกแค่ว่าเกิดอะไรขึ้น ไม่ได้ลงลึกที่มาที่ไปของเหตุการณ์ เพราะถือว่าไกลหูไกลตาคนต่างจังหวัดมาก

จุดเริ่มต้นความสนใจเกี่ยวกับ Global Issue ของพี่ณา มาจากเรื่องส่วนตัวและประสบการณ์โดยตรง ที่หากย้อนไปในชีวิตวัยเด็ก ที่อรัญประเทศ เป็นช่วงสงครามกลางเมืองในกัมพูชา หลังยุคเขมรแดงเกิดการแตกแยกของชนชั้นนำทางการเมือง จึงแบ่งเป็นเขมร 3 ฝ่าย

ชีวิตวัยเด็กที่มีคุณพ่อเป็นครู สอนอยู่ในพื้นที่บ้านหนองปรือ ตรงข้ามคือจังหวัดไพลิน กัมพูชา ที่เป็นฐานเขมรแดง ซึ่งอยู่ใกล้กับแนวชายแดนไทย จึงมักได้ยินทหารไทยคุยเกี่ยวกับเขมรแดง เริ่มเห็นผู้ลี้ภัยข้ามฝั่งมาประเทศไทย

จากนั้นเริ่มมีเจ้าหน้าที่ UN เข้ามาจัดระเบียบผู้ลี้ภัย มีชาวต่างชาติเข้ามาในอรัญประเทศ ทั้งเจ้าหน้าที่ UN องค์การกาชาดสากล ตัวเมืองคึกคัก ร้านค้าขายดี นั่นเป็นสิ่งเห็นถึงความแปลกใหม่ในวัยเด็ก แต่ก็ยังไม่เข้าใจอะไรมากนัก เพราะไม่รู้ว่าต้นเหตุของสงครามกลางเมืองในกัมพูชาคืออะไร หนังสือที่อ่านในยุคนั้นก็ไม่พูดถึงเรื่องในอดีต จึงไม่สามารถเชื่อมโยงกับสิ่งที่เห็นได้

จากสิ่งที่เห็นจึงเริ่มคิดว่า “มีอาชีพอะไร” ที่มากกว่าครอบครัวทำอยู่หรือไม่ เพราะครอบครัวตั้งแต่คุณปู่ ก็เป็นครู มีลูก 6 คน เป็นครู 5 คน ในอดีตอาชีพหลักๆ ของคนต่างจังหวัดมักเป็น ครู พยาบาล หมอ ทหาร ตำรวจ

ในวัยเด็กเอง พี่ณาก็คิดว่าจะเป็น “ครู” ตามคุณพ่อ หรือเป็นพยาบาล เพราะเวลาครอบครัวไม่สบายจะได้ดูแล วัยเด็กก็คิดอยู่แค่นั้น ไม่ได้คิดว่ามีอาชีพ “นักข่าว” แม้ได้เห็นนักข่าวต่างชาติ มาทำข่าวเขมรแดง ที่อรัญประเทศ แต่ขณะนั้นก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่า “ข่าวต่างประเทศ” คืออะไร

สอบเข้า “พยาบาล” ไม่ติด จุดพลิกก้าวสู่อาชีพ “นักข่าว” 

การเรียนในช่วงมัธยม พี่ณา ได้ย้ายมาเรียนที่จังหวัดชลบุรี เพราะคุณพ่ออยากให้มาเปิดหูเปิดตาในสภาพแวดล้อมใหม่ๆ เมื่อเรียนจบมัธยมปลาย ความตั้งใจแรกอยากเป็น “พยาบาล” เพื่อดูแลคนในครอบครัวยามเจ็บป่วย จึงเริ่มตระเวนสอบวิทยาลัยพยาบาลต่างๆ 4-5 ที่ แต่สอบไม่ติด

หลังจากสอบพยาบาลไม่ติด ก็รู้สึกว่าคงไม่ได้ชอบจริงๆ แต่ช่วงนั้นรู้ว่าชอบภาษาอังกฤษ เพราะเรียนแล้วสนุก ช่วงที่อยู่อรัญประเทศ เห็นคนสื่อสารภาษาอังกฤษกับต่างชาติ มีล่ามแปล รู้สึกว่าเท่ คิดว่าเป็นความทรงจำจากตรงนี้ที่อยากเรียนภาษาอังกฤษ

ช่วงสอบเอ็นทรานซ์เข้ามหาวิทยาลัยในยุคนั้น เลือกได้สูงสุด 6 คณะ  แม้มัธยมปลายจบจากสายวิทยาศาสตร์ แต่มาเลือกเอ็นทรานซ์สายศิลป์ จึงสอบติดคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (เลือกเป็นอันดับ 2) ส่วนอันดับท้ายๆ ที่เลือกไว้และอยากเรียนเช่นกัน คือ รัฐศาสตร์ มนุษยวิทยา และสังคมศาสตร์ (อยากเป็นอาสาสมัคร จากการเห็น UN มาช่วยผู้ลี้ภัยที่อรัญฯ และสนใจการเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ)

ปีแรกของนิสิต คณะอักษร จุฬาฯ ก็ยังไม่รู้ว่า “นักข่าว” คืออะไร แต่เป็นชีวิตที่สังคมเปลี่ยนเยอะ เป็นสังคมที่ต่างกันจากชีวิตในต่างจังหวัด คลาสแรกแนะนำตัวกับเพื่อนกว่า 100 คน ส่วนใหญ่มาจากโรงเรียนที่มีชื่อเสียง ส่วนเด็กต่างจังหวัดมีไม่เยอะ เรียกว่าเป็น Culture Shock เหมือนกันว่าจะเข้ากับเพื่อนได้หรือเปล่า แต่รู้สึกว่าต้องทำให้ได้

ช่วงที่อยู่อรัญฯ เป็นนักกีฬาบาสเก็ตบอล เล่นได้แชมป์จังหวัด ช่วงที่เรียนจุฬาฯ จึงหาอะไรทำ เพื่อให้เข้ากับเพื่อนได้และเป็นส่วนหนึ่งของสังคมเพื่อน จึงเลือกไปเล่นกีฬา ตั้งทีมบาสเก็ตบอลไปแข่งกีฬาน้องใหม่กับเพื่อนๆ ต่างคณะ จึงสนิทกับเพื่อนคณะวิศวะ

จากนั้นตามเพื่อนคณะวิศวะไปทำกิจกรรมชมรมสิ่งแวดล้อม (ได้แรงบันดาลใจจากพี่ชาย ที่เรียนสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ลาดกระบัง อยู่ชมรมสิ่งแวดล้อมเช่นกัน) จากนั้นเริ่มทำกิจกรรมออกค่ายอาสา ในช่วงเวลานี้จึงเห็นว่าเราไม่จำเป็นต้องไปเลือกคณะที่อยากเรียนก็ได้ เพราะกิจกรรมก็ทำให้ได้ทำอย่างอื่นๆ ที่ชอบ  อย่าง อาสาสมัคร ช่วยเหลือสังคม เดินป่า

ด้วยความที่ชอบทำกิจกรรมและคุยกับชมรมต่างๆ รุ่นพี่จึงชวนลงสมัครเลือกตั้ง องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาฯ (อบจ.) เพื่อทำกิจกรรมระดับมหาวิทยาลัย และชนะเลือกตั้ง

ช่วงที่เรียนจุฬาฯ ปี 2 เกิดรัฐประหาร โดย พล.อ.สุจินดา คราประยูร ปี 2534 ด้วยความที่เป็น อุปนายกฝ่ายกิจการภายนอก อบจ. จึงไปร่วมกับมหาวิทยาลัยต่างๆ ประท้วงรัฐประหาร โดยเดินสายทั่วประเทศ เพื่อชวนสโมสรนักศึกษาต่างๆ  มาทำกิจกรรม ออกแถลงการณ์ ประท้วงที่หน้ารัฐสภา ช่วงเวลานั้นจึงได้มีโอกาสเจอกับ “นักข่าว” เพราะต้องให้สัมภาษณ์นักข่าวถึงสิ่งที่นักศึกษามาประท้วง เป็นช่วงที่เริ่มรู้จักคนเยอะขึ้น ทั้งนักข่าวไทย นักข่าวต่างประเทศ นักการเมือง นักวิชาการ

ในช่วงเวลานั้นเริ่มคิดแล้วว่า หลังจบมหาวิทยาลัย หากจะทำอะไรสักอย่างก็คงเป็น “นักข่าว” เพราะเป็นสิ่งที่ถูกจริตที่สุด

ต่อมาในปี 2535 ก็เกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ก็ออกไปประท้วงอีกครั้ง หลังเหตุการณ์สงบก็กลับมาเรียนปี 4 และจบการศึกษา

เริ่มต้นอาชีพนักข่าวครั้งแรกกับ “บางกอกโพสต์” 

หลังจบมหาวิทยาลัย พี่ณาก็บอกกับตัวเองว่าอยากเป็น “นักข่าว” ที่ต้องการเข้าถึงข้อมูลให้ได้เยอะที่สุดเท่าที่จะทำได้  จึงคิดว่าต้องเก่งภาษาอังกฤษเพื่อเข้าถึงข้อมูลได้ทั่วโลก (เป็นยุคที่เริ่มใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทยแล้ว) เวลาทำข่าวจะได้มีแหล่งข้อมูลมากกว่าคนอื่น จึงตัดสินใจไปสมัครงานที่หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ และได้รับโอกาสเป็นนักข่าวครั้งแรก

การทำงานที่บางกอกโพสต์ เริ่มที่การทำข่าวสิ่งแวดล้อม ต้องเดินทางไปสถานที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เขื่อนปากมูล เขื่อนแก่งเสือเต้น เพราะต้องการเป็นนักข่าวที่ลงพื้นที่ อยากเดินทางเจอผู้คน หลังทำงานได้ 2 ปี ก็อยากไปเรียนต่างประเทศเพื่อเพิ่มทักษะการทำข่าว จึงขอทุนไปเรียนต่อที่อังกฤษ

ตอนนั้นก็ชัดเจนแล้วว่าอยากเป็น “นักข่าว” ต่อไปเรื่อยๆ มีความสนใจสายข่าวการเมือง สิ่งแวดล้อม และประเด็นข่าวต่างประเทศ 

เก็บเกี่ยวประสบการณ์นักข่าวทีวี

หลังจากได้ทุนไปเรียนที่อังกฤษ รู้สึกได้เปิดหูเปิดตามากขึ้น ได้ฝึกงานที่ BBC  ช่วงนั้นมีสงครามคอซอวอ จึงเห็นว่าสถานการณ์ Global Issue ที่น่าสนใจ เริ่มคิดอยากทำข่าวต่างประเทศ

พี่ณา เล่าว่าช่วงนั้นรู้แล้วว่าอยากเป็น “นักข่าวทีวี” เพราะตอนที่เรียนอยู่อังกฤษ ดูทีวีในอังกฤษแล้วเห็นว่ามีข่าวหลากหลาย การตัดต่อที่น่าสนใจ ต่างจากข่าวทีวีในประเทศไทย

หลังเรียนจบกลับมาประเทศไทย เป็นช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง และมีสถานีโทรทัศน์ ITV เกิดขึ้นแล้ว เป็นช่องที่นำเสนอข่าวรูปแบบใหม่ต่างจากทีวีอื่นๆ การนำเสนอข่าวของ ITV เริ่มด้วยข่าวชาวบ้านก่อน ไม่ใช่ข่าวภาครัฐ ภารกิจนายกฯ  ถือเป็นมิติใหม่ของวงการทีวี จึงรู้สึกว่าอยากเป็น “นักข่าวไอทีวี” เพราะเป็นสถานีทีวีที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์พฤษาทมิฬ ที่ได้ไปร่วมประท้วงด้วยในช่วงที่เป็นนิสิต

 

ช่วงที่กลับจากอังกฤษ ได้เริ่มทำงานข่าวกับสถานีทีวี ABC ออสเตรเลีย 1 ปี  หลังจากนั้นได้มีโอกาสเข้าไปทำงานใน ITV จากการชักชวนของ คุณกิตติ สิงหาปัด เริ่มที่ข่าวเศรษฐกิจต่างประเทศ ตามประเด็น IMF World Bank เพราะไทยอยู่ในช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง ช่วงนี้ถือว่าเริ่มแตะการทำข่าวต่างประเทศแล้ว เป็นช่วงที่ ITV ส่งนักข่าวไปทำข่าวต่างประเทศในประเด็นที่น่าสนใจ และพี่ณาก็ได้รับโอกาสในจุดนี้ด้วย

การทำงานที่ ITV เป็นการเริ่มต้นทำข่าวต่างประเทศอย่างจริงจัง มองว่าต้องอาศัยอีกมุมมองในการนำเสนอให้น่าสนใจ เพราะในอดีตคนที่จะเสพข่าวต่างประเทศมีจำนวนไม่มาก ส่วนหนึ่งมาจากวิธีการทำข่าวต่างประเทศในอดีตเป็นการบอกเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นในสถานที่หรือเหตุการณ์ต่างๆ เท่านั้น  ไม่ได้เล่าที่มาที่ไป วิเคราะห์สาเหตุที่เกิดขึ้น ทำให้คนดูไม่ได้รู้สึกว่าสำคัญ เป็นการดูเพื่อให้รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น และไม่รู้ว่าจะส่งผลต่อประเทศต่างๆ อย่างไร

เมื่อย้อนไปดูเหตุการณ์ต่างประเทศสำคัญ ที่เกิดขึ้น อย่างช่วงที่เรียนอยู่จุฬาฯ ในปี 1991 เกิดสงครามเย็น สหภาพโซเวียตล่มสลาย แต่ก็ไม่มีรายงานข่าวเจาะลึก ทั้งที่เป็นเหตุการณ์ใหญ่ของโลก  หรือวัยเด็กก็เคยได้ยินเรื่องวิกฤติการณ์ขีปนาวุธคิวบา โดยไม่รู้ว่าช่วงนั้นเกิดสงครามนิวเคลียร์ เป็นอีกเหตุการณ์สะเทือนผู้คนทั่วโลก เพราะวิธีการนำเสนอข่าวต่างประเทศของสื่อไม่ได้อธิบายสิ่งที่เกิดขึ้น

เหตุการณ์ที่ทำให้คนไทยหันมาสนใจข่าวต่างประเทศอย่างมาก คือปี 2001 เกิดเหตุการณ์ 911 ที่สหรัฐฯ  แต่เป็นช่วงที่ลาออกจาก ITV แล้ว และเป็นจังหวะที่มาทำงานกับสำนักข่าวต่างประเทศ จึงมีโอกาสได้ทำประเด็นข่าวนี้เต็มตัว มีโอกาสได้ไปปากีสถานกับทีมงาน ได้เห็นวิธีการทำงานของทีมสารคดีข่าวต่างประเทศ บอกเล่าที่มาที่ไปของเหตุการณ์ 911 เรียกว่าเป็นสิ่งที่เปิดโลกการทำสารคดีข่าวอย่างมาก

ด้วยความที่เป็นคนชอบขอทุนเพื่อไปเดินทางไปเรียนต่างประเทศเพิ่มเติมตลอดเวลา ทั้งทุนจาก UN สหภาพยุโรป มีช่วงหนึ่งได้ทุนไป เบอร์ลิน เยอรมนี  ได้เห็นกำแพงเบอร์ลิน จากนั้นเริ่มกลับไปอ่านหนังสือ หาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตก็รู้ว่ากำแพงเบอร์ลิน เป็นจุดเริ่มต้นการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ถือเป็นแรงบันดาลใจที่ต้องการทำสารคดีเชิงข่าว (News Documentary) เจาะลึกที่มาที่ไป ผลกระทบจากเหตุการณ์ ลงลึกไปในพื้นที่เกิดเหตุเพื่อดูความเป็นอยู่ของผู้คน

ชีวิตการทำงานในช่วงนั้นจึงเป็นฟรีแลนซ์ ทำให้สำนักข่าวต่างประเทศให้หลายสำนักข่าว ทั้ง BBC  อัลจาซีรา รวมทั้งพาโนรามา เป็นสารคดีเชิงข่าวความยาวตอนละ 30 นาที  เป็นสิ่งที่ชอบมาก  เพราะต้องการอธิบายประเด็นข่าวต่างประเทศสำคัญๆ ที่ส่งผลกระทบต่อผู้คน

หลังออกจาก ITV และทำงานฟรีแลนซ์ให้กับสำนักข่าวต่างประเทศ เมื่อเกิดรัฐประหารในสมัย พล.อ. สนธิ บุญยรัตกลิน ทำให้เกิดสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส (เปลี่ยนมาจาก ITV)  คุณเทพชัย หย่อง ที่ดูแลไทยพีบีเอสอยู่ในช่วงนั้นได้ชวนกลับมาทำข่าวที่ไทยพีบีเอส แต่ก็ทำได้ราว 1 ปี  เพราะเป็นช่วงที่การเมืองแตกแยกอย่างมาก การทำงานข่าวในเวลานั้นรู้สึกได้ว่าสุขภาพจิตตก

ช่วงที่ลาออกจากไทยพีบีเอส ต้องการพักการลงพื้นที่ทำข่าว จึงมาอยู่กับ “ช่อง 3” ซึ่งได้รับหน้าที่เป็นผู้ประกาศข่าวช่วงเที่ยง ถือว่าตอบโจทย์ชีวิตในช่วงนั้นที่ต้องการพัก จากเดิมที่คิดว่าจะทำ 2 ปี แต่ก็ทำงานกับช่อง 3 ต่อเนื่องมาถึง 6 ปี  ช่วงที่อยู่กับช่อง 3 ก็มีโอกาสลงพื้นที่ทำข่าวเหตุการณ์สำคัญๆ ในต่างประเทศอยู่บ้าง

เริ่มต้น “รอบโลก by กรุณา บัวคำศรี” ทำสารคดีข่าวเต็มตัวกับ PPTV     

หลังอยู่ “ช่อง 3” มา 6 ปี ทำหน้าที่อ่านข่าวในสตูดิโอ ก็รู้สึกว่าสบายเกินไป ตอนนั้นอายุ 43 ปีแล้ว แต่ยังมีสิ่งที่อยากทำคือ “สารคดีข่าว” จึงลาออกจากช่อง 3 เพราะได้รับโอกาสจากนายแพทย์ปราเสิรฐ ปราสาททองโอสถ เจ้าของสถานีโทรทัศน์ PPTV ให้ทำสารคดีข่าว “รอบโลก by กรุณา บัวคำศรี”    

การทำสารคดีข่าวเป็นสิ่งที่ทำยาก ใช้เงินลงทุนสูง ใช้เวลาการผลิตนาน เพราะต้องลงพื้นที่เพื่อให้เห็นข้อมูลจริง ดังนั้นเพื่อให้ต้นทุนการผลิตต่ำลง การทำรายการสารคดีข่าว “รอบโลก by กรุณา บัวคำศรี”  ตัวพี่ณาเองจึงต้องทำงานในหลายบทบาท ตั้งแต่ทำ Pre production หาข้อมูล เขียนสคริปต์ พิธีกร และ Post production 

ตลอดระยะเวลา 7 ปีที่อยู่กับ PPTV ทำสารคดีข่าวต่างประเทศไปกว่า 200 ตอน (สัปดาห์ละ 1 ตอน เวลา 30 นาที)

“ในวัย 43 ปี ที่เริ่มทำรายการรอบโลก by กรุณา บัวคำศรี ต้องลงพื้นที่ทำสารคดีข่าวอีกครั้ง ช่วงที่เริ่มทำไม่เคยคิดว่าตัวแก่ เพราะหากไม่ทำตอนนั้นอายุก็มากขึ้นเรื่อยๆ ถ้าไม่ทำก็ไม่รู้จะมีโอกาสได้ทำตอนไหน”

การทำรายการ “รอบโลก by กรุณา บัวคำศรี” เป็นช่วงเวลาที่มีความสุขมากที่สุด สนุกที่สุดในชีวิตการทำงานข่าวมา แม้เหนื่อยแต่สะใจ ที่ได้ปล่อยพลังในการทำงาน  เพราะไม่ชอบความเป็นรูทีน นั่งอ่านข่าวในสตูดิโอ หรือไปในสถานที่เดิมๆ  ทำงานเดิมซ้ำๆ  รู้สึกว่าไม่ใช่ชีวิตเรา 

หลังทำรายการ “รอบโลก by กรุณา บัวคำศรี” และ รอบโลก DAILY กับ PPTV มา 7 ปี ในที่สุดก็ได้จบสัญญาลาจอ ไปเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2567

“ไม่เสียดายที่รายการสารคดีข่าวไปต่อไม่ได้ เพราะหากต้องหยุดก็ยอมรับสภาพ แต่ถามว่าอยากทำอีกไหม …. ตอบได้เลยว่า “อยากทำอีก”  จึงต้องหาวิธีที่จะกลับมาทำต่อ

สิ่งที่อยากกลับมาทำสารคดีข่าวอีก เพราะตั้งแต่ทำงานมารู้สึกว่า ตัวเองได้ทำงานเป็นชิ้นเป็นอัน ได้บอกเล่าเรื่องราวที่มาที่ไปของเหตุการณ์ต่างๆ ที่สำคัญมองว่าสื่อไทย ควรมีคอนเทนต์สารคดีข่าวต่างประเทศ เป็นอีกตัวเลือกให้ผู้ชม จะด้วยใครทำก็ได้ เพราะเรามีพื้นที่สื่อเยอะมาก แต่แทบไม่มีสารคดีข่าวต่างประเทศเลย เพราะจากประสบการณ์ที่ทำรายการ “รอบโลก by กรุณา บัวคำศรี” ได้รับฟีคแบ็ค จากผู้ชมว่าเข้าใจสถานการณ์ต่างๆ มากขึ้น หลังจากได้ดูสารคดีข่าว นี่คือเป้าหมายของคนทำสื่อ เมื่อผู้ชมขอบคุณที่ทำให้เข้าใจเรื่องราวที่เกิดขึ้น

เป้าหมายของสื่อมวลชน คือ ทำให้คนเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น ไม่ใช่แค่ทำให้รู้เท่านั้น เพราะถ้าแค่รู้ หาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตก็รู้ แต่การทำให้เข้าใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้

 

จากคนข่าวสู่เจ้าของแบรนด์ TARA    

หลังรายการ  “รอบโลก by กรุณา บัวคำศรี” ลาจอ PPTV  พี่ณายังคงทำรายการ “รอบโลก by กรุณา บัวคำศรี” บนแพลตฟอร์มออนไลน์ ยูทูบของตัวเอง ซึ่งมีผู้ติดตามกว่า 1.13 ล้านคน เป็นรายการบอกเล่าเรื่องราวเหตุการณ์ที่น่าสนใจในต่างประเทศ

แต่ความตั้งใจในเส้นทางคนทำสารคดีข่าวยังไม่หมดไป โดยมีเป้าหมายที่จะกลับมาผลิตสารคดีข่าวอีกครั้ง แต่หลังจากนี้จะโฟกัสเรื่อง Geopolitics และสิ่งแวดล้อม โลกร้อน โลกป่วน เผยแพร่บนแพลตฟอร์มออนไลน์ของตัวเอง รวมทั้งอาจจะมีโปรเจกต์พิเศษที่สถานีทีวีเสนอมาให้ผลิตสารคดีข่าวในเดือนตุลาคมนี้

ความสนใจในประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม โลกร้อน เพราะมองว่าเป็นสิ่งที่ประนีประนอมไม่ได้อีกแล้ว ต้องทำอย่างจริงจัง ดังนั้นการทำสารคดีข่าวเรื่องนี้ จึงตัดโอกาสที่จะมีสปอนเซอร์สนับสนุนออกไปจำนวนมาก และที่จริงก็ไม่ได้คิดว่าจะต้องมีสปอนเซอร์ด้วย เพราะไม่อยากให้มากำหนดประเด็นการนำเสนอเรื่องราว รวมทั้งไม่อยากให้ผู้ชมตั้งคำถามว่าทำไมถึงได้เงินสนับสนุนจากบริษัทที่เกี่ยวข้องกับโลกร้อน

“โปรเจกต์สารคดีข่าวสิ่งแวดล้อม อาจจะเป็นโปรเจกต์สุดท้ายในชีวิตคนข่าวที่จะลงพื้นที่ทำเอง จึงต้องการทำงานอย่างสบายใจ ด้วยการหาเงินทำเอง หากหาเงินได้และได้ทำสารคดีข่าวอีกครั้งก็ถือว่าเป็นสิ่งที่จะตอบแทนสังคม แต่หากหาเงินไม่ได้และไม่ได้ทำก็ไม่เป็นไร จึงไม่เครียดหรือกดดันตัวเองว่าต้องหาเงินมาทำให้ได้” 

เมื่อต้องการหาเงิน จึงคิดทำธุรกิจเริ่มด้วยการผลิตสินค้าขาย เพราะรู้มีคนต้องการสนับสนุนการทำสารคดีข่าว แต่พี่ณาเองก็ไม่อยากได้เงินโดยไม่ได้ตอบแทนผู้สนับสนุน  แม้จะทำคอนเทนต์ให้ดูแล้ว ก็อยากมีสิ่งของแลกเปลี่ยนเพื่อตอบแทนด้วย จึงเป็นที่มาของการทำ แบรนด์ TARA (ธารา) โดยเชื่อมโยงกับคอนเทนต์ด้านสิ่งแวดล้อม

TARA  มาจากชื่อของพี่ชายของพี่ณา (คุณธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการ Greenpeace ประเทศไทย) เป็นลูกชายคนแรกของคุณพ่อที่เพิ่งเสียไป จึงต้องการให้เป็นตัวแทนของคุณพ่อด้วย และ “ธารา” ก็แปลว่าน้ำ เป็นตัวแทนของสิ่งแวดล้อม และเป็นสิ่งสำคัญของมนุษย์  TARA ภาษาอังกฤษอ่านออกเสียงได้ง่าย

ที่ไม่ตั้งชื่อแบรนด์ว่า “กรุณา” เพราะไม่ต้องการให้เชื่อมโยงกับตัวเองมากนัก และในอนาคตหากแบรนด์ไปต่อได้อาจจะส่งมอบให้คนอื่นไปทำต่อ โดยตั้งเป็นองค์กรหารายได้สนับสนุนคนทำงานด้านสิ่งแวดล้อม

โดยส่วนตัวพี่ณา เป็นคนชอบงานดีไซน์และคิดว่าไม่จำเป็นต้องแพง แบรนด์ TARA จึงเริ่มด้วยการทำ Branding จุดยืนของแบรนด์เป็นสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับการหารายได้เพื่อมาเป็นทุนทำรายได้เพื่อสิ่งแวดล้อม

สินค้าตัวแรกของแบรนด์ TARA  คือ เสื้อยืด ที่ผลิตจาก “ผ้าเดดสต็อก” ได้ไอเดียนี้มาจากการไปทำสารคดี  Fast Fashion ที่บังคลาเทศและกัมพูชา และเห็นว่ามีผ้าประเภทนี้อยู่จำนวนมาก

จึงเป็นโปรเจกต์กู้ชีวิตผ้าเดดสต็อก ซึ่งเป็นผ้าคุณภาพดีที่ใช้ผลิตเสื้อผ้าทั่วไป แต่ถูกทิ้งไว้ในโกดังไม่มีคนใช้ เพราะในธุรกิจแฟชั่นเมื่อหมดซีซันแล้ว จะเอาผ้าที่เหลือไปทิ้ง ปัจจุบันมีผ้าเดดสต็อกอยู่ในโกดังในประเทศไทยสามารถผลิตเสื้อผ้าได้ 700 ล้านตัว  จึงเป็นการนำผ้าเดดสต็อกที่มีอยู่กลับมาใช้ประโยชน์อีกครั้ง

แบรนด์ TARA ไม่ใช้ว่า Green Product เพราะยังไม่ Green 100% คอนเซปต์ของแบรนด์พยายามใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้คุ้มค่ามากที่สุดและรบกวนสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด  

สินค้าต่อไปคือกลุ่มสกินแคร์ TARA Essential จะทำเฉพาะสินค้าที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวัน เช่น สบู่ มอยซ์เจอไรเซอร์  ครีมล้างหน้า ครีมกันแดด โดยคิดจากตัวพี่ณาเองว่าใช้สินค้าอะไรบ้าง

“การทำธุรกิจแบรนด์ TARA เพื่อต้องการหาทุนมาทำสารคดีข่าว แม้มีความตั้งใจและจริงจังกับการทำแบรนด์ แต่ท้ายที่สุดแล้วหากไม่ได้ตามเป้าหมายก็เป็นสิ่งที่ยอมรับได้”  

ทั้งการทำแพลตฟอร์มยูทูบเองและแบรนด์ TARA ก็คิดอยู่ในใจเงียบๆ ว่า หากทำสำเร็จก็เป็นสิ่งที่ดี ที่จะทำให้ “นักข่าว” รุ่นน้องอีกหลายๆ คน ที่อยากทำงานแบบนี้ แต่มีข้อจำกัดหลายอย่าง จะได้เห็นว่ามีวิธีไปต่อได้แม้ไม่ได้อยู่ในองค์กรสื่อ ถ้าทำสำเร็จก็จะเป็นโมเดลให้คนอื่นทำตามได้

“นักข่าว” ไม่มีวันเกษียณ

ในวัย 53 ปี พี่ณา ยังคงเป็นคนข่าวทำรายการรอบโลก DAILY ทางยูทูบ “รอบโลก by กรุณา บัวคำศรี” ทุกวัน และมีความตั้งใจที่จะลงพื้นที่ทำสารคดีข่าวอีกครั้ง เมื่อมีความพร้อมด้านเงินทุนจากการทำแบรนด์ TARA

ชีวิตการทำงานข่าวมาถึงวันนี้และยังต้องการทำต่อไป เพราะพี่ณา ไม่เคยคิดถึงการ “เกษียณ” จากงานข่าว ในอนาคตอาจจะลดเวลาการทำงานน้อยลง แต่ยังคงเป็น “คนข่าว” อยู่ต่อไปแน่นอน แม้ไม่ได้ลงพื้นที่ทำข่าว หรือจัดรายการทางออนไลน์ แต่จะมีงานเขียนบทความต่างๆ ออกมาอย่างแน่นอน

ตั้งแต่เริ่มต้นทำงานมาถึงวันนี้พี่ณายังคงยืนยันว่าจะเป็น “คนข่าว” ต่อไปและให้นิยามตัวเองว่าเป็น “นักข่าวที่สนใจและเลือกทำในประเด็นที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคม” 

“คนที่อิ่มเอมกับชีวิตไม่จำเป็นต้องมีอะไรมาก แต่เป็นคนที่รู้สึกว่าได้ทำอะไรให้กับสังคม ถ้าเราทำงานหาเงินเพื่อให้ตัวเองสบาย แต่ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงสังคม เราสบายแต่ไม่มี purpose ในชีวิต”

ติดตามพวกเราได้ที่ LINE


แชร์ :

You may also like