Doom Spending หรือพฤติกรรมการจับจ่ายประหนึ่งวันนี้คือวันสุดท้ายของการมีชีวิตบนโลก กำลังเป็นอีกหนึ่งเทรนด์ที่พบได้มากขึ้นในหมู่ Gen Z และมิลเลนเนียล
ด้านผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า ส่วนมากมักเกิดจากความไม่มั่นคงในจิตใจ ทั้งจากการทำงาน ชีวิตครอบครัว ตลอดจนการเสพข่าวร้าย ๆ จากสื่อโซเชียลมีเดียที่มากเกินไป นำไปสู่การใช้เงินแบบไม่เหมาะสม เพื่อให้รู้สึกว่าตนเองมีอำนาจ – สามารถควบคุมบางอย่างได้ ซึ่งในท้ายที่สุดแล้ว ผู้ที่มีพฤติกรรมทางการเงินดังกล่าวอาจมีสถานะทางการเงินที่แย่กว่ารุ่นพ่อแม่ของตนเองได้เลยทีเดียว
การเสพข่าวแย่ ๆ สู่พฤติกรรมการใช้จ่ายที่ไม่เหมาะสม
Ylva Baeckstrom อาจารย์และผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินจาก King’s Business School กล่าวว่า พฤติกรรม Doom Spending มักเกิดกับคนที่มีความไม่มั่นคงทางจิตใจ จึงต้องการซื้อของ (ใช้เงิน) เพื่อให้ตนเองรู้สึกดีขึ้น ขณะที่บางคนก็เกิดจากการประเมินสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจในแง่ร้ายเกินไป และพฤติกรรมเหล่านี้พบได้มากขึ้นในหมู่คน Gen Z และมิลเลนเนียลที่มีการใช้งานสื่อโซเชียลมีเดียสูงมากนั่นเอง
อาจารย์คนดังกล่าวระบุด้วยว่า การเสพข่าวออนไลน์ก็เป็นอีกหนึ่งตัวการ เพราะข่าวไม่ดีเหล่านั้นทำให้คนรุ่นใหม่รู้สึกไม่มีความหวังต่อโลก และนำไปสู่การใช้ชีวิตเหมือนวันนี้คือวันสุดท้าย โดยสะท้อนออกมาผ่านพฤติกรรมการใช้เงิน
คนรุ่นใหม่ยอมรับ หาเงินได้ไม่เก่งเท่าพ่อแม่
ขณะที่ผลสำรวจจาก Intuit Credit Karma ในหมู่อเมริกันชน 1,000 คนเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2023 พบว่า 96% ของผู้ตอบแบบสอบถามกังวลเกี่ยวกับสภาพเศรษฐกิจของประเทศ และมากกว่า 25% เลือก Doom Spending ในการรับมือกับความเครียดนั้น
ขณะที่ ผลการสำรวจของ Survey Monkey ในผู้ใหญ่จำนวน 4,342 คนทั่วโลก เกี่ยวกับสถานะทางการเงินก็พบว่าไม่แตกต่างกัน โดยมีถึง 42.8% ระบุว่า พวกเขามีสถานะทางการเงินแย่กว่าคนรุ่นพ่อแม่ตัวเอง และมองว่าตนเองไม่สามารถหารายได้สู้กับคนรุ่นพ่อแม่ตัวเองได้ โดยมีเพียง 36.5% ที่บอกว่า สถานะทางการเงินของตนเองดีกว่ารุ่นพ่อแม่
คนรุ่นใหม่ซื้อบ้านได้ยากขึ้น
ไม่เฉพาะในไทยที่การซื้อบ้านเป็นของตัวเองทำได้ยากขึ้น คนรุ่นใหม่ในสหรัฐอเมริกาก็เผชิญปัญหานี้เช่นกัน Ylva Baeckstrom ระบุว่า สถานการณ์ดังกล่าวทำให้คนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยนำเงินไปซื้อสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น เช่น รถยนต์ แทนการเก็บเงินซื้อบ้าน พร้อมให้เหตุผลว่า สร้างความพึงพอใจได้เร็วกว่า
ทั้งนี้ การจะแก้พฤติกรรม Doom Spending ได้นั้น Ylva Baeckstrom มองว่า อาจต้องทำให้การใช้เงิน “ยากขึ้น” เช่นการกลับมาใช้เงินสด หรือการออกไปเดินดูสินค้าในห้าง (ที่ต้องต่อคิว) แทนการซื้อสินค้าออนไลน์ รวมถึงการลดใช้บริการอย่าง Apple Pay – Google Pay ลง
อีกหนึ่งตัวช่วยคือการมีต้นแบบด้านการเงินที่ดี ซึ่งในรายงานของ Survey Monkey ระบุว่า หลายคนไม่ได้รับการอบรมเรื่องการบริหารจัดการเงินจากครอบครัว และนำไปสู่พฤติกรรมการใช้เงินที่ไม่เหมาะสมได้นั่นเอง
ติดตามพวกเราได้ที่ LINE
รูปภาพ/วิดีโอจาก Number 24 x Shutterstock Thailand พาร์ทเนอร์ชัตเตอร์สต็อกอย่างเป็นทางการแต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย
www.number24.co.th
#Number24xShutterstock