HomeBrand Move !!มาแบบพรีเมียม กลยุทธ์มาเลเซียส่ง “ทุเรียน Musang King” เจาะตลาดจีน-ขายเกลี้ยงใน 2 ชั่วโมง

มาแบบพรีเมียม กลยุทธ์มาเลเซียส่ง “ทุเรียน Musang King” เจาะตลาดจีน-ขายเกลี้ยงใน 2 ชั่วโมง

แชร์ :

musang king malaysia durian

การติดฉลากบอกสายพันธุ์ของทุเรียน Musang King จากมาเลเซียอย่างชัดเจน (ขอบคุณภาพจากสำนักข่าวซินหัว)

อาจกล่าวได้ว่า ทุเรียนไทยกำลังเผชิญหน้าคู่แข่งตัวจริงแล้วในตลาดจีน กับการเปิดตัวของทุเรียนจากมาเลเซียพันธุ์ Musang King ที่ขึ้นชื่อเรื่องเนื้อที่เนียนละเอียด รสชาติที่โดดเด่น และราคาที่สูงกว่าทุเรียนจากประเทศอื่น ๆ โดยล็อตแรกของการนำเข้าทุเรียนพันธุ์ดังกล่าว สามารถจำหน่ายผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซชื่อดังอย่าง JD.com และขายหมดภายในเวลาเพียง 2 ชั่วโมงเท่านั้น

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

หากมองให้ลึกลงไปในตัวเลขที่กล่าวข้างต้น จะพบว่าความน่าสนใจในการทำตลาดทุเรียนจากมาเลเซียในจีนแผ่นดินใหญ่สองข้อ นั่นคือ การเลือกช่องทางการจัดส่งสินค้า และเมืองที่เป็นจุดหมายปลายทาง เห็นได้จากคำให้สัมภาษณ์ของ Eric Chan Yee Hong ประธานสมาคมผู้ปลูกทุเรียนของมาเลเซียที่กล่าวว่า มาเลเซียเลือกขนส่งด้วยเครื่องบินเพื่อเหตุผลด้านความสดใหม่

ขณะที่จุดหมายปลายทางพบว่า มาเลเซียได้เลือกเมืองเจิ้งโจว ซึ่งตั้งอยู่ในมณฑลเหอหนานเป็นเมืองแรกของการเปิดตัว โดยจุดเด่นของมณฑลเหอหนาน คือการมีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่นประมาณ 100 ล้านคน และตั้งอยู่ใจกลางประเทศ ซึ่งสามารถกระจายสินค้าต่อไปยังจุดอื่น ๆ ได้อย่างรวดเร็ว ทั้งทางบก รถไฟ และทางอากาศ

ด้านผู้ประกอบการของเมืองเจิ้งโจวอย่าง Sheng Weihua จากบริษัท Sun Fruit and Vegetable Trade กล่าวถึงข้อดีของระบบโลจิสติกส์ของจีนว่า ช่วยให้ผู้บริโภคชาวจีนสามารถซื้อหาทุเรียนสดจากมาเลเซียโดยใช้เวลาในการขนส่งเพียง 24 – 36 ชั่วโมงเท่านั้น ซึ่งเขาเชื่อว่า จุดเด่นนี้จะทำให้ตลาดทุเรียนเติบโตขึ้นอย่างมากในอนาคต

ส่งทุเรียนเปิดตลาดสินค้า “มาเลเซีย” ในจีน

ทั้งนี้ ข้อมูลจากสำนักข่าวซินหัวของจีนระบุว่า ในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ มณฑลเหอหนานนำเข้าทุเรียนสดแล้วเป็นมูลค่า 210 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 214.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และหากความนิยมในทุเรียนพันธุ์ Musang King จากมาเลเซียเพิ่มขึ้น ก็คาดว่าจะมีไฟล์ทบินจากมาเลเซียไปยังเจิ้งโจวเพิ่มขึ้นด้วย และนั่นอาจเป็นช่องทางการนำเข้าอาหารสดจากมาเลเซียไปยังตลาดจีนได้อีกหลายประเภท เช่น อาหารทะเล ดอกไม้ ฯลฯ

ขณะที่ในมุมของไทย ข้อมูลจากจากฝ่ายเกษตร ประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครเซี่ยงไฮ้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ระบุว่า ในปี 2566 ทุเรียนไทยยังคงเป็นเบอร์หนึ่งที่มีการนำเข้าไปยังตลาดจีน โดยระบุว่า การนำเข้าทุเรียนของจีนในเดือนมกราคม – ตุลาคม 2566 นั้น พบว่า มีมากถึง 1.3 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 88.5% คิดเป็นมูลค่า 223,335 ล้านบาท โดยเป็นการนำเข้าจาก 3 ประเทศ ได้แก่ ไทย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ ซึ่งทุเรียนจากไทยนำเข้าเป็นจำนวน 9.04 แสนตัน คิดเป็นสัดส่วน 66.47% รองลงมาคือเวียดนาม 4.52 แสนตัน (33.28%) และฟิลิปปินส์ 3,326 ตัน (0.24%)

สำหรับการรักษาส่วนแบ่งในตลาดทุเรียนจีนให้ได้อย่างยั่งยืนนั้น ฝ่ายเกษตร ประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครเซี่ยงไฮ้ ระบุว่า ไทยต้องรักษาคุณภาพของทุเรียนให้มีความสม่ำเสมอ และเป็นที่ไว้วางใจของผู้บริโภค รวมถึงต้องมีความปลอดภัยจากแมลงศัตรูพืช และมีราคาที่สมเหตุสมผล

นอกจากนี้ การมีสัญลักษณ์ที่บ่งชี้แหล่งกำเนิดว่ามาจากประเทศไทยก็เป็นสิ่งสำคัญ เพราะจะทำให้ผู้บริโภคชาวจีนสามารถแยกแยะทุเรียนไทยจากทุเรียนในท้องตลาดได้สะดวกมากขึ้น

Source

Source


แชร์ :

You may also like