Mobile ID เดินหน้าสู่การใช้งานจริง โดยมีความพยายามขับเคลื่อนจากภาคเอกชน รวมถึงสตาร์ทอัพราว 200 รายนำไปปรับใช้กับองค์กรแล้ว พร้อมยกตัวอย่างการใช้งานที่ช่วยให้ชีวิตสะดวกขึ้นกว่าเดิม ไม่ว่าจะเป็นการใช้ Mobile ID แทนการแลกบัตรประชาชนเพื่อเข้าอาคารต่าง ๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในเร็ว ๆ นี้ ซึ่งผู้พัฒนามองว่า สามารถป้องกันปัญหาข้อมูลหลุดรั่ว หรือนำบัตรประชาชนไปใช้ในทางที่ผิดได้
Mobile ID คืออะไร
สำหรับใครที่อาจไม่คุ้นกับชื่อ Mobile ID คือบริการที่นำเบอร์โทรศัพท์มือถือมาใช้ในการยืนยันตัวตนแทนบัตรประชาชน ในการทำธุรกรรมต่าง ๆ ทั้งกับภาครัฐและภาคเอกชน โดยสามารถสมัครใช้บริการได้ฟรี ไม่มีการคิดค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด
จุดเริ่มต้นของ Mobile ID เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2564 โดยสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) ต้องการต่อยอดฐานข้อมูลลงทะเบียน SIM Card ของเลขหมายโทรศัพท์มือถือให้กลายเป็นหนึ่งใน Digital Identity ของประเทศไทย
การจับมือกับ โอเปอร์เรเตอร์ทั้ง 4 ค่ายในยุคนั้นจึงเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็น AIS DTAC TRUE และ NT โดยที่ระบบ Mobile ID พัฒนาภายใต้ข้อกำหนดและมาตรฐานของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ETDA เพื่อความปลอดภัย และสามารถปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้บริการได้จริง
สมัคร Mobile ID อย่างไร
ผู้ใช้บริการสามารถสมัครใช้ Mobile ID ได้โดยการนำบัตรประชาชนตัวจริงที่ยังไม่หมดอายุ โทรศัพท์มือถือและซิมการ์ดที่ต้องการสมัครไปที่ศูนย์บริการมือถือของ AIS, True, dtac และ NT เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบเอกสารและทำการยืนยันตัวตน โดยผู้ที่สมัครสำเร็จจะได้รับ SMS ยืนยันจากทางระบบ
ส่วนการใช้งานก็เพียงแสดง QR Code หรือรหัสยืนยันตัวตนผ่านแอปพลิเคชันของผู้ให้บริการเครือข่าย
สำหรับผู้ใช้งานหนึ่งคน สามารถสมัคร Mobile ID ได้สูงสุด 5 หมายเลขต่อหนึ่งค่าย ซึ่งเท่ากับว่า ปัจจุบัน สามารถมี Mobile ID ได้สูงสุด 15 Mobile ID นั่นเอง
มี ThaID แล้ว ทำไมต้องมี Mobile ID อีก
สำหรับผู้ที่มี ThaID (อ่านว่า ไทยดี) แล้ว อาจสงสัยว่า ทำไมต้องมี Mobile ID เพื่อใช้ในการยืนยันตัวตนอีก ส่วนหนึ่งมาจากความแตกต่างในการใช้งาน โดย ThaID คือ แอปพลิเคชันที่กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย พัฒนาขึ้นเพื่อใช้ในการพิสูจน์และยืนยันตัวตน (Digital ID) รวมถึงการเปรียบเทียบภาพใบหน้า (Face Verification System) ทางดิจิทัล
เมื่อประชาชนเข้าไปใช้บริการจากทางภาครัฐหรือภาคเอกชนที่จำเป็นต้องมีการยืนยันตัวตน ก็สามารถเข้าสู่ระบบแอปพลิเคชัน ThaID เพื่อยืนยันตัวตนได้เลย โดยไม่ต้องกรอกข้อมูลให้เสียเวลา ซึ่งในแง่การใช้งานจริง ThaID ยังเป็นระบบปิด
ขณะที่ Mobile ID มีความยืดหยุ่นมากกว่า เนื่องจากให้บริการโดยภาคเอกชนนั่นเอง
ผลักดัน Mobile ID ผ่านกลุ่มโรงแรม
อย่างไรก็ดี การพัฒนา Mobile ID ยังคงอยู่ใน Sandbox ทำให้การใช้งานจริงค่อนข้างจำกัด โดยมีผู้ลงทะเบียนในระบบเพียง 1.4 – 1.5 แสนคนเท่านั้น ซึ่งคุณพูลศิริ นิลกิจศรานนท์ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ กล่าวถึงการผลักดันให้เกิดการใช้งาน Mobile ID ว่า
ทาง กสทช. ได้มีการประกวดผลงานการพัฒนาการนำ Mobile ID ไปใช้งาน โดยบริษัทที่ชนะในโครงการดังกล่าว คือ บริษัท นายเน็ต จำกัด ของคุณทินกร เหล่าเราวิโรจน์ ที่นำ Mobile ID ไปใช้กับคลินิคทันตกรรม โรงแรม รีสอร์ท และประสบความสำเร็จมาแล้ว
ซึ่งตัวอย่างการใช้งาน Mobile ID กับธุรกิจโรงแรมก็คือการตั้ง QR Code ของโรงแรมเอาไว้ที่เคาน์เตอร์ด้านหน้า ผู้ที่เข้าพักเมื่อสแกน QR Code ดังกล่าวโดยใช้ Mobile ID ระบบจะส่งข้อมูลของผู้เข้าพัก (ที่ลงทะเบียนไว้กับทางโอเปอเรเตอร์) ให้กับทางโรงแรมทันที ไม่ต้องแสดงเอกสาร เช่น บัตรประชาชน ฯลฯ ให้พนักงานโรงแรมนำไปถ่ายเอกสารอีกต่อไป
ข้อดีที่เกิดกับภาคธุรกิจก็คือ ลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ลดการเก็บเอกสารของลูกค้า ที่อาจนำไปสู่การรั่วไหลของข้อมูลได้นั่นเอง ขณะที่หน่วยงานภาครัฐก็ได้ประโยชน์เช่นกัน เพราะข้อมูลของผู้เข้าพัก (ร.ร.4) จะถูกส่งไปยังกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยได้ด้วย
เพิ่มการมีส่วนร่วมให้ MeVote
อีกหนึ่งกรณีศึกษาของการใช้ Mobile ID ก็คือแพลตฟอร์ม MeVote (มีโหวต) ของบริษัท เออเบิ้น รูม โดยคุณแทนศร พรปัญญาภัทร กรรมการผู้จัดการ เผยว่า Mobile ID สามารถช่วยในการทำแบบสอบถามของบริษัทได้
“หนึ่งในการทำแบบสอบถามเพื่อการพัฒนาเมืองคือความน่าเชื่อถือของผลลัพธ์ เพราะไม่ค่อยมีใครอยากกรอกข้อมูล เนื่องจากเสียเวลา การที่แพลตฟอร์ม MeVote สามารถเชื่อมกับ Mobile ID ทำให้การยืนยันตัวตนของผู้ตอบแบบสอบถามทำได้รวดเร็วขึ้น และทางผู้จัดทำแบบสำรวจก็มั่นใจได้ถึงแหล่งที่มา”
คุณแทนศรกล่าวด้วยว่า หลังจากเชื่อมระบบดังกล่าวแล้วพบว่า การมีส่วนร่วมของผู้ตอบแบบสอบถามเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่าจากระบบปกติ และยังช่วยเพิ่มความแม่นยำมากกว่าการคีย์ข้อมูลด้วยมนุษย์ ลดต้นทุนการใช้กระดาษ ลดการเดินทาง การจัดส่งเอกสาร ฯลฯ ลงได้ด้วย
เปลี่ยนการแลกบัตร ปชช. ขึ้นอาคารด้วย Mobile ID
สำหรับการใช้งานที่คาดว่าจะเกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้คือการจับมือกับอาคารต่าง ๆ นำ Mobile ID ไปประยุกต์ใช้ ซึ่งคุณทินกร เหล่าเราวิโรจน์ให้ข้อมูลว่า พบความสนใจจากผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์จำนวนหนึ่งในการใช้ Mobile ID เพื่อยืนยันตัวตนในการขอเข้าอาคารแทนการแลกบัตรประชาชนแล้ว
“Pain Point ของผู้บริโภคในปัจจุบันคือการต้องแลกบัตรประชาชนให้ทางอาคารต่าง ๆ นำไปถ่ายภาพ หรือบางแห่งก็เอาไปเก็บไว้ แลกกับการขึ้นตึกของเขา เพราะเราไม่รู้ว่า เขาเก็บบัตรเราอย่างไร ปลอดภัยไหม ฯลฯ ซึ่งถ้ามี Mobile ID ก็เพียงสแกน QR Code ข้อมูลของเราก็จะถูกส่งให้กับทางระบบของอาคารเลย ไม่ต้องควักบัตรประชาชนออกมาอีกต่อไป”
ส่วนในมุมของเจ้าของอาคาร ระบบดังกล่าวสามารถลดขั้นตอนการทำงาน อีกทั้งยังช่วยเรื่องความปลอดภัย และประเด็นเรื่อง Privacy ได้ด้วย โดยคุณทินกรเผยว่า มีการเจรจาเกี่ยวกับการพัฒนาระบบดังกล่าวให้กับกลุ่มธุรกิจอาคารสำนักงานที่ควบคุมการเข้าออกแล้วเช่นกัน และทางบริษัทจะมีการผลักดันการใช้งาน Mobile ID กับสตาร์ทอัพอีกกว่า 200 รายในกลุ่มอีคอมเมิร์ซ และโลจิสติกส์ให้นำไปต่อยอดธุรกิจต่อไป