HomeBrand Move !!ไทยพาณิชย์ตั้งเป้าเป็นธนาคาร Net Zero 2050 เดินหน้าปั้น “พอร์ตสินเชื่อสีเขียว”

ไทยพาณิชย์ตั้งเป้าเป็นธนาคาร Net Zero 2050 เดินหน้าปั้น “พอร์ตสินเชื่อสีเขียว”

แชร์ :

ธนาคารไทยพาณิชย์ เดินหน้าสู่ The Leading Sustainable Bank ผ่านแนวคิด “อยู่ อย่าง ยั่งยืน” (Live Sustainably) พร้อมประกาศตัวเป็นธนาคารไทยแห่งแรกที่ตั้งเป้า Net Zero 2050 พร้อมแผนการเปลี่ยนผ่านพอร์ตสินเชื่อทั้ง 2.3 ล้านล้านบาทสู่พอร์ตสินเชื่อสีเขียว

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

สำหรับแผนการของธนาคารไทยพาณิชย์ในการเป็นธนาคารชั้นนำด้านความยั่งยืน หรือ The Leading Sustainable Bank ประกอบด้วยเป้าหมาย 3 ระยะ ได้แก่

  1. สนับสนุนลูกค้าเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนด้วยสินเชื่อเพื่อความยั่งยืนจำนวน 150,000 ล้านบาท ภายในปี 2025 โดยปัจจุบัน ณ สิ้นไตรมาสที่ 2/2024 ได้สนับสนุนสินเชื่อไปแล้วกว่า 1.11 แสนล้านบาท (นับตั้งแต่ปี 2023)
  2. ตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินงานของธนาคาร (Scope 1-2) ให้เป็น Net Zero ภายในปี 2030
  3. เป็นธนาคารไทยแห่งแรกที่ตั้งเป้า Net Zero 2050 จากการให้สินเชื่อและเงินลงทุนตามมาตรฐาน Science Based Target Initiatives (SBTi) ซึ่งเป็นมาตรฐานระดับโลก ด้วยแผนการเปลี่ยนผ่านพอร์ตสินเชื่อทั้ง 2.3 ล้านล้านบาทสู่พอร์ตสินเชื่อสีเขียว

คุณกฤษณ์ จันทโนทก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์

คุณกฤษณ์ จันทโนทก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวถึงที่มาของการประกาศนโยบายด้านความยั่งยืนว่ามาจาก 3 ปัจจัย นั่นคือ ปัญหา Climate Change ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ และเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

ขณะที่การมีนโยบายด้านความยั่งยืนก็มาพร้อมโอกาสใหม่ ๆ ให้กับธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเม็ดเงินด้านการลงทุนสู่ Net Zero ที่คาดว่าจะสูงถึง 39 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ตำแหน่งงานใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้นจากเทคโนโลยีด้านสิ่งแวดล้อมอีกกว่า 27 ล้านตำแหน่ง หรือเม็ดเงินที่ไทยจะลงทุนใน Carbon Neutrality ในปี 2030 อีก 5 ล้านล้านบาท

เปิดแผน Net Zero 2030 และ Net Zero 2050

สำหรับการเดินหน้าสู่ Net Zero 2030 เป็นการเปลี่ยนแปลงในส่วนของธนาคารเอง โดยคุณกฤษณ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้มีการปรับเปลี่ยนในหลายด้าน เพื่อให้ไปสู่การเป็นองค์กร Net Zero ภายในปี 2030 เช่น การติดตั้ง Solar Rooftop ที่สำนักงานใหญ่และศูนย์ฝึกอบรม การเปลี่ยนแอร์ที่มีอายุการใช้งานมากกว่า 10 ปีจำนวน 2,283 เครื่อง การเปลี่ยนมาใช้พลังงานหมุนเวียนให้ได้ 100% ภายในปี 2030 เป็นต้น

ดร. ยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ Wealth และประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนด้านความยั่งยืน ธนาคารไทยพาณิชย์

ส่วนการเดินหน้าสู่ Net Zero 2050 เป็นแผนในส่วนของพอร์ตสินเชื่อ ซึ่ง ดร. ยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ Wealth และประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนด้านความยั่งยืน ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวถึงกลยุทธ์เป้าหมาย Net Zero ของธนาคารเพื่อสนับสนุนการปรับตัวของลูกค้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำว่า

ธนาคารวางกรอบพันธกิจในการผลักดันเป้าหมาย Net Zero สำหรับพอร์ตสินเชื่อและการลงทุน (Scope 3 Category 15 Investment) ภายในปี 2050 ตามมาตรฐาน SBTi (Science Based Targets Initiative) ซึ่งถือเป็นมาตรฐานแนวทางการลดก๊าซเรือนกระจกที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดว่า มีวัตถุประสงค์ในการดำเนินงาน 3 ด้าน ได้แก่

  1. ความรับผิดชอบต่อสังคม ผ่านการจัดสรรทรัพยากรทางการเงินเพื่อสนับสนุนความพยายามของประเทศและประชาคมโลกจำกัดอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้สูงขึ้นไม่เกิน 1.5 องศา ตามความตกลงปารีส (Paris Agreement) ซึ่งจะช่วยบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่นับวันจะทวีรุนแรงยิ่งขึ้น
  2. การบริหารความเสี่ยงของธนาคาร ผ่านการสนับสนุนลูกค้าเพื่อให้สามารถปรับตัวก้าวสู่สังคมคาร์บอนต่ำ สามารถแข่งขันได้ภายใต้กฎระเบียบใหม่ทางการค้าการลงทุนของโลก
  3. โอกาสทางธุรกิจ จากความต้องการเม็ดเงินลงทุนจำนวนมากจากอุตสาหกรรมต่าง ๆ ของไทยที่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตและการให้บริการเพื่อตอบโจทย์ความยั่งยืนที่เปลี่ยนไป

เปิดกลยุทธ์ Net Zero 2050 ตั้งเป้าตามกลุ่มลูกค้า

สำหรับ กลยุทธ์ Net Zero 2050 ผู้บริหารธนาคารไทยพาณิชย์เผยว่า ประกอบด้วย 3 กลยุทธ์ ได้แก่

การบริหารพอร์ตสินเชื่อของธนาคารให้สอดคล้องกับ Net Zero Target 

การบริหารพอร์ตสินเชื่อจะเป็นการโฟกัสไปที่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกลุ่มลูกค้ารายอุตสาหกรรม (Sector Decarbonization Strategy) พร้อมยกตัวอย่างธุรกิจพลังงานไฟฟ้า และทำให้ความเข้มข้นของการปล่อย GHG ต่อหนึ่งหน่วยการผลิตไฟในพอร์ตโรงไฟฟ้าของธนาคาร (ซึ่งเป็นตัวชี้วัดหลักภายใต้วิธี Sectoral Decarbonization Approach (SDA)) มีการปรับตัวลดลง และอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโรงไฟฟ้าทั่วโลกและต่ำกว่าเส้นทางในการบรรลุ Net Zero 2050 ตาม Paris Agreement

นอกจากนั้น ยังมีกลยุทธ์ในระยะถัดไปด้วย นั่นคือ ธนาคารจะยังคงเพิ่มวงเงินสินเชื่อโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนทั้งต่อลูกค้าปัจจุบันและลูกค้าใหม่ เพื่อสนับสนุนความต้องการไฟฟ้าพลังงานสะอาดที่มีเพิ่มมากขึ้น ควบคู่กับการลดการสนับสนุนพลังงานถ่านหิน ผ่านการทยอยลดสินเชื่อคงค้าง (Coal Phasing Out) และไม่ปล่อยสินเชื่อใหม่ให้แก่การขยายธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับถ่านหิน

ส่วนกลุ่มธุรกิจอื่น ๆ นอกเหนือจากธุรกิจพลังงานไฟฟ้า ธนาคารได้นำวิธี Implied Temperature Rise (ITR) ตามกรอบ SBTi มาใช้ในการวัดเป้าหมายและความคืบหน้าในการลดก๊าซเรือนกระจก โดยระดับอุณหภูมิของสินเชื่อของลูกค้าแต่ละรายจะขึ้นอยู่กับความมุ่งมั่น (Commitment) ในการกำหนดเป้าหมายในการลดก๊าซเรือนกระจกของลูกค้าที่มีการเปิดเผยต่อสาธารณะ

การพัฒนาสินเชื่อเพื่อลูกค้าขนาดใหญ่ – SME – บุคคลทั่วไป

ในส่วนนี้ ดร.ยรรยง เปิดเผยว่า จะมีสินเชื่อในรูปแบบต่าง ๆ สำหรับลูกค้าที่แตกต่างกัน ดังนี้

– ลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ จะมีผลิตภัณฑ์สินเชื่อสีเขียว (Green Loan) สินเชื่อที่เชื่อมโยงกับการดำเนินงานด้านความยั่งยืน (Sustainability Linked Loan) โดยอัตราดอกเบี้ยที่คิดจะขึ้นกับความสำเร็จของเป้าหมายด้านการลดก๊าซเรือนกระจกหรือเป้าหมายด้าน Sustainability อื่น ๆ ของโครงการ ตลอดจนสินเชื่อโครงการพลังงานทดแทน รวมถึงผลิตภัณฑ์ตลาดทุนและการเงินอื่นๆ เช่น การจัดจำหน่ายตราสารหนี้ด้านความยั่งยืน (Sustainable Bond Underwriting) และ เงินฝากยั่งยืน (Sustainable Deposit) เป็นต้น

– ลูกค้าเอสเอ็มอี ธนาคารมุ่งเน้นการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อปรับตัวธุรกิจที่สอดคล้องกับบริบทความพร้อมและความต้องการของลูกค้าแต่ละกลุ่ม อาทิ โซลูชันเพื่อธุรกิจรักษ์โลกเพื่อผู้ประกอบการ SMEs (SCB SME Green Finance) โครงการสินเชื่อเพื่อความยั่งยืนและเพิ่มประสิทธิภาพธุรกิจสำหรับธุรกิจโรงแรม ตลอดจนโครงการสินเชื่อลดฝุ่น PM 2.5 ในภาคธุรกิจอ้อยและน้ำตาล ซึ่งเป็นความร่วมมือกับธนาคารแห่งประเทศไทยและกระทรวงอุตสาหกรรม ฯลฯ

– ลูกค้าบุคคล  อาทิ สินเชื่อเพื่อติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป และสินเชื่อรถยนต์ไฟฟ้า รวมทั้งพัฒนาช่องทางดิจิทัลของธนาคารให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์เพื่อการปรับตัวสู่ความยั่งยืนผ่าน SCB EASY เป็นต้น

การบริหารจัดการความเสี่ยงตามหลักการ Equator Principles (EP)

สุดท้ายคือการนำหลักบริหารจัดการความเสี่ยง Equator Principles (EP) เพื่อช่วยลูกค้าลดความเสี่ยงจากการดำเนินธุรกิจ ควบคู่กับการให้สินเชื่อในส่วนของธนาคารไทยพาณิชย์ โดยตั้งแต่ปี 2022 จนถึงปัจจุบัน ธนาคารได้ดำเนินการประเมินโครงการตามหลักการ EP ไปแล้วทั้งสิ้น 53 โครงการ คิดเป็นมูลค่าโครงการรวมกว่า 75,500 ล้านบาท

คุณกฤษณ์กล่าวปิดท้ายด้วยว่า “ความยั่งยืนของไทยพาณิชย์เราเริ่มมาแล้วร้อยกว่าปี และสิ่งที่เราทำในวันนี้ คือการส่งต่ออนาคตที่ยั่งยืนให้กับลูกหลานได้อยู่ต่อไปอีกร้อยปี เพื่อที่จะเดินไปข้างหน้า ผู้คนจะต้องดำเนินชีวิตด้วยคุณภาพชีวิตที่เท่าเทียม ธุรกิจจะต้องเติบโตต่อไปได้อย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไทยพาณิชย์มุ่งมั่นเป็นองค์กรแห่งความยั่งยืน พร้อมสนับสนุนและร่วมมือกับพันธมิตรส่งต่อความยั่งยืนให้กับลูกค้าทุกกลุ่ม ผ่านการสร้างสรรค์นวัตกรรมและโซลูชันทางการเงิน ส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของคนในสังคมได้อยู่ อย่าง ยั่งยืน”

ทั้งนี้ การจัดงานแถลงข่าว SCB Live Sustainably ครั้งนี้ จัดขึ้นในรูปแบบ Net Zero Event มีวัตถุประสงค์ต้องการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์จากการจัดงานด้วยการดำเนินกิจกรรมภายในงานในรูปแบบคาร์บอนต่ำ อาทิ การลงทะเบียนและการสื่อสารในระบบดิจิทัล เลือกใช้วัสดุรีไซเคิลหรือย่อยสลายได้ในการจัดงาน การจัดอาหารและเครื่องดื่มด้วยบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การแนะนำการเดินทางด้วยระบบสาธารณะ โดยมีการคำนวณคาร์บอนฟุตพรินท์ที่ปล่อยจากการจัดงานตั้งแต่เริ่มต้นจนจบ เพิ่มความถูกต้องด้วยการตรวจสอบจากสถาบันที่น่าเชื่อถือ และทำการซื้อคาร์บอนเครดิตประเภทป่าไม้มาชดเชยเท่ากับปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยจริงในงานด้วย


แชร์ :

You may also like