HomePR Newsส่องอุตสาหกรรมก่อสร้างภาครัฐครึ่งปีหลัง “ฟื้นตัว” คาดปี 2025 มีแนวโน้มขยายตัว 3%

ส่องอุตสาหกรรมก่อสร้างภาครัฐครึ่งปีหลัง “ฟื้นตัว” คาดปี 2025 มีแนวโน้มขยายตัว 3%

แชร์ :

การก่อสร้างภาครัฐปี 2024 มีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี หลังงบประมาณประจำปี 2024 ประกาศใช้ สำหรับปี 2025 มูลค่าการก่อสร้างภาครัฐมีแนวโน้มขยายตัว 3% ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2024 การก่อสร้างภาครัฐเผชิญความท้าทายจากความล่าช้าในการจัดทำงบประมาณประจำปี 2024 เนื่องจากเป็นปีที่มีการเลือกตั้ง และการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ส่งผลให้อัตราการเบิกจ่ายงบลงทุนสะสมในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2024 อยู่ในระดับต่ำกว่าปีปกติมาก อย่างไรก็ดี การประกาศใช้งบประมาณประจำปี 2024 ในเดือนพฤษภาคม 2024 ได้ส่งผลให้อัตราการเบิกจ่ายงบลงทุนสะสมเร่งตัวขึ้น และฟื้นตัวขึ้นมาอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับปี 2020 ซึ่งเป็นปีที่การจัดทำงบประมาณประจำปีมีความล่าช้าเช่นเดียวกัน โดย SCB EIC คาดว่า ในช่วงครึ่งหลังของปี 2024 การก่อสร้างภาครัฐมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น จากการเบิกจ่ายงบลงทุนที่เร่งตัวขึ้น โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี ซึ่งเป็นช่วงท้ายของปีงบประมาณ

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

สำหรับปี 2025 หากการจัดทำงบประมาณประจำปี 2025 ยังสามารถดำเนินการได้ทัน Timeline และประกาศใช้ภายในเดือนกันยายน 2024 หรือล่าช้าออกไปจากนี้ไม่มากนัก และมีการเร่งเบิกจ่ายได้ทัน ก็จะเป็นปัจจัยหนุนการก่อสร้างภาครัฐในปี 2025 โดย SCB EIC คาดว่า มูลค่าการก่อสร้างภาครัฐในปี 2025 มีแนวโน้มขยายตัว 3%YOY นอกจากนี้ หน่วยงานต่าง ๆ มีแผนเตรียมเสนอเปิดประมูลโครงการเมกะโปรเจกต์ด้านคมนาคม เป็นโอกาสสำหรับผู้รับเหมาก่อสร้างรายใหญ่ และส่งผลต่อเนื่องให้ผู้รับเหมาก่อสร้างรายกลางและเล็ก ในฐานะผู้รับเหมาช่วงมีโอกาสสร้างรายได้มากขึ้น และมีสภาพคล่องที่ดีขึ้น

การก่อสร้างภาคเอกชนในปี 2025 มีแนวโน้มขยายตัว 1% การก่อสร้างโครงการที่อยู่อาศัย เผชิญแรงกดดันจากการฟื้นตัวช้าของตลาดที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะโครงการระดับราคาปานกลางลงมา อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการหันมาเปิดโครงการระดับราคาปานกลาง-บนมากขึ้น ซึ่งต้นทุน ค่าก่อสร้างปรับตัวสูงขึ้นตามรูปแบบโครงการ สำหรับอุปทานพื้นที่ค้าปลีก และพื้นที่สำนักงานให้เช่ายังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีกราว 1 ล้านตารางเมตรในปี 2024 รวมถึงในปี 2025-2027 อุปทานพื้นที่ค้าปลีก และอุปทานพื้นที่สำนักงานให้เช่ายังมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่องโดยเฉลี่ยที่ 0-2% และ 2-4% ต่อปี ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ยังต้องจับตาภาวะ Oversupply ของอุปทานพื้นที่สำนักงานให้เช่า ที่อาจส่งผลให้เกิดการยกเลิกโครงการที่ไม่มีศักยภาพออกไป ซึ่งนับเป็นความเสี่ยงต่อการก่อสร้างภาคเอกชนในระยะข้างหน้า

ในระยะข้างหน้า ยังต้องจับตาข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อม ที่จะเป็นเงื่อนไขในการเข้าประมูลงานก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่อย่างเข้มงวดมากขึ้น ผู้รับเหมาก่อสร้างกลุ่มที่มีการกำหนดเป้าหมาย และตัวชี้วัดการลดการปล่อย GHG ไปจนถึงรายงานผลการดำเนินการลดการปล่อย GHG จะเป็นกลุ่มที่มีความสามารถในการแข่งขันเข้าประมูลงานก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ ทั้งภาครัฐและเอกชน ได้มากขึ้นในระยะข้างหน้า

ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างในไทยมีผู้เล่นที่หลากหลาย ทั้งผู้รับเหมาก่อสร้างรายใหญ่ ซึ่งมีความสามารถในการรับเหมาก่อสร้าง สิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ ที่เป็นโครงการขนาดใหญ่ และมีความซับซ้อน รวมถึงผู้รับเหมาก่อสร้างรายกลางและเล็ก ซึ่งมีบทบาทเป็นผู้รับเหมาช่วงจากผู้รับเหมาก่อสร้างรายใหญ่และมีความสามารถในการรับเหมาก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างที่เป็นโครงการขนาดกลางและเล็ก ที่ไม่มีความซับซ้อนมากนัก โดยสามารถจำแนกผู้รับเหมาก่อสร้างได้เป็น 4 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1) กลุ่มที่รับงานก่อสร้างโครงการภาครัฐเป็นหลัก เช่น โครงสร้างพื้นฐาน 2) กลุ่มที่รับงานก่อสร้างโครงการภาคเอกชนเป็นหลัก เช่น อาคาร ที่อยู่อาศัย โรงงาน 3) กลุ่มที่รับงานก่อสร้างอื่น ๆ เช่น งานฐานราก งานแปรรูปและประกอบกลุ่มชิ้นงานโครงสร้าง งานตกแต่ง งานวางระบบท่อ ระบบไฟฟ้า และระบบสื่อสาร และ 4) กลุ่มที่รับงานที่ปรึกษา บริหาร และควบคุมงานก่อสร้าง

ที่ผ่านมา ผู้รับเหมาก่อสร้าง โดยเฉพาะกลุ่มที่รับงานโครงการภาครัฐเป็นหลักเผชิญความท้าทายจากทั้งความล่าช้าในการประมูลงานใหม่ และการเบิกจ่ายงบประมาณ รวมถึงต้นทุนก่อสร้างที่สูงขึ้น มูลค่าภาคก่อสร้างในไทยโดยรวมอยู่ที่ราวปีละ 1.4 ล้านล้านบาท ในจำนวนนี้ สัดส่วนกว่า 57% เป็นการก่อสร้างภาครัฐ และอีก 43% เป็นการก่อสร้างภาคเอกชน โดยผู้รับเหมาก่อสร้างรายใหญ่จำนวน 19 ราย มีส่วนแบ่งตลาดรวมกันคิดเป็นสัดส่วนราว 15% ของมูลค่าภาคก่อสร้างโดยรวม ขณะที่ส่วนแบ่งตลาดอีกราว 85% กระจายไปยังผู้รับเหมาก่อสร้างรายกลางและเล็ก ซึ่งก่อให้เกิดกิจกรรมการก่อสร้างที่หลากหลาย อีกทั้ง ยังก่อให้เกิดเม็ดเงินสะพัดไปยังผู้เล่นใน Supply chain ของภาคก่อสร้างที่เป็นธุรกิจเกี่ยวเนื่องอื่น ๆ เช่น ธุรกิจผลิตและค้าวัสดุก่อสร้าง ธุรกิจออกแบบและตกแต่งภายใน ธุรกิจที่ปรึกษาและกำกับการก่อสร้าง

ในระยะ 1-2 ปีที่ผ่านมา ผู้รับเหมาก่อสร้างเผชิญความท้าทายในการประกอบธุรกิจ โดยเฉพาะผู้รับเหมาก่อสร้างรายใหญ่ กลุ่มที่รับงานโครงการก่อสร้างภาครัฐเป็นหลัก โดยเป็นผลมาจากความล่าช้าในการเปิดประมูลงานโครงการก่อสร้างภาครัฐใหม่ ๆ รวมถึงราคาวัสดุก่อสร้างโดยเฉพาะเหล็ก และปูนซีเมนต์ ไปจนถึงต้นทุนแรงงานปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่การปรับขึ้นราคากลางในการเข้าประมูลงานโครงการก่อสร้างภาครัฐยังเป็นไปอย่างจำกัด รวมถึงการเบิกจ่ายงบประมาณยังเป็นไปได้อย่างล่าช้า เป็นเหตุให้ผู้รับเหมาก่อสร้างรายใหญ่กลุ่มที่รับงานโครงการก่อสร้างภาครัฐเป็นหลักเผชิญปัญหาขาดสภาพคล่อง และส่งผลกระทบต่อเนื่องมายังผู้รับเหมาก่อสร้างรายกลางและเล็กที่เป็นผู้รับเหมาช่วง โดยข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ระบุว่า ในปี 2023 มีผู้รับเหมาก่อสร้างปิดกิจการจำนวน 2,306 ราย เพิ่มขึ้น 7% อย่างต่อเนื่องจากปี 2022 ที่การปิดกิจการเพิ่มขึ้นถึง 30% จากปีก่อนหน้า ขณะที่การจัดตั้งกิจการใหม่ในปี 2023 หดตัวลง 8% เมื่อเทียบกับปี 2022

 


แชร์ :

You may also like