ดูเหมือน “กรุงเทพโซนตะวันออก” หรือ “ย่านบางนา-ศรีนครินทร์” กำลังจะกลายเป็นขุมทองแห่งใหม่ของกลุ่มค้าปลีกในไทย หลังพื้นที่ในย่านถูกจับจองด้วยกลุ่มทุนค้าปลีกยักษ์ใหญ่มากมาย ที่เข้าไปยึดพื้นที่จนกลายเป็น “สมรภูมิค้าปลีก” แห่งใหม่ของกรุงเทพมหานครขึ้น
“ซีคอนสแควร์ ศรีนครินทร์” คือศูนย์การค้าแห่งแรกๆในย่านศรีนครินทร์ ที่บุกยึดทำเลค้าปลีกกรุงเทพฝั่งตะวันออกมานานกว่า 30 ปี ด้วยขนาดใหญ่ติด 1 ใน 5 ของโลก (ณ ขณะนั้น) กับพื้นที่กว่า 500,000 ตร.ม. มีร้านค้า (Retail Shop) ภายในกว่า 500 ร้านค้า พื้นที่จอดรถ 8,500 คัน แถมยังเป็นศูนย์การค้าแห่งแรกที่สร้างความแปลกใหม่มากมายภายในย่าน ตั้งแต่การมีโลตัสที่แรก โรงหนังแบบมัลติเพล็กซ์แห่งแรก และสวนสนุกในร่มใหญ่ที่สุดแห่งแรกในย่าน จนเรียกได้ว่าเป็นฮับแห่งในย่านศรีนครินทร์ และพื้นที่ใกล้เคียง
แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไป การแข่งขันบวกและการเติบโตในที่เพิ่มสูงขึ้นของค้าปลีกในพื้นที่ ทำให้ “ซีคอนสแควร์ ศรีนครินทร์” ต้องมีการปรับเปลี่ยน Solution ในการดำเนินงานที่แตกต่างและไม่เหมือนใคร ด้วยการเปลี่ยนแนวคิดการทำศูนย์การค้าใหม่ ในการเปิดพื้นที่โซนพิเศษขึ้น กับรูปแบบการบริหารจัดการแบบเป็นกึ่งคอมเมอร์เชี่ยล (ซีคอนฯ ให้การสนับสนุน Support ค่าเช่าบางส่วน หรือกิจกรรมสำหรับผู้เช่าในพื้นที่มากขึ้น) โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาจุดขายของทางศูนย์ฯให้เป็น Unique Differentiation หรือการสร้างความต่างที่เป็นเอกลักษณ์ขึ้น
ดร.จักรพล จันทวิมล ผู้อำนวยการสายงานสำนักสื่อสารการตลาดและองค์กรสัมพันธ์ บริษัท ซีคอน ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การเติบโตในโซน กรุงเทพตะวันออก โดยเฉพาะการเติบโตของภาคอสังหาริมทรัพย์ทั้ง คอนโดมิเนียม หมู่บ้านระดับ 10 ล้านบาทที่เพิ่มมากขึ้น ตลอดจนโรงเรียนนานาชาติ โรงพยาบาล สนามกอล์ฟ เกิดขึ้นมากมาย เหล่านี้ล้วนเป็นตัวชี้วัดโซนตะวันออกมีการพัฒนามากที่สุดแห่งหนึ่งในไทย ส่งผลให้แข่งขันที่สูงขึ้นตามไปด้วย ทำให้การทำศูนย์ที่มีจุดขาย คือความครบ (One Stop Service) และความใหญ่โต ไม่เพียงพอกับความต้องการอีกต่อไป หากแต่คือการสร้างจุดเด่น จุดต่างที่สำคัญ หรือทำอย่างไรให้คนมาบ่อยขึ้น มีอะไรแปลกๆขึ้น
ทุ่ม 1,000 ล้าน ปั้นโซน MunMun Srinakarin สู่คอนเซปต์ใหม่ “ห้างสรรพศิลป์คราฟท์” ดักลูกค้ากำลังซื้อสูงในย่าน
นำไปสู่การพัฒนาพื้นที่รีเทลใหม่กับโซน MunMun Srinakarin (มันมัน ศรีนครินทร์) ขึ้นบนพื้นที่กว่า 27,000 ตร.ม. กับงบประมาณกว่า 1,000 ล้านบาท ที่ถูกใช้มาตั้งแต่ปี 2019 ในการพัฒนาพื้นที่แห่งนี้มาอย่างต่อเนื่อง โดยในเวอร์ชั่นแรกต้องการให้เป็นคอมมูนิตี้ สำหรับคนที่ชื่นชอบอะไรที่เหมือนกัน โดยมีเรื่องของศิลปะ กิจกรรม ดนตรี เป็นตัวนำ
“เราทำแบบเดิมไม่ได้ ถ้าทำแบบเดิม ผลลัพธ์ก็จะเป็นแบบเดิม ดังนั้นเราจึง Spin Off ทีมออกมาทำส่วนนี้โดยเฉพาะ กับทีมงาน 60 ชีวิต จนเกิดเป็น MunMun Srinakari โซน มัน มัน ศรีนครินทร์แห่งนี้ขึ้นเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา” ดร.จักรพล จันทวิมล กล่าว
ล่าสุดกับการยกระดับโซน MunMun Srinakarin (มันมัน ศรีนครินทร์) อีกครั้ง สู่โพซิชันใหม่ “ห้างสรรพศิลป์คราฟท์” ซึ่งเป็นการเปิดพื้นที่เชื่อมโยงทุกกิจกรรม และทุกคนเข้าไว้ด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น พื้นที่จัดแสดงงานศิลปะ พื้นที่จัดกิจกรรมพิเศษที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปทุกสัปดาห์ ตลาดนัดงานอาร์ต แอนด์ คราฟท์ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ พื้นที่ของคนรักการทำอาหาร คุกกิ้งสตูดิโอ ตลอดจนโรงเรียนและร้านกาแฟชื่อดัง โรงคั่วกาแฟ
“เมื่อลูกค้ามีความซับซ้อนมากขึ้น มัน มัน เลือกศึกษาพฤติกรรม ความต้องการเพื่อตอบโจทน์ลูกค้ามากขึ้น โดยการมองตัวเองเป็นคล้าย CBD หรือย่านศูนย์กลางในเมือง เพื่อดักกำลังซื้อตรงนี้โดยไม่ให้คนเข้าเมือง”
เปิด 3 คอนเซปต์หลัก ที่จะมาถ่ายทอด DNA ใหม่ “ซีคอนสแควร์ ศรีนครินทร์”
โดยภายในพื้นที่กว่า 27,000 ตร.ม. ทั้ง 3 ชั้น จะแบ่งพื้นที่ออกเป็น 3 คอนเซปต์หลัก ได้แก่
- Event Ground ชั้น 1 พื้นที่กลางสำหรับจัดงานกิจกรรมรูปแบบต่างๆ อย่างมีสไตล์ ได้รับความร่วมมือจากพาร์ทเนอร์ที่น่ารักและมีความเชี่ยวชาญในการจัดงานระดับประเทศ อาทิ งาน CHEEZE FLEA SPIRIT MARKET ร่วมมือกับ Cheeze Magazine, งาน MMAD happening 10 Fest ร่วมมือกับ happening and friends
- MMAD – MunMun Art Destination ชั้น 2 และ ชั้น 3 พื้นที่จัดแสดงงานศิลปะหลากหลายเพื่อตอบสนองทุกรสนิยมและความชื่นชอบ โดยได้เชื่อมโยงระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษาและภาคสังคม ประกอบด้วย 12 ภาคีศิลปะ อาทิ BACC pop.up, HOP – Hub of Photography, MMAD MASS Gallery
- MunMun Kitchen Club – Food & Coffee Community ชั้น 3 ชุมชนของคนรักการทำอาหาร แหล่งความรู้ สร้างประสบการณ์และลงมือทำอย่างแท้จริง กับ Creative Food & Coffee Space ที่ตอบรับทุกกิจกรรมการทำอาหาร และกาแฟ ในทุกมิติ อาทิ ศูนย์ความรู้ และห้องสมุดด้านอาหาร จาก TCDC COMMONS: Creative Food, Service Kitchen เป็นต้น
พร้อมกันนี้ยังได้มีการจัดแคมเปญแรกขึ้น เพื่อสร้างการรับรู้ไปยังกลุ่มที่ชื่นชอบงานศิลปะในชื่อ “1 วัน 1,000 อาร์ต” แคมเปญที่จะพาทุกคนไปสำรวจความเยอะของโลกศิลปะ ภายใต้ธีมใหญ่อย่าง ‘ห้างสรรพศิลป์คราฟท์’ ที่รวบรวมทั้งงานศิลปะและงานคราฟท์ไว้ด้วยกัน มาเที่ยว 1 วัน ก็ชมงานศิลปะได้กว่า 1,000 ชิ้น ระหว่าง 31 สิงหาคม – 31 ตุลาคม 2567 ที่ มันมัน ศรีนครินทร์ พลาดไม่ได้กับ 4 ไฮไลท์ ได้แก่ 1) DAYDREAM ความฝัน ความหวัง 2) JIGSAW WALL ART 3) MMAD CUBE และ 4) INTO THE CLOUD
ทั้งนี้หลังการปรับกลยุทธ์ดังกล่าว พบว่า มีกลุ่มคนที่มีกำลังซื้อสูงเข้ามาจับจ่ายในศูนย์มากขึ้น โดยลูกค้าเกิน 50% ที่มาใช้บริการในพื้นที่ของ “ห้างสรรพศิลป์คราฟท์” เป็นกลุ่มลูกค้าที่ไม่เคยมาที่ซีคอนสแควร์ ศรีนครินทร์เลย โดยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ช่วงอายุระหว่าง 20-30 ปี (Gen Y – Gen Z)
นอกจากนี้ยังมีกลุ่มคนใหม่ๆเข้ามามากขึ้น ทั้งคนที่เข้ามาทำกิจกรรมใช้เวลาภายในศูนย์มากขึ้น และขยานฐานลลูกค้าไปยังกลุ่มคนรุ่นใหม่จากเดิมกลุ่มหลักเป็นครอบครัว ทำให้วางเป้าหมายเพิ่มทราฟฟิคภายในศูนย์ฯให้โตขึ้น 5% จากปีที่ผ่านมาที่มีทราฟฟิค 30 ล้านคน โดย 20% เป็นลูกค้าที่เกิดเข้ามาใช้บริการในโซนมัน มัน และเข้ามาจับจ่ายภายในศูนย์ฯ
อย่างไรก็ตามท่ามกลางความท้าทายในการปรับตัวศูนย์การค้ายุคใหม่ที่มีการแข่งขันรุ่นแรง “ดร.จักรพล” ยังบอกอีกว่า แม้ซีคอนฯ จะปรับตัวตามยุคสมัยมาอย่างต่อเนื่อง แต่ยังต้องเผชิญกับ 5 ปัจจัยความท้าทายของการทำธุรกิจค้าปลีกยุคใหม่ที่ต้องคิด และวางแผนงานให้รอบคอบ ได้แก่
- โครงสร้าง ด้วยโครงสร้างของศูนย์การค้าทีมีขนาดใหญ่ อาจจะเป็นอุปสรรคต่อการปรับรูปแบบใหม่ได้ค่อนข้างยาก
- งบประมาณสูง ในการปรับตัวแต่ละครั้งศูนย์การค้ามักจะใช้งบประมาณสูงเสมอ ดังนั้นทำให้ต้องมีการวางแผนให้รอบคอบ
- หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายภาคส่วน ทำการยื่นขออนุญาตค่อนข้างยุ่งยากและล่าช้า
- คู่แข่งที่เก่งขึ้น ทำให้การแข่งขันสูงขึ้น
- ลูกค้าเปลี่ยนแปลงไป ทำให้ต้องมีการปรับตัวตลอดเวลา
ท้ายที่สุดเมื่อถูกถามถึงเป้าหมายการปรับตัวในครั้งนี้ ว่าจะทำให้ “ซีคอนสแควร์ ศรีนครินทร์” กลับมาเป็นฮับไลฟ์สไตล์ครั้งใหม่ในย่านได้หรือไม่ “ดร.จักรพล” บอกว่า “เราเป็นฮับมาตั้งแต่เมื่อ 30 ปีที่ผ่านมาอยู่แล้ว และการปรับตัวครั้งนี้เพื่อรักษาการเป็นฮับไลฟ์สไตล์สำหรับลูกค้าในย่านที่เปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย”
ติดตามพวกเราได้ที่ LINE