HomeBrand Move !!เปิดมุมมอง 3 ซีอีโอ ‘ดุสิตธานี – บีเจซี – เทคซอส’ ชู Soft Power เพิ่มขีดความสามารถแข่งขัน  

เปิดมุมมอง 3 ซีอีโอ ‘ดุสิตธานี – บีเจซี – เทคซอส’ ชู Soft Power เพิ่มขีดความสามารถแข่งขัน  

แชร์ :

ในโอกาสครบรอบ 60 ปี สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (Thailand Management Association : TMA) จัดงานสัมมนา “60 YEARS OF EXCELLENCE” ภายใต้แนวคิด “Creating Great Leaders, Designing the Future” เชิญ CEO องค์กรชั้นนำระดับประเทศ ผู้บริหาร Startup ผู้บริหารรุ่นใหม่ พร้อมผู้เชี่ยวชาญและที่ปรึกษาองค์กรธุรกิจระดับโลก มาร่วมแลกเปลี่ยนมุมมอง ออกแบบอนาคตเพื่อขับเคลื่อนองค์กรและประเทศไทยสู่ความเป็นเลิศ

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

สำหรับหัวข้อ “Building a Competitive Nation” การเพิ่มขีดความสามารถและสร้างความพร้อมในการแข่งขันในระดับโลก ผ่าน  The Soft Power มี 3 ซีอีโอหญิงจาก ดุสิตธานี – บีเจซี – เทคซอส มาร่วมให้มุมมอง

“Soft Power” ถือเป็นคำยอดนิยมในช่วงเวลา ที่ไม่ได้จำกัดความเพียง หนังไทย เพลงไทย ซีรีส์ไทย หรือโปรดักท์ที่แสดงความเป็นไทยอย่าง ผ้าขาวม้า กางเกงช้าง เท่านั้น เพราะทั้งหมดเป็นเพียง cultural effect ที่เป็นเพียงมิติหนึ่งของ Soft Power

ที่มาของคำว่า Soft Power  เป็นศัพท์รัฐศาสตร์ จากแนวคิดของ Joseph Nye ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ที่พูดถึงการใช้นโยบายต่างประเทศ สรุปง่ายๆ ก็คือ การทำให้คนอื่นคิดเหมือนเรา หรือสนับสนุนเราได้อย่างไรโดยไม่ใช้กำลังบังคับ นั่นคือต้องทำให้ชื่นชอบและชื่นชม ด้วยบางสิ่งบางอย่าง ในแง่ของวัฒนธรรมก็คือการทำให้รักและชื่นชอบมากขึ้น  ที่จริง Soft Power ยังมีอีกหลากหลายมิติ

7 เสาหลัก  Soft power  “ดุสิตธานี” โฟกัส “การศึกษา” 

คุณศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดุสิตธานี จํากัด (มหาชน) กล่าวว่าความเข้าใจ Soft Power ส่วนใหญ่เข้าใจว่าเป็นเรื่อง “ซอฟต์ไซต์” เรื่องวัฒนธรรม แต่ที่จริงคือการทำให้มีอิทธิพลเหนือคนอื่น เป็นที่รักที่ชอบของคนอื่น โดยไม่ต้องใช้กำลัง ซึ่งมีการจำแนกไว้ 7 เสาหลัก

1. Business & Trade

2. Governance

3. International Relations

4. Culture & Heritage

5. Media & Communication

6. Education & Science

7. People & Values

สิ่งที่จะทำให้ประเทศไทย มีความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น ผ่าน 7 เสาหลักของ Soft Power ที่เชื่อมโยงกันและมีอิมแพ็คมากขึ้น  โดยเรื่องสำคัญที่เป็นพื้นฐาน คือ “การศึกษา” (Education) ที่เป็นพื้นฐานในทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนา โดยโฟกัส 3 เรื่องหลัก

คุณศุภจี สุธรรมพันธุ์

1. ทำไมการศึกษาสำคัญ นั่นก็เพราะหากคนเราสามารถเข้าถึงการศึกษาในระดับที่สูงขึ้นเรื่อยๆ เสริมทักษะให้ตรงกับความต้องการของตลาด จะทำให้ประเทศไทยมีระบบเศรษฐกิจแข็งแรงมากขึ้น ช่วยพัฒนาบุคลากร (Human Capital) ช่วยทำให้คุณภาพและทักษะของคนน่าสนใจมากขึ้น สามารถดึงความสนใจจากนักลงทุนต่างชาติได้  ช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน พัฒนานวัฒกรรม หากการศึกษาเข้าถึงได้ในทุกพื้นที่ จะลดลงความเหลื่อมล้ำ ช่วยให้ปรับตัวและเปลี่ยนแปลงได้

2. สถานการณ์ “การศึกษา” ในประเทศไทยพบว่าประชากรที่ได้รับการศึกษา ระดับอุดมศึกษา มีสัดส่วนอยู่ที่ 16% ขณะที่ค่าเฉลี่ยโลกอยู่ที่ 28% อย่างเกาหลีใต้ที่โดดเด่นเรื่อง Soft power ก็เน้นหนักเรื่องการศึกษาที่คนเข้าถึงระดับอุดมศึกษาถึง 69%  ตั้งแต่ปี 2555-2565 ช่วงเวลา 10 ปี  ในประเทศไทยมีคนเรียนระดับปริญญาตรีลดลง 1.2 แสนคน  หากจบอย่างน้อยปริญญาตรี จะมีรายได้ 2.3-2.7 หมื่นบาทต่อเดือน จะมีโอกาสทางสังคมและเศรษฐกิจดีขึ้นด้วย

ขณะที่ดัชนีการใช้ภาษาอังกฤษ ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 101 ของโลก ต่ำกว่ากัมพูชาที่อันดับ 98  นี่คือสิ่งที่ต้องให้ความสนใจกับ “การศึกษา” เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับประเทศ

3. ความท้าทายและโอกาสด้าน “การศึกษา”  คือเรื่องคุณภาพ ที่ต้องปรับหลักสูตรการเรียนการสอน  การฝึกอบรมบุคลากรครู  การทำโครงสร้างพื้นฐานให้นักเรียนและนักศึกษาเข้าถึงระบบการศึกษา  การทำให้ทักษะตรงตามต้องการของตลาดแรงงาน

แต่ก็มีโอกาสเช่นกัน โดยต้องพัฒนาหลักสูตรพื้นฐานการศึกษา ไม่ว่าจะเป็น คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษา  และด้วยจุดเด่นของประเทศไทยด้าน ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม  ที่เป็นจุดแข็งด้านการศึกษาได้  โดยต้องเพิ่มเข้าไปในการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งจะทำให้การศึกษาของไทยแตกต่าง

สำหรับองค์กร “ดุสิตธานี” เอง ได้นำเสาหลัก Soft power ด้านการศึกษา มาพัฒนาพนักงานเช่นกัน ด้วยการทำเทรนนิ่งแบบรายบุคคล เพื่อให้แต่ละคนใช้ศักยภาพได้เต็มที่ตามสายงานเฉพาะทาง รวมทั้งกำหนด Core Skills ที่เป็นทักษะพื้นฐานให้พนักงานทุกคนมีเหมือนกัน ปัจจุบันมีพนักงาน 20,000 คน ใน 20 ประเทศ

นอกจากนี้ได้นำ AI มาใช้ในองค์กร 4 ประเภท คือ 1. เพิ่มศักยภาพของพนักงาน 2. ช่วยให้ลูกค้ามีประสบการณ์ที่ตรงใจมากขึ้น 3. ช่วย Business Process มีประสิทธิภาพมากขึ้น  และ 4. พัฒนานวัตกรรม

หากเป็นระดับประเทศ AI สามารถทำใช้ด้าน Personalized Learning เพื่อทำให้ทุกคนเข้าถึงการเรียนได้ผ่าน Online Learning ในพื้นที่ที่แตกต่างกัน  เป็นการใช้เทคโนมาช่วยแก้ปัญหาในการเข้าถึงการศึกษาได้อย่างเท่าเทียม

ปี 2567 คาดการณ์จีดีพี เติบโต 2.3-2.4%  เจาะลึก “บิ๊กคอร์ป” ยังเติบโตสองหลัก แต่เอสเอ็มอี รากหญ้า (คนตัวเล็ก) รายได้ไม่เติบโต  หากสามารถการทำ Collaboration ระหว่าง “คนตัวใหญ่และคนตัวเล็ก” ด้วยการแบ่งปันความรู้ด้านต่างๆ ร่วมกันได้ ก็จะทำให้ทั้งสองกลุ่มเติบโตได้ 

คุณฐาปณี เตชะเจริญวิกุล

“บีเจซี” ลงลึก People & Values 

คุณฐาปณี เตชะเจริญวิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จํากัด (มหาชน) หรือ BJC  กล่าวว่ากลุ่มบีเจซีและบิ๊กซี ให้ความสำคัญกับ Soft Power ทั้ง 7 เสาหลัก  โดยลงลึกด้าน People และ Values  โดยมีองค์ประกอบหลัก 3 เรื่อง คือ Diversity, Equity และ Inclusion เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ Sustainability

“องค์ประกอบของ Diversity, Equity และ Inclusion เป็นเหมือนการสร้างโอกาสต่างๆ เป็นขั้นตอนการทำงานให้ลื่นไหลไปถึงการได้ผลลัพธ์ที่ดี  โอกาสก็เหมือนออกซิเจน ความสดชื่นขององค์กร เป็นความตั้งใจทำให้สถานที่ทำงานสร้างความสุขให้พนักงาน เพื่อเป็นพื้นที่ที่น่าอยู่และเปิดกว้างให้กับทุกโอกาส”

“บีเจซี” ให้ความสำคัญกับ Diversity  ปัจจุบันมีพนักงาน 55,000 คน  เป็นผู้หญิง 61%  ผู้ชาย 39%  มีสิทธิประโยชน์ต่างๆ ให้พนักงงานทั้ง ผู้หญิง-ผู้ชาย รวมทั้ง LGBTQ เหมือนกัน  เป็นสิทธิประโยชน์ที่จับต้องได้  โดยใช้ดาต้ามาวิเคราะห์ การทำเทรนนิ่ง การใช้ AI Recruitment  โดยมีความเสมอภาคของเพศ

อย่างใบสมัครงานและเอกสารพนักงานขององค์กรไม่มีคำว่า “นาย นาง นางสาว”  โดยให้ใช้คำว่า “คุณ” ทั้งหมด เพราะจากการสำรวจพนักงานองค์กรพบว่า 40% บอกว่าเป็น LGBTQ   จึงทำห้องน้ำในสำนักงาน ทั้งผู้ชายและผู้หญิงจะเป็นสีรุ้ง ให้พนักงานเลือกใช้ได้ตามเพศของตัวเอง เพื่อทำให้ทุกคนมีความสุข

จากผลวิจัยของ Deloitte และ McKinsey ในองค์กรที่ทำเรื่อง Diversity, Equity และ Inclusion Benefit สรุปได้ดังนี้

1.  งานวิจัย Deloitte พบว่าการส่งเสริมความหลากหลายทางความสามารถช่วยเพิ่มนวัตกรรมได้สูงขึ้น 20% และช่วยลดความเสี่ยงในการตัดสินใจได้ 30%

2.  McKinsey ศึกษา 366 องค์กรตัวอย่าง พบว่าองค์กรที่มีความหลากหลายของเชื้อชาติและชาติพันธุ์ จะมีผลประกอบการที่ดีกว่า 35%  ขณะที่ความหลากหลายทางเพศส่งผลให้ผลประกอบการดีขึ้น 15%

3.  ผลสำรวจของ Glassdoor พบว่า 67% ของผู้สมัครงานใช้ความหลากหลายเป็นปัจจัยหนึ่งในการตัดสินใจเลือกองค์กร

ขั้นตอนการนำเสาหลักเรื่อง Diversity, Equity และ Inclusion มาใช้ในองค์กรบีเจซี จะมีการแชร์ความรู้  การทำเทรนนิ่งในองค์กร เพื่อให้ทั้งผู้บริหารและพนักงาน เติบโตไปด้วยกัน

สำหรับประเทศไทยการทำเรื่อง Diversity จะมีโอกาสและศักยภาพที่จะเป็น “ฮับ” ทั้งการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การเกษียณและมาใช้ชีวิตคู่ การแต่งงาน เพราะเป็นตลาดที่มีกำลังซื้อสูง

คุณอรนุช เลิศสุวรรณกิจ

“เทคซอส” ย้ำเทคโนโลยีและนวัตกรรมสร้างNew S-curve ประเทศไทย

คุณอรนุช เลิศสุวรรณกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท เทคซอส มีเดีย จํากัด  กล่าวว่าทั้ง 7 เสาหลัก Soft Power ถือว่าสำคัญทั้งหมด แต่หากเปรียบเทียบประเทศไทยเหมือน “บริษัท”  การหา New S-curve ให้กับประเทศไทย สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญคือ เทคโนโลยีและนวัตกรรม

หากมองในมุมของ “ผู้ผลิต” (Maker) นวัตกรรม ที่ต้องมี 3 องค์ประกอบ คือ ตอบโจทย์ แก้ปัญหาให้คน  และสร้างความยั่งยืน

ดังนั้นหากประเทศไทยจะเป็นผู้ผลิตนวัตกรรมและเทคโนโลยี  โอกาสและจุดแข็ง น่าจะอยู่ที่ Medical Tech, Health Tech, Agriculture Tech  โดยใช้เทคโนโลยีสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันให้กับประเทศและช่วยแก้ปัญหาให้สังคม เช่น ความเหลื่อมล้ำ การดูแลสุขภาพ การศึกษา ช่วงว่างเหล่านี้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยแก้ปัญหาได้

ประเทศไทยโดดเด่นหลายด้าน ทั้งอาหาร เกษตรกรรม เฮลท์แคร์ เวลเนส  สามารถเพิ่มประสิทธิภาพด้วยการนำเทคโนโลยีมาช่วยให้คนในต่างจังหวัดได้เข้าถึงบริการที่ดีเหมือนคนที่มีกำลังซื้อ รวมทั้งก้าวขึ้นมาเป็น “ฮับ” ในอุตสาหกรรมดังกล่าวได้

Soft Power ยังมีอีกหลากหลายมิติ ที่ประเทศไทยควรใส่ใจ เพราะเป็นพื้นฐานที่จะทำให้ประเทศไทยมีขีดความสามารถทางการแข่งขันที่ดีขึ้น 

ติดตามพวกเราได้ที่ LINE


แชร์ :

You may also like