HomeBrand Move !!ถอดกลยุทธ์ “สเวนเซ่นส์” เปิดโมเดลใหม่ “รีจินัล แฟล็กชิป สโตร์” ดึง “อัตลักษณ์-เมนูท้องถิ่น” ปักหมุดหมาย 10 จังหวัดทั่วไทย

ถอดกลยุทธ์ “สเวนเซ่นส์” เปิดโมเดลใหม่ “รีจินัล แฟล็กชิป สโตร์” ดึง “อัตลักษณ์-เมนูท้องถิ่น” ปักหมุดหมาย 10 จังหวัดทั่วไทย

แชร์ :

ท่ามกลางการแข่งขันของโลกธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ไม่เว้นแม้แต่ธุรกิจของหวานอย่าง “ไอศกรีม” ที่แม้จะไม่ได้รับผลกระทบด้านเศรษฐกิจ กำลังซื้อมากนัก เนื่องจากเป็นสินค้าที่อาศัย Emotional ในการซื้อ แต่กลับพบว่า ด้วยพฤติกรรมของลูกค้า บวกกับปัจจัยแวดล้อมหลายด้านทำให้ตลาด “ไอศกรีม” จำเป็นต้องมีการปรับตัวและเพิ่มกลยุทธ์ทางการตลาดในหลากหลายรูปแบบมากขึ้น

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

สเวนเซ่นส์ (Swensen’s)  คืออีกหนึ่งแบรนด์ที่มักสร้างสีสันและประสบความสำเร็จในไทยในฐานะผู้นำเบอร์ 1 แถมยังสามารถขึ้นแท่น Top 3 ที่ทำรายได้สูงสุดให้ไมเนอร์ ฟู้ดฯ รองจาก แบรนด์ เดอะ พิซซ่า คอมปะนี และสร้างยอดขายตีคู่มากับ แดรี่ควีน ตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค-ส.ค.67) สเวนเซ่นส์ สามารถสร้างการเติบโตไปแล้วกว่า 5-10%

หลังการถอยทัพของ “บาสกิ้น ร็อบบิ้นส์” ในไทยอย่างเป็นทางการเมื่อปีที่ผ่านมา ทำให้ “สเวนเซ่นส์” แทบจะกลายเป็นผู้เล่นรายเดียวในตลาดไอศกรีมเมืองไทย (ในรูปแบบเชนร้านไอศกรีมขนาดใหญ่) ที่ไร้คู่แข่งแถมยังมีดีกรีเป็นถึงเจ้าตลาดอยู่ก่อนแล้ว

 

แต่ “คุณณพล ศิริมงคลเกษม” Head Of Brand – Swensen’s ภายใต้การดำเนินงานของบริษัท เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)  กลับบอกว่า “เพราะโลกเปลี่ยนไปเรื่อยๆในเชิง Speed ทำให้ต้องทำต่อเนื่อง ตลอดเวลา เพื่อวิ่งให้ทันกับโลกที่วิ่งเร็วขึ้น ขณะที่การไม่มีคู่แข่ง คืออีกหนึ่งความท้าทายเพราะเมื่อไม่มีผู้นำ สเวนเซ่นส์ ต้องทำหน้าที่เป็นผู้นำตลาด คิดค้นนวัตกรรมแบบใหม่ออกมา และต้องทำไปอย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษาตำแหน่งทางการตลาด”

ทำให้ช่วงหลายปีที่ผ่านมา “สเวนเซ่นส์” เริ่มมองหาการเติบโตใหม่ๆที่มากกว่ายอดขาย แต่คือการสร้างประสบการณ์ที่แปลกใหม่ให้แก่ลูกค้า เพื่อให้ได้รับประสบการณ์ที่แตกต่างกันออกไปเมื่อไปเยือนแต่ละสาขา ตั้งแต่โมเดล Swensen’s Craft Bar สาขาที่มีคอนเซปต์ตามพื้นที่  ไปจนถึง “สเวนเซ่นส์ รีจินัล แฟล็กชิป  สโตร์” (Swensen’s Regional Flagship Store) โมเดลล่าสุดที่ทางแบรนด์ยกขึ้นมาเพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ให้ลูกค้าในพื้นที่ต่าง ๆโดยเฉพาะในต่างจังหวัดที่มีอัตลักษณ์ชัดเจน เป็นการให้ความสำคัญกับการสร้างจุดหมายปลายทาง (Destination) ในต่างจังหวัดของแบรนด์ ไม่ใช่เรื่องใหม่ของสเวนเซ่นส์ หากแต่มีการเปิดตัวครั้งแรกเมื่อปี 2018 ที่จังหวัดภูเก็ต ต่อด้วย น่าน ยะลา พิษณุโลก นครศรีธรรมราช หาดใหญ่  และสาขาขอนแก่น ที่เพิ่งเปิดให้บริการไปเมื่อ 3 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา  

โดยสาขา “สเวนเซ่นส์ รีจินัล แฟล็กชิป  สโตร์” แทบจะทั้งหมด (ยกเว้นสาขาภูเก็ต) เป็นสาขาในรูปแบบแฟรนไชส์ ที่พาร์ทเนอร์ของแบรนด์ในแต่ละพื้นที่ดึงเอาเอกลักษณ์ท้องถิ่นมาใช้ในการดึงดูดลูกค้าให้เขามาใช้บริการ หลังการเปิดให้บริการทางแบรนด์ พบว่า ร้านแบบ Swensen’s Reginal Flagship Store  มีทราฟฟิกเพิ่มมากว่าสาขาปกติ 20-30% นอกจากนี้ยังมียอดขายเติบโตเพิ่มมากกว่าสาขาปกติอีกด้วย ทำให้ทางสเวนเซ่นส์ มีแผนเปิดโมเดล Swensen’s Regional Flagship Store ให้ครบ 10 สาขาทั่วไทย โดยตั้งเป้าขยายเพิ่มปีละ 1 สาขา ในแต่ละจังหวัด จากปัจจุบันที่มีออยู่แล้ว 6 สาขา 

Swensen’s Regional Flagship Store ขอนแก่น ดึง “ลอมข้าว-กูบเกวียน” ชูอัตลักษณ์พื้นถิ่นแห่งแรกในอีสาน

สำหรับสาขาลำดับล่าสุดอย่าง Swensen’s Regional Flagship Store ขอนแก่น นับเป็นแฟล็กชิป สโตร์ ที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัด ด้วยงบลงทุนหลัก 10 ล้านบาทปลายๆ สาขารูปแบบ Stand Alone ตั้งอยู่ในตลาดต้นตาล หลังทางแบรนด์ใช้เวลาศึกษาตลาดนานกว่า ปีครึ่ง (แผนเดิมเปิดปีที่ผ่านมา) จากสาขาปกติใช้เวลา 3 เดือน เนื่องจากต้องใช้เวลาในการหาขนาดพื้นที่ ดีไซน์ โครงสร้าง การตกแต่ง ตลอดจนเอกลักษณ์ของแต่ละที่ เพราะมีการผสานวัฒนธรรมท้องถิ่นเข้าไป 

 

Swensen’s Regional Flagship Store สาขา ขอนแก่น

 

“ความยากของการทำสาขาแบบแฟล็กชิป คือต้องมีการศึกษานานและหาทำเลยากกว่าสาขาปกติ เพราะมีขนาดใหญ่เริ่มต้น 400 ตร.ม. จากสาขาปกติที่อยู่ราว 100-200 ตร.ม. ภายใต้เงื่อนไขในการเลือกทำเล จังหวัดต้องมีเอกลักษณ์ วัฒนธรรม กำลังซื้อ และที่สำคัญคือเรื่องของ Land Lord ที่ยากง่ายแตกต่างกัน จึงจำเป็นต้องมีการศึกษาให้ดี” คุณณพลกล่าว

 

โดยการตกแต่งตัวร้านของแฟล็กชิป สโตร์ สาขาขอนแก่น แห่งนี้ เป็นการผสมผสานวัฒนธรรมท้องถิ่นเข้ากับสถาปัตยกรรมของร้าน และการออกแบบตกแต่งภายในสอดแทรกศิลปะท้องถิ่น ภายใต้ไอเดียคอนเซปต์ “ลอมข้าว”การฟ่อนข้าวท่ีเก่ียวแล้วนำไปกองรวมกันไว้ กลางลานดิน  และ “กูบเกวียน”พาหนะท่ีแพร่หลายและได้ร้บความนิยมอย่างมากในภาคอีสานจึงทำให้เกวียนอีสานท่ีชาวอีสานผลิตขึ้นนี้มีลักษณะที่แตกต่างและโดดเด่นยิ่งกว่าภาคอื่น และใช้แพทเทิร์นของเครื่องสานมาประกอบ

นำมาผสานกับดีไซน์ด้านใน “โคมไฟทิฟฟานี” อันเป็นเอกลักษณ์ นอกจากนี้ยังใช้โทนสีแดงอันเป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์ นำมาดีไซน์ร่วมกับ “แคนแก่นคูณ” อันเป็นดอกไม้และสัญลักษณ์ประจำจังหวัดขอนแก่นเข้าด้วยกัน บริเวณที่นั่งให้บริการที่จัดไว้บริการทั้งแบบครอบครัว หรือมากับแก๊งเพื่อให้เปรียบเสมือน Dessert Destination ให้ได้มาพบปะและเช็กอิน

อีกหนึ่งความพิเศษของโมเดล Swensen’s Regional Flagship Store คือจะมี Exclusive Menu เสิร์ฟลูกค้าในช่วง 3 เดือนแรกที่เปิดให้บริการ 1 เมนู โดยแบรนด์จะเป็นคนคิดร่วมกับพาร์ทเนอร์ให้แต่อิงตามเอกลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่น

 

 

ปัจจุบัน “สเวนเซ่นส์”  ในไทยมีจำนวนสาขาทั้งสิ้น  345 สาขา แบ่งเป็นสาขารูปแบบแฟรนไชส์ 60% และลงทุนเอง 40% โดยมีแผนขยายเพิ่มปีละ 10-15 สาขา เน้นทำเลห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า ตลอดจนไฮเปอร์มาร์เก็ต และคอมมูนิตี้มอลล์ ฯลฯ เป็นหลักเนื่องจากมองว่าธุรกิจไอศกรีมและของหวานยังมีความจำเป็นต้องอาศัยทราฟฟิกจากศูนย์การค้าเพื่อให้ดึงทราฟฟิกเข้ามาในร้าน

“การขยายสาขาของสเวนเซ่นส์ ส่วนใหญ่จะเป็นสาขาแฟรนไชส์เป็นหลักตามนโยบายของบริษัทอยู่แล้ว แต่ต้องดูทำเลตรงนั้นด้วยว่า เป็นทำเลของริษัท หรือแฟรนไชส์  ซึ่งหากเป็นพื้นที่ของพาร์ทเนอร์-แฟรนไชส์ แน่นอนเราไม่เข้าไปอยู่แล้ว แต่หากเป็นทำเลที่ไม่ทับซ้อนกัน และเรามองว่ามีศักยภาพบริษัทก็พร้อมที่จะขยายเข้าไปเช่นกัน” คุณณพล ศิริมงคลเกษมกล่าว

 

 

ท้ายที่สุด คุณณพล บอกว่า เพราะปัจจุบันไม่ใช่ยุค One Size Fit All ที่การทำธุรกิจจะดีไซน์ครั้งเดียวแล้วตอบโจทย์ได้เป็นวงกว้าง  ทำให้แบรนด์ต้องมีการดีไซน์สินค้าสำหรับแต่ละกลุ่มเป้าหมายโดยเฉพาะไม่เพียงแต่หน้าร้าน แต่ตลอดจนเมนูต่างๆที่วางขาย ตั้งแต่ไอศกรีมมะม่วง มะพร้าว ทุเรียน สำหรับกลุ่มลูกค้าครอบครัวและเด็ก หรือกลุ่มเด็กลงมาก็จะเป็น การดีไซน์ไอศกรีมไก่ทอดในอดีต หรือจะเป็นพวกโทสต์ แพนเค้ก ซันเดย์ ที่มีความเป็นคาเฟ่ ในการเจาะวัยรุ่น และยังมีเมนูใหม่ๆ ออกมาทุกเดือน เพื่อสร้างมูฟเมนต์ให้มีความแปลกใหม่อยู่เสมอ

ติดตามพวกเราได้ที่ LINE


แชร์ :

You may also like