หลังจากที่ประเทศไทยมี “ทีวีดิจิทัล” มาแล้ว 10 ปี แต่รายได้โฆษณาทีวีกลับสวนทาง “ลดลง” ทุกปี เพราะข้อเท็จจริงวันนี้โลกเปลี่ยนไปมาก ทั้งเทคโนโลยีและพฤติกรรมการเสพสื่อของผู้ชม อนาคตของอุตสาหกรรมสื่อทีวี จึงอยู่ที่ OTT Platform ที่จะเป็นทิศทางต่อไปและช่วยต่อลมหายใจของสื่อทีวี
ปัจจุบันนอกจากมี ทีวีดิจิทัล (เชิงพาณิชย์) 15 ช่อง และทีวีสาธารณะ 6 ช่อง ยังมี “คอนเทนต์ทางเลือก” อีกจำนวนมากในแพลตฟอร์มออนไลน์ อย่าง ยูทูบ แชนแนล ที่มีช่องทีวีดิจิทัลอยู่แล้ว ยังมีช่องทีวีไทยอีกกว่า 200 ช่อง นอกจากนี้ยังมียูทูบเบอร์และอินฟลูเอนเซอร์กว่า 2 ล้านคน ที่ทำช่องรายการเช่นกัน ทั้งหมดเป็นตัวเลือกคอนเทนต์ให้ผู้ชมเลือกดูผ่านมือถือ ที่เข้ามาแย่งเวลาไปจากจอทีวีทั้งสิ้น
วันนี้สภาพแวดล้อม (Ecosystem) และภูมิทัศน์สื่อ (Media Landscape) เปลี่ยนไป หากดูพฤติกรรมการเสพสื่อ (Media Consumption) ของคนไทย ตั้งแต่ปี 2558-2567 พบว่าการดูคอนเทนต์ทีวีดิจิทัลผ่าน OTT Platform (ดูผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ต) เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จาก 7.7% ในปี 2558 มาอยู่ที่ 18.7% (สูงกว่าดูผ่านจอทีวี) ขณะที่การดูทีวีดิจิทัล (จอทีวี) จากจุดสูงสุด 40.6% ในปี 2560 มาในปี 2567 ลดลงเหลือ 15.6% (ต่ำกว่า OTT Platform)
คนไทยดูคอนเทนต์ทีวี 87%
คุณรัญชิตา ศรีวรวิไล ผู้อำนวยการธุรกิจมีเดีย นีลเส็น ประเทศไทย ผู้จัดทำผลสำรวจเรตติ้งทีวีในหลายประเทศ ร่วมทั้งประเทศไทย กล่าวว่าการเปลี่ยนผ่านของ “ทีวี” จากอนาล็อกเป็นทีวีดิจิทัล ภาพสะท้อนพฤติกรรมผู้ชมทีวีไทยผ่านการสำรวจเรตติ้งแบบข้ามแพลตฟอร์ม (Cross Platform) ในวันนี้คือ คนไทยดูคอนเทนต์ทีวีผ่านจอทีวีและแพลตฟอร์มออนไลน์
จากการสำรวจของนีลเส็นในประเทศไทย ผู้ชม 87% บอกว่าดูคอนเทนต์ทีวี (หรือประชากรไทย 87% ดูทีวี) จากจำนวนประชากรไทย 67 ล้านคน นั่นเท่ากับเกือบ 60 ล้านคนที่ยังดูคอนเทนต์ทีวี
แต่การดูทีวีของคนไทยมีพฤติกรรมเสพสื่ออื่นๆ ด้วย เช่น ดูสตรีมมิ่ง 52% ดูทีวีสด (Live TV) 71% เล่นอินเทอร์เน็ต 91% โซเชียลมีเดีย 89% ดูข่าวออนไลน์ 60%
จากตัวเลขดังกล่าว คนไทยไม่ได้เสพสื่อทีวีจากจอเดียวและดูคอนเทนต์จากจออื่นๆ พร้อมๆ กัน ทำให้มีสื่อและแพลตฟอร์มกระจายตัวสูง และผู้บริโภคมีตัวเลือกจำนวนมาก
พบว่ากิจกรรมเวลาว่างของคนไทยทั่วประเทศ ยังดูทีวี เป็นอันดับหนึ่งถึง 57% โดยดูทั้งออฟไลน์และออนไลน์ (ดูผ่านแอปและเว็บไซต์ 44% ที่เป็นแพลตฟอร์มของสถานทีวี) แยกตาม Gen คือ Gen Z สัดส่วน 47%, Gen Y สัดส่วน 54%, Gen X สัดส่วน 61% และอายุ 55 ปีขึ้นไป 62%
ในปี 2566 คนไทยดูทีวีผ่านจอทีวี (ออฟไลน์) 63% ดูผ่านสตรีมมิ่ง 37% ปี 2567 ดูทีวีออนไลน์ 53% ดูผ่านสตรีมมิง 47%
รูปแบบการดู Live TV (ดูรายการสดจอทีวี) 47.8% ประเภทรายการที่คนไทยดูมากสุด คือ ละคร และกีฬา
คนไทยที่ดูคอนเทนต์ทีวีผ่านแพลตฟอร์ม สตรีมมิ่ง 67% เป็นรูปแบบแพลตฟอร์มสมัครสมาชิกจ่ายเงิน (SVOD) 48% และดูฟรีมีโฆษณา (AVOD) 64% เห็นได้ว่าสัดส่วนดูพรีเมียม คอนเทนต์จ่ายเงินค่าสมาชิกเพิ่มขึ้นสูง โดยกลุ่ม Gen Z และ Gen Y มีสัดส่วนจ่ายเงินเพื่อดูคอนเทนต์ พรีเมียม (SVOD) มากสุด สัดส่วน 50%
การดูทีวีของคนไทย ผ่านอุปกรณ์ สมาร์ททีวี 56% สมาร์ทโฟน 55% แล็ปท็อป 9% และแทบเล็ต 6%
กิจกรรมออนไลน์ที่คนไทยทำสูงสุด ในช่วง 3 ปี (2564-2567) การดูคอนเทนต์ผ่าน OTT อยู่ในอันดับ 3 มาเนื่อง จาก 60% มาอยู่ที่ 65% รองจากเล่นโซเชียล มีเดียและแชท
ขณะที่เม็ดเงินโฆษณาในประเทศไทย เดือนมกราคม-กรกฎาคม 2567 เติบโต 2% โดยสื่อทีวี ยังเป็นอันดับหนึ่งสัดส่วน 50% แต่เป็นสัดส่วนที่ลดลงจากก่อนหน้านี้ (โดย 10 ปีก่อนสัดส่วนอยู่ที่ 65%) แต่ยังเป็นสื่อที่แบรนด์ต่างๆ ให้ความสำคัญ และใช้จ่ายเม็ดเงินโฆษณามากที่สุด
สื่อทีวีแตกต่างจากสื่ออื่น ตรงที่เป็น Long-term value กับแบรนด์ต่างๆ หลายแบรนด์ใช้งบโฆษณาเพื่อสร้างแบรนด์ สร้างยอดขาย การใช้สื่อทีวี ยังสร้างแบรนด์ได้ดี ทำให้สื่อทีวียังมีความสำคัญ
โดยสรุปจากการสำรวจพฤติกรรมผู้ชมไทยของ “นีลเส็น” คนไทยยังดูทีวี แต่รูปแบบเปลี่ยนไป เป็นการดูผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น ขณะที่ “สื่อ” ไม่เคยหยุดนิ่ง เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาและเร็วมาก การวางแผนผ่านสื่อจึงต้องผสมผสานระหว่างแพลตฟอร์มต่างๆ ตามพฤติกรรมผู้ชมที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเทรนด์ “สตรีมมิ่ง” เป็นแพลตฟอร์มทางเลือกที่เติบโตทั่วโลกรวมทั้งไทย
ติดตามพวกเราได้ที่ LINE
อ่านเพิ่มเติม