HomeBrand Move !!Whoscall จับมือ 11 หน่วยงานเปิดฟีเจอร์ใหม่ Scam Alert เตือนภัยมิจ ก่อนคลิก Link

Whoscall จับมือ 11 หน่วยงานเปิดฟีเจอร์ใหม่ Scam Alert เตือนภัยมิจ ก่อนคลิก Link

แชร์ :

แอป Whoscall จับมือ 11 หน่วยงานรัฐและเอกชน เปิดตัวฟีเจอร์ใหม่ Scam Alert สำหรับเตือนภัยกลโกง ตั้งเป้าเป็นศูนย์รวมข้อมูลสำหรับป้องกันการหลอกหลวงจากมิจฉาชีพแห่งแรกของประเทศไทย

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

สำหรับฟีเจอร์ดังกล่าวพัฒนาขึ้นเพื่อตอบโจทย์ผู้ใช้งานในไทยที่ประสบปัญหาถูกหลอกลวงจากมิจฉาชีพออนไลน์เพิ่มขึ้น (เปิดตัวครั้งแรกที่ไต้หวัน ไทยเป็นประเทศที่สอง) หลักฐานหนึ่งคือสถิติของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ระหว่างเดือนมีนาคม 2565 ถึงกรกฎาคม 2567 ที่พบว่าความเสียหายจากการถูกหลอกลวงผ่านช่องทางออนไลน์มีมูลค่ารวมเกือบ 7 หมื่นล้านบาท หรือเฉลี่ย 78 ล้านบาทต่อวัน

สอดคล้องกับผลสำรวจเบื้องต้นจากรายงานขององค์กรต่อต้านกลโกงระดับโลก Global Anti-Scam Alliance (GASA) ประจำปี 2567 ที่พบว่ามีคนไทยเพียง 55% ที่มั่นใจว่า รู้เท่าทันมิจฉาชีพ และ 89% เผยว่าต้องรับมือกับมิจฉาชีพ อย่างน้อยเดือนละครั้ง

ทั้งนี้ ในช่วง 6 เดือนแรกของปี Whoscall สามารถตรวจพบสายโทรเข้าจากมิจฉาชีพได้เกือบถึง 19 ล้านครั้ง ในขณะที่กระทรวงดิจิทัล เพื่อเศรษฐกิจ และสังคม (MDES) สามารถปิดกั้นเว็บไซต์ที่บิดเบือน/หลอกลวง จำนวนกว่า 47,000 รายการ (ข้อมูลระหว่างเดือนตุลาคม 2566 – สิงหาคม 2567)

เปิดตัวฟีเจอร์ Scam Alert

จากปัญหาดังกล่างที่มีความรุนแรงมากขึ้น ทางบริษัท โกโกลุก (Gogolook) ผู้พัฒนาแอปพลิเคชัน Whoscall จึงได้จับมือกับอีก 11 หน่วยงานของไทย เปิดตัวฟีเจอร์ Scam Alert โดยภายในมีทั้งการเตือนภัยโดยตรงจากหน่วยงานภาครัฐ และข้อมูลเตือนภัยกลโกงในรูปแบบต่าง ๆ จากพันธมิตรภาคเอกชน ที่สามารถใช้ได้บนแอปพลิเคชัน Whoscall โดยไม่มีค่าใช้จ่ายทั้งเวอร์ชั่นฟรีและพรีเมียม โดย 11 หน่วยงานที่จับมือกับ Whoscallประกอบด้วย

  • สำนักงานคณะกรรมการ กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)
  • สำนักงานคณะกรรมการ การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.)
  • กองบัญชาการตํารวจสอบสวนกลาง (บช.ก.)
  • กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.)
  • บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส)
  • บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น (ทรู)
  • บมจ. โทรคมนาคมแห่งชาติ
  • บมจ. ธนาคารไทยพาณิชย์
  • กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
  • สภาองค์กรของผู้บริโภค
  • โครงการโคแฟค ประเทศไทย (Cofact Thailand)

คุณแมนวู จู ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โกโกลุก (ประเทศไทย) กล่าวถึงการเปิดตัวฟีเจอร์ใหม่นี้ว่า “ปัจจุบันประเทศไทยประสบปัญหาภัยหลอกลวงออนไลน์อย่างต่อเนื่อง และการป้องกันการหลอกลวง จำเป็นต้องได้รับการบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ดังนั้น การเปิดตัวฟีเจอร์ Scam Alert ในครั้งนี้ นอกจากจะสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการพัฒนาแอปพลิเคชัน Whoscall ให้เป็นโซลูชันป้องกันการหลอกลวงแบบครบวงจรแล้ว ยังสะท้อนถึงความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนที่มีเป้าหมายในการส่งเสริมสังคมที่ปลอดภัยปราศจากการหลอกลวงจากมิจฉาชีพด้วย”

คุณแมนวู จู ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โกโกลุก (ประเทศไทย)

สำหรับการเปิดใช้งานฟีเจอร์ Scam Alert ผู้ใช้เพียงเข้าไปที่ปุ่ม Protection ก็จะพบปุ่ม Scam Alert ให้คลิกเข้าไป ก็จะสามารถใช้งานฟีเจอร์ดังกล่าวได้ทันที ซึ่งนอกจากผู้ใช้งานจะได้ รับทราบข้อมูลการเตือนภัย ผ่านฟีเจอร์ Scam Alert แล้ว Whoscall มีฟีเจอร์อื่น ๆ สำหรับช่วยป้องกันความปลอดภัยเพิ่มเติมด้วย เช่น

  • Auto Web Checker เพื่อปกป้องผู้ใช้จากการคลิก ลิงก์ฟิชชิ่ง โดยไม่ได้ตั้งใจแบบอัตโนมัติ
  • ID Security (เช็กว่าข้อมูลรั่วไหม) เพื่อช่วยตรวจสอบความปลอดภัย ของข้อมูลส่วนบุคคลจากฟีเจอร์ที่ใช้งานได้ฟรีและแบบพรีเมียม

อย่างไรก็ดี การป้องกันดังกล่าวของ Whoscall ยังรองรับได้แค่การโทรศัพท์, การคลิก Link และการส่งข้อความเท่านั้น ซึ่งในจุดนี้ คุณแมนวูกล่าวว่า Whoscall พร้อมจับมือกับทุกภาคส่วน รวมถึงแอปพลิเคชันแชท หรือโซเชียลมีเดียต่าง ๆ เพื่อขยายความสามารถในการป้องกันมิจฉาชีพให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นต่อไปในอนาคต และทางบริษัทตั้งเป้าว่า จะมียอดผู้ใช้งานเติบโตขึ้นเท่าตัวจากแคมเปญดังกล่าวนี้ด้วย

ศาสตราจารย์คลินิก นพ. สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (ประธาน กสทช.) กล่าวว่า “อาชญากรรมไซเบอร์เป็นภัยคุกคามที่สำคัญ ซึ่งไม่เพียงส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคแต่รวมถึงภาครัฐและธุรกิจด้วย โครงการ Scam Alert จึงเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญในการสร้างสภาพแวดล้อมดิจิทัลที่ปลอดภัยยิ่งขึ้น ด้วยการแบ่งปันความรู้และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน เสริมความแข็งแกร่งให้ประชาชนได้รับข้อมูลและปกป้องจากภัยคุกคามของการหลอกลวงทางออนไลน์ที่เพิ่มขึ้น”


แชร์ :

You may also like