HomeDigitalทำไม “เพจเจอร์” อุปกรณ์สื่อสารยุคเก่าจึงกลายเป็น “อาวุธ”

ทำไม “เพจเจอร์” อุปกรณ์สื่อสารยุคเก่าจึงกลายเป็น “อาวุธ”

แชร์ :

สำหรับใครที่เกิดยุค’90 น่าจะคุ้นเคยกับอุปกรณ์อย่างเพจเจอร์กันพอสมควร โดยในช่วงเวลาดังกล่าว เพจเจอร์ถือเป็นอุปกรณ์สื่อสารที่มีบทบาทไม่น้อย กับการส่งข้อความสั้นที่ทำได้อย่างรวดเร็ว

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

อย่างไรก็ดี เพจเจอร์ได้เสื่อมความนิยมไปตามกาลเวลา และถูกแทนที่ด้วยโทรศัพท์มือถือ ที่เริ่มเข้ามาบุกตลาดตั้งแต่ปี ค.ศ. 2000 เป็นต้นมา จนเรียกได้ว่า แทบจะหายไปจากชีวิตประจำวันของผู้คน

คล้อยหลังมาเพียง 30 ปี เพจเจอร์ กลับมาเป็นที่จับตาอีกครั้งในฐานะเครื่องมือที่ใช้ในการก่ออาชญากรรม และทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายสิบคน และบาดเจ็บอีกกว่าสามพันรายในประเทศที่กำลังคุกรุ่นด้วยไฟสงครามอย่างเลบานอน และซีเรีย 

สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างไร อาจต้องย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้นของเพจเจอร์ นั่นคือการเป็นเครื่องมือสื่อสารขนาดเล็ก ที่เน้นความรวดเร็วในการส่งข้อมูล และออกจากตลาดไปโดยไม่ได้รับการปรับปรุงความสามารถด้านซีเคียวริตี้ที่มากพอ

จุดเริ่มต้นของเพจเจอร์ ก่อนกลายเป็นอาวุธ

จุดเริ่มต้นของเพจเจอร์ (Pager) ในฐานะอุปกรณ์สื่อสารไร้สายเริ่มขึ้นในช่วงทศวรรษ 1950 โดยมี Alfred J. Gross เป็นผู้จดสิทธิบัตรระบบเพจเจอร์อย่างเป็นทางการในปี ค.ศ. 1949 และได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงปี 1980 – 2000 โดยเฉพาะในวงการแพทย์ อุตสาหกรรมบริการฉุกเฉิน และองค์กรขนาดใหญ่

ในยุคดังกล่าว นอกจากจะนำเพจเจอร์มาใช้ในหมู่เจ้าหน้าที่ฉุกเฉินในวงการการแพทย์แล้ว มันก็ได้ขยายตัวไปสู่การใช้งานเชิงพาณิชย์ด้วย โดยในปี ค.ศ. 1959 ค่าย Motorola ได้เปิดตัว “Pageboy” ซึ่งเป็นเพจเจอร์เชิงพาณิชย์รุ่นแรก จากนั้น เทคโนโลยีของเพจเจอร์ก็พัฒนามากขึ้น โดยสามารถแสดงข้อความตัวเลข หรือสัญญาณเสียงเพื่อแจ้งเตือนผู้ใช้งานได้

เพจเจอร์ได้รับความนิยมสูงสุดในช่วงยุค’90 โดยรายงานของ The Washington Post ระบุว่า ปี ค.ศ. 1994 โลกเรามีผู้ใช้งานเพจเจอร์มากกว่า 61 ล้านคน

อย่างไรก็ดี การมาถึงของ “โทรศัพท์มือถือ” ในยุค 2000 ได้ทำให้ความนิยมของเพจเจอร์ลดลงอย่างมาก และปัจจุบัน เราแทบไม่พบการใช้งานเพจเจอร์ในชีวิตประจำวันแล้ว โดยประเทศต่าง ๆ ได้มีการปิดให้บริการเพจเจอร์ลงอย่างต่อเนื่อง เช่น ในญี่ปุ่นปิดให้บริการเพจเจอร์อย่างถาวรเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2019 ขณะที่รัสเซีย ปิดให้บริการไปเมื่อพฤศจิกายน 2021

เปิดจุดอ่อน “เพจเจอร์”

เมื่อความนิยมใช้งานลดลง เพจเจอร์จึงกลายเป็นอุปกรณ์ที่ขาดการอัปเดทเรื่องระบบรักษาความปลอดภัย เช่น ไม่มีการเข้ารหัสในขณะรับส่งข้อมูล ทำให้ข้อมูลรั่วไหลได้ง่าย (หากเป็นข้อมูลละเอียดอ่อน เช่น ข้อมูลส่วนตัว หรือข้อมูลทางการแพทย์ ถือเป็นเรื่องอันตราย)

หนึ่งในหลักฐานคือผลการศึกษาของบริษัท Trend Micro ในเดือนกันยายน 2016 ที่ระบุว่า เพจเจอร์สามารถถูกเจาะระบบได้ง่าย ทำให้ข้อมูลผู้ป่วยที่ละเอียดอ่อนรั่วไหล และอาจทำให้ผู้ป่วยตกอยู่ในความเสี่ยงได้ ด้วยเหตุนี้ วงการการแพทย์จึงหันไปใช้โซลูชันการส่งข้อความตามมาตรฐาน HIPAA (the Health Insurance Portability and Accountability Act) แทน

อีกประเด็นที่เสี่ยงต่อความปลอดภัยคือ การทำงานของเพจเจอร์เกิดขึ้นผ่านคลื่นวิทยุ ซึ่งสามารถถูกสแกนหรือดักฟังได้ อีกทั้งการใช้งานเพจเจอร์ยังไม่ต้องยืนยันตัวตนเหมือนโทรศัพท์มือถือ ทำให้อาจถูกแอบอ้างจากผู้ไม่ประสงค์ดี (ที่มาดักฟังข้อมูลและใช้ประโยชน์จากข้อมูลนั้น ๆ) ได้อีกเช่นกัน

ที่สำคัญ เพจเจอร์ไม่มีระบบการควบคุมการเข้าถึง เช่น รหัสผ่าน หรือระบบตรวจสอบสองขั้นตอน ทำให้ใครก็ตามที่มีอุปกรณ์จึงสามารถรับข้อมูลได้ และหากทำเพจเจอร์หาย ผู้ที่พบอุปกรณ์สามารถรับข้อความที่ส่งมาถึงเพจเจอร์นั้นได้ทันที เพราะไม่มีระบบล็อกเครื่องหรือป้องกันข้อมูลแต่อย่างใด

2024 ปีที่เพจเจอร์ถูกใช้เป็นอาวุธ

จุดอ่อนของเพจเจอร์ที่กล่าวมาในย่อหน้าข้างต้น ได้รับการพัฒนาอย่างเข้มข้นในอุปกรณ์สื่อสารตัวใหม่อย่างโทรศัพท์มือถือ และในวันที่โทรศัพท์มือถือได้รับการพัฒนาจนอุดจุดอ่อนทุกอย่างของเพจเจอร์ไว้ได้ทั้งหมด การใช้เพจเจอร์เป็นอาวุธ ก็เปิดฉากขึ้น

ภาพและคลิปการระเบิดของเพจเจอร์ยี่ห้อ Gold Apollo รุ่น AR-924 ในกรุงเบรุต ประเทศเลบานอนคือหลักฐานการใช้เพจเจอร์ในการโจมตี โดยผู้ที่ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตส่วนใหญ่คือกลุ่มฮิซบอลเลาะห์

ด้านเจ้าของแบรนด์ Gold Apollo ซึ่งเป็นบริษัทสัญชาติไต้หวันได้ออกมาปฏิเสธการผลิตเพจเจอร์ดังกล่าว โดยระบุว่า ได้ให้สิทธิ์กับบริษัท BAC Consulting KFT ซึ่งตั้งอยู่ในบูดาเปสต์ ประเทศฮังการี สามารถใช้ชื่อ Gold Apollo บนเพจเจอร์ได้

ส่วนสำนักข่าว AP รายงานโดยอ้างผู้เชี่ยวชาญว่า วัตถุระเบิดถูกใส่ไว้ในเพจเจอร์ก่อนที่จะถูกส่งมอบเข้าไปยังเลบานอน แต่ยังไม่ชัดเจนว่าวัตถุระเบิดถูกผลิตและส่งไปยังเลบานอนและซีเรียผ่านช่องทางใด

แต่ท่ามกลางความไม่แน่นอนเหล่านี้ สิ่งหนึ่งที่ยืนยันได้ก็คือ มีการใช้เพจเจอร์เป็นอาวุธขึ้นจริง โดยแรงจูงใจในการใช้ก็มาจาก “จุดอ่อน” ทั้งหมดของเพจเจอร์ที่ไม่ได้รับการแก้ไข ไม่ว่าจะเป็น ตัวเครื่องที่ไม่มีความซับซ้อนเท่ากับสมาร์ทโฟน ทำให้การระบุตำแหน่งทำได้ยากกว่าหรือการที่ไม่ต้องผูกข้อมูลส่วนบุคคลกับตัวเครื่อง การส่งคำสั่งต่าง ๆ จึงทำได้ง่ายกว่า และไม่ทิ้งข้อมูลส่วนตัวให้ตรวจสอบได้

กลุ่มฮิซบอลเลาะห์นำเพจเจอร์มาใช้งานเพราะเหตุใด

ความซับซ้อนของเคสนี้มาจากแรงจูงใจในการใช้งานเพจเจอร์ของกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ ที่รายงานข่าวจากสื่อตะวันตกระบุตรงกันว่า ทางกลุ่มฯ ต้องการหลีกเลี่ยงการใช้งานสมาร์ทโฟน เนื่องจากเกรงว่า ความไฮเทคของสมาร์ทโฟนอาจทำให้ข้อมูลของทางกลุ่มรั่วไหลไปยังฝ่ายตรงข้ามได้

เพจเจอร์ที่มีจุดอ่อนมากมายด้านซีเคียวริตี้ จึงกลายเป็นอุปกรณ์สื่อสารที่ทางกลุ่มฯ เลือกนำมาใช้งานแทน และด้วยการส่งคำสั่งพิเศษบางอย่างจากผู้ไม่ประสงค์ดีมายังเพจเจอร์เหล่านั้น ก็นำไปสู่โศกนาฏกรรมและมีผู้เสียชีวิตจำนวนมากในที่สุด

สำนักข่าว CNN ได้อ้างอิงแหล่งข่าวระดับสูงด้านความมั่นคงรายหนึ่งว่า จากการตรวจสอบเพจเจอร์ที่ระเบิด พบว่ามีการใส่วัตถุแปลกปลอมขนาดเล็กเข้ามาในแบตเตอรี่ลิเธียมของตัวเครื่อง ซึ่งทำให้มันรอดพ้นจากการถูกตรวจจับได้นั่นเอง

ทั้งนี้ หลังจากการระเบิดของเพจเจอร์จำนวนมากแล้ว ในวันต่อมา ก็เกิดกรณีคล้าย ๆ กันกับอุปกรณ์สื่อสารอย่างวอล์กกี้ ทอล์กกี้ด้วย (เป็นอุปกรณ์จากบริษัท ICOM สัญชาติญี่ปุ่น) โดยทั้งญี่ปุ่นและไต้หวันต่างออกมาปฏิเสธว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่ออาชญากรรมครั้งนี้

โทรศัพท์มือถือ จะกลายเป็นเป้าหมายต่อไปหรือไม่

มีคำถามตามมามากมายถึงอุปกรณ์ไฮเทคอย่างโทรศัพท์มือถือ ว่าจะกลายเป็นอาวุธสังหารได้เหมือนที่เกิดกับเพจเจอร์ หรือวอล์กกี้ ทอล์กกี้ หรือไม่ ซึ่งหากพิจารณาจากข้อมูลที่ตัวแทนของแบรนด์ ICOM และ Gold Apollo ออกมาชี้แจงแล้วพบว่ามีความเป็นไปได้

เช่น กรณีของ ICOM ที่ระบุว่า บริษัทได้ยุติการผลิตวอล์กกี้ ทอล์กกี้รุ่นที่มีการระเบิดในเลบานอนไปนานมากแล้ว แต่ก็มีสินค้าปลอมวางจำหน่ายอยู่ทั่วไปตาม e-Marketplace ต่าง ๆ ที่ผู้บริโภคสามารถซื้อหามาใช้งานได้

ความท้าทายของการใช้งานอุปกรณ์สื่อสารทุกวันนี้ จึงไม่ได้อยู่ที่เทคโนโลยีที่ล้ำสมัยเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงความเสี่ยงที่เทคโนโลยีเหล่านั้นจะถูกใช้ในทางที่ผิดด้วย เห็นได้จากตัวอย่างของอุปกรณ์ที่เคยเป็นเพียงแค่เครื่องมือสื่อสารอย่างเพจเจอร์ หรือวอล์กกี้ ทอล์กกี้ ก็สามารถกลายเป็นอาวุธร้ายแรงได้

คำถามสำคัญในตอนนี้จึงอาจเป็นการร่วมกันหาคำตอบว่า เมื่ออุปกรณ์เหล่านี้ถูกพัฒนาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ความรับผิดชอบในการใช้งานจะตกอยู่ที่ใคร และเทคโนโลยีล้ำสมัยจะช่วยป้องกันหรือนำไปสู่การใช้ในทางที่ไม่ถูกต้องได้อย่างไร โดยทั้งหมดนี้อาจเป็นสิ่งที่ทั้งผู้ผลิตและผู้ใช้งานต้องร่วมกันหาคำตอบร่วมกัน

Source

Source

Source

Source

ติดตามพวกเราได้ที่ LINE

รูปภาพ/วิดีโอจาก Number 24 x Shutterstock Thailand พาร์ทเนอร์ชัตเตอร์สต็อกอย่างเป็นทางการแต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย
www.number24.co.th
#Number24xShutterstock


แชร์ :

You may also like