5 ศิลปินไทยขึ้นแท่นสร้าง Earned Media Value (EMV) ให้แบรนด์ลักชัวรี่จากงาน Paris Fashion Week 2024 สูงสุด นำโดย อาโป-ณัฐวิญญ์ (Dior) เบ็คกี้-รีเบคก้า (Chanel) ลิซ่า-ลลิษา (Louis Vuitton) ฟรีน – สโรชา และ พีพี-กฤษฏ์ (Balenciaga)
สำหรับข้อมูลดังกล่าวเป็นการเปิดเผยจาก Vogue Business โดยพบว่า แบรนด์ที่สามารถสร้าง EMV ได้สูงสุดคือ Dior และอินฟลูเอนเซอร์ที่ Dior เลือกใช้อย่าง “อาโป-ณัฐวิญญ์” สามารถสร้าง EMV คิดเป็นมูลค่าถึง 61,892,108 เหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 2,061 ล้านบาท
นอกจาก อาโป-ณัฐวิญญ์ แล้ว ในการจัดอันดับดังกล่าวยังมีชื่อของ เบ็คกี้-รีเบคก้า แพทริเซีย อาร์มสตรอง นักแสดงลูกครึ่งไทย-อังกฤษ จาก Chanel ที่อยู่ในอันดับ 3 ของตาราง โดยสามารถสร้าง EMV ได้ถึง 32,194,181 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1,070 ล้านบาท
ตามมาด้วย ลิซ่า – ลลิษา จากแบรนด์ Louis Vuitton ที่สามารถสร้าง EMV ได้สูงถึง 24,067,090 เหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็นเงินไทย 801 ล้านบาท (อันดับ 4) และ ฟรีน – สโรชา จันทร์กิมฮะ จาก Valentino โดยสามารถสร้าง EMV ได้ถึง 19,022,612 เหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 634 ล้านบาท) และอยู่ในอันดับ 6 ของตาราง
ศิลปินไทยคนสุดท้ายคือ พีพี-กฤษฏ์ จาก Balenciaga ที่สามารถสร้าง EMV ได้ 17,632,021 เหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 587 ล้านบาท) โดยอยู่ในอันดับ 8 ของตาราง
“อินฟลูเอนเซอร์” ผู้ช่วยสำคัญแบรนด์ลักชัวรี่
ปฏิเสธไม่ได้ว่า การใช้อินฟลูเอนเซอร์สำหรับแบรนด์ลักชัวรี่กลายเป็นกลยุทธ์สำคัญ เนื่องจากกลุ่มลูกค้าของสินค้าลักชัวรี่มักให้ความสำคัญกับภาพลักษณ์และประสบการณ์ที่สื่อออกมา การเลือกใช้อินฟลูเอนเซอร์ที่มีภาพลักษณ์และไลฟ์สไตล์ที่ตรงกับแบรนด์ จึงถือเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยให้แบรนด์สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างเป็นธรรมชาติ
ไม่เฉพาะอิเวนต์อย่าง Paris Fashion Week แต่ในอีกหลายประเทศทั่วโลก แบรนด์ลักชัวรี่ก็มีการใช้อินฟลูเอนเซอร์เป็นตัวช่วยทำการตลาดอย่างกว้างขวาง เช่น ในจีนแผ่นดินใหญ่ โดยข้อมูลจาก CNA ได้ยกกรณีของ Louis Vuitton และ Lanvin ที่มีการใช้อินฟลูเอนเซอร์ – บล็อกเกอร์เพื่อเจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่บนแพลตฟอร์มต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง พร้อมระบุด้วยว่า คอนเทนต์ที่เกี่ยวกับแฟชั่น และเครื่องสำอางบน แพลตฟอร์มอย่าง Xiaohongshu (แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่ Gen Z ของจีนใช้งานให้ความนิยมสูงมาก) ในช่วงครึ่งปีแรกของ 2024 เพิ่มขึ้นถึง 120% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2023
นี่จึงอาจเป็นอีกหนึ่งหลักฐานที่สะท้อนว่า การใช้อินฟลูเอนเซอร์เพื่อสร้างภาพลักษณ์และมูลค่าให้กับแบรนด์ลักชัวรี่เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่ทรงพลังในยุคดิจิทัล และยังสามารถช่วยแบรนด์สร้างความเชื่อมโยงกับผู้บริโภคได้อย่างยั่งยืนอีกด้วย