สำหรับใครที่อยากศึกษาว่า Gen Z ทั่วโลกกำลังสื่อสารกันอย่างไร บางทีอาจต้องไปที่ TikTok โดยมีนักวิชาการชาวอังกฤษพบว่า ผู้ใช้งาน TikTok มีการพัฒนาคำศัพท์ใหม่ ๆ ออกมาเป็นจำนวนมาก
ตัวอย่างของคำศัพท์ที่ Gen Z สร้างขึ้นบน TikTok เช่น Skibidi (มาจาก Skibidi Toilet) นอกจากนั้นยังพบการเปลี่ยนความหมายของคำในอดีตอย่าง demure ที่เคยมีความหมายถึงสุภาพสตรีในยุควิคตอเรียนมาใช้ในเชิงประชดประชันด้วย
ผู้ที่ออกมาตั้งข้อสังเกตถึงการพัฒนาของภาษาบนแพลตฟอร์ม TikTok คือ Tony Thorne ผู้อำนวยการของ the Slang and New Language Archive แห่ง King’s College London โดยเขาให้ทัศนะว่า นอกจากตัวอย่างข้างต้นแล้ว ยังพบว่า ในช่วงเวลาสั้น ๆ มีการพัฒนาคำศัพท์ใหม่ ๆ บน TikTok มากกว่า 100 คำ ขณะที่คำศัพท์เดิมนั้น พบว่ามีการตัดทอนตัวอักษรบางตัวออกไป เช่น คำว่า Delusional เหลือเพียง dululu หรือการเปลี่ยนจาก Talking เป็นคำว่า yapping แทน
นอกจากนี้ วิธีการพูดของคนรุ่นใหม่ยังเปลี่ยนไปด้วย โดยเขาพบว่า มีการเน้นเสียงหนักที่ช่วงท้ายของประโยค ซึ่งเขาเรียกมันว่า TikTok Accent และระบุว่า พบพฤติกรรมนี้มากขึ้นในหมู่ผู้ใช้งาน Gen Z
สำหรับเหตุผล – อิทธิพลจากแพลตฟอร์มที่ทำให้รูปแบบการสื่อสารของ Gen Z เปลี่ยนไปนั้น Tony Thorne มองว่า มาจากคอนเทนต์บน TikTok ที่รวมทุกอย่างเข้าด้วยกัน ทั้งภาพ เสียง ข้อความ ซึ่งทั้งหมดทั้งมวล เจ้าของช่องผลิตขึ้นเพื่อสร้างความพึงพอใจให้กับผู้ชม (หรืออีกนัยหนึ่งก็คือเพื่อให้คลิปถูกอัลกอริธึมดันให้กระจายไปยังผู้ชมคนอื่น ๆ ด้วยนั่นเอง)
แนวคิดดังกล่าวส่งผลให้การผลิตคอนเทนต์ของบรรดาช่องต่าง ๆ ต้องหาสูตรสำเร็จ เพื่อให้สามารถดึงดูดผู้ชมให้ได้มากที่สุด วิธีการพูดเปิดคลิป – ปิดคลิปให้น่าสนใจจึงกลายเป็นแบบฟอร์มมาตรฐาน และส่งผลให้ผู้ใช้งาน TikTok ได้รับอิทธิพลจาก “วิธี” ดังกล่าวมาสู่การใช้งานในชีวิตจริงด้วย
อย่างไรก็ดี การพัฒนาด้านภาษาของผู้ใช้งาน Gen Z ที่กำลังเกิดขึ้นบน TikTok อาจไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะก่อนหน้าจะมี TikTok โลกก็มีแพลตฟอร์มอย่าง Facebook, Instagram, Twitter มาก่อนเช่นกัน และบรรดาผู้ใช้งานยุค Gen X – Gen Y ต่างก็เคยสร้างคำศัพท์ใหม่ ๆ เพื่อใช้สื่อสารกันบนแพลตฟอร์ม ตลอดจนใช้เครื่องมือต่าง ๆ ที่แพลตฟอร์มมีให้ ทั้ง Emoji, Hashtag ตลอดจนตัวอักษรย่อต่าง ๆ กันมาไม่มากก็น้อย
คนที่ท้าทายที่สุดในเรื่องนี้จึงอาจเป็น The Oxford English Dictionary (OED) ในการเลือกคำศัพท์เพื่อบรรจุลงในพจนานุกรม ซึ่งเกณฑ์ของ OED ในการเลือกคำศัพท์พบว่า คำศัพท์นั้น ๆ ต้องมีการใช้งานมาต่อเนื่องอย่างน้อย 5 ปี โดยหนึ่งในคำศัพท์ล่าสุดที่มีการบรรจุลงใน OED ก็คือคำว่า binge-worthy ที่หลายคนอาจจะลืมไปแล้วนั่นเอง
ติดตามพวกเราได้ที่ LINE
รูปภาพ/วิดีโอจาก Number 24 x Shutterstock Thailand พาร์ทเนอร์ชัตเตอร์สต็อกอย่างเป็นทางการแต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย
www.number24.co.th
#Number24xShutterstock