ปรากฏการณ์หนึ่งที่เห็นได้ชัดในช่วงหลายปีให้หลังมานี้คือการปรับตัวรับกับความเปลี่ยนแปลงของทุกภาคส่วน รวมถึงแวดวงละครโทรทัศน์และซีรีส์ที่ได้รับผลกระทบจากการ Disruption จนต้องลดการผลิตผลงานและเปลี่ยนแนวทางเพื่อให้ตอบโจทย์พฤติกรรมของผู้บริโภค ซึ่งแน่นอนว่าส่งผลกระทบต่อฟันเฟืองทุกส่วน หนึ่งในนั้นคือนักเขียนบทละครโทรทัศน์ ที่การเปลี่ยนแปลงสร้างความสั่นคลอนต่ออาชีพของพวกเขา สมาคมนักเขียนบทละครโทรทัศน์ (TSA) จึงตระหนักว่า ในเมื่อภาพรวมของอุตสาหกรรมเปลี่ยนแปลงไป นักเขียนบทก็ต้องปรับเปลี่ยนตาม ด้วยการเรียนรู้และเพิ่มเติมทักษะ พัฒนาตัวเองให้เป็นได้มากกว่านักเขียนบท
“GO UP AND NEVER STOP EXPAND MULTI SKILLS” จัดขึ้นภายใต้โครงการสร้างทักษะใหม่เพื่อพัฒนานักเขียนบทให้เป็นกำลังสำคัญของยุทธศาสตร์ซอฟท์พาวเวอร์แห่งชาติ โดยเป็นความร่วมมือครั้งแรกของ สมาคมนักเขียนบทละครโทรทัศน์ (TSA) และ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม, THACCA (Thailand Creative Culture Agency) รวมถึง OFOS (One Family One Soft Power) เพื่อส่งเสริมนักเขียนบทให้มีความสามารถหลากหลาย ต่อยอดทักษะใหม่ สร้างคุณค่าเรื่องเล่าที่สร้างสรรค์สู่เทรนด์โลก ซึ่งจะเป็นการยกระดับคุณภาพของละครและซีรีส์ไทย ช่วยผลักดันแผนยุทธศาสตร์ซอฟท์พาวเวอร์แห่งชาติได้อย่างแท้จริง โดยจัดขึ้น 2 วันเต็ม ระหว่างวันที่ 21-22 ตุลาคม 2567 ณ โรงแรม S31 สุขุมวิท 31 แบ่งกิจกรรมออกเป็น 7 หัวข้อการเสวนา ถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์โดยวิทยากรชื่อดังผู้มีความเชี่ยวชาญในแต่ละด้าน
อัพสกิล เสริมทักษะ เพิ่มโอกาสในการเติบโตให้กับนักเขียนบท
คฑาหัสต์ บุษปะเกศ นายกสมาคมนักเขียนบทละครโทรทัศน์ เผยว่า สมาคมนักเขียนบทละครโทรทัศน์ ก่อตั้งขึ้นด้วยวัตถุประสงค์ในการสร้างเครือข่ายนักเขียนบทละคร ให้เป็นชุมชนที่จะร่วมกัน Up-Skills และ Re-Skills พัฒนานักเขียนบทรุ่นใหม่ให้กับวงการ รวมถึงเป็นส่วนเชื่อมระหว่างวิชาชีพในวงการทีวีและวงการบันเทิง โดยมีภารกิจที่ตั้งไว้คือจะจัดให้มีการฝึกอบรม สัมมนา นำเสนอข้อมูลต่าง ๆ และสร้างเครือข่ายให้แข็งแกร่ง ตลอด 6 ปีที่ผ่านมาจึงมีโครงการและกิจกรรมมากมาย ทำให้อาชีพนักเขียนบทละครเป็นที่รู้จักมากขึ้น และกิจกรรมครั้งนี้ก็เกิดขึ้นด้วยความคิดที่ว่า แท้จริงแล้วว่านักเขียนบทสามารถพัฒนาต่อยอดทักษะ เพื่อปรับเปลี่ยนไปเป็นอะไรที่มากกว่าอาชีพนักเขียนบทได้อีกมาก ฉะนั้นถึงแม้อุตสาหกรรมจะเปลี่ยนไป แต่ถ้านักเขียนบทไม่หยุดพัฒนาและต่อยอดความคิดสร้างสรรค์ของตัวเองอยู่เสมอก็จะสามารถอยู่รอดได้
“ยิ่งทุกวันนี้ละคร ซีรีส์ รวมถึงนวนิยายไทย ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางทั้งในประเทศและต่างประเทศ จนนับเป็นหนึ่งในซอฟต์พาวเวอร์ไทยที่มีศักยภาพ ยิ่งเป็นโอกาสให้นักเขียนบทได้เติบโต ซึ่งการ Up-Skill ครั้งนี้เต็มไปด้วยหัวข้อที่น่าสนใจและและนำไปต่อยอดใช้ได้จริง จะช่วยให้นักเขียนผลักดันเรื่องเล่าและบทละครเข้าสู่อุตสาหกรรมละครและซีรีส์ได้ด้วยตนเอง เสริมจุดแข็งด้านความสร้างสรรค์และเทคนิคในการถ่ายทอดเรื่องราว สร้างคุณค่าเรื่องเล่าให้สามารถดึงดูดผู้ชมทั้งในประเทศและระดับสากล ซึ่งจะเป็นการผลักดันวัฒนธรรมสร้างสรรค์ไทยสู่เวทีโลก ผ่านอุตสาหกรรมละครและซีรีส์” นายกสมาคมนักเขียนบทละครโทรทัศน์กล่าว
กิจกรรม “GO UP AND NEVER STOP EXPAND MULTI SKILLS” เปิดโอกาสให้นักเขียนบทโทรทัศน์ บุคคลในวงการภาพยนตร์ ละคร ซีรีส์ นักเขียนนิยาย และประชาชนผู้สนใจเข้าร่วมทั้งแบบ Onsite ณ ห้อง Chamber โรงแรม S31 สุขุมวิท 31 และแบบ Online โดยแบ่งการเสวนาออกเป็น 7 หัวข้อ ให้ความรู้อย่างต่อเนื่องตลอด 2 วันเต็ม ระหว่างวันที่ 21-22 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา ท่ามกลางบรรยากาศสนุกสนาน
เป็นกันเอง แต่เต็มไปด้วยสาระที่อัดแน่น ตั้งแต่ความรู้ในการใช้ประโยชน์จาก AI วิธีการนำเสนองานให้ได้งาน การปรับตัวรับศาสตร์อื่นและแพลตฟอร์มใหม่ ๆ ไปจนถึงการสร้างความเข้าใจในเทรนด์โลก เพื่อให้นักเขียนบทและผู้สนใจสามารถนำไปต่อยอดใช้งานได้จริง
“นักเขียนบทสู่นักเขียนเอไอ” รู้จักตัวช่วยยุคดิจิทัล
เริ่มด้วยการเรียนรู้เทคโนโลยี AI เพื่อช่วยในการเขียน ให้สามารถเขียนงานอย่างสร้างสรรค์ แปลกใหม่ และเร็วขึ้น ซึ่งได้กูรูอย่าง โชค วิศวโยธิน ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางในการควบคุมและส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต ผู้ร่วมเขียนหนังสือ “ChatGPT: AI ปฏิวัติโลก” มาถ่ายถอดความรู้ให้เหล่านักเขียนบทได้เรียนรู้ที่จะนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI อย่าง Chat GPT มาช่วยถ่ายทอดสิ่งที่คิดให้เป็นเนื้อหาและภาพ เพื่อให้สามารถตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น โดยแนะนำว่านักเขียนบทสามารถใช้ประโยชน์จาก AI ได้หลากหลาย อาทิ การใช้ AI เป็นเพื่อนคู่คิด ช่วยคิดพล็อตและประเด็นต่าง ๆ หรือใช้เป็นผู้ช่วยผลิตงานในรูปแบบ AI Draft Human Craft โดยให้ AI ร่างงานขึ้นมา ก่อนนำมาพัฒนาเป็นผลงานที่มีเอกลักษณ์ รวมถึงยังสามารถใช้ความแม่นยำของ AI ช่วยตรวจทานข้อมูลต่าง ๆ เช่น การเช็กคำผิด ตรวจสอบช่องโหว่ในเนื้อเรื่อง ทั้งนี้ทั้งนั้นข้อควรระวังคือ AI ไม่ได้รู้จริงในทุกเรื่อง ดังนั้นขอบเขตการใช้งาน Chat GPT จึงขึ้นอยู่ที่ความรู้ของแต่ละคน ยิ่งรู้มากก็จะยิ่งใช้งานได้มาก เพราะจะสามารถตรวจสอบกลับไปได้ว่าสิ่งที่ AI สร้างหรือให้ข้อมูลมานั้นเป็นความจริงหรือไม่ เหนือสิ่งอื่นหากอยากใช้เทคโนโลยี AI คุณโชคบอกว่า “ต้องเข้าใจ ใช้เป็น เห็นโอกาส จึงจะเป็นประโยชน์ต่อการทำงาน”
“นักเขียนบทสู่โชว์รันเนอร์” อัพสกิลให้ขายงานได้ครบวงจร
หนึ่งในหัวข้อที่ช่วยเสริมศักยภาพให้นักเขียนบทคือ “การพัฒนานักเขียนบทสู่โชว์รันเนอร์” ซึ่งได้ผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดัง พันธุ์ธัมม์ ทองสังข์ ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง รองกรรมการผู้อำนวยการฝ่ายผลิต บริษัท The One Enterprise จำกัด (มหาชน) อนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม Soft Power ด้านภาพยนตร์ และละครซีรีส์ (อดีต)รองเลขาธิการสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ (อดีต) คณะกรรมการกองทุนภาพยนตร์ไทยเข้มแข็ง (กองทุนภาพยนตร์ของรัฐบาล) มาให้ความรู้ในการพัฒนาทักษะด้านการขายและบริหารโครงการ เพื่อพัฒนาตัวเองไปสู่การเป็นโชว์รันเนอร์ที่สามารถสร้างผลงานที่มีคุณค่าทั้งในประเทศและตลาดโลก โดยชี้ให้ผู้เข้าร่วมเสวนามองเห็นโอกาสว่าตลาดคอนเท้นท์ประเภทซีรีส์และละครในยุคนี้กว้างขึ้นมาก และรูปแบบของการขายงานไม่ได้มีเฉพาะการรับจ้างผลิตดังที่คุ้นเคยในตลาดละครไทย แต่ยังมี Showrunner Independent ที่มีอิสระในการสร้างสรรค์และยังมีโอกาสในการสร้างเม็ดเงินจากผลงานได้มากกว่า แต่ความยากคือการหาทุน สปอนเซอร์ และช่องทางออกอากาศ ซึ่งใน Session นี้ให้ความรู้เรื่อง Pitch Deck และ Pitch Presentation อาวุธสำคัญของการหาเงินทุนอย่างละเอียด พร้อมยกตัวอย่างให้เห็นภาพ อีกทั้งยังสร้างความเข้าใจในการวาง Positioning ของงาน เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างตรงจุด และคุณพันธุ์ธัมม์ยังเผยถึงวิธีการขายงานว่า “สิ่งที่ต้องรู้มี 3 คำคือ Window ช่องทางการฉาย Territory ขอบเขตการเผยแพร่ และ Period ระยะเวลาในการฉาย” เพราะคอนเท้นท์ละครและซีรีส์ในยุคนี้ ไม่ได้ขายแค่ทางโทรทัศน์ แต่ยังฉายผ่านแพลตฟอร์ม OTT และไม่ใช่แค่ในประเทศไทย ยังสามารถขายไปได้ทั่วโลก
“นักเขียนบทสู่นักเขียนวาย” เข้าใจเทรนด์ซีรีส์ Y และ Yuri
ได้รับเสียงกรี๊ดอย่างล้นหลาม กับหัวข้อการเสวนาที่กำลังอยู่ในกระแส อีกทั้งยังได้สองผู้คร่ำหวอดในแวดวงวาย (Y) เจติยา โลกิตสถาพร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บรรณาธิการบริหาร บริษัทสถาพรบุ๊คส์ จำกัด และ กฤษดา วิทยาขจรเดช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บีออนคลาวด์ จำกัด ผู้ผลิตซีรีส์ชื่อดังอย่าง KinnPorsche The Series La Forte, 4 Minutes และภาพยนตร์แมนสรวง มาเป็นวิทยากรร่วมถ่ายทอดประสบการณ์และเรื่องราวเกี่ยวกับแวดวงวายอย่างครบรส ทั้งในมุมของนวนิยายและซีรีส์
โดยทั้งสองท่านมองว่าไทยเป็นผู้นำในตลาดนิยายและซีรีส์วายซึ่งขยายความนิยมไปทั่วโลก และปัจจัยที่ทำให้ความวายกลายเป็นกระแส คือแฟน ๆ ที่พร้อมจะสนับสนุนศิลปินและผลงานที่ชอบอย่างเต็มที่ แม้ช่วงหลังจะมีผู้ผลิตคอนเท้นท์วายออกมามาก แต่เชื่อว่ายังไม่ถึงจุดอิ่มตัว ด้วยแนวทาง เนื้อหา และสไตล์ที่แตกต่างหลากหลาย จะทำให้นิยายและซีรีส์วายโตไปได้อีก เช่นเดียวกับแชฟฟิก (Sapphic) และยูริ (Yuri) ซึ่งเติบโตมาจากฐานแฟนคลับสายวายรวมถึงคนที่ชื่นชอบเรื่องราวแนว Girl Love จนกลายเป็นอีกหนึ่งซอฟพาวเวอร์ที่ทรงพลังของไทย โดยคุณเจติยาฝากถึงนักเขียนบทที่อยากหันมาเขียนนิยายวายว่า “หลักการเขียนนิยายวาย ไม่ได้แตกต่างจากนิยายทั่วไป เพียงแต่เปิดรับเรื่อง LGBTQ+ ท่านใดที่สนใจอยากให้ลงมือเขียนไปเลย หากตั้งใจจริงเชื่อว่าวันหนึ่งจะต้องเป็นผู้ผลิตคอนเทนต์วายได้แน่นอน” ด้านคุณกฤษดาเสริมทางซีรีส์วายว่า “จริง ๆ ทุกเรื่องราวล้วนบอกเล่าถึงความสัมพันธ์ของมนุษย์ ถ้าเรามองข้ามอัตลักษณ์ทั้งหมดแล้วมองไปที่แก่นของความรู้สึก ซีรีส์วายก็คือซีรีส์ปกติที่มีพล็อตดี ใคร ๆ ก็เขียนได้เช่นกัน”
“นักเขียนบทสู่นักเขียนนิยาย” ศึกษาข้ามศาสตร์กับนักเขียนนิยายระดับครู
หัวข้อนี้ได้สองนักเขียนชื่อดัง นพ.พงศกร จินดาวัฒนะ และ “กิ่งฉัตร” ปาริฉัตร ศาลิคุปต มาสร้างแรงบันดาลใจในการข้ามศาสตร์จากนักเขียนบทไปสู่นักเขียนนิยาย พร้อมเผยวิธีการสร้างสรรค์ผลงานที่จะทำให้นิยายมีศักยภาพในการเข้าถึงผู้อ่าน โดยอธิบายถึงความแตกต่างระหว่างสองศาสตร์ว่า การเขียนบทจะมองเป็นภาพ แต่นิยายไม่มีภาพมาเป็นกรอบกำหนดจึงสามารถจินตนาการได้ลึกกว่า ส่วนสำคัญคือจินตนาการและภาษาที่จะทำให้คนเห็นภาพ ในณะที่การบรรยายหรือพรรณนาที่นักเขียนบทอาจจะกังวล เป็นสไตล์เฉพาะตัวของแต่ละคน ซึ่งนักอ่านรุ่นใหม่ชอบการเล่าเรื่องที่กระชับได้ใจความมากกว่า
“ศาสตร์ในการเขียนบทและนิยายมีความใกล้เคียงกันอยู่แล้ว หากอยากข้ามศาสตร์มาสู่การเขียนนิยายจึงสามารถทำได้ไม่ยาก แถมนักเขียนบทอาจจะได้เปรียบในกลุ่มคนอ่านสมัยนี้ด้วยซ้ำ ในเรื่องของการกระชับภาษา ฉะนั้นถ้าอยากเขียนนิยายอาจจะตัดการบรรยายที่เยอะ ๆ ออกแล้วใช้จุดแข็งของตัวเองใส่เข้าไป เน้นสั้นกระชับ ให้เห็นภาพ จากที่เคยให้เห็นภาพในละครก็ปรับมาให้เห็นภาพในนวนิยายแทน” คุณกิ่งฉัตรแนะนำ ในขณะที่ นพ.พงศกร เสริมว่า “เรื่องการบรรยายเป็นบุคลิกเฉพาะของแต่ละคน ซึ่งปัจจุบันรสนิยมในการอ่านของคนเปลี่ยนไปเยอะ เทรนด์ของการอ่านยุคนี้คือสั้น กระชับ ไม่ต้องบรรยายเยอะ แต่ก็ยังมีอยู่ ขึ้นอยู่กับประเภทของนิยาย ที่ยากคือจะขายอย่างไรมากกว่า แนะนำว่าในยุคนี้ที่มีคอนเท้นท์ต่าง ๆ ให้เสพเยอะมาก อย่าไปกังวลว่าเขียนแล้วคนจะชอบหรือเปล่า ใน 100 ร้อยคนอาจจะชอบสัก 20 คน ให้โฟกัสกับ 20 คนนั้นแล้วค่อยขยายฐานคนอ่านออกไปจะดีกว่า”
“นักเขียนบทสู่นักเขียนออนไลน์” เปิดโลกสู่วรรณกรรมออนไลน์
พูดคุยกับ ศิริวิมล วิสุทธิ์ศักดิ์ชัย Marketing Division ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดออนไลน์ของ Meb Corporation ผู้นำด้านการประกอบธุรกิจวรรณกรรมออนไลน์ และจำหน่ายหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (E-Book) ผ่านแพลตฟอร์ม Meb และ ReadAwrite ที่มาบอกเล่าถึงการเติบโตของตลาดนิยายออนไลน์ พร้อมแนะนำวิธีนำผลงานเข้าสู่ระบบออนไลน์อย่างละเอียด โดยบอกว่า “ถ้าอยากเขียนนิยายส่งให้ Meb เพียงแค่ลงมือเขียนก็ส่งได้เลย เพราะ Meb มีเครื่องมือมากมายในการช่วยสร้างสรรค์นิยายให้มีคุณภาพ ทั้งเครื่องมือตรวจคำผิด เครื่องมือช่วยสร้างปก เครื่องมือช่วยสร้างรูปโปรโมต และยังมีนิยายแชตที่เหมาะกับนักเขียนบทที่ไม่ถนัดการเขียนบรรยาย แถมนักอ่านนิยายรุ่นใหม่ยังชอบมากด้วย” ก่อนปิดท้าย Session ด้วยการเผยที่มาของรายได้และแนะนำการทำตลาดเพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างถูกจุด ซึ่งดึงดูดความสนใจจากเหล่านักเขียนบทได้ ไม่น้อย “นิยายออนไลน์มีกลุ่มคนอ่านหลากหลาย ดังนั้นใครที่อยากเขียนนิยายไม่ต้องกังวลว่าแนวที่เราถนัดจะตอบโจทย์คนอ่านไหม ต้องลองเขียนและลงดู เพื่อค้นหาแนวที่ใช่สำหรับเรา” คุณศิริวิมลกล่าว
“นักเขียนบทสู่ WEBTOON CREATOR” ขยายจักรวาลสู่เว็บตูน
อีกหนึ่งหัวข้อที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากกับแพลตฟอร์มยอดนิยมในกลุ่มคนรุ่นใหม่อย่างเว็บตูน (WEBTOON) ซึ่งได้ ศิริศักดิ์ คชพัชรินทร์ รองประธาน สมาพันธ์ภาพยนตร์แห่งชาติ, CEO บริษัท Cintnakar และ White Ape Digital Co.,ltd. (BOI Company) ผู้มีประสบการณ์กว่า 20 ปีด้าน Film and Animation มาให้ข้อมูลที่น่าทึ่งว่าเว็บตูนเป็นอุตสาหกรรมใหญ่ของเกาหลีใต้ที่สร้างรายได้มหาศาล โดยมูลค่าตลาดสูงกว่าอุตสาหกรรม K-Pop เพราะเป็นตลาดคนรุ่นใหม่ที่มีผู้อ่านอยู่ทั่วโลก ด้วยจุดเด่นที่วิธีการเล่าเรื่องแนวตั้ง มีประเภทให้เลือกอ่านหลากหลาย และมีทั้งภาพ เสียง เนื้อหา รวมถึงจินตนาการ จึงทำให้เข้าถึงกลุ่มคนอ่านได้ง่าย และที่น่าสนใจคือเว็บตูนสามารถต่อยอดไปได้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ ทีวีซีรีส์ เกมส์ ของเล่น อาร์ตทอย ฯลฯ หากประสบความสำเร็จจะสามารถสร้างรายได้จากลิขสิทธิ์ได้อย่างไม่รูจบ
“ส่วนสำคัญของเว็บตูนคือการเล่าเรื่อง ดังนั้นนักเขียนบทที่มีวัตถุดิบอยู่แล้วสามารถร่วมเป็นทีมสร้างสรรค์ได้เลย โดยหานักวาดมาช่วยเรื่องงานภาพ แต่ต้องวางแผนให้ดี เพราะนักเขียนและนักวาดสำคัญทั้งคู่ อีกหนึ่งเรื่องที่ต้องรู้คือ เมื่อสร้างสรรค์เว็บตูนขึ้นมาแล้วลิขสิทธิ์ในเรื่องนั้น ๆ เป็นของเรา ดังนั้นรายได้จึงไม่ได้จบแค่การอัพผลงานลงไปบนแพลตฟอร์ม แต่สามารถต่อยอดไปได้มากกว่านั้น” ผู้คร่ำหวอดในวงการชี้ให้เห็นความเป็นไปได้ในการพัฒนาเรื่องราวที่มีสู่เว็บตูน
“นักเขียนบทสู่ตลาดโลก” รับฟังเทรนด์ เรียนรู้พฤติกรรมผู้ชมยุคใหม่
ปิดท้ายกิจกรรม “GO UP AND NEVER STOP EXPAND MULTI SKILLS” ด้วยการรับฟังเทรนด์ของกลุ่มเป้าหมายในโลกยุคดิจิตอล เรียนรู้พฤติกรรมผู้ชมยุคใหม่ทั่วโลกเพื่อพัฒนาผลงานให้ตอบโจทย์ความต้องการของยุคสมัย กับ พันธุ์ธัมม์ ทองสังข์ อนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม Soft Power ด้านภาพยนตร์ และละครซีรีส์ และ วิรัตน์ เฮงคงดี ผู้อำนวยการฝ่ายผลิตละครโทรทัศน์และภาพยนตร์ เวิร์คพอยท์
เอ็นเทอร์เทนเมนท์ ซึ่งเล่าถึง Media Disruption ที่ทำให้ผู้คนหันไปให้ความสนใจกิจกรรมหรือคอนเท้นท์อื่น ๆ ในโลกออนไลน์แทนการติดตามละครหรือซีรีส์ จนส่งผลกระทบให้ละครทีวีอยู่ในช่วงขาลง เหมือนที่คุณวิรัตน์บอกว่า “ผู้ชมในปัจจุบันสามารถเลือกได้ จากเมื่อก่อนที่มีคนเลือกให้” ฉะนั้นนักเขียนบทจึงต้องปรับตัวเองใหม่ให้เป็น Story Teller ที่เล่าได้ทุกอย่าง เพื่อพัฒนาศักยภาพสู่การเป็นนักเล่าเรื่องระดับสากล รวมถึงบอกต่อเทรนด์และรสนิยมของคนดูทั่วโลก เพื่อมองหาตลาดการขายเรื่องระดับนานาชาติ “ตลาดมี แต่เราต้องทำให้ตลาดเห็นก่อนว่าเรามีของ ต้องตกให้ได้ เพราะถ้าตกเรื่องเดียวได้จะสร้างตลาดในระยะยาว” คุณพันธุ์ธัมม์อธิบาย ซึ่งหากทำได้จะเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนา สร้างคุณค่าเรื่องเล่าไทยสร้างสรรค์สู่เทรนด์โลก และเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมบันเทิงตามยุทธศาสตร์ซอฟท์พาวเวอร์แห่งชาติ
เรียกได้ว่าทุกหัวข้อล้วนอัดแน่นไปด้วยสาระความรู้ที่ไม่เพียงช่วยพัฒนานักเขียนบทให้มีความสามารถหลากหลายขึ้น ยังนำไปต่อยอดสร้างสรรค์ผลงานใหม่ ๆ ได้อีกมากมาย ภายใต้ความคาดหวังของสมาคมนักเขียนบทละครโทรทัศน์ ที่อยากให้นักเขียนบทและผู้สนใจทั่วไป สามารถปรับตัวรับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป และมีช่องทางใหม่ ๆ ในการพัฒนาเรื่องเล่าที่มีคุณภาพให้มีมูลค่าและคุณค่ามากกว่าเดิม นอกจากนี้ทางสมาคมฯ ยังมีโครงการดี ๆ เพื่อส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพสมาชิกนักเขียนบทละครโทรทัศน์รวมถึงประชาชนทั่วไปอีกหลายโครงการ ติดตามได้ทาง Facebook: สมาคมนักเขียนบทละครโทรทัศน์