HomeBrand Move !!คิดเมนูใหม่ปีละ 450 เมนู เบื้องหลัง ‘ซีพีแรม’ ครีเอท ‘ผัดซีอิ๋ว – ข้าวกะเพราไก่ไข่ดาว กล่องแดง’ เมนูฮิตประจำ 7-11

คิดเมนูใหม่ปีละ 450 เมนู เบื้องหลัง ‘ซีพีแรม’ ครีเอท ‘ผัดซีอิ๋ว – ข้าวกะเพราไก่ไข่ดาว กล่องแดง’ เมนูฮิตประจำ 7-11

แชร์ :

เพราะว่า ‘ซีพีแรม’ มีนักพัฒนาเมนูใหม่ๆ เฉพาะกลุ่มอาหาร Ready-to-Eat ราว 200 คน บวกกับทีม R&D ที่เชี่ยวชาญเรื่องเบเกอรี่โดยเฉพาะ อีกมากว่า 60 คน นั่นทำให้แต่ละปี CP Ramสามารถพัฒนาเมนูใหม่ๆ มาตอบสนองผู้บริโภคไม่ต่ำกว่า 450 เมนูต่อปี โดยเหตุผลที่ “คุณวิเศษ วิศิษฏ์วิญญู” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพีแรม จำกัด อธิบายถึงเหตุผลที่บริษัทต้องต้องจริงจังกับทีมพัฒนาผลิตภัณฑ์เป็นอย่างมาก ก็เพราะ “ความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว”

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

แต่ละเมนูต้องอยู่ได้ 1 ปี

“อาหารคือ แฟชั่น” คุณวิเศษ ให้คำนิยามอย่างเห็นภาพ  ดังนั้นในปัจจุบันนี้การพัฒนาสินค้าขึ้นมา 1 เมนู ทาง  ‘ซีพีแรม’ ตั้งเป้าหมายเอาไว้ว่าจะต้องได้รับความนิยมยาวนานถึง 1 ปี

“สินค้าของเรามี 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคือเราพัฒนาร่วมกับ CP ALL หรือว่าร้าน 7-11 ก็จะมีโจทย์และข้อมูลร่วมกันทั้งเรื่องการพัฒนาสินค้าและช่องทางการจัดจำหน่าย เช่น เทรนด์อาหารจากเกาหลี หรืออาหารอิตาเลียน อาหารที่เราพัฒนาขึ้น ผมอยากให้อยู่ได้ราว 1 ปี ถ้าไม่ถึง 1ปี ก็แปลว่าเราไม่แม่นยำมากพอก็ต้องปรับปรุงเรียนรู้ แต่ปัจจุบันทุกอย่างมันไวมาก ผู้บริโภคมีทางเลือกเยอะ บางรายการอยู่ได้ 3-4 เดือนก็มี อาหารอีกกลุ่มก็คือ Own Brand เช่น VG 4 Love ซึ่งเป็นสินค้าที่เราพัฒนาขึ้นมาเอง ลงทุน ก็ต้องหาข้อมูลเยอะกว่า ทั้งตลาด ที่เราต้องศึกษาเพิ่ม”

คุณวิเศษ วิศิษฏ์วิญญู กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพีแรม จำกัด

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา มีสินค้ายอดนิยมมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ข้าวกะเพราไก่ไข่ดาว ข้าวไข่เจียวกุ้ง ผัดซีอิ๊ว ข้าวผัดปู ข้าวหน้าหมูย่างเกลือ ล้วนแล้วแต่เป็นเมนูฮิต มีอายุยาวนานเกินกว่า 1 ปี ปักธงสร้างการตอกย้ำให้ “ข้าวกล่องแดงในเซเว่นฯ” เป็นที่จดจำ

หัวเรือใหญ่ของแบรนด์ระบุว่า การที่จะทำให้เกิดความยั่งยืนในธุรกิจ เริ่มจากรสชาติ ที่ลูกค้าทดลองแล้วเชื่อมั่นในคุณภาพของความอร่อย นอกเหนือจากนั้นเป็นเรื่องของความปลอดภัยและคุณค่าโภชนาการ

เบื้องหลังเมนูอาหารท้องถิ่น แต่โดนใจคนทั้งประเทศ 

อีกกลุ่มสินค้าที่สร้างปรากฏการณ์เซอร์ไพร์สก็คือ เมนูอย่าง ใบเหลียงผัดไข่ ข้าวซอยไก่ หรือ ก๋วยจั๊บญวณ คุณวิเศษ เปิดเผยเบื้องหลังว่า เกิดจากความคิดสร้างสรรค์ของนักพัฒนา (Product Development) ที่อยู่ในแต่ละภูมิภาค กับอินไซต์ที่เริ่มจากการทำให้คนเหนือ หรือคนใต้ แต่คิดถึงอาหารบ้านเกิดแล้วหากินได้ยาก ได้กินอาหารที่คุ้นเคย

อย่างไรก็ตาม ความท้าทายก็คือ ต้องผลิตให้ได้มาตรฐานเดียวกันเพื่อตอบสนองผู้บริโภคทั้งประเทศ โดยอาศัยระบบการผลิตและการบริหารบุคลากร ที่ทางซีพีแรมจะใช้วิธีการ Rotate บุคลากรไปตามโรงงานต่างๆ ในแต่ละภูมิภาคเพื่อถ่ายทอดภูมิปัญญาและประสบการณ์ซึ่งกันและกัน ทำให้โรงงานแต่ละแห่งผลิตสินค้าได้แบบเดียวกัน

และนอกเหนือจากเรื่องการผลิตแล้ว วัตถุดิบ ก็เป็นอีกเรื่องที่ทางซีพีแรมต้องตีโจทย์ต่อไป

“ไม่ว่าลูกค้าอยู่ที่ไหนก็ต้องได้สินค้าที่รสชาติเหมือนกัน ไม่ว่าคุณจะไปเปิดตู้ที่ร้าน 7-11 ที่ไหน นี่คือความยากของเรา และโดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนนี้ ใบเหลียงได้รับความนิยมมาก แต่ก็ขาดตลาดมาก เราก็ต้องบริหารจัดการไป ผมเคยบอกให้เกษตรกรปลูกนะ ปลูกมาสิเรารับซื้อหมด ก็กลายเป็นว่าปัญหาก็คือเขาปลูกไม่ไหวอีก ใบเหลียงได้จากการปลูกต้นใต้ต้นยาง ดังนั้นจะให้เขาปลูกยางด้วย ปลูกผักเหลียงอีก เขาก็เหนื่อยที่จะทำทั้งสองอย่าง แค่ปลูกแซมนิดหน่อย ทำได้ ผมเคยลองเอามาปลูกเองที่บ้าน ปลูกตั้งนานได้มานิดเดียวเอง” คุณวิเศษเล่าติดตลก

“เจ” ปีนี้โตกระฉูด 20%

นอกเหนือจากการพัฒนาอาหารตามเทรนด์ของผู้บริโภค และท้องถิ่นแล้ว ในแต่ละปี ‘ซีพีแรม’ ยังพัฒนาอาหารตามเทศกาลสำคัญๆ ไม่ว่าจะเป็น ตรุษจีน สารทจีน โดยเน้นสินค้ากลุ่มซาลาเปาอิงกับความเป็นศิริมงคล ด้วยไซซ์ Familay Pack เพื่อนำไปใช้ไหว้ และเทศกาลที่สำคัญในช่วงปลายปีอย่าง “กินเจ” ที่ทางบริษัทได้เข้าร่วมสืบสาน “ประเพณีถือศีล กินผัก จังหวัดภูเก็ต 2567” เทศกาลกินเจที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ระหว่างวันที่ 3 -11 ตุลาคม 2567 ตอบรับกับข้อมูลของศูนย์วิจัยกรุงไทยซึ่งชี้ว่าตลาดอาหารจากพืชของไทยจะเติบโตถึง 45,000 ล้านบาทภายในปีนี้

พร้อมทั้งส่งสินค้าในเครือไม่ว่าจะเป็น เมนูข้าว “วีจี ฟอร์ เลิฟ” อาทิ ข้าวลาบหมูเจ ข้าวคั่วกลิ้งเจ ผัดหมี่ซั่วเจ ข้าวคะน้าหมูกรอบเจ ข้าวราดผัดพริกแกงหมูกรอบเจ และเส้นหมี่ผัดซีอิ้วเจ และอีกมากมาย พร้อมเบเกอรี่ “แบรนด์เลอแปง” เช่น คัพเค้กกล้วยหอมสูตรเจ ตบท้ายด้วย ซาลาเปาไส้งาดำนมถั่วเหลือง และซาลาเปาไส้พุทราจีน ซาลาเปาไส้เผือกเจ ซาลาเปาไส้เห็ดทรงเครื่องเจ ซาลาเปาไส้ผักรวมเจ ฯลฯ ภายใต้แบรนด์ “เจด ดราก้อน” นั่นทำให้จากเดิมที่ในแต่ละปี ‘ซีพีแรม’ จะมียอดขายเพิ่มขึ้นราว 12-13% แต่ในปีนี้เพิ่มขึ้นถึง 20%

“ต้องถือว่าอาหารเจเป็นเซกเมนต์ที่โตกว่าสินค้าอื่นอื่น ปีที่แล้วเราประเมินสถานการณ์ผิด ทำให้มีช่วงหนึ่งสินค้าช็อตไป แต่ในปีนี้เราเตรียมการณ์ได้ดีขึ้น แต่ก็กลายเป็นว่า มีจำนวนผู้บริโภคให้ความสนใจมากขึ้นไปอีก นอกเหนือจากเทรนด์การทานอาหารประเภทผักเพื่อสุขภาพและเพื่อความรู้สึกที่ดีทางด้านจิตใจแล้ว ในช่วงเทศกาลเจ นับว่ามีความต้องการเฉพาะขึ้นไปอีก การพัฒนาสินค้าของเราก็ต้องนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสม คือ นอกจากจะต้องสอดค้ลองกับคววามเชื่อด้านจิตใจที่ได้ละเว้นจากการเบียดเบียนสัตว์ แล้วยังถือว่าเป็นการรับประทานผักและยังต้องเป็นผักที่ไม่มีกลิ่นฉุน 5 อย่างอีกด้วย”

“เกี๊ยวกุ้ง” แรงบันดาลใจ ดันอาหารไทยสู่ตลาดโลก

โจทย์ใหญ่อีกประการของ ‘ซีพีแรม’ นอกจากอาหารเพื่อป้อนตลาดภายในประเทศไทย ก็คือการส่งออก จากเดิมที่เคยเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกรายใหญ่ของประเทศ แต่เมื่อเกิดสถานการณ์โควิด-19 ก็ทำให้ตลาดอาหารของประเทศไทยเผชิญหน้ากับความท้าทายทั้งเรื่องอัตราค่าแรงที่สูงกว่าเพื่อนบ้าน ทั้งเวียดนาม และจีน ยิ่งการส่งออก การเดินทางต่างๆ ได้รับผลกระทบจนคู่ค้าเดิม หันไปหาผลิตภัณฑ์ทดแทนจากคู่ค้ารายอื่น จนทำให้อัตรากการส่งออกของ ซีพีแรม หดตัวเหลือเพียง 3-4% ของรายได้เท่านั้น อย่างไรก็ตามคุณวิเศษ เน้นย้ำเรื่อง “ความแข็งแรงของ Soft Power อาหารไทย” มาเป็นจุดเด่น โดยได้แรงบันดาลใจจากเมนูเด็ด “เกี๊ยวกุ้งซีพี” ที่ผลิตโดย CPF  ซึ่งนอกจากจะโดนใจคนไทยแล้ว ก็ยังได้ใจคนทั่วโลก

ทั้งหมดนี้คือแนวทางการเติบโตของ ‘ซีพีแรม’ ทั้งในช่วงเวลาปกติ และเทศกาล ตลอดจนการเติบโตในต่างประเทศ

ติดตามพวกเราได้ที่ LINE


แชร์ :

You may also like