HomeBrand Move !!LINE เปิดอินไซท์ ผู้บริโภคไทย Wealth ไม่เท่ากัน เผยกลยุทธ์ใช้ดาต้าให้ตรงใจทุกกลุ่ม

LINE เปิดอินไซท์ ผู้บริโภคไทย Wealth ไม่เท่ากัน เผยกลยุทธ์ใช้ดาต้าให้ตรงใจทุกกลุ่ม

ดึงฟีเจอร์ใหม่ Immersive Ads ปลุกไอเดียนักการตลาด พร้อมใช้ปลายปี

แชร์ :

คุณรัฐธีร์ ฉัตรดำรงค์ศักดิ์ รองประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการพาณิชย์ LINE ประเทศไทย

LINE ประเทศไทย สะท้อนการเติบโต GDP ผ่านอินไซท์การใช้งบโฆษณา และการใช้ดาต้าบนแพลตฟอร์ม พบบริษัทต่าง ๆ หันกลับมาให้ความสำคัญกับการสร้างแบรนด์อีกครั้ง หลังจากการทำตลาดโดยมุ่งเน้น Conversion ทำให้แบรนด์เสีย Loyalty ในช่วงที่ผ่านมา ด้านผู้บริหารฝ่ายเทคโนโลยีของ LINE เตรียมเปิดตัวโฆษณาแนวใหม่ “Immersive Ads” โดยคาดว่าจะเริ่มใช้ในไทยได้ช่วงปลายปีนี้ และเป็นประเทศที่สองรองจากญี่ปุ่น

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

การเปิดเผยดังกล่าวมีขึ้นในงาน THAILAND NOW & NEXT: Thriving through The Economic Instability ซึ่งเป็นงานสัมมนาธุรกิจครั้งใหญ่ของ LINE ประเทศไทย โดยคุณรัฐธีร์ ฉัตรดำรงค์ศักดิ์ รองประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการพาณิชย์ LINE ประเทศไทย กล่าวถึงภาพรวมเศรษฐกิจไทยเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า

“หลายปีที่ผ่านมา GDP ของไทยเติบโตแบบผันผวนจากทั้งปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ ถึงแม้ในปี 2024 นี้ คาดว่าจะมีการฟื้นตัวด้วยอัตราการเติบโตประมาณ 2.3% ถึง 2.6% จากแรงสนับสนุนของภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคในประเทศที่แข็งแกร่งขึ้น แต่หนี้ครัวเรือนที่มีสัดส่วนสูงถึงกว่า 90% รวมถึงปัจจัยลบภายนอกประเทศยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่น่ากังวล”

“เหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นทั้งหลายเหล่านี้ ชี้ว่าประเทศไทยรวมถึงธุรกิจต่าง ๆ กำลังเผชิญกับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจทั้งระดับมหภาคและจุลภาค”

นีลเส็นไอคิวชี้ ผู้บริโภคไทย Wealth ไม่เท่ากัน

คุณชินตา ศรีจินตอังกูร Thailand Site Leader บริษัท นีลเส็นไอคิว (ประเทศไทย) จำกัด

ด้านคุณชินตา ศรีจินตอังกูร Thailand Site Leader บริษัท นีลเส็นไอคิว (ประเทศไทย) จำกัด ผู้เชี่ยวชาญด้านวิจัยตลาด ได้มาร่วมแบ่งปันข้อมูลพฤติกรรมของผู้บริโภคยุคใหม่ ภายใต้หัวข้อ UNFOLDING CONSUMER INSIGHTS IN A CHALLENGING THAILAND โดยเปิดเผยงานวิจัยของนีลเส็น ซึ่งชี้ให้เห็นว่า ปัจจุบันผู้บริโภคมีรูปแบบพฤติกรรมที่เปลี่ยนจากการใช้จ่ายอย่างระมัดระวังไปสู่การใช้จ่ายแบบพิถีพิถันและตั้งใจมากขึ้น โดยเกิดขึ้นจาก 4 ตัวแปรสำคัญ ได้แก่

(1) สถานะของผู้บริโภค ผู้บริโภคมีแนวโน้มที่จะปรับตัวกับความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมได้ดี โดยมีการประเมินการใช้จ่ายอย่างรอบคอบ เพื่อให้แน่ใจว่าการใช้เงินนั้นเกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่า

(2) ปัจจัยขับเคลื่อนการบริโภค ที่สำคัญคือ สภาวะเงินเฟ้อในไทย ทำให้ผู้บริโภคจำเป็นต้องใช้จ่ายมากขึ้นเพื่อสิ่งตอบแทนที่เท่าเดิม โดยสินค้าที่ผู้บริโภคยังคงให้ความสำคัญคือ สินค้าที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวัน อย่างสินค้าอุปโภคบริโภค (FMCG) อีกทั้ง ผู้บริโภคยังมีความภักดีต่อแบรนด์น้อยลง พร้อมที่จะเปลี่ยนไปซื้อสินค้าที่มองว่าคุ้มค่ากว่า

(3) ความเหลื่อมล้ำทางการเงิน ในปี 2024 แม้ว่าผู้บริโภคจำนวนมากจะเริ่มมีความมั่นคงทางการเงินมากขึ้น แต่กลุ่มใหญ่ในสังคมไทยมากกว่า 50% ยังระมัดระวังและมีความกังวลในการใช้จ่าย ผู้บริโภคส่วนมากยังให้ความสำคัญกับการใช้จ่ายที่เน้นความเรียบง่าย การวางแผน และการหลีกเลี่ยงความสิ้นเปลือง

(4) นิยาม “ความคุ้มค่า” แบบใหม่ ผู้บริโภคไม่ได้มองแค่เรื่องราคาที่ถูกลง แต่ยังพิจารณาถึงคุณค่าในรูปแบบอื่นๆ ภายใต้ราคาที่เข้าถึงได้ เช่น เป็นสินค้าใหม่ เป็นสินค้าที่สร้างความยั่งยืน เป็นสินค้าที่มาจากธรรมชาติ เป็นต้น

ทั้งนี้ หากราคาสินค้ายังคงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผู้เชี่ยวชาญจาก NIQ ชี้ว่า สินค้า 3 กลุ่มแรกที่ผู้บริโภคจะเลิกซื้อก่อน ได้แก่ Snacks 54%, เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 59% และอาหารแช่แข็ง 49%

แบรนด์ปรับกลยุทธ์ Digital Marketing

การใช้ LINE Ads ร่วมกับ Reservation ทำให้ประสิทธิภาพของแคมเปญดีขึ้น 2 เท่า

จากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป คุณศรีสุภาคย์ อารีวณิชกุล ผู้อำนวยการธุรกิจองค์กร LINE ประเทศไทย ได้เผยถึงอินไซต์การใช้งานดาต้าบนแพลตฟอร์ม LINE ของธุรกิจต่าง ๆ ในไทยที่พบว่ามีความเปลี่ยนแปลงไปใน 4 ด้านเช่นกัน ได้แก่

(1) ใช้ช่องทางโฆษณาแบบผสมผสาน โดยใช้ทั้งช่องทางโฆษณาแบบ Reservation เพื่อเข้าถึงระดับ Mass ควบคู่ไปกับช่องทางโฆษณาบน LINE Ads เพื่อระบุกลุ่มเป้าหมายแบบเฉพาะเจาะจง ช่วยให้แบรนด์สามารถเพิ่มประสิทธิภาพของแคมเปญโฆษณาได้ดีขึ้น

(2) ใช้กลุ่มเป้าหมายใหม่ในการยิงโฆษณา โดยทดลองเลือกกลุ่มเป้าหมายในเซกเมนต์ใหม่ ๆ นอกเหนือจากกลุ่มเป้าหมายโดยตรงที่เคยเลือกใช้ เพื่อขยายฐานผู้มีแนวโน้มสนใจสินค้าของแบรนด์ได้กว้างและครอบคลุมขึ้น เช่น กลุ่มธุรกิจยานยนต์ ที่ลองขยายกลุ่มเป้าหมายไปยังผู้ที่สนใจเรื่องแต่งงาน ครอบครัว หรือเสียงเพลง เป็นต้น

(3) ให้ความสำคัญกับการเก็บข้อมูล 1st Party Data โดยใช้เครื่องมือ MyCustomer ทำหน้าที่เป็นถังเก็บ รวบรวม และบริหารจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ เพื่อนำมาจำแนก แบ่งกลุ่มเป้าหมาย ในการสื่อสารและใช้ทำการตลาดแบบเฉพาะเจาะจง อาทิ ธุรกิจกลุ่มการเงินและประกัน ที่มีการอัปเดตข้อมูลบัญชี การทำธุรกรรมต่างๆ ของผู้ใช้แต่ละราย หรือนำเสนอบริการอันหลากหลาย ให้เหมาะกับผู้ใช้แต่ละคนผ่าน LINE OA

อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่แบรนด์ไม่มีข้อมูล 1st Party Data เป็นของตนเอง ก็สามารถใช้ Mission Stickers มาเป็นกลยุทธ์เสริมได้ อาทิ กลุ่มธุรกิจ FMCG และของใช้ส่วนตัว ที่ใช้ Mission Stickers ร่วมกับฟีเจอร์แบบสอบถาม ของ MyCustomer ในการเก็บข้อมูลจากผู้บริโภคได้โดยตรง เป็นต้น

(4) สร้างประสบการณ์เฉพาะบุคคล ด้วยการเอาดาต้ามาจำแนก แบ่งกลุ่มเป้าหมาย เพื่อสร้างประสบการณ์ นำเสนอคอนเทนต์ให้ตรงกลุ่ม ตรงใจ ตรงการใช้งานจริงของแต่ละคน เช่น ธุรกิจยานยนต์ ที่มีการยิงโฆษณาด้วยเนื้อหาที่แตกต่างกันไปยังกลุ่มลูกค้าตามระดับความสนใจซื้อ ธุรกิจค้าปลีกและธุรกิจการเงิน ที่มีการแสดงผล Rich Menu บน LINE OA แตกต่างกันไปตามระดับสมาชิกของลูกค้าแต่ละคน เป็นต้น

ตัวอย่าง Rich Menu บน LINE OA ที่มี Interface แตกต่างกันของ The 1

บุกตลาดโซลูชัน

ในฝั่งของการพัฒนาเทคโนโลยีให้กับแพลตฟอร์ม คุณวีระ เกษตรสิน รองประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายผลิตภัณฑ์ LINE ประเทศไทย ได้เผยถึง Roadmap การพัฒนาประสิทธิภาพของเครื่องมือบน LINE ภายในปี 2024-2025 โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มสำคัญ ได้แก่

กลุ่มบริการด้านโฆษณา

มีการเพิ่มรูปแบบใหม่และเพิ่มตัวเลือกในการระบุกลุ่มเป้าหมายที่ละเอียด ครอบคลุมมากขึ้น โดยล่าสุด ได้เปิดให้แบรนด์สามารถระบุกลุ่มเป้าหมายตามความสนใจในกลุ่มผู้ติดตามบน LINE OA ได้แล้ว และจะมีการขยายไปสู่กลุ่มผู้ใช้งาน LINE OpenChat ผู้ใช้งานบริการอื่นๆ บน LINE รวมถึง LINE TODAY ในอนาคต

กลุ่มโซลูชั่นด้านดาต้า

เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ Data บน MyCustomer ผ่านความสามารถใหม่ ๆ อาทิ การจับคู่ข้อมูลด้านโปรไฟล์ของลูกค้ากับผู้ติดตามใน LINE OA การมีระบบอัตโนมัติมาช่วยดำเนินงานการตลาดให้ การเชื่อมต่อข้อมูลกับระบบภายนอกได้ และการสร้างกลุ่มเป้าหมายคาดการณ์โดย AI

ส่วน MyCustomer | CRM มีแผนเปิดการเชื่อมต่อกับช่องทางการขายอื่น ๆ เช่น LINE MAN โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ผู้บริโภคสะดวกขึ้นในการรับแต้ม หรือสะสมคะแนน

เปิดตัว Immersive Ads ต่อจากญี่ปุ่น

คุณวีระ เกษตรสิน รองประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายผลิตภัณฑ์ LINE ประเทศไทย ขณะแนะนำ Immersive Ads

เพื่อเพิ่มสีสันให้กับแพลตฟอร์ม ในช่วงปลายปีนี้ LINE ประเทศไทยจะมีการเปิดตัวโฆษณารูปแบบใหม่ Immersive Ads ที่มีขนาดใหญ่และน่าสนใจกว่าเดิมบนช่องทาง Smart Channel โดยเป็นการทำงานร่วมกันของคลิป – อนิเมชัน และสามารถเปิดไปยังแอปพลิเคชัน หรือเว็บไซต์ของทางแบรนด์ได้

ปัจจุบัน Immersive Ads เริ่มใช้งานแล้วในประเทศญี่ปุ่น และไทยจะเป็นประเทศที่สองที่เปิดให้บริการดังกล่าว โดยคาดว่าจะเริ่มใช้งานได้ในช่วงปลายปีนี้

“เทรนด์การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นมีแนวโน้มที่จะดำเนินต่อไปอย่างต่อเนื่อง ภาคธุรกิจไทยจำเป็นต้องติดตามสถานการณ์ รับรู้ข้อมูล และปรับตัวอย่างทันท่วงที การใช้ประโยชน์จากข้อมูลและเทคโนโลยีจะเป็นปัจจัยสำคัญในการช่วยให้แบรนด์เติบโตและอยู่รอดท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง LINE พร้อมที่จะเป็นแพลตฟอร์มหลักสำหรับภาคธุรกิจไทย ในการนำข้อมูลและเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ช่วยให้ธุรกิจสามารถปรับตัว อยู่รอด และเติบโตอย่างมั่นคง ในยุคที่การแข่งขันและการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว” คุณรัฐธีร์ กล่าวสรุป


แชร์ :

You may also like