รัฐบาลสิงคโปร์เตรียมออกกฎให้สถาบันการเงิน – บริษัทโทรคมนาคม ร่วมกันรับผิดชอบ “ค่าเสียหาย” หากผู้ใช้บริการถูกมิจฉาชีพออนไลน์หลอกลวง มีผลบังคับใช้ 16 ธันวาคมนี้
สำหรับที่มาของนโยบายดังกล่าว พบว่ามาจากการที่รัฐบาลสิงคโปร์ต้องการลดจำนวนผู้เสียหายจากมิจฉาชีพออนไลน์ลง โดยหน่วยงานที่ออกมาแถลงมาตรการดังกล่าวคือ สำนักงานการเงินสิงคโปร์ (MAS) พร้อมระบุว่า นี่เป็นหนึ่งในมาตรการใหม่ที่ประกาศใช้เพื่อต่อต้านกลลวงฟิชชิ่งที่อาจบั่นทอนความเชื่อมั่นในระบบธนาคารและการชำระเงินดิจิทัลของสิงคโปร์นั่นเอง
สิ่งที่ตามมาจากการประกาศดังกล่าวคือกรอบความรับผิดชอบร่วมกัน หรือ Shared Responsibility Framework (SRF) ฉบับสมบูรณ์สำหรับ Phishing Scams ซึ่งทางสื่อสิงคโปร์อย่าง The Strait Times ระบุว่า เป็นส่วนเสริมของมาตรการที่มีอยู่แล้วของประเทศ โดยสถาบันการเงินของสิงคโปร์มีเวลา 6 เดือนนับจากวันที่ 16 ธันวาคม 2567 ในการปรับใช้มาตรการดังกล่าว ซึ่ง SRF ฉบับสมบูรณ์นี้ ระบุว่า สถาบันการเงินและบริษัทโทรคมนาคมต้องร่วมกันรับผิดชอบความสูญเสียของเหยื่อจากกลลวงฟิชชิ่ง
อย่างไรก็ดี ก่อนจะเข้ารับผิดชอบค่าเสียหาย SRF ได้กำหนดขั้นตอนในการตรวจสอบด้วยว่า สถาบันการเงิน และบริษัทโทรคมนาคมได้ทำตามข้อกำหนดที่วางไว้แล้วหรือยัง (สถาบันการเงินมีข้อกำหนด 5 ข้อ และบริษัทโทรคมนาคมมีข้อกำหนด 3 ข้อ) ซึ่งหาก สถาบันการเงิน และบริษัทโทรคมนาคมทำตามข้อกำหนดของ SRF แล้ว ผู้บริโภคจะเป็นฝ่ายรับผิดชอบความสูญเสียทั้งหมด
ทั้งนี้ สิงคโปร์มองว่า กรอบ SRF ที่ประกาศออกมานั้น เป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากในการปกป้องผู้ใช้บริการจากการสูญเสียเงินจำนวนมากโดยไม่ได้สมัครใจ และสามารถช่วยลดความยุ่งยากของผู้บริโภคในการขอคืนเงินลงได้ และก็ยอมรับว่า ลูกค้าบางรายอาจไม่พอใจนักกับมาตรการนี้ เพราะจะทำให้ความสะดวกสบายในการโอนเงินลดลง
จำกัดความรับผิดบน Digital Platform เท่านั้น
ในส่วนของขอบเขตความรับผิดชอบที่ SRF รองรับพบว่าต้องอยู่บน Digital Platform เท่านั้น เช่น กรณีการสร้างเว็บไซต์ปลอมเป็นธุรกิจที่ให้บริการอยู่ในสิงคโปร์ และส่งลิงค์มาหลอกให้เหยื่อเข้าไปป้อนข้อมูลต่าง ๆ (ต้องเป็นบริษัทที่ตั้งอยู่ในสิงคโปร์ หรือเปิดให้บริการแก่พลเมืองสิงคโปร์เท่านั้น)
สำหรับสถาบันการเงิน และผู้ให้บริการด้านการเงินที่เข้าข่ายต้องปฏิบัติตามกรอบ SRF นี้ มีตั้งแต่ DBS Bank, UOB, OCBC Bank, Citibank รวมถึงผู้ให้บริการ E-Wallet เช่น Grab, YouTrip ด้วย
กรอบ SRF ยังคาดหวังให้สถาบันการเงินและผู้ให้บริการด้านการชำระเงินต้องส่งแจ้งเตือน (แบบเรียลไทม์) ในกรณีที่ผู้ใช้งานมีพฤติกรรมเสี่ยงด้วย เช่น มีการเพิ่มวงเงินในการทำธุรกรรม หรือการเปลี่ยนแปลงข้อมูลส่วนตัว หรือมีการล็อกอินในอุปกรณ์ใหม่ เป็นต้น
ในส่วนของบริษัทโทรคมนาคมของสิงคโปร์ที่เข้าข่ายต้องปฏิบัติตามกรอบ SRF พบว่ามี 4 รายได้แก่ Singtel, StarHub, M1 และ Simba Telecom โดยสิ่งที่คาดหวังมีตั้งแต่ การกรอง SMS ที่จะส่งไปยังผู้รับปลายทาง ว่าต้องมาจากผู้ส่งที่เชื่อถือได้ เพื่อให้มั่นใจว่า SMS เหล่านั้น ไม่ได้ใส่ phishing links (ลิงค์ที่พาไปยังเว็บไซต์ของอาชญากร) ฯลฯ
ทั้งนี้ หากสถาบันการเงินและบริษัทโทรคมนาคมสามารถพิสูจน์ได้ว่า ตนเองได้ทำตามกรอบของ SRF ทั้งหมดแล้ว ผู้บริโภคจะต้องเป็นฝ่ายรับความสูญเสียเหล่านั้นเองทั้งหมด
นอกจากสิงคโปร์ ปัจจุบันมีหลายประเทศที่เริ่มใช้มาตรการคล้าย ๆ กันในการจัดการกับปัญหามิจฉาชีพออนไลน์ เช่น สหภาพยุโรป (ที่อาจมีการคืนเงินให้กับเหยื่อ), ออสเตรเลีย และอังกฤษ
จากมาตรการดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า ไม่เฉพาะคนไทยที่ต้องเผชิญกับมิจฉาชีพออนไลน์ถี่ขึ้น สถานการณ์การฉ้อโกงในสิงคโปร์ก็เลวร้ายไม่แพ้กัน โดยข้อมูลจากตำรวจสิงคโปร์ ที่เปิดเผยออกมายังพบด้วยว่า ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2024 มีจำนวนคดีฉ้อโกงออนไลน์เพิ่มขึ้น 16.3% และเหยื่อต้องสูญเสียเงินสูงสุดเป็นประวัติการณ์กว่า 385.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งหากแนวโน้มนี้ยังคงดำเนินต่อไป การสูญเสียนี้อาจมีมูลค่าเกินกว่า 770 ล้านเหรียญสหรัฐ (ภายในสิ้นปี 2024) ก็เป็นได้
ติดตามพวกเราได้ที่ LINE
รูปภาพ/วิดีโอจาก Number 24 x Shutterstock Thailand พาร์ทเนอร์ชัตเตอร์สต็อกอย่างเป็นทางการแต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย
www.number24.co.th
#Number24xShutterstock