เทรนด์การตลาด Influencer – Creator ยังเป็นเครื่องมือทรงพลังในการเข้าถึงผู้บริโภคได้แบบ Full Funnel ตั้งแต่สร้างการรับรู้ – สร้างความสนใจ – ซื้อสินค้า – เมื่อประทับใจก็ซื้อซ้ำและแนะนำต่อ ในยุค AI ยิ่งทำให้การใช้เทคโนโลยีสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายได้แม่นยำและมีประสิทธิภาพมากขึ้น จึงเห็นแนวโน้ม Influencer – Creator Economy เป็นเครื่องมือการตลาดที่เติบโตทั่วโลก
คุณสุวิตา จรัญวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร-ผู้ร่วมก่อตั้ง Tellscore แพลตฟอร์มอินฟลูเอนเซอร์สัญชาติไทย และผู้จัดงาน Thailand Influencer Award สรุปสถานการณ์สำคัญตลาดอินฟลูเอนเซอร์ในปี 2024 และ Content Creator Trend 2025 เปิดมุมมองใหม่ของครีเอเตอร์จะเป็นอย่างไรและเทรนด์ไหนมาแรงในปี 2025
สรุป Creator Economy ปี 2024
1. เริ่มจากการทำความรู้จักนิยามของ 2 คำนี้กันก่อน คือ “Content Creator และ Influencer” ซึ่งทั้ง 2 คำนี้ใช้แทนกันได้
– Content Creator หมายถึงผู้ผลิตคอนเทนต์ในโซเชียลมีเดียเป็นประจำ สร้างรายได้จากการผลิตคอนเทนต์ เช่น การโปรโมทแบรนด์สินค้าต่างๆ
– Influencer หมายถึง ผู้ลงคอนเทนต์ในโซเชียลมีเดียเป็นประจำ ส่วนใหญ่เป็นความเคลื่อนไหวของตนเอง สร้างรายได้จากการผลิตคอนเทนต์ เช่น โปรโมทแบรนด์สินค้าต่างๆ
2. จำนวน Content Creators ทั่วโลกมีจำนวนอยู่ที่ 200 ล้านคน จากจำนวนประชากรโลก 7,000 ล้านคน
3. จำนวน Content Creators และ Influencers ในไทยมีจำนวนอยู่ที่ 9 ล้านคน แบ่งเป็นทำงานแบบ Full-time หรือทำงานคอนเทนต์เป็นแหล่งรายได้หลักมีประมาณ 2 ล้านคน และอีก 7 ล้านคนทำเป็นรายได้เสริม เช่น กลุ่ม Micro-influencers ที่มีผู้ติดตามในโซเชียลมีเดียไม่มากนัก อยู่ในช่วง 1,000-20,000 Followers, และบุคคลใดๆ ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา ที่เคยสร้างรายได้จากการผลิตคอนเทนต์
4. มูลค่าตลาด Content Creators และ Influencers ในไทยปี 2024 อยู่ที่ 45,000 ล้านบาท ขณะที่มูลค่าตลาด Content Creators ทั่วโลกปี 2024 อยู่ที่ 5.5 ล้านล้านบาท คาดการณ์ปี 2030 อยู่ที่ 16 ล้านล้านบาท โดยยังไม่ได้รวมตลาดจีน เติบโต 20-30% ต่อปีเฉลี่ยทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย
สรุปเทรนด์ Influencer Marketing 2024
– ในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา Google รายงานว่ามีคนค้นหาคำว่า Influencer Marketing เพิ่มขึ้นถึง 1,500%
– 69% ของแบรนด์ในปี 2024 เพิ่มงบ Influencer Marketing ต่อเนื่องมาจากปีก่อน
– 80% ของผู้บริโภคในเอเชีย ที่มีการติดตาม Influencers มีแนวโน้มจะซื้อสินค้าที่แนะนำโดย Influencers
– 63% ของผู้บริโภคมีแนวโน้มจะซื้อสินค้าบริการจากคำแนะนำของ Influencers ที่ตนรู้จักและเชื่อใจ
– 82% ของแบรนด์ระบุว่า Influencer Marketing ได้ผลลัพธ์ทางการตลาด เช่น ด้านยอดลูกค้าลงทะเบียน (Lead generation) จำนวนคลิกเข้าร้าน ดีกว่าจากวิธีการโฆษณา หรือวิธีทำการตลาดอื่นๆ
– ในไทยมีจำนวนผู้ใช้ Social Media 50 ล้านคน หรือ 71.5% จากประชากรไทย (จากจำนวนประชากรไทย 70 ล้านคน)
– 55% ของผู้บริโภคระบุว่าส่วนลด และโปรโมชัน ทำให้พวกเขาติดตาม Creators และ Influencers
คนรุ่นใหม่สนใจเป็น Content Creator
– ประเทศไทยมีพฤติกรรมการใช้โซเชียลมีเดียและการใช้เวลาในโลกออนไลน์สูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก โดยใช้ระยะเวลาบนอินเทอร์เน็ตต่อวันอยู่ที่ 7 ชั่วโมง 25 นาที และการจ้างงานธุรกิจดิจิทัลสูงถึง 35.96%
– คนไทยวัยทำงานส่วนใหญ่ 67% ทำงานเงินเดือนชนเงินเดือน เนื่องจากเศรษฐกิจซบเซา ดังนั้นแหล่งรายได้เสริมจึงเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับพวกเขา
– ปี 2024 เป็นปีที่ Content Creators ทั่วโลกหันมาเป็น Full-time Content Creators กันมากขึ้นอย่างเป็นประวัติการณ์ หนึ่งในเหตุผลหลักคือการ Lay-off จากบริษัทยักษ์ใหญ่ และบริษัทด้านเทคโนโลยี
– คนรุ่นใหม่ 30-40% ระบุว่าตนเองก็เป็น Content Creators คนหนึ่ง จากการศึกษา 30% ของคนอายุ 18-24 และ 40% ของคนอายุ 25-34 คิดเช่นนั้น
สรุปปรากฎการณ์ฮอตโซเชียล Content Creator ปี 2024
1. Creator Culture : ปรากฎการณ์ “พี่จอง-คัลแลน” สยามแตก ออกงานแรกกับอิเวนต์ของแบรนด์ La Roche Posay
2. Live : จุดกระแสไลฟ์สุดปัง กับคู่จิ้น “แน็คชาลี & กามิน” เรตงานพรีเซนเตอร์แตะ 8 หลัก
3. Music Soft Power : คอนเสิร์ต เทเลอร์ สวิฟต์ x สิงคโปร์ มีการเปิดเผยว่ารัฐบาลสิงคโปร์ได้ทุ่มเงินสนับสนุนคอนเสิร์ตเทเลอร์ สวิฟต์ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้าสิงคโปร์
4. Platform War : “ไบเดน” ได้ลงนามในกฎหมายฉบับใหม่ ซึ่งมีข้อกำหนดให้ ByteDance ขายกิจการ TikTok ในสหรัฐฯ ภายในเส้นตาย 270 วัน มิเช่นนั้นจะถูกแบนการใช้งาน
5. น้องเนย Butterbear ฟีเวอร์ :ไอดอลสุดฮิต ที่ไม่ใช่แค่มาสคอตแต่เป็น “เด็กน้อย” ของมัมหมี-พ่อหมี ที่มีชีวิตจริง สร้างปรากฎการณ์คอนเทนต์ฮีลใจ ช่วยลดความเครียด
6. Inclusivity : วุฒิสภาผ่านร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ทำให้ประเทศไทยเป็นชาติแรกในอาเซียนที่มีกฎหมายแต่งงานบุคคลเพศเดียวกัน
7. Art Toy Soft Power : การทำตลาดของ POP MART ในประเทศไทย สร้างกระแสฮิตอาร์ตทอย ทำให้ CryBaby คาแรคเตอร์สัญชาติไทยเป็นที่รู้จักในตลาดโลก
8. แฟนมีตครีเอเตอร์ : ปรากฏการณ์ใหม่ Content Creator จากโลกออนไลน์สู่ออนกราวด์จัดแฟนมีต เช่น Fara Talk – Tell Me ‘Y’ ทอล์กครั้งที่ 2 จาก Farose Studio ที่สร้างปรากฏการณ์ขายบัตรหมดในชั่วอึดใจ
9. Sports Soft Power : มหกรรมกีฬาโอลิมปิกทัพนักกีฬาไทยกวาดมาได้ 6 เหรียญรางวัล 1 เหรียญทอง 3 เหรียญเงิน และ 2 เหรียญทองแดง สร้างกระแส Content Creator ในกลุ่มนักกีฬา
10. น้องหมูเด้ง : ลูกฮิปโปแคระ ดาวดวงใหม่จากสวนสัตว์เขาเขียว สร้างกระแส Creator Culture ไวรัลไปทั่วโลก ทั้งคนไทยและต่างชาติต่างเดินทางมาชื่นชมความน่ารักของ “หมูเด้ง” มีบริษัทเอกชนไทย 38 รายซื้อลิขสิทธิ์คาแรกเตอร์หมูเด้งไปทำสินค้าพรีเมียม
11. YouTube ประกาศศึก eCommerce กับ TikTok Shop! Affiliate Marketing มาแรง เป็นอีกปรากฏการณ์ Platform War ในปี 2024 จนทำให้ YouTube จับมือ Shopee เปิดตัว YouTube Shopping ในไทย
12. การจับตากลโกงคอนเทนต์ “อวดรวย” : กรณีผู้เสียหายจากการร่วมลงทุนกับ The iCon Group ได้เข้าแจ้งความกว่า 1,000 คน รวมมูลค่าความเสียหายหลักพันล้าน จากธุรกิจเครือข่ายแชร์ลูกโซ่ที่อาจพัวพันการฟอกเงิน เป็นสิ่งที่ “Content Creator และ Influencer” ต้องระมัดระวังในการทำคอนเทนต์ เพราะแบรนด์ต่างๆ ให้ความสำคัญกับเรื่องความน่าเชื่อถือของคอนเทนต์ ดังนั้น “Content Creator และ Influencer” ต้องบอกข้อมูลที่ชัดเจนและแสดงความจริงใจกับลูกค้าและผู้บริโภค
เทรนด์ 2025 สู่ยุค All-In-One Content Era
จากปรากฏการณ์ต่างๆ ของ “Content Creator และ Influencer” ตลอดปี 2024 Tellscore สรุปแนวโน้ม Content Creator Trends 2025 เป็นปีที่กำลังก้าวเข้าสู่ยุคแห่ง “All-In-One Content Era” คอนเทนต์ 1 ชิ้น ต้องทำงานเต็มที่ใน 3 เรื่องสำคัญ
1. สร้างการรับรู้และสร้างแบรนด์ (Branding and Awareness)
2. สร้างสรรค์ความบันเทิงหรือความรู้ เพื่อเรียกเอนเกจเมนต์
3. สร้างการขาย (Call-to-actions)
เรียกว่าเป็นยุคที่อินฟลูเอนเซอร์และครีเอเตอร์สามารถตอบโจทย์ทุกความต้องการจบได้ในคนเดียว ผู้คนให้ความสำคัญกับ ความโปร่งใส และความน่าเชื่อถือ ในการรีวิวสินค้ามากขึ้น การทำงานร่วมกับแบรนด์ต้องเน้นความจริงใจและสอดคล้องกับคุณค่าของแบรนด์ และค่านิยมของคนและสังคม
สิ่งที่ต้องจับตานับจากนี้ “กลโกงไซเบอร์” อินฟลูเอนเซอร์และครีเอเตอร์ต้องแสดงตัวตนชัดเจน ร่วมกันสร้างสรรค์คอนเทนต์ “น้ำดี” ไม่ให้เกิดมลภาวะในโซเชียลมีเดีย เพราะปัญหา “กลโกงไซเบอร์” จะส่งผลกระทบในทางลบต่อเศรษฐกิจ Creator Economy ทำให้ประชาชนเข้าใจผิดว่า คนที่อวดมั่งอวดมีชวนเล่นพนันออนไลน์ในโซเชียลมีเดียคือคอนเทนต์ครีเอเตอร์ และหรือคิดว่าอินฟลูเอนเซอร์และครีเอเตอร์ส่วนใหญ่มีความพัวพันกับกลโกงไซเบอร์ เนื่องจากลักษณะบางอย่างที่มีร่วมกัน เช่น การใช้โซเชียลมีเดียมากเหมือนกัน และลักษณะการพูดชวนเชื่อ
จุดที่โดดเด่นของประเทศไทยเป็นเพียงไม่กี่ประเทศในโลกที่ประชาชนส่วนมากสามารถแสดงออกและถูกยอมรับในด้านความหลากหลายทางเพศ ในไทยมีคอนเทนต์ครีเอเตอร์ LGBTQ+ จำนวนมาก และคอนเทนต์ของพวกเขาได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี (อีกประเทศในแถบ SEA คือไต้หวัน) ถือเป็นเทรนด์ที่จะเติบโตต่อในปี 2025
นอกจากนี้แนวทางการผลิตคอนเทนต์ที่ยั่งยืน ประหยัดพลังงานและเป็นกลางทางคาร์บอน เป็นประเด็นสำคัญ แบรนด์ส่วนใหญ่กำลังมองหาครีเอเตอร์และอินฟลูเอนเซอร์ที่ทำเนื้อหาเกี่ยวกับความยั่งยืนในมิติต่างๆ เพื่อตอบโจทย์การทำการตลาดที่ยั่งยืนขึ้น
ติดตามพวกเราได้ที่ LINE