HomeBrand Move !!ไทยเบฟ เปิดแนวรบ“ธุรกิจอาหาร” ลงทุน 1,300 ล้าน ส่ง “KFC-โออิชิ” เรือธงสร้างรายได้ เล็งส่งร้านอาหารไทยบุกอาเซี่ยน

ไทยเบฟ เปิดแนวรบ“ธุรกิจอาหาร” ลงทุน 1,300 ล้าน ส่ง “KFC-โออิชิ” เรือธงสร้างรายได้ เล็งส่งร้านอาหารไทยบุกอาเซี่ยน

แชร์ :

“กลุ่มธุรกิจอาหาร” หนึ่งใน 4 ขาธุรกิจที่ทางไทยเบฟหมายมั่นปั้นมือในการขยายความยิ่งใหญ่ตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งนอกจากแบรนด์โออิชิที่หลายคนคุ้นเคยแล้ว ไทยเบฟฯ การดำเนินงานของกลุ่มธุรกิจอาหาร ยังขับเคลื่อนการเติบโตมาอย่างต่อเนื่อง ภายใต้บริษัทย่อย บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และ ฟู้ด ออฟ เอเชีย  ในการขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่องตั้งแต่การเข้าซื้อหุ้น KFC , สตาร์บัคส์ ตลอดจนการเปิดแบรนด์ใหม่ภายในเครือมากมาย จนกลายเป็นหนึ่งในสามเชนร้านอาหารยักษ์ใหญ่ของไทย ต่อจากไมเนอร์ กรุ๊ป และ เอ็มเค กรุ๊ป (ในเชิงรายได้) 

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

คุณโสภณ ราชรักษา ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด กลุ่มงานทรัพยากรบุคคลและสมรรถนะองค์กร ผู้บริหารสูงสุด สายธุรกิจอาหารประเทศไทย และผู้บริหารสูงสุด สายธุรกิจโลจิสติกส์ กล่าวว่า ภาพรวมการแข่งขันของธุรกิจฟู้ดในไทยค่อนข้างท้าทาย เนื่องจากปัจจัยแวดล้อมหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันของผู้เล่นทั้งรายเก่า-ใหม่ การปรับตัวสูงขึ้นของต้นทุนหลายอย่าง

อย่างไรก็ตามหลังการระบาดของโควิด-19 ผ่านพ้นไปภาพรวมธุรกิจร้านอาหารของไทยก็เริ่มส่งสัญญาณบวก จากสถานการณ์ท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว ส่งผลให้มีนักท่องเที่ยวเข้ามา แต่จากนี้ไปคงต้องจับตา สถานการณ์กำลังซื้อที่ชะลอตัว การปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องของต้นทุน ตลอดจนการปรับขึ้นค่าแรง นอกจากนี้ยังมีเรื่องของกลุ่มทุนจากจีนที่เข้ามาเปิดร้านอาหารในเมืองไทยจำนวนมากที่เน้นแข่งขันเรื่องราคา ว่าจะส่งผลกระทบตอ่การแข่งขันหรือไม่อย่างไร

 

 

คุณโสภณ ราชรักษา

คุณโสภณ ราชรักษา

 

“การปรับขึ้นของค่าแรงเมื่อ 1 ตุลาคม ที่ผ่านมาส่งผลให้ธุรกิจอาหารเพิ่มขึ้นราว 8-9% และกลายเป็นภาระของผู้ประกอบการทั่วไปที่ต้องแบกรับ นอกจากนี้ยังส่งผลต่อราคาสินค้าต่างๆที่ทยอยปรับขึ้นราคาทำให้ผู้บริโภคต้องมีค่าใช้จ่ายเพื่ม ขณะที่กำลังซื้อลดลง เช่นเดียวกับภาพรวมธุรกิจที่ยังไม่ฟื้นมากนัก และนั่นคือความท้าทายของธุรกินอาหารจากนี้ไปจนถึงปีหน้า ที่แต่ละแบรนด์จะต้องบริหารจัดการให้ดี”

สำหรับช่วง 9 เดือนที่ผ่านมาธุรกิจอาหารมีรายได้จากการขาย 15,022 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้น 5.1% จากปีก่อน อันเป็นผลจากการขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษีเงินได้ ค่าเสื่อมราคา และค่าใช้จ่ายตัดบัญชี (EBITDA) ลดลง 0.6% เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้น

 

 

ส่วนหนึ่งของความสำเร็จด้านผลการดำเนินงานของธุรกิจอาหารที่ดีขึ้นเกิดจาก 4 เสาหลักในการขับเคลื่อนการเติบโต ได้แก่

  • การขยายสาขาใหม่ เพื่อเพิ่มการเข้าถึงแบรนด์และพัฒนารูปแบบร้านใหม่ๆให้สอดคล้องกับทำเลและกลุ่มลูกค้าที่หลากหลาย
  • การกระตุ้นยอดขายในสาขาเดิม ผ่านการสร้างสรรค์เมนูใหม่ๆรวมถึงกิจกรรมส่งเสริมการขายของแบรนด์ต่างๆโดยโออิชิได้ฉลองครบรอบการก่อตั้ง 25 ปีด้วยการเปิดตัวแคมเปญร่วมกับ 10 เชฟชื่อดังของประเทศไทยเพื่อนำเสนอประสบการณ์และนวัตกรรมใหม่ๆให้แก่ผู้บริโภคที่ชื่นชอบอาหารญี่ปุ่นตลอดทั้งปี 2567
  • การเสริมแกร่งพื้นฐานธุรกิจ ด้วยการฝึกอบรมเพื่อเพิ่มทักษะของพนักงานการเพิ่มประสิทธิภาพของการดำเนินงานตามระบบวิเคราะห์การจัดการแรงงาน (labor matrix system) การลงทุนในระบบดิจิทัลต่างๆเช่นตู้จำหน่ายอาหารดิจิทัลและเครื่องมือในการสร้างรายงานสรุปภาพรวมของการดำเนินงาน (operational dashboards) ตลอดจนการจัดการห่วงโซ่อุปทานและการผนึกกำลังภายในกลุ่มเพื่อควบคุมต้นทุนวัตถุดิบและการขนส่งให้มีประสิทธิภาพ
  • การพัฒนาด้านความยั่งยืน เช่นส่งเสริมไม่ให้เกิดอาหารเหลือทิ้งผ่านโครงการต่างๆสนับสนุนชุมชนโดยจัดหาพนักงานที่มีทักษะในท้องถิ่นสร้างอาชีพและร่วมทำกิจกรรมการกุศลเพื่อสร้างผลลัพธ์ที่ดีต่อสังคมและส่งเสริมอนาคตที่ยั่งยืน

 KFC-โออิชิ 2 แบรนด์เรือธงรุกตลาดร้านอาหารปี 2568

โดยปีงบประมาณ 2568 ไทยเบฟ วางกรอบการลงทุนสำหรับธุรกิจอาหารไว้ที่ 1,300 ล้านบาท เพื่อขยายกลุ่มธุรกิจร้านอาหารให้ครบ 888 สาขาในสิ้นปีหน้า ไม่ว่าจะใช้ทั้งการขยายสาขาใหม่ 69 แห่ง ตลอดจนการรีโนเวตร้านให้มีความสดใหม่มากขึ้น  แบ่งเป็น 600 ล้านบาท สำหรับการขยายสาขา KFC  45 แห่ง ในรูปต่างๆ ซึ่งจะเน้นในเขตกรุงเทพ 40% และต่างจังหวัด 60% จากปัจจุบันที่ไทยเบฟมี  KFC ในการบริหารงานทั้งสิ้น 490 สาขา  (ปลายปี 2567 นี้จะเพิ่มเป็น 500 สาขา) 

 

 

“ช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา KFC ที่เราบริการงานมีการเติบโต 11% ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขการเติบโตที่ดีเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และการแข่งขันของธุรกิจร้านอาหารที่รุนแรงขึ้น ทำให้เราหันมาโฟกัสและขยาย KFC เพิ่มมากขึ้นเพื่อรองรับการเติบโตดังกล่าว” 

 

ส่วนอีก 200 ล้านบาท จะใช้ในการรีโนเวตร้านโออิชิ และชาบูชิ โฉมใหม่ให้ทันสมัยมากขึ้น เพื่อรองรับพฤติกรรมของลูกค้ายุคใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไป

โดย “คุณโสภณ” บอกว่า “แม้ที่ผ่านมาจะมีการปิดบางแบรนด์บางสาขาไปบ้าง ซึ่งเป็นเหตุผลมาจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภค ขณะที่บางโลเคชั่นเก่าแก่เกินไป  หรือขนาดของร้านที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้า ทำให้ต้องมีการรีโนเวตตลอดจนการขยายสาขาในทำเลอื่นๆมากขึ้น

อีกหนึ่งความเคลื่อนไหวครั้งสำคัญคือการขนทัพแบรนด์ในเครือทั้ง 16 แบรนด์ในพอร์ต  เข้าปูพรมในบิ๊กโปรเจกต์แห่งปีอย่างโครงการ One Bangkok ในรูปแบบ 1 ร้าน 1 สาขา ภายใต้งบประมาณกว่า 400 ล้านบาท และจะทยอยเปิดให้บริการตั้งแต่ช่วงปลายเดือนตุลาคม  2567 นี้เป็นต้นไป ซึ่งแต่ละแบรนด์จะมีคอนเซ็ปต์แตกต่างกันออกไปแบบพิเศษอันเป็นเอกลักษณ์ ซึ่งหากประสบผลสำเร็จโมเดลเหล่านี้จะถูกใช้ในการต่อยอดและขยายไปยังทำเลใหม่ๆในอนาคต

 

Value for Money คอนเซ็ปต์หลัก รับมือแบรนด์จีนทะลัก

ขณะที่การเข้ามาของเชนร้านอาหารจากประเทศจีน ที่เน้นการแข่งขันด้านราคา และปริมาณสาขา ทำให้ต้องมีการปรับแผนงานใหม่ ด้วยการดึงแนวคิด Value for Money  หรือความคุ้มค่าคุ้มราคา มาเป็นคอนเซ็ปต์หลักในการสร้างการเข้าถึงให้แก่ลูกค้า รวมถึงขยายฐานลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ อีกทั้งยังเพื่อรับมือกับสถานการณ์การแข่งขันของร้านอาหารที่ค่อนข้างแปรปรวนในปัจจุบัน

 

 

“การเข้ามาของแบรนด์จีน ทำให้ต้องมีการสร้าง Value for Money มากขึ้น แน่นอนการได้ราคาที่ถูกผู้บริโภคมองว่าคุ้ม แต่ไทยเบฟอยู่มานาน มองเห็นโอกาสระยะยาว ทำให้ต้องมีการบริการจัดการที่ดีมากกว่าเรื่องราคา” คุณโสภณกล่าว

ขณะเดียวกันยังมีการนำ Format ร้านที่หลากหลายเข้ามาใช้ในการรองรับความต้องการของลูกค้าที่แตกต่างออกไปในแต่ละโลเคชั่น ไม่ว่าจะเป็น รูปแบบ Quick Service , Limited Service ,Buffet และร้านอาหารไทย ตะวันตก จีน ในเครือต่างๆที่จะขยายไปในแต่ละทำเลเพื่อเสริมทัพซึ่งกันและกันในการสร้างการเข้าถึงไปยังกลุ่มเป้าหมายของแต่ละแบรนด์ แต่ละโลเคชั่น

 

ส่งร้านอาหารสยายปีกอาเซียน ตามรอยบริษัทแม่ไทยเบฟ

นอกจากนี้ในประเทศแล้ว ไทยเบฟ ยังมีเป้าหมายในการขยายการเติบโตของกลุ่มธุรกิจอาหารไปยังต่างประเทศ โดยมีแผนจะนำแบรนด์อาหารไทยที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวในเครือ FOA เข้าไปขยายสาขาในภูมิภาคอาเซี่ยน ในรูปแบบ Food Outlet หรือร้านอาหารขนาดเล็กที่ตั้งอยู่ในพื้นที่สาธารณะ ไม่ว่าจะเป็น ภายในห้างสรรพสินค้า สถานีบริการน้ำมัน เพื่อให้เข้าถึงลูกค้าได้ง่ายยิ่งขึ้น เบื้องต้นขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษารูปแบบความเป็นไปได้ในแต่ละตลาด ทั้งการหา Partner ในแต่ละประเทศ และการขยายผ่านแฟรนไชส์ในต่างประเทศ

 

 

พร้อมกันนี้ยัง Ready to eat Halal โดยจะทำงานร่วมกับ F&N มาเลเซีย เพื่อใช้ “AgriValley” เป็นฐานการผลิต Ready to eat พื่อเจาะตลาดมาเลเซียและส่งออกเปิดตลาดอินโดนีเซีย

ทั้งหมดเพื่อเพิ่มการมองเห็นและการเข้าถึงแบรนด์อาหารในเครือ และเพิ่มจำนวนคนนั่งทานในร้านผ่านการขยายสาขา เพื่อสร้างการเติบโตตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยในสิ้นปี 2567 นี้ราว 20,000 ล้านบาท

ติดตามพวกเราได้ที่ LINE

รูปภาพ/วิดีโอจาก Number 24 x Shutterstock Thailand พาร์ทเนอร์ชัตเตอร์สต็อกอย่างเป็นทางการแต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย
www.number24.co.th
#Number24xShutterstock

 


แชร์ :

You may also like