Whoscall เผยสถิติปี 2567 ผู้ตอบแบบสอบถามคนไทย 58% ต้องรับมือกับมิจฉาชีพบ่อยขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2566 แถม 89% ต้องรับมือกับมิจฉาชีพอย่างน้อยเดือนละครั้ง และมีเพียง 2% ที่ได้ทรัพย์สินคืนทั้งหมดหลังจากถูกหลอก
ผลสำรวจดังกล่าวเปิดเผยโดย บริษัท โกโกลุก (Gogolook) ผู้ให้บริการ TrustTech และเป็นผู้พัฒนาแอปพลิเคชัน Whoscall ร่วมกับองค์กรต่อต้านกลโกงระดับโลก Global Anti-Scam Alliance (GASA) และ ScamAdviser ผู้ให้บริการโซลูชันป้องกันการหลอกลวงจากเนเธอร์แลนด์ ทำการสำรวจความคิดเห็นของคนไทยกว่า 9,360 คนจากหลากหลายกลุ่มประชากรในระยะเวลา 1 ปี โดยพบว่า
- กว่า 1 ใน 4 หรือ 28% ของผู้ตอบแบบสอบถามตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา
- 58% รับมือกับมิจฉาชีพบ่อยขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2566 โดย 89% ต้องรับมือกับมิจฉาชีพ อย่างน้อยเดือนละครั้ง
- กว่า 1 ใน 3 หรือ 39% สูญเสียเงินให้มิจฉาชีพภายใน 1 ชั่วโมงหลังจากได้รับการติดต่อจากมิจฉาชีพ และมีเพียง 2% ที่ได้ทรัพย์สินคืนทั้งหมดหลังจากถูกหลอก
- มูลค่าความเสียหายจากการถูกหลอกเฉลี่ยอยู่ที่ 1,106 เหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 36,000 บาทต่อคน
- การขโมยข้อมูลส่วนบุคคลและการหลอกลวงที่ใช้เทคโนโลยี AI เป็นรูปแบบกลโกงที่ถูกพบมากที่สุด
คุณแมนวู จู ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โกโกลุก (ประเทศไทย) กล่าวว่า “แม้จะมีความพยายามในการป้องกันภัยมิจฉาชีพอย่างต่อเนื่องทั้งจากภาครัฐและเอกชน แต่ประเทศไทยยังคงประสบกับปัญหาจากการหลอกลวง และความพยายามในการหลอกกลวงจากมิจฉาชีพ รายงานที่เราได้จัดทำร่วมกับ GASA และ ScamAdviser ในปีนี้แสดงให้เห็นถึงระดับความถี่ของการหลอกลวงที่เพิ่มขึ้น
รวมไปถึงข้อมูลเชิงลึกกลลวงใหม่ ๆ จากมิจฉาชีพ และผลกระทบที่เกิดขึ้น โดยพบว่ามูลค่าความเสียหายที่เหยื่อถูกหลอก จากมิจฉาชีพเฉลี่ยสูงถึง 1,106 เหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 36,000 บาทต่อคนในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา”
คนไทยรู้ทัน “มิจ”?
รายงานระบุว่าคนไทยมีความระมัดระวังในการป้องกันตนเองจากมิจฉาชีพมากขึ้นโดย 55% มั่นใจว่ารู้ทันกลลวงมิจฉาชีพด้วยการตรวจสอบหมายเลขโทรศัพท์ 44% และใช้แอปพลิเคชัน หรือเว็บไซต์เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลที่ได้รับ 37%
อย่างไรก็ตาม 89% เผยว่ายังต้องรับมือกับมิจฉาชีพอย่างน้อยเดือนละครั้ง และ 58% ระบุว่าต้องรับมือกับมิจฉาชีพบ่อยขึ้น โดยเกือบ 10% ระบุว่าถูกก่อกวนจากมิจฉาชีพถี่ขึ้นต่อเดือน เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ในขณะที่ 35% ได้รับโทรศัพท์และข้อความหลอกลวงหลายครั้งต่อสัปดาห์
“โทรศัพท์” เครื่องมือที่มิจฉาชีพใช้มากที่สุด
รายงานยังพบว่า การโทรเข้าและส่งข้อความผ่านมือถือยังเป็นวิธีการหลอกลวงที่มิจฉาชีพใช้มากที่สุด ตามด้วยโฆษณาออนไลน์ การใช้แอปพลิเคชันต่าง ๆ สำหรับส่งข้อความ และโพสต์บนโซเชียลมีเดีย โดย 5 ช่องทางที่มิจฉาชีพใช้มากที่สุดในการหลอกลวงได้แก่ Facebook 50% ตามด้วย Line 43% Messenger 39% TikTok 25% และ Gmail 20%
ทั้งนี้การได้รับคืนเงินที่ถูกมิจฉาชีพหลอกไปนั้นทำได้ยากขึ้นเมื่อเทียบกับปีผ่านมา ผลสำรวจจพบว่ากว่า 1 ใน 3 หรือ 39% สูญเสียเงินภายใน 1 ชั่วโมงหลังจากได้รับการติดต่อจากมิจฉาชีพ โดยมีเหยื่อเพียง 2% ได้เงินที่ถูกหลอกไปคืนทั้งหมด แต่มีเหยื่อมากถึง 71% ไม่สามารถนำเงินที่สูญเสียไปกลับคืนมาได้ และ 73% ระบุว่าได้รับผลกระทบทางจิตใจอย่างรุนแรงหลังจากถูกหลอก
AI ถูกใช้เป็นเครื่องมือมากขึ้น
ผลสำรวจพบด้วยว่า การขโมยข้อมูลส่วนบุคคล (Identity Thef) และการใช้เทคโนโลยี AI เป็นรูปแบบกลโกงที่มิจฉาชีพใช้มากขึ้น อย่างมีนัยสำคัญ โดยการขโมยข้อมูลส่วนบุคคลด้วยการแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อหลอกให้เหยื่อโอนเงิน เป็นกลลวงที่พบมากที่สุดถึง 22% แซงหน้าการหลอกลวงให้ซื้อสินค้า (shopping scams) 19% ตามมาด้วยการออกใบแจ้งหนี้ปลอม หรือการหลอกให้ชำระหนี้ 16% และการหลอกให้ลงทุน 14% ตามลำดับ
นอกจากนี้ รายงานระบุว่าคนไทยมีความตระหนักรู้มากขึ้นว่ามิจฉาชีพนำเทคโนโลยี AI มาสร้างบทสนทนาเลียนแบบเสียง รวมถึงสร้างภาพของบุคคลหรือสถานการณ์หลอกลวงในรูปแบบต่างๆ โดย 66 % ของผู้ตอบแบบสอบถามมั่นใจว่าเคยได้รับข้อความที่เขียนโดยใช้เทคโนโลยี AI
คุณจอริจ อับบราฮัม (Jorij Abraham) ผู้จัดการทั่วไป Global Anti-Scam Alliance (GASA) กล่าวว่า “รายงานสถานการณ์การหลองลวงจากมิจฉาชีพในประเทศไทยฉบับนี้แสดงให้เห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนเพื่อปรับปรุงมาตรการป้องกัน เพิ่มการดำเนินการที่เข้มงวด และสร้างความตระหนักรู้ให้แก่ประชาชนเกี่ยวกับภัยจากมิจฉาชีพ และฟื้นความเชื่อมั่นในการใช้แพลตฟอร์มดิจิทัล”
เปิดตัวฟีเจอร์ใหม่รับมือมิจฉาชีพ
เพื่อรับมือกับการหลอกลวงที่เพิ่มขึ้น บริษัท โกโกลุก ประเทศไทย ได้มีการพัฒนาฟีเจอร์ใหม่ (ทำงานร่วมกับ AI) ให้กับแอป Whoscall เช่น ID Security สำหรับช่วยตรวจสอบความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคล Auto Web Checker เพื่อปกป้องผู้ใช้จากการคลิกลิงก์ฟิชชิ่ง รวมไปถึง Scam Alert ศูนย์รวมข้อมูลเตือนภัยกลโกงมิจฉาชีพแห่งแรกในไทย
ติดตามพวกเราได้ที่ LINE
รูปภาพ/วิดีโอจาก Number 24 x Shutterstock Thailand พาร์ทเนอร์ชัตเตอร์สต็อกอย่างเป็นทางการแต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย
www.number24.co.th
#Number24xShutterstock