HomeBrand Move !!“สมุดหน้าโจร” สมุดรวมเบอร์มิจฯ 1,500 หน้า หนัก 7 กก. อาชญากรรมไซเบอร์ที่คนไทยต้องเผชิญ

“สมุดหน้าโจร” สมุดรวมเบอร์มิจฯ 1,500 หน้า หนัก 7 กก. อาชญากรรมไซเบอร์ที่คนไทยต้องเผชิญ

แชร์ :

“สมุดหน้าเหลือง” อาจเคยเป็นสิ่งของประจำบ้านของคนในยุคหนึ่งสมัยหนึ่ง แต่ทุกวันนี้ คนที่ยังมีความคุ้นเคยกับสมุดหน้าเหลืองอาจลดน้อยถอยลงไปตามกาลเวลา และในอีกด้าน คนกลุ่มที่คุ้นเคยกับสมุดหน้าเหลืองนี้ ก็เป็นกลุ่ม “เสี่ยง” ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพออนไลน์มากเป็นอันดับต้น ๆ ของเมืองไทยด้วยเช่นกัน

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ข้อมูลจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ระหว่างเดือนมีนาคม พ.ศ. 2565 ถึง กรกฎาคม พ.ศ. 2567 พบว่า มีคดีอาชญากรรมออนไลน์ 612,603 คดี และมูลค่าความเสียหาย สูงถึง 69,186 ล้านบาท

ส่วนใหญ่ผู้เสียหายอยู่ในกลุ่มเพศหญิงถึง 64% โดยแบ่งเป็นตามช่วงอายุ พบว่า กลุ่มอายุระหว่าง 30 – 44 ปี ได้รับความเสียหายสูงถึง 41.45% รองลงมา คือ กลุ่มช่วงอายุระหว่าง 22 – 29 ปี ถึง 25.27%

นอกจากนี้ กลุ่มผู้สูงอายุ ที่มีเงินเก็บเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นเงินออม เงินเกษียณ หรือเงินบำนาญ ก็มักตกเป็นเป้าหมายของมิจฉาชีพด้วย เพราะความไม่ชำนาญในการใช้เทคโนโลยีที่ซับซ้อน

สมุดหน้าโจร สมุดรวมมิจฯ หนัก 7 กิโลกรัม

สถิติด้านบนอาจทำให้เราพอมองเห็นภาพความเสียหายได้บางส่วน แต่สำหรับใครที่อยากเห็นภาพให้ชัดขึ้นว่า ทุกวันนี้ คนไทยต้องเผชิญกับมิจฉาชีพในระดับใด ภาพของ “สมุดหน้าโจร” ที่ Whoscall ร่วมกับ VML Thailand ทำแคมเปญออกมาอาจช่วยให้เราเห็นภาพได้ชัดเจนขึ้น โดย “เบอร์โจร” ที่ Whoscall รวบรวมมาใน “สมุดหน้าโจร” นี้ มีความหนาถึง 1,500 หน้า

ขนาดของเล่ม (กว้าง x ยาว x สูง) 21 x 26.2 x 28.6 เซนติเมตร และมีน้ำหนักถึง 7 กิโลกรัม (แม้จะใช้กระดาษน้ำหนักเบาแบบสมุดหน้าเหลืองแล้วก็ตาม) โดยภายในบรรจุเบอร์โจรเอาไว้ 1.5 ล้านหมายเลข และเป็นหมายเลขที่ Whoscall ยืนยันว่าเป็นของมิจฉาชีพตัวจริง

คุณภาคย์ วรรณศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายความคิดสร้างสรรค์ VML Thailand กล่าวว่า แคมเปญนี้ต้องการจุดประเด็นจากข้อเท็จจริงที่ว่า “คนไทยถูกมิจฉาชีพหลอกทางโทรศัพท์มากกว่า 19 ล้านครั้ง” มาตั้งต้นเป็นโจทย์ และแปลงข้อมูลเป็นงานสร้างสรรค์เพื่อให้คนไทยเข้าใจได้ง่ายขึ้น

“ดังนั้น เราจึงนึกถึงสื่อที่คนไทยรู้จักกันดีคือ สมุดหน้าเหลือง โดยเราต้องการให้หนังสือเล่มนี้เป็นวาระแห่งชาติจริง ๆ เพราะนี่คือ ครั้งแรกของการทำ Data Visualization ของเบอร์มิจฉาชีพให้ออกมาเป็น “สมุด” ด้วยการรวบรวมเบอร์ของมิจฉาชีพไว้ในนี้ 1.5 ล้านเบอร์ เปลี่ยนจากสมุดหน้าเหลืองที่เราเคยรู้จักเป็นสมุดหน้าโจร หรือสมุดรวมมิจปกเหลือง (Scammer Pages) เพื่อสื่อสารออกไปยังคนไทยทุกคน”

ภายในสมุดหน้าโจรมีการจัดพิมพ์เบอร์มิจฉาชีพ

5 คดีออนไลน์ พบมากที่สุด

ในส่วนของความเสียหายที่เกิดจากมิจฉาชีพออนไลน์นั้น คุณมนประภา รัตนกนกพร หัวหน้าฝ่ายการตลาด บริษัท โกโกลุก (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ให้บริการแอปพลิเคชัน Whoscall ได้อ้างอิงถึงสถิติของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ระหว่างเดือนมีนาคม พ.ศ. 2565 ถึง กรกฎาคม พ.ศ. 2567 โดยพบว่า คดีออนไลน์ที่มีการแจ้งความมากที่สุด ได้แก่

  • หลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ มูลค่าความเสียหาย 4,311 ล้านบาท
  • หลอกให้โอนเงินเพื่อทำงาน มูลค่าความเสียหาย 10,177 ล้านบาท
  • หลอกให้กู้เงิน มูลค่าความเสียหาย 3,120 ล้านบาท
  • หลอกให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ มูลค่าความเสียหาย 25,315 ล้านบาท
  • ข่มขู่ทางโทรศัพท์ (Call Center) มูลค่าความเสียหาย 9,391 ล้านบาท

เพื่อให้การจุดประเด็นเรื่องการถูกหลอกจากมิจฉาชีพเป็นวาระสำคัญ ทาง Whoscall และ VML Thailand ได้จัดทำสมุดหน้าโจรดังกล่าวออกมา 10 ชุด และมีแผนจะจัดโรดโชว์ไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ในช่วงปลายปีนี้เพื่อสร้างความตระหนักมากขึ้นต่อไป

คุณมนประภา รัตนกนกพร และคุณภาคย์ วรรณศิริ


แชร์ :

You may also like