ที่ผ่านมา บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ โออาร์ (OR) และหน่วยงานพันธมิตร 8 กระทรวงหลัก ผนึกกำลังปั้นโครงการ “ไทยเด็ด” หนุนเสริมเขี้ยวเล็บให้ “คนตัวเล็ก” อย่างประสบความสำเร็จ สร้างโอกาส สร้างรายได้ สร้างอาชีพ ต่อยอดความรู้ เพิ่มมูลค่าสินค้า สร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน เพิ่มช่องทางจำหน่ายในสถานีบริการ พีทีที สเตชั่น ทั่วประเทศ ล่าสุดปล่อย วีดีโอ Documentary เสนอ “3 ไอดอลจาก 3 ชุมชน” ที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจากการมอบโอกาส โครงการ “ไทยเด็ด”
โครงการ “ไทยเด็ด” เวทีให้คนตัวเล็ก ‘แจ้งเกิด’
โดยทั่วไป สินค้าในชุมชนห่างไกลเป็นสินค้า Me Too ที่เหมือนๆ กันแทบจะทุกจังหวัด นี่คือ Pain Point ที่หากต้องการแจ้งเกิด การสร้างความแตกต่างจึงถือเป็นตัวแปรที่สำคัญ และเป็นที่มาของโครงการ “ไทยเด็ด” ซึ่งผนึกกำลังกันตั้งแต่ช่วงปลายปี 2561 ระหว่างบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ โออาร์ และ 8 หน่วยงานพันธมิตร ได้แก่ กระทรวงพลังงาน กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนชุมชน ซึ่งถือเป็นเศรษฐกิจฐานรากของประเทศให้มีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน
จากความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนที่ทำหน้าที่กำจัดจุดอ่อนให้กับสินค้าชุมชนภายใต้โครงการ “ไทยเด็ด” ด้วยการคัดเลือกสินค้าดี สินค้าเด็ด หรือสินค้าที่เป็นอัตลักษณ์ประจำถิ่นจากชุมชนมาช่วยพัฒนาและเพิ่มช่องทางการจำหน่ายในร้านไทยเด็ดกว่า 300 สาขาในสถานีบริการ พีทีที สเตชั่น ทั่วประเทศ ด้วยการต่อยอดองค์ความรู้ การใส่ดีไซน์เพื่อให้ทันสมัย โดยมุ่งหวังที่จะสร้างโอกาส สร้างงาน สร้างรายได้ให้คนตัวเล็กและวิสาหกิจชุมชน รวมทั้งยกระดับสินค้าให้สามารถเข้าสู่ระบบการผลิตที่มีมาตรฐาน โดยปัจจุบันมีผู้ประกอบการชุมชนกว่า 450 ราย สินค้าไทยเด็ดกว่า 1,000 รายการอยู่ในโครงการ และในทุกๆ ปีจะมีการคัดเลือกสินค้าเพื่อยกระดับขึ้นเป็นสินค้าไทยเด็ด Select (สะสมรวม 18 รายการ) อีกด้วย
3 ไอดอลเด็ดจาก 3 ชุมชน
ในปี 2567 “ไทยเด็ด” ภายใต้แนวคิดใหม่ที่ต้องการผลักดันให้เห็นถึงภูมิปัญญาไทยและการมีส่วนช่วยให้สังคมและชุมชนดีขึ้น โครงการนี้ได้สร้างเรื่องราวสุดประทับใจของ “3 ไอดอลจาก 3 ชุมชน” ผ่านหนังโฆษณา Documentary เรื่อง ไทยเด็ด ไม่ใช่แค่สินค้า แต่คือ … ?
ที่นำเสนอ “ความเรียล”ผ่าน 3 เจ้าของสินค้าตัวจริง เสียงจริงที่ได้รับคัดเลือกจากโครงการไทยเด็ด และประสบความสำเร็จมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในแบบที่คนไทยควรได้รับ
การนำเสนอเรื่องราวผ่านตัวแทนชุมชนทั่วประเทศผ่าน “3 ไอดอลจาก 3 ชุมชน” ได้แก่
ขนมปั้นขลิบ ตรา น้องหนึ่ง วิสาหกิจชุมชนบ้านขนมปั้นขลิบเมืองเก่าชัยบุรี จ.พัทลุง ที่เล่าเรื่องราวผ่านป้าแวน ชาวนาวัย 72 ปีที่ต้องอาศัยฟ้าฝนในการทำนา ถ้าปีไหนฝนแล้งชีวิตเกษตรกรในชุมชนก็เท่ากับจบสิ้น ชาวชุมชนต.ชัยบุรี อ.เมือง และพื้นที่ใกล้เคียงในจังหวัดพัทลุงจึงได้เข้าร่วมโครงการไทยเด็ดในปี 2561 เพื่อฝึกทำขนมปั้นขลิบทอด และผสมผงข้าวสังข์หยด ข้าวพันธุ์พื้นเมืองลงในแป้ง ทำให้ได้ขนมปั้นขลิบที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง และได้กลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของจังหวัดพัทลุง อีกทั้งได้รับคัดเลือกให้เป็นสินค้าไทยเด็ด Select และสามารถทำรายได้ทะยานจาก 1 แสนบาท/เดือนเป็น 5 แสนบาท/เดือน (เฉพาะจำหน่ายในร้านไทยเด็ด ไม่รวมร้านคาเฟ่อเมซอนและร้านค้าทั่วไป)
ผ้าทอย้อมคราม บ้านคำประมง จ. สกลนคร เล่าเรื่องราวโดย แม่จิน ที่แม่บ้านที่เลี้ยงชีพด้วยการทอผ้าแต่กลับขายไม่ได้ เพราะอยู่ห่างไกลความเจริญ ด้วยปัญหานี้ทำให้คนหนุ่มสาวของชุมชนต้องเข้าไปหางานทำในเมือง ดังนั้น การเข้าร่วมโครงการไทยเด็ดผ่านพันธมิตรกระทรวงมหาดไทยในปี 2565 จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างโอกาส ด้วยสมาชิกของชุมชนเพียง 11 คน ด้วยทุนเริ่มต้นคนละ 100 บาท เพื่อนำไปซื้อฝ้ายซีกวงมาย้อมและทอเป็นผ้าคลุมไหล่ขาย โดยได้รับพระราชทานลายผ้า “กลีบมะเฟือง” จากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา และ “ไทยเด็ด” ได้ช่วยพัฒนาคุณภาพสินค้าของกลุ่ม และต่อมา ผ้าทอย้อมคราม บ้านคำประมง ได้รับคัดเลือกให้เป็นสินค้าไทยเด็ด Select สามารถสร้างรายได้เดือนละจาก 300 บาท เป็น 1.8 หมื่นบาทต่อคน และคนหนุ่มสาวก็กลับชุมชนเพื่อกลับมาทำงานทอผ้าย้อมครามที่บ้านเกิด
กระเป๋าพู่ประดิษฐ์ จ.สมุทรปราการ วิสาหกิจชุมชนกระเป๋าผ้ากันน้ำ Montmaxx เป็นการเล่าเรื่องผ่าน พี่ซูซี่ ผู้รวบรวมกลุ่มผู้สูงอายุให้มาร่วมกันทำงานร่วมกับกลุ่มแม่บ้านผู้สูงอายุที่มีฝีมือตัดเย็บจากอ.บางแก้ว และอ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ซึ่งรวมกลุ่มกันเย็บกระเป๋ารูปแบบต่างๆ เพื่อสร้างรายได้เสริมให้กับครอบครัว จากการเข้าร่วมโครงการไทยเด็ด ผ่านพันธมิตรกระทรวงวัฒนธรรมในปี 2565 และได้ Collaboration ด้วยการนำอุปกรณ์จากชุมชนอื่นๆ มาตกแต่งกระเป๋าเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม คือ พู่ปลาประดิษฐ์ ผลิตโดยนักเรียนชาวเขา อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ตัวห้อย ผลิตโดยสมาชิกครอบครัวผู้ป่วยติดเตียง อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ และได้รับการคัดเลือกเป็นสินค้าไทยเด็ด Select สร้าง รายได้เพิ่มขึ้นจาก 5 หมื่นบาท/เดือน เป็น 3 แสนบาท/เดือน
เห็นได้ว่า 3 เคสจริงจากโครงการ “ไทยเด็ด” จะช่วยเป็นแรงบันดาลใจให้กับชุมชนต่างๆได้สร้างสรรค์สินค้า “ภูมิปัญญาไทย” ที่มีคุณค่าออกมาสู่ตลาด พร้อมกับการสนับสนุนดีๆจาก OR หรือ โครงการไทยเด็ด ที่จะทำให้พวกเขาได้เติบโตทั้งในแง่จิตใจและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ซึ่งเป็นไปตามพันธกิจของ OR ที่ว่า โออาร์ = โอกาส นั่นเอง