บมจ. เอเชีย เอวิเอชั่น (“AAV”) ผู้ถือหุ้นของ บจ. ไทยแอร์เอเชีย (“TAA”) เผยผลประกอบการประจำไตรมาส 3 ปี 2567 AAV มีรายได้รวม 15,322 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 55% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมาจากปัจจัยด้านจำนวนผู้โดยสาร และราคาตั๋วโดยสารเฉลี่ย ที่ยังคงเพิ่มขึ้นตามการเติบโตของอุตสาหกรรม รวมทั้งเงินบาทที่แข็งค่ามากในระหว่างไตรมาส
ส่วนต้นทุนโดยรวมทรงตัวจากปีก่อน จากราคาน้ำมันที่ลดลงและแผนปรับกลยุทธ์เน้นเส้นทางบินที่มีผลตอบแทนดี ทำให้ EBITDA เพิ่มขึ้นร้อยละ 355 มาอยู่ที่ 1,772 ล้านบาท รายงานกำไรสุทธิ 3,446 ล้านบาท (พลิกจากขาดทุนสุทธิ (1,695) ล้านบาท)
ทั้งนี้ หากไม่รวมกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน กำไรจากการดำเนินงานหลักจะอยู่ที่ 57 ล้านบาท ปรับดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากขาดทุน (1,044) ล้านบาท
คุณสันติสุข คล่องใช้ยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. เอเชีย เอวิเอชั่น และ บจ. ไทยแอร์เอเชีย กล่าวว่า “ในไตรมาส 3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สถานการณ์การท่องเที่ยวของไทยยังคงปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องทั้งตลาดภายในประเทศและระหว่างประเทศ โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทยเพิ่มจาก 7.1 ล้านคนในไตรมาส 3 ของปีก่อน เป็น 8.6 ล้านคนในปีนี้ และ 40% เป็นนักท่องเที่ยวชาวจีน มาเลเซีย และอินเดีย”
“อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 2 ที่ผ่านมา อาจมีช่วงชะลอตัวจากนอกฤดูกาลท่องเที่ยวบ้าง โดยไตรมาสนี้ TAA ขนส่งผู้โดยสารรวม 4.9 ล้านคน เพิ่มขึ้น 7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และคงอัตราขนส่งผู้โดยสารในระดับสูงที่ 90% ราคาตั๋วเฉลี่ยภายในและระหว่างประเทศอยู่ที่ 1,847 บาท เติบโต 7% เช่นกัน รวมทั้งรับเครื่องบินแอร์บัส A321neo เพิ่ม 2 ลำ ทำให้มีฝูงบินรวม 59 ลำ ณ สิ้นไตรมาส”
ครองส่วนแบ่ง 39% ตลาดภายในประเทศ
สำหรับตลาดภายในประเทศ TAA มีส่วนเเบ่งการตลาดอันดับหนึ่งที่ 39% และอัตราขนส่งผู้โดยสารสูงถึง 93% แม้จะเป็นนอกฤดูท่องเที่ยว และเกิดน้ำท่วมหนักในหลายจังหวัดทางภาคเหนือของไทยในช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา ซึ่งขณะนี้สถานการณ์คลี่คลายลงไปมากแล้ว โดยไตรมาสที่ 3 TAA ได้เปิดบินเส้นทาง สุวรรณภูมิ-หาดใหญ่เพิ่ม เพื่อจับตลาดนักท่องเที่ยวที่เดินทางทั้งจากสนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิ และเริ่มให้บริการเส้นทางใหม่ ดอนเมือง-ลำปาง ในช่วงต้นเดือนตุลาคม ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดี
สำหรับตลาดระหว่างประเทศ TAA มีอัตราการขนส่งผู้โดยสารที่ 84% โดยได้ปรับเครือข่ายเส้นทางบินระหว่างประเทศในหลายเส้นทาง เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพื่อเน้นทำการบินในเส้นทางที่มีผลตอบแทนที่ดี พร้อมเพิ่มความถี่ของเที่ยวบินไปยังประเทศจีน อินเดีย และเส้นทางสิทธิเสรีภาพการบินที่ 5 (Fifth Freedom) จากไต้หวันไปญี่ปุ่นที่เพิ่งเปิดดำเนินการ
“เวียดนาม” นิยมต่อเนื่อง
โดยในไตรมาส 3 นี้ TAA เปิดเที่ยวบินปฐมฤกษ์จากดอนเมืองไปยังปักกิ่งและเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน และติรุจิรัปปัลลิ ประเทศอินเดีย นอกจากนั้น ตลาดอาเซียนโดยเฉพาะเวียดนามยังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเส้นทางล่าสุด ดอนเมือง-ฟูก๊วก ที่ TAA เพิ่งเริ่มทำการบินในช่วงปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา
“เมื่อคิดเป็นต่อหน่วยแล้ว รายได้ต่อปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (RASK) อยู่ที่ 1.82 บาท ซึ่งเพิ่มขึ้น 12% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สะท้อนถึงภาวะของอุตสาหกรรมที่ยังคงมีจำนวนเครื่องบินให้บริการที่ค่อนข้างจำกัดเมื่อเทียบกับความต้องการท่องเที่ยว
ส่วนต้นทุนต่อปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสารที่ไม่รวมต้นทุนน้ำมัน (CASK ex-fuel) อยู่ที่ 1.19 บาท เพิ่มขึ้นเพียง 1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนหนึ่งมาจากฐานต้นทุนในปีก่อนที่สูง และการรักษาระดับต้นทุนต่อหน่วยให้เพิ่มช้ากว่ารายได้
แม้ในแง่ทางการเงินเราทำได้ค่อนข้างดีโดยเฉพาะเมื่อเทียบกับปีก่อน แต่การบริหารจัดการเครื่องบินยังคงมีความท้าทายหลายประการ โดยปัจจุบันเราทำการปฏิบัติการบินด้วยเครื่องบินจำนวน 50 ลำ จากฝูงบินทั้งหมด 59 ลำ ซึ่งมีส่วนทำให้อัตราความตรงต่อเวลาของเราลงมาอยู่ที่ 83% ซึ่งจะต้องเร่งนำเครื่องบินกลับมาปฏิบัติการบินให้ได้มากที่สุด เพื่อไม่ให้กระทบต่อการเดินทางและมาตรฐานความตรงต่อเวลาระดับสูงของสายการบิน”
9 เดือนรายได้รวม 38,732 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 31%
สำหรับข้อมูลสรุปรวม 9 เดือนเเรก ปี 2567 AAV มีรายได้รวม 38,732 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 31% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน EBITDA อยู่ที่ 6,775 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 72% และรายงานกำไรสุทธิที่ 3,121 ล้านบาท เทียบกับขาดทุนสุทธิ (2,348) ล้านบาท ในช่วงเดียวกันของปีก่อน (กำไรจากการดำเนินงานหลักอยู่ที่ 1,552 ล้านบาท พลิกจากขาดทุน (1,035) ล้านบาท ในช่วงเดียวกันของปีก่อน) โดยขนส่งผู้โดยสารรวม 15.3 ล้านคน เพิ่มขึ้น 11% และอัตราขนส่งผู้โดยสารอยู่ที่ 91%
ในด้านความยั่งยืน มีไฮไลท์สำคัญจากงาน Thai Aviation Sustainability Day ในเดือนตุลาคมที่ทาง TAA ร่วมกับสายการบินพันธมิตร คู่ค้า ผู้กำกับดูแล รวมถึงตัวแทนจากกระทรวงที่เกี่ยวข้อง มุ่งเน้นสื่อสารถึงพัฒนาการด้านกฎระเบียบการปล่อยคาร์บอนที่จะมีบังคับใช้ในธุรกิจการบินในอนาคต
รวมถึงมีการหารือถึงความพร้อมของอุตสาหกรรมในการใช้น้ำมันอากาศยานเพื่อความยั่งยืน (SAF) และศักยภาพของตลาดคาร์บอนเครดิตไทย เพื่อยกระดับความเข้าใจงานด้านความยั่งยืนในทุกภาคส่วนและร่วมขับเคลื่อนเป้าหมาย Net Zero ในปีพ.ศ. 2593 ร่วมกัน
นอกจากนี้ TAA ได้เข้าร่วมจัดงาน Sustainability Expo 2024 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์เพื่อโปรโมทโครงการริเริ่มด้านความยั่งยืนและให้ข้อมูลเชิงลึกเพื่อสนับสนุนให้นักเดินทางท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ โดยคุณ Tony Fernandes ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Capital A ได้เข้าร่วมปาฐกถาในหัวข้อ Sustainable Hospitality and Mobility เพื่อสนับสนุนบทบาทความยั่งยืนในภาคส่วนการบริการและการคมนาคม โดยสนับสนุนความพยายามของอาเซียนที่เป็นหนึ่งเดียวเพื่อบรรลุเป้าหมายความยั่งยืนที่มีร่วมกัน
“ยิ่งได้รับเเรงสนับสนุนจากไตรมาสที่ 4 ซึ่งเป็นฤดูท่องเที่ยวทั้งเส้นทางบินภายในประเทศและระหว่างประเทศ จึงเชื่อมั่นว่าปีนี้จะเป็นปีที่ดีของบริษัท ทั้งด้านผลประกอบการจากรายได้การขายและบริการที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 20 – 23% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
ส่วนยอดผู้โดยสารตลอดทั้งปี คาดว่าจะเป็นไปตามเป้าหมายที่ 20 – 21 ล้านคน พร้อมเตรียมรับเครื่องบินลำใหม่เพิ่มอีก 1 ลำในเดือนนี้ รวมเป็นฝูงบิน 60 ลำ ณ สิ้นปี และกลับมาขยายฝูงบินในระดับปกติต่อเนื่องในปีหน้า พลิกฟื้นผลการดำเนินงานกลับมาเป็นสายการบินที่เติบโตได้อย่างยั่งยืนต่อไป” คุณสันติสุขกล่าว
*กำไร (ขาดทุน)จากการดำเนินงานหลัก = กำไร (ขาดทุน)สุทธิ ปรับด้วยกำไร (ขาดทุน)จากอัตราแลกเปลี่ยนหลังหักภาษีนิติบุคคล