HomeBrand Move !!สรุปมุมมอง 5 เสาหลักการสื่อสารกับทิศทางโฆษณาไทยและการตลาดในอนาคต

สรุปมุมมอง 5 เสาหลักการสื่อสารกับทิศทางโฆษณาไทยและการตลาดในอนาคต

แชร์ :

สมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย (AAT) จัดงานมหกรรมความคิดสร้างสรรค์แห่งปี “AdPeople AWARDS & SYMPOSIUM 2024” ครั้งที่ 20 ในธีม “Creativity for Peoplekind” เปิดเวทีความคิดสร้างสรรค์ให้เป็นเรื่องของ “ทุกคน” ปลุกพลังครีเอเตอร์ในทุกสายอาชีพ พร้อมสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีอย่างยั่งยืนให้กับสังคม ตอกย้ำว่า “การโฆษณา” ไม่ได้เป็นโดเมนเฉพาะของ “คนโฆษณา” อีกต่อไป แต่อยู่ในมือของ “ทุกคน”

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

คุณปารเมศร์ รัชไชยบุญ ประธานคณะกรรมการดำเนินงาน “AdPeople AWARDS & SYMPOSIUM 2024 กล่าวว่าสมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย ได้เริ่มจัดงาน Adman เมื่อ 20 ปีก่อน โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเชิดชูผลงานโฆษณาไทย ให้ความรู้การเตรียมตัวสำหรับคนโฆษณา พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง เมื่อเวลาผ่านไปเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในโลกการสื่อสารการตลาดมากขึ้น รวมทั้งทัศนคติและวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ทำให้โลกการสื่อสารเดิมที่รู้จักเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง

วันนี้โลกโฆษณาไม่ได้ขึ้นอยู่กับคนโฆษณาอีกต่อไป “ทุกคน” สามารถทำคอนเทนต์ ทำโฆษณาสื่อสารผ่านแพลตฟอร์มออนไลนได้เอง นั่นจึงเป็นเหตุผลในการเปลี่ยนชื่องานจาก Adman เป็น AdPeople เพื่อความหลากหลายของผู้คนในวงการโฆษณา และธีมปีนี้คือ “ความคิดสร้างสรรค์เพื่อผู้คนในสังคมและโลกใบนี้”

คุณปารเมศร์ รัชไชยบุญ

ดร.ปอยหลวง โคนทรงแสน Chairman of AdPeople & Symposium 2024 กล่าวว่า AdPeople ไม่ได้เป็นเพียงการเปลี่ยนชื่องานเท่านั้น แต่เป็นการเปลี่ยนมุมมอง จุดยืน วิธีคิด เพื่อตอบรับความท้าทายในโลกปัจจุบัน เป็นโลกที่ผู้คนสื่อสารโดยตรงถึงผู้คน ผลงานต่างๆ ถูกสร้างขึ้นโดยผู้คนเพื่อผู้คน ทำให้เส้นแบ่งที่เคยชัดเจนของนักโฆษณา แบรนด์ คอนเทนต์ ครีเอเตอร์ และอินฟลูเอนเซอร์ ไม่ชัดเจนอีกต่อไป

ในยุคนี้ “ทุกคน” สามารถสร้างสรรค์ไอเดียที่สร้างการเปลี่ยนแปลงทั้งในชีวิตผู้คน สังคม และโลกได้ โดยเฉพาะเรื่อง ESG ซึ่งไม่ใช่เพียงแนวคิดของแวดวงธุรกิจอีกต่อไป แต่เป็นโจทย์สำคัญให้วงการสื่อและโฆษณาต้องนำมาเป็น “หัวใจ” ในการทำงาน เพราะโลกกำลังเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ทั้งด้านความเท่าเทียม ความหลากหลาย ความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

“AdPeople 2024 ถือเป็นจุดเริ่มของจุดร่วม ในวันที่โฆษณา ไม่ได้เป็นของนักโฆษณาเพียงกลุ่มเดียวอีกต่อไป แต่เป็นเครื่องมือและการสื่อสารของทุกคน”

#เปิดมุมมอง 5 เสาหลักการสื่อสารกับทิศทางโฆษณาไทยและการตลาดในอนาคต

AdPeople 2024 เปิดเวทีสัมมนา “Further trend CREATIVITY ส่องอนาคตโลกคนโฆษณา ผ่าน 5 เสาหลักการสื่อสารและความคิดสร้างสรรค์ของไทย” โดย 4 สมาคมโฆษณาและสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) สรุปมุมมองทิศทางอนาคตโฆษณาไทยและการตลาดในอนาคต ดังนี้

คุณรติ พันธุ์ทวี นายกสมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย (AAT) กล่าวว่าช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาทุกอุตสาหกรรมพูดถึงเรื่องและให้ความสำคัญกับเทคโนโลยี AI แต่วันนี้ในมุมโฆษณาเห็นโอกาสในการใช้เครื่องมือ AI ให้เป็นประโยชน์ในการสื่อสาร รวมทั้งด้านความยั่งยืน ESG ไม่ใช่แค่สร้างแบรนด์ให้กับผู้บริโภคเท่านั้น เพราะแบรนด์ที่ดีมีโอกาสทำให้โลกดีขึ้นด้วย

– การมีเทคโนโลยี AI วันนี้ ทำให้เข้าถึงผู้บริโภคได้ง่ายขึ้น แต่สุดท้ายการสื่อสารโฆษณา ต้องให้ความสำคัญกับคอนเทนต์ ความคิดสร้างสรรค์ และเข้าถึงผู้คนอย่างมีจรรยาบรรณที่ถือเป็นพื้นฐานของการสื่อสารโฆษณา

“การสร้างสรรค์การสื่อสารที่ดีต่อมนุษย์ คือ การมองผู้บริโภคเป็นเพื่อน ที่เป็นพื้นฐานสำคัญทำให้เกิดจรรยาบรรณในการสื่อสาร”

– การขายสินค้าเป็นเรื่องระยะสั้น เป็นการสร้างรายได้ แต่การสร้างแบรนด์ คือ การสร้างคุณค่าเพื่อความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้บริโภค ยังต้องอาศัยความเป็นมนุษย์ในการเข้าถึงอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะมนุษย์ยังต้องการเพื่อนที่ดี ดังนั้นความเป็นเพื่อนของแบรนด์ เป็นสิ่งที่ผู้บริโภคมองหา และมองหาความไว้วางใจ ผู้บริโภคไม่ได้มองหาเฉพาะสิ่งที่แบรนด์ตอบสนองได้ดี แต่มองหาสิ่งที่ดีกับโลกและสังคมด้วย

“โฆษณา คือการสร้าง mindset สร้างพลังบวกและส่งต่อพลังบวก คอนเทนต์ที่ดีต้องมีจรรยาบรรณและความรับผิดชอบต่อสังคมด้วย”

คุณปัทมวรรณ สถาพร นายกสมาคมมีเดียเอเยนซี่และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย (MAAT) กล่าวว่าในมุมของ “มีเดีย” ที่โฟกัสเรื่องตัวเลข การเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายให้ได้มากที่สุด การวัด KPI, ROI ที่ต้องใช้เม็ดเงินให้คุ้มค่า เป็นการใช้ตัวเลขนำ ขณะที่การสื่อสารเป็นเรื่องของการพูดคุยกับ “ผู้บริโภค” ในเวที AdPeople จึงกลับมาโฟกัสเรื่อง “คน” เป็นการกลับมามองผู้บริโภคเป็น “มนุษย์”

– ในวงการโฆษณาได้นำเทคโนโลยี AI เข้ามาช่วยสื่อสารกับผู้บริโภคจำนวนมาก แต่ก็ต้องมีความรับผิดชอบต่อผู้บริโภคด้วย ตัวอย่าง สินค้ากลุ่มบิวตี้ แม้รู้ว่าเทคโนโลยี AI สร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ได้เหมือนจริง แต่สิ่งหนึ่งที่แบรนด์บิวตี้จะไม่ทำ คือการใช้ AI ทำโฆษณาที่หลอกลวงว่าเป็นคนจริง เพราะสุดท้ายแบรนด์บิวตี้จะเชื่อในความงามที่แท้จริงของคน ถือเป็นสิ่งที่แบรนด์ต้องรับผิดชอบต่อผู้บริโภคและสังคม

– การสื่อสารโฆษณาของแบรนด์แม้ต้องการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายให้เร็วที่สุดและมากที่สุด แต่การยิงโฆษณาด้วยเครื่องมือต่างๆ ต้องทำอย่างไม่รบกวนการรับข้อมูลของผู้คนด้วย รวมทั้งต้องให้ความสำคัญกับการทำเรื่อง brand safety ด้วย คือไม่ลงโฆษณาในพื้นที่หรือคอนเทนต์ที่ไม่เหมาะสม ดังนั้นการสื่อสารโฆษณาในยุคนี้ ต้องไม่วิ่งตามตัวเลขหรือดูดาต้าอย่างเดียว ต้องดูคุณภาพของการลงโฆษณาด้วย

“เพียงแค่เราทำได้เพราะมีเครื่องมือต่างๆ ไม่ได้หมายความว่าควรจะทำทุกอย่าง อย่าวิ่งตามแค่ตัวเลข สิ่งสำคัญที่ต้องมีคือ purpose ต้องทำโฆษณาที่ดีกับผู้คน ลูกค้า(แบรนด์) พนักงานและพาร์ทเนอร์”

คุณชาคริต ดิเรกวัฒนชัย” เลขาธิการสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย (MAT) กล่าวว่าการตลาด คือการเล่าเรื่อง (Storytelling) ที่โน้มน้าวใจผู้คนได้ดี โดยทั่วไปชีวิตของคนคือการสื่อสารที่ว่าด้วย Storytelling เป็นการเล่าเรื่องที่เข้าถึงคนได้ง่ายขึ้น เห็นได้จากการเล่าข่าว ที่เป็นการให้ข้อมูลข่าวที่เกิดขึ้นและคนสนใจในแต่ละวัน ดังนั้นเทคนิคการเล่าเรื่อง เป็นสิ่งที่นักการตลาดต้องเรียนรู้ผ่านวิธีการที่หลากหลาย เล่าในเรื่องที่คนสนใจและโดนใจ จึงต้องเรียนรู้การเล่าเรื่องที่จะทำให้แบรนด์ดูดีขึ้น

– วงการสื่อกับ AI เป็นสิ่งที่ต้องตามให้ทัน ปัจจุบัน การนำ AI มาใช้ในการประชาสัมพันธ์หรืออ่านข่าว ก็ไม่ต่างอะไรกับการฟังวิทยุ เพราะปกติการสื่อสารของผู้ประกาศข่าวจะมีเนื้อหาข่าวและสื่อสารด้วยอารมณ์ในเหตุการณ์ต่างๆ ของข่าว แต่ AI ยังสื่อสารเรื่องอารมณ์ไม่ได้ ดังนั้นวงการข่าวยังต้องการมนุษย์อยู่

– ความท้าทายสำคัญของนักการตลาดวันนี้ คือ เทคโนโลยีที่พัฒนาออย่างรวดเร็ว แต่นักการตลาดต้องมีความร่วมสมัย (contemporary) โดยไม่จำเป็นต้องวิ่งตามเทคโนโลยีทุกเรื่อง แต่ต้องรู้ว่าคนส่วนใหญ่ตามหรือสนใจเทคโนโลยีอะไร ต้องรู้จักเทคโนโลยี และไม่ตกเทรนด์ แต่ต้องเลือกใช้ให้เหมาะสม

– นอกจากนี้นักการตลาดไม่สามารถทำการตลาดเฉพาะ Gen ใด Gen หนึ่งได้ เพราะทุก Gen มีความต้องการแตกต่างกัน นักการตลาดจึงต้องรู้เทคโนโลยีและเทรนด์ทุกเรื่อง แต่ไม่จำเป็นต้องใช้ทุกเทคโนโลยี เพราะเทคโนโลยี come and go

คุณภารุจ ดาวราย นายกสมาคมโฆษณาดิจิทัลแห่งประเทศไทย (DAAT) กล่าวว่าความสนุกของโลกดิจิทัลและเทคโนโลยี คือ ความสามารถในการเข้าถึงผู้คนแบบตัวต่อตัว รู้พฤติกรรมผู้ใช้แพลตฟอร์มต่างๆ มากขึ้น ทำให้สามารถสื่อสารกับผู้คนได้แบบสองทาง (Two-way communication) เป็นการเปิดโลกการสื่อสารยุคใหม่ระหว่างแบรนด์ ผู้ผลิต และผู้บริโภค

– โลกของเทคโนโลยีทำให้ความสนุกในการสื่อสารมีมากขึ้น เพราะผู้คนเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราว และการสร้างสรรค์ Storytelling มีมุมให้สื่อสารหลากหลายมากกว่าเดิม จากการพัฒนาด้านเทคโนโลยีการสื่อสาร ทำให้สามารถรีแอคกับผู้คนได้สองทางมากขึ้นและทำให้โลกโฆษณาสนุกกว่าเดิม

– เทคโนโลยีเป็นเรื่องปกติในชีวิต ที่วันนี้มีการพัฒนาเร็วขึ้น แต่ถึงจุดหนึ่งผู้คนส่วนใหญ่จะได้ใช้งาน เพราะราคาถูกลง รวมทั้ง Gen AI ที่ต่อไปใครๆ ก็ใช้ได้ แต่เรื่องที่ท้าทาย คือ จะสร้างความแตกต่างได้อย่างไร เพื่อสร้างการจดจำ

– ในยุคที่มีแพลตฟอร์มจำนวนมาก คนใช้ชีวิตอยู่ในโลกคู่ขนานทั้ง Physical และ Digital สิ่งที่คนโฆษณาและนักการตลาดกำลังสับสน คือ marketing mix ที่ดี ควรเป็นช่องทางไหน สุดท้ายหากจบด้วยการทำทุกช่องทางด้วยงบประมาณเท่าเดิม แต่ผลลัพธ์จะไม่ได้ตามเป้าหมายเหมือนเดิม ดังนั้นปัญหาของแบรนด์ในขณะนี้ คือ โฟกัสไม่ได้ และไม่รู้ว่าอะไรคือสิ่งสำคัญที่ต้องทำ และไม่รู้จักกลุ่มเป้าหมายหลักว่าเป็นใคร

– ในโลกยุคใหม่ ทำให้การตลาดเปลี่ยนจาก campaign based ที่เป็นสูตรสำเร็จกระตุ้นยอดขาย แต่ปัจจุบันมีดาต้าเข้ามาทำให้เข้าใจแพลตฟอร์ม ผู้คน ทั้งที่เป็นลูกค้าและยังไม่เป็นลูกค้า ดังนั้นความท้าทายของทุกแบรนด์ คือการสร้างความสัมพันธ์ (Relationship) กับกลุ่มเป้าหมายผ่านแพลตฟอร์มของตัวเอง (ช่องทางที่สื่อสารกับลูกค้า เช่น แอป บัญชีไลน์ของแบรนด์) โดยไม่สามารถพึ่งพาแพลตฟอร์มอื่นๆ ทั้งหมดได้ เพื่อเป็นช่องทางที่จะสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายได้โดยตรง

สุดท้ายการทำธุรกิจที่ดีกับผู้คน จะดีกับธุรกิจเองในที่สุด

ดร.ชาคริต พิชญางกูร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) กล่าวว่า ปัจจุบันวงการโฆษณาไม่ได้ทำงานเฉพาะด้านโฆษณา แต่เรื่องความคิดสร้างสรรค์เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องทำในยุคเศรษฐกิจครีเอเตอร์

“โฆษณา” คือ ความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) นำไปสู่การสร้าง Content เพื่อทำให้เกิดการสื่อสาร (Communication) เมื่อมาผนวกกับเรื่องความยั่งยืน จึงมองว่าอนาคตของอุตสาหกรรมโฆษณา คือ profit with purpose เป็นการทำธุรกิจที่ต้องมีวัตถุประสงค์ชัดเจนว่าต้องทำเพื่อใคร

เวที AdPeople จึงเป็นเรื่องของ “โอกาสสื่อสารของอุตสาหกรรมโฆษณา” โดยมองเรื่อง people centric marketing ไม่ใช่ user centric เหมือนในอดีต จากความแตกต่างของ Generation ที่มีความสำคัญอย่างมาก เพราะแต่ละ Gen มองคุณค่าการสื่อสารแต่ละเรื่องแตกต่างกัน ประเด็นเหล่านี้เป็นอินไซต์สำคัญที่จะสื่อสารกับกลุ่มที่แตกต่าง

การขับเคลื่อนวงการโฆษณาและการสื่อสารในอนาคต จึงต้องให้ความสำคัญเรื่อง Core Generation ที่สามารถหา Share Value บางอย่างระหว่าง Generation และนำเสนอเนื้อหาที่เข้ากับแต่ละ Gen ได้ รวมทั้งการหาพาร์ทเนอร์ชิปที่มีจุดขายและโดดเด่นในประเด็น SDG การสื่อสารที่ต้องมี spokesperson ที่น่าเชื่อถือ เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายของแบรนด์ได้แท้จริง

“นับเป็นความท้าทายของแบรนด์ที่ต้องบาลานซ์ ผลลัพธ์ต่างๆ ใช้เครื่องมือ AI มาช่วยการสื่อสารได้ เราได้เห็นโอกาสสร้างสิ่งดีๆ ให้สังคมได้ แบรนด์ต้องเป็นประชากรที่ดีของโลกใบนี้ AI เป็นความสนุกที่ทำให้เข้าถึงใช้ลุ่มเป้าหมายได้สนุกขึ้น ง่ายขึ้น และไม่ล้ำเส้น”

ติดตามพวกเราได้ที่ LINE


แชร์ :

You may also like