การมาของเทคโนโลยีดิจิทัล และ AI ช่วยให้การใช้ชีวิตทุกวันนี้สะดวกสบายและง่ายดายมากขึ้น ไม่ว่าจะอยู่ไหน แค่มีโทรศัพท์เครื่องเดียว ก็ใช้ชีวิตได้สบายแล้ว แต่ความง่ายเหล่านี้ก็กลายเป็นช่องว่างให้คนไม่หวังดีมาหลอกลวงชวนให้เสียทรัพย์แบบไม่ทันตั้งตัวได้ง่ายๆ สะท้อนได้จากตัวเลขการถูกหลอกลวงที่เพิ่มขึ้นทุกวัน และสร้างความเสียหายให้กับผู้ถูกหลอกจำนวนไม่น้อย จึงส่งผลให้ “แอปพลิเคชันแจ้งเตือนเบอร์แปลก-สแปม” มีแนวโน้มเติบโตขึ้นเรื่อยๆ
หนึ่งในบริษัทที่เปิดให้บริการแอปพลิเคชันบล็อกเบอร์แปลกมากว่า 12 ปี จนปัจจุบันมียอดาวน์โหลดทั่วโลกกว่า 100 ล้านครั้ง คือ โกโกลุก (Gogolook) จากไต้หวัน และล่าสุดได้ตั้งสำนักงานใหญ่แห่งที่ 2 ในไทย เพื่อเป็นศูนย์กลางในการทำตลาดในอาเซียน อะไรคือเหตุผลที่ทำให้ Gogolook ตัดสินใจขยายฐานมาตั้งสำนักงานในไทย Brand Buffet ชวนมาทำความรู้จักบริษัทนี้กันมากขึ้น กับ “คุณเจฟฟ์ กัว” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท โกโกลุก พร้อมสถานการณ์และรูปแบบการหลวกลวง เพื่อให้ทุกคนรับมืออย่างเท่าทัน
จากคนเคยถูกหลอก สู่แอป Whoscall ที่มียอดดาวน์โหลดทะลุ 100 ล้านครั้ง
จุดเริ่มต้นของ Gogolook เกิดขึ้นเมื่อปี 2012 โดย คุณเจฟฟ์ เล่าว่า ในสมัยเรียนเคยเจอปัญหา Spam Call โทรมาหลอกว่าได้รับรางวัลใหญ่ในการแข่งขัน แต่การจะได้รับเงินรางวัลนั้น ต้องเสียภาษีก่อน จึงรู้สึกแปลกใจ และสืบหาข้อมูลดู จนพบว่าเป็นการหลอกลวง เลยคิดว่าน่าจะมีแอปพลิเคชันที่สามารถตรวจสอบเบอร์เหล่านี้ได้ทันที เพื่อไม่ให้ถูกหลอก จึงได้ก่อตั้งบริษัท Gogolook ขึ้นและได้พัฒนาแอปพลิชัน “Whoscall” ออกมาให้บริการ
จากนั้นเพียงปีเดียว บริษัท Never เจ้าของแอปพลิเคชัน LINE ก็สนใจเข้ามาลงทุนด้วย ในปี 2014 คนไทยจึงได้ใช้งานแอปฯ นี้เป็นครั้งแรก จนปัจจุบันกลายเป็นแอปที่มียอดดาวน์โหลดใช้งานทะลุ 100 ล้านครั้งทั่วโลก ทั้งยังมีฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่รวบรวมเบอร์โทรศัพท์กว่า 2,600 ล้านเลขหมาย โดยในปี 2023 สามารถแจ้งเตือนเบอร์ Spam ได้กว่า 2.5 ล้านหมื่นล้านครั้ง ส่วนในไทยมียอดดาวน์โหลดกว่า 25 ล้านครั้ง เติบโต 2-3 เท่าจากช่วงปี 2022 โดยมีการสมัครสมาชิกแบบเสียค่าบริการอยู่ที่ 4%
“ไทย” ติดอันดับถูกมิจฉาชีพหลอกเป็นอันดับ 2 ในเอเชีย
แม้ว่าแอปฯ จะแจ้งเตือนเบอร์แปลกให้ผู้ใช้งานได้มากขึ้น แต่คุณเจฟฟ์ยอมรับว่า รูปแบบการหลอกลวงมีการพัฒนาขึ้นมากเช่นกัน จากสมัยก่อนเป็นแค่มัลแวร์ธรรมดา มาสู่การสร้างดาร์กเว็บ การ Scam และปัจจุบันกำลังก้าวสู่การหลอกลวงด้วย Deep Fake เช่น ใช้หลอกเสียง หลอกภาพ จึงส่งผลให้สถานการณ์การหลอกลวงทั่วโลกยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และสร้างความเสียหายจากการถูกหลอกลวงสูงขึ้น
จากรายงานสถานการณ์การหลอกลวงจากมิจฉาชีพในภูมิภาคเอเชียประจำปี 2567 โดยองค์กรต่อต้านกลโกงระดับโลก (GASA) ร่วมกับ ScamAdviser ประเมินความเสียหายที่ประชากรและธุรกิจได้รับจากการหลอกลวงทางไซเบอร์ใน 13 ประเทศทั่วภูมิภาคสูงถึง 688.42 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งสาเหตุหลักมาจากเทคโนโลยี AI เพราะมิจฉาชีพใช้ประโยชน์จาก AI มาหลอกลวงกันมากขึ้น เช่น การขโมยข้อมูลส่วนบุคคล การแอบอ้างเป็นบุคคลอื่นในรูปแบบต่างๆ และการนำ AI มาใช้หลีกเลี่ยงกระบวนการยืนยันตัวตนลูกค้า
สิ่งที่น่าตกใจคือ “เกาหลีใต้” เป็นประเทศที่มีการถูกหลอกลวงสูงที่สุดในภูมิภาคเอเชีย ตามด้วย “ไทย” และ “สิงคโปร์” ทั้งยังพบว่าส่วนใหญ่ต้องรับมือกับการ Scam มากกว่า 1 ครั้งต่อเดือน
ดันรายได้ลูกค้าองค์กรธุรกิจเพิ่ม หลังหลายประเทศออกกฎให้ธุรกิจรับผิดชอบเมื่อลูกค้าถูกหลอกโอนเงิน
เมื่อพูดถึงวิธีการที่ถูกหลอกลวง ผลวิจัยพบว่า แต่ละประเทศจะมีรูปแบบการหลอกที่แตกต่างกันไป โดย ไทยและมาเลเซียจะได้รับโทรศัพท์หลอกลวงมากกว่า แต่ถ้าเป็นฟิลิปปินส์และเกาหลีใต้ จะถูกหลอกในรูปแบบของการส่งข้อความ ส่วนญี่ปุ่นจะมาในรูปแบบของอีเมล
คุณเจฟฟ์ บอกว่า เมื่อเห็นสถานการณ์หลอกลวงนี้แล้ว บวกกับภาครัฐและเอกชนของไทยให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาเรื่องนี้ และภูมิศาสตร์ของไทยยังเหมาะกับการเป็นศูนย์กลางในภูมิภาคนี้ จึงเป็นเหตุผลให้ตัดสินใจเลือกไทยเป็นที่ตั้งสำนักงานแห่งที่ 2 เพื่อพัฒนาบริการและขยายตลาดไปทั่วโลก
“สำนักงานในไต้หวันจะเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาแอปพลิเคชันและผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ โดยทีมวิศวกร ส่วนสำนักงานในไทยจะเน้นการขยายธุรกิจและการทำตลาด จากนั้นเมื่อธุรกิจในไทยเติบโตขึ้น เราจะเปิดรับนักพัฒนาเข้ามาเพื่อปรับปรุงเทคโนโลยีให้สอดรับกับยูสเซอร์ในประเทศไทย รวมถึงประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้ด้วย” คุณเจฟฟ์ บอกถึงความแตกต่างระหว่างสำนักงานในไทยและไต้หวัน
โดยการทำตลาดหลังจากนี้ คุณแมนวู จู ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โกโกลุก ประเทศไทย จำกัด บอกว่า บริษัทจะเน้น 4 เรื่องคือ 1.การเข้าไปให้ความรู้ถึงรูปแบบภัยจากมิจฉาชีพแก่ประชาชนในคอมมูนิตี้ต่างๆ 2.ทำงานร่วมกับภาครัฐและเอกชนในการยกระดับการป้องกันภัยจากมิจฉาชีพ 3.พัฒนาผลิตภัณฑ์มาช่วยปกป้องผู้ใช้งานอย่างต่อเนื่อง และ 4.การขยายตลาดในกลุ่มองค์กรให้มากขึ้น
“ตอนนี้ปัญหามิจฉาชีพไม่ได้อยู่แค่ที่ผู้บริโภค แต่ธุรกิจก็ต้องเผชิญกับมิจฉาชีพ แม้ในไทยยังไม่มีกฎหมายบังคับให้ธุรกิจเป็นผู้ชดใช้ค่าเสียหายให้กับผู้บริโภค แต่ตอนนี้ฝั่งยุโรปหรืออังกฤษเริ่มมีกฎหมายบังคับให้สถาบันการเงินต้องเป็นผู้รับผิดชอบ จึงเป็นเทรนด์ที่กำลังมาในอนาคต ซึ่งในไต้หวัน สิงคโปร์ เกาหลี รวมถึงไทยก็เริ่มพูดคุยกันถึงเรื่องนี้เช่นกัน”
คุณเจฟฟ์ บอกถึงโอกาสในการทำตลาดองค์กรธุรกิจ ซึ่งในช่วงแรกจะเน้นเจาะธุรกิจสถาบันการเงิน ประกัน อีคอมเมิร์ช และโลจิสติกส์ก่อน พร้อมกับส่ง 2 โซลูชันใหม่อย่าง Whoscall Verified Business Number ระบบที่จะช่วยยืนยันเบอร์โทรศัพท์ของธุรกิจ เพื่อให้ผู้บริโภคมั่นใจในความถูกต้องของสายเรียกเข้า และ Fraud Early Warning System ระบบอัจฉริยะที่ให้บริการครบวงจรทั้งการตรวจสอบ การแจ้งเตือนล่วงหน้า และการป้องกันจากการโทร ข้อความ โดเมน URL หรือโซเชียลที่เป็นภัยต่อองค์กรมาลุยตลาด
ด้วยเหตุนี้ Gogolook จึงหมายมั่นว่าในปี 2025 ธุรกิจคอร์ปอเรทจะมีสัดส่วนรายได้เพิ่มเป็น 10% จากปี 2023 ที่มีสัดส่วนราว 4% จากบริการทั้งหมด โดยปัจจุบันรายได้หลักของ Gogolook กว่า 86% มาจากบริการแจ้งเตือน และการป้องกันการหลอกลวงทางโทรศัพท์ อย่าง Whoscall Scamadviser และ Watchman ส่วนอีก 14% มาจากการให้บริการ Fintech โดยใน 86% มาจากธุรกิจคอนซูเมอร์ 82% และ 4% มาจากธุรกิจองค์กร พร้อมทั้งเชื่อว่าในอนาคตรายได้จาก East Asia และ Southeast Asia จะเพิ่มมากขึ้นจากปัจจุบันที่มีสัดส่วนอยู่ที่ระดับ 46%
ติดตามพวกเราได้ที่ LINE